คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 5110/2533

แหล่งที่มา : สำนักงานส่งเสริมงานตุลาการ

ย่อสั้น

เมื่อจำเลยที่ 1 ได้รับแจ้งการประเมินแล้ว หากการประเมินไม่ชอบอย่างไร จำเลยที่ 1 ซึ่งเป็นผู้ต้องเสียภาษีอากรมีสิทธิที่จะอุทธรณ์การประเมินต่อคณะกรรมการพิจารณาอุทธรณ์ หากจำเลยที่ 1ไม่อุทธรณ์การประเมินต่อคณะกรรมการพิจารณาอุทธรณ์การประเมินของเจ้าพนักงานประเมินที่เรียกเก็บภาษีการค้าเพิ่มจากจำเลยที่ 1ย่อมถึงที่สุด.

ย่อยาว

โจทก์ฟ้องว่า จำเลยที่ 1 แสดงยอดรายรรับเพื่อเสียภาษีการค้าต่ำกว่ายอดรายรับที่เจ้าพนักงานประเมินกำหนดไว้ 3,265,995 บาทต้องชำระภาษีการค้า ภาษีบำรุงเทศบาลเพิ่มเป็นเงิน 244,949.63 บาทและ 24,494.96 บาท ตามลำดับ ซึ่งเจ้าพนักงานประเมินของโจทก์ได้แจ้งการประเมินให้จำเลยที่ 1 ทราบแล้ว แต่จำเลยที่ 1 ไม่นำเงินภาษีอากรดังกล่าวไปชำระให้โจทก์ภายในกำหนดเวลาที่กฎหมายกำหนดไว้ทั้งมิได้อุทธรณ์การประเมินต่อคณะกรรมการพิจารณาอุทธรณ์ แต่ประการใดเนื่องจากจำเลยที่ 1 แสดงรายการการค้าไว้ไม่ถูกต้องจำเลยที่ 1 จึงต้องเสียเบี้ยปรับอีก 1 เท่า ของภาษีการค้าที่ต้องเสียเพิ่มกับต้องเสียเงินเพิ่มตลอดจนเบี้ยปรับ และเงินเพิ่มภาษีบำรุงเทศบาลด้วย และเมื่อคำนวณเงินเพิ่มภาษีการค้าจนถึงวันที่ 15 พฤษภาคม 2532 แล้ว จำเลยที่ 1 ต้องชำระเบี้ยปรับภาษีการค้า เงินเพิ่มภาษีการค้าตลอดจนเบี้ยปรับและเงินเพิ่มภาษีบำรุงเทศบาลให้โจทก์รวม 431,797.72 บาท (เป็นเงินภาษีการค้าตามมาตรา 89 ทวิ 147,593.75 บาท) จึงรวมเป็นภาษีอากรที่จำเลยที่ 1 จะต้องชำระให้โจทก์เป็นเงินทั้งสิ้น 701,242.32 บาท ขอให้จำเลยทั้งสามร่วมกันชำระเงินที่กล่าวแล้วกับเงินเพิ่มภาษีการค้าในอัตราร้อยละ 1 ต่อเดือนหรือเศษของเดือนของเงินภาษีการค้าที่ต้องชำระเพิ่ม แต่มิให้เกินกว่าจำนวนภาษีการค้าที่จะต้องชำระทั้งนี้นับแต่วันที่ 16 พฤษภาคม 2532 เป็นต้นไป กับให้จำเลยทั้งสามร่วมกันชำระเงินเพิ่มภาษีบำรุงเทศบาลในอัตรารัอยละ 10ของเงินภาษีการค้าที่ต้องชำระเพิ่มแก่โจทก์ด้วย
จำเลยทั้งสามให้การว่า จำเลยที่ 1 ประกอบกิจการขาดทุนตลอดมาทั้งได้ยื่นรายการเพื่อชำระภาษีการค้าและชำระภาษีการค้าไว้ถูกต้องแล้วและหนี้ภาษีอากรที่เกิดขึ้นมิได้เกิดจากการกระทำของหุ้นส่วน ทั้งการกำหนดรายรับของโจทก์สูงกว่าความเป็นจริง จำเลยทั้งสามจึงไม่ต้องรับผิด
ศาลภาษีอากรกลางพิพากษายกฟ้อง
โจทก์อุทธรณ์ต่อศาลฎีกา
ศาลฎีกาแผนกคดีภาษีอากรวินิจฉัยว่า “เห็นว่า เมื่อจำเลยที่ 1รับแจ้งการประเมินแล้ว หากการประเมินไม่ชอบอย่างไร จำเลยที่ 1ซึ่งเป็นผู้ต้องเสียภาษีอากรมีสิทธิที่จะอุทธรณ์การประเมินต่อคณะกรรมการพิจารณาอุทธรณ์ตามที่ประมวลรัษฎากรบัญญัติไว้ได้เมื่อจำเลยที่ 1 ไม่อุทธรณ์การประเมินต่อคณะกรรมการพิจารณาอุทธรณ์ดังที่ได้ความมาแล้ว การประเมินของเจ้าพนักงานประเมินที่เรียกเก็บภาษีการค้าเพิ่มาจากจำเลยที่ 1 ย่อมถึงที่สุด จำเลยที่ 1จึงมีหน้าที่ต้องชำระหนี้ค้าภาษีอากรตามที่โจทก์ฟ้อง ที่ศาลภาษีอากรกลางวินิจฉัยว่าการประเมินไม่ชอบเพราะยอดรายรับที่นำมาประเมินไม่ถูกต้องนั้น ศาลฎีกาเห็นว่าเมื่อการประเมินเป็นอันถึงที่สุดดังกล่าวแล้ว จึงไม่มีปัญหาว่ายอดรายรับที่เจ้าพนักงานประเมินใช้ในการประเมินภาษีชอบหรือไม่ ทั้งปัญหาดังกล่าวไม่ใช่ปัญหาอันเกี่ยวด้วยความสงบเรียบร้อยของประชาชน ศาลภาษีอากรกลางจึงไม่มีอำนาจหยิบยกขึ้นวินิจฉัย…”
พิพากษากลับ ให้จำเลยทั้งสามร่วมกันชำระภาษีอากรจำนวน701,242.72 บาท (รวมเงินเพิ่มภาษีการค้าคิดถึงวันที่ 15 พฤษภาคม2532 จำนวน 147,593.75 แล้ว) และเงินเพิ่มภาษีการค้าในอัตราร้อยละ 1 ต่อเดือนหรือเศษของเดือนของเงินภาษีการค้าที่ต้องชำระเพิ่มจำนวน 244,949.63 บาท นับแต่วันที่ 16 พฤษภาคม 2532เป็นต้นไปจนกว่าจะชำระเสร็จ แต่มิให้เกิน 97,755.88 บาท (เงินเพิ่มภาษีการค้าพิพากษาให้ชำระแล้ว 147,593.75 บาท) และให้จำเลยทั้งสามร่วมกันชำระเงินภาษีบำรุงเทศบาลในอัตราร้อยละ 10 ของเงินเพิ่มภาษีการค้าที่กล่าวแล้วด้วย.

Share