แหล่งที่มา : เนติบัณฑิตยสภา
ย่อสั้น
รายงานประจำวันเกี่ยวกับคดีมีใจความเพียงว่า จำเลยที่ 1ให้การรับสารภาพต่อพนักงานสอบสวนในข้อหาขับขี่รถยนต์โดยประมาทเป็นเหตุให้ผู้อื่นรับอันตรายสาหัส ยินยอมชดใช้ค่าเสียหายที่เกิดขึ้นเท่านั้น ไม่มีสาระสำคัญแสดง การที่จำเลยที่ 1 เจรจาตกลงกับคนขับรถยนต์คันที่โจทก์รับประกันภัยไว้ในเรื่องการชำระค่าเสียหายให้ชัดแจ้งจึงไม่มีผลเป็นการประนีประนอมยอมความ จำเลยที่ 2 ยินยอมให้จำเลยที่ 1 นำรถยนต์แท็กซี่คันเกิดเหตุของจำเลยที่ 2 ออกแล่นรับคนโดยสารในนามบริษัทจำเลยที่ 2 โดยเปิดเผย และโดยจำเลยที่ 2 ได้รับผลประโยชน์ตอบแทนจากการอนุญาตให้จำเลยที่ 1 ใช้รถยนต์และรอยตราของจำเลยที่ 2 สุจริตชนย่อมเข้าใจว่าจำเลยที่ 2 เป็นผู้ประกอบการเดินรถยนต์รับจ้างโดยสารในกิจการของจำเลยที่ 2 เองพฤติการณ์ดังกล่าวเท่ากับจำเลยที่ 2 ยินยอมให้จำเลยที่ 1เชิดตัวเองออกแสดงเป็นพนักงานหรือตัวแทนเชิดของจำเลยที่ 2ตามประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์ มาตรา 821 ซึ่งจำเลยที่ 2ต้องร่วมรับผิดกับจำเลยที่ 1 ในผลแห่งละเมิดในคดีนี้ตามมาตรา 427 โจทก์เป็นผู้รับช่วงสิทธิตามประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์มาตรา 880 สิทธิของโจทก์ที่จะรับช่วงสิทธิย่อมเกิดขึ้นนับตั้งแต่วันที่โจทก์ได้ชำระค่าสินไหมทดแทนเป็นต้นไปโจทก์จะคิดดอกเบี้ยนับแต่วันทำละเมิดเสมือนเป็นผู้เสียหายโดยตรงมิได้ จึงชอบที่จะคิดดอกเบี้ยได้นับแต่วันที่โจทก์ชำระค่าสินไหมทดแทน โจทก์ไม่นำสืบให้ปรากฏแน่ชัดว่าโจทก์ชำระค่าสินไหมทดแทนไปในวันใด โจทก์จึงควรได้ดอกเบี้ยนับแต่วันฟ้องเป็นต้นไป
ย่อยาว
โจทก์ฟ้องว่า จำเลยที่ 1 เป็นผู้ขับขี่รถยนต์รับจ้างสาธารณะคันหมายเลขทะเบียน 1 ท-7193 กรุงเทพมหานคร ไปในทางการที่จ้างในฐานะตัวแทนหรือลูกจ้างของจำเลยที่ 2 ได้ขับขี่รถยนต์คันดังกล่าวด้วยความประมาทด้วยความเร็วสูง เป็นเหตุให้ชนกับรถยนต์กระบะคันหมายเลขทะเบียน ม-0345 เพชรบูรณ์ของห้างหุ้นส่วนจำกัดแดนสัยธุรกิจ ที่โจทก์รับประกันภัยไว้ขณะนายวิชัย พัฒนารัตนเจริญ ขับขี่ ได้รับความเสียหายโจทก์ในฐานะผู้รับประกันภัย จึงได้จัดการยกรถยนต์มาซ่อมเสียค่าจ้างยกรถยนต์ 300 บาท ค่าซ่อม 39,219 บาท โจทก์จึงได้รับช่วงสิทธิมาฟ้องเรียกค่าเสียหายจากจำเลยทั้งสองพร้อมดอกเบี้ยร้อยละเจ็ดครึ่งต่อปี นับแต่วันทำละเมิดถึงวันฟ้องเป็นเงิน 2,963 บาท รวมเป็นเงิน 42,482 บาท ขอให้บังคับจำเลยทั้งสองร่วมกันใช้ค่าเสียหายดังกล่าวแก่โจทก์กับดอกเบี้ยอัตราร้อยละเจ็ดครึ่งต่อปี ในต้นเงิน 39,519 บาท นับถัดจากวันฟ้องเป็นต้นไปจนกว่าจะชำระเสร็จแก่โจทก์ ศาลชั้นต้นสั่งจำหน่ายคดีสำหรับจำเลยที่ 1 เนื่องจากโจทก์ไม่ยื่นคำขอต่อศาลเพื่อให้ศาลมีคำสั่งว่าจำเลยที่ 1 ขาดนัดยื่นคำให้การ จำเลยที่ 2ให้การว่า ฟ้องโจทก์เคลือบคลุม จำเลยที่ 1 ไม่ได้เป็นลูกจ้างหรือตัวแทนของจำเลยที่ 2 แต่เป็นเพียงผู้เช่ารถยนต์คันเกิดเหตุเท่านั้น โจทก์ไม่มีสิทธิฟ้องจำเลยที่ 2 เมื่อเกิดเหตุคดีนี้ขึ้นนายวิชัย พัฒนารัตนาเจริญ กับจำเลยที่ 1 ซึ่งเป็นคู่กรณีได้แสดงเจตนาระงับข้อพิพาทต่อกัน โดยจำเลยที่ 2ไม่มีรู้เห็นยินยอมเป็นหนังสือ โจทก์ชำระค่าเสียหายโดยรู้อยู่ว่าตนไม่มีหน้าที่ต้องชำระ ตามกรมธรรม์ โจทก์จึงไม่มีสิทธิที่จะรับช่วงสิทธิ ค่าเสียหายไม่เกิน 8,000 บาท ศาลชั้นต้นพิพากษายกฟ้องโจทก์ โจทก์อุทธรณ์ ศาลอุทธรณ์พิพากษากลับให้จำเลยที่ 2 ใช้เงิน 42,482 บาท กับดอกเบี้ยร้อยละเจ็ดครึ่งต่อปีในต้นเงิน 39,519 บาท นับถัดจากวันฟ้องเป็นต้นไปจนกว่าจะใช้เสร็จแก่โจทก์ จำเลยที่ 2 ฎีกา
ศาลฎีกาวินิจฉัยว่า “ปัญหาข้อแรกฟ้องโจทก์เคลือบคลุมหรือไม่ จำเลยที่ 2 ฎีกาว่า ฟ้องโจทก์เคลือบคลุมเพราะไม่บรรยายว่านายวิชัย พัฒนาเจริญเจริญ เกี่ยวข้องอย่างไรกับผู้เอาประกันภัยและได้รับความยินยอมในการขับขี่รถยนต์จากห้างหุ้นส่วนจำกัดแดนสัยธุรกิจผู้เอาประกันภัยอย่างไร โจทก์ชำระค่าเสียหายแก่ผู้เอาประกันภัยจำนวนเท่าใด เมื่อไร เห็นว่า คดีนี้โจทก์ฟ้องอ้างว่าจำเลยที่ 1 กระทำละเมิดต่อโจทก์โดยขับขี่รถยนต์โดยประมาทเป็นเหตุให้ชนรถยนต์คันหมายเลขทะเบียน ม-0345 เพชรบูรณ์ซึ่งโจทก์รับประกันภัยไว้ตามสำเนากรมธรรม์ เอกสารท้ายฟ้องหมายเลข 2 ซึ่งนายวิชัย พัฒนารัตนเจริญ ขับขี่รับความเสียหายโจทก์ต้องเสียค่าจ้างยกรถยนต์ 300 บาท และได้จ่ายเงินค่าซ่อมไปแล้ว 39,219 บาท โจทก์จึงได้รับช่วงสิทธิฟ้องเรียกค่าเสียหายจากจำเลยทั้งสอง เห็นว่า ความรับผิดของผู้รับประกันภัยอยู่ที่ทรัพย์ที่เอาประกันภัยได้รับความเสียหาย ทั้งโจทก์ได้แนบรายละเอียดเกี่ยวกับผู้เอาประกันภัยตามสำเนากรมธรรม์เอกสารท้ายฟ้องหมายเลข 2 ไว้แล้ว ฟ้องโจทก์บรรยายชัดเจนซึ่งสภาพแห่งข้อหาละเมิดและรับช่วงสิทธิ คำขอบังคับ ข้ออ้างที่อาศัยเป็นหลักแห่งข้อหาแล้ว โจทก์ไม่จำต้องบรรยายรายละเอียดดังที่จำเลยที่ 2 ฎีกาเพราะอาจนำสืบได้ในชั้นพิจารณา
จำเลยที่ 2 ฎีกาข้อต่อไปว่า มูลหนี้คดีนี้ระงับไปแล้วเพราะจำเลยที่ 1 ได้ตกลงประนีประนอมยอมความกับนายวิชัยคนขับรถยนต์คันหมายเลขทะเบียน ม-0345 เพชรบูรณ์ แล้ว เห็นว่าการประนีประนอมยอมความตามประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์ มาตรา 850 นั้น คือ สัญญาซึ่งผู้เป็นคู่สัญญาทั้งสองฝ่ายระงับข้อพิพาทอันใดอันหนึ่งซึ่งมีอยู่ หรือจะมีขึ้นนั้นให้เสร็จไปด้วยต่างยอมผ่อนผันให้แก่กัน แต่สำเนารายงานประจำวันเกี่ยวกับคดีเอกสารหมาย ล.1 ลงวันที่ 25 มีนาคม 2527 ที่จำเลยที่ 2 อ้างมีใจความเพียงว่า จำเลยที่ 1 ให้การรับสารภาพต่อพนักงานสอบสวนในข้อหาขับขี่รถยนต์โดยประมาทเป็นเหตุให้ผู้อื่นรับอันตรายสาหัสยินยอมชดใช้ค่าเสียหายที่เกิดขึ้นเท่านั้น ไม่มีสาระสำคัญแสดงการที่จำเลยที่ 1 เจรจาตกลงกับนายวิชัยคนขับรถยนต์คันหมายเลขทะเบียน ม-0345 เพชรบูรณ์ ในเรื่องการชำระค่าเสียหายให้ชัดแจ้งแต่อย่างใด จึงไม่มีผลเป็นการประนีประนอมยอมความตามกฎหมาย
จำเลยที่ 2 ฎีกาข้อต่อไปว่า จำเลยที่ 2 ไม่ต้องร่วมรับผิดในผลแห่งการทำละเมิดของจำเลยที่ 1 เห็นว่า จำเลยที่ 2ให้การโดยมิได้ปฏิเสธฟ้องในเรื่องวัตถุประสงค์ของจำเลยที่ 2และเรื่องความประมาทเลินเล่อของจำเลยที่ 1 จึงถือได้ว่าจำเลยที่ 2รับตามฟ้องว่า จำเลยที่ 2 เป็นบริษัทจำกัดมีวัตถุประสงค์ในการรับจ้างบรรทุกคนโดยสารเป็นเจ้าของผู้ครอบครองรถยนต์แท็กซี่คันหมายเลขทะเบียน 1 ท-7193 กรุงเทพมหานคร ซึ่งจำเลยที่ 1ขับโดยประมาทเลินเล่อโดยวันเกิดเหตุจริง และได้ความจากนายวิชัย พัฒนารัตนเจริญ ประจักษ์พยานโจทก์ประกอบภาพถ่ายหมาย จ.26 ว่า ด้านข้างของรถยนต์แท็กซี่ดังกล่าวมีรอยตราหรือเครื่องหมายและคำว่า “สหไทย” ซึ่งเป็นชื่อย่อของจำเลยที่ 2และคล้ายคลึงกับรอยตราของจำเลยที่ 2 ที่ปรากฏในหนังสือมอบอำนาจท้ายคำให้การ จำเลยที่ 2 เห็นว่า จำเลยที่ 2 ยินยอมให้จำเลยที่ 1 นำรถยนต์แท็กซี่คันเกิดเหตุของจำเลยที่ 2 ออกแล่นรับคนโดยสารในนามบริษัทจำเลยที่ 2 โดยเปิดเผย และโดยจำเลยที่ 2ได้รับผลประโยชน์ตอบแทนจากการอนุญาตให้จำเลยที่ 1 ใช้รถยนต์และรอยตราของจำเลยที่ 2 สุจริตชนย่อมเข้าใจว่าจำเลยที่ 2เป็นผู้ประกอบการเดินรถยนต์รับจ้างโดยสาร ในกิจการของจำเลยที่ 2 เอง นอกจากนั้นยังได้ความจากนายสมพงษ์ ธีระพรเพิ่มสุขผู้รับมอบอำนาจและเป็นพยานจำเลยที่ 2 เองว่า ในวันเกิดเหตุจำเลยที่ 1 ได้ให้นายสมพงษ์ไปตรวจดูความเสียหายของรถยนต์และปรึกษาถามความเห็นว่าจะรับผิดชดใช้ค่าเสียหายจำนวนเท่าใดพฤติการณ์ดังกล่าวเท่ากับจำเลยที่ 2 ยินยอมให้จำเลยที่ 1เชิดตัวเองออกแสดงเป็นพนักงานหรือตัวแทนของจำเลยที่ 2ในขับขี่รถยนต์ จำเลยที่ 1 จึงเป็นตัวแทนเชิดของจำเลยที่ 2ตามประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์ มาตรา 821 ซึ่งจำเลยที่ 2ต้องร่วมรับผิดกับจำเลยที่ 1 ในผลแห่งละเมิดในคดีนี้ ตามมาตรา 427มีปัญหาต่อไปว่า จำเลยที่ 2 จะต้องร่วมรับผิดในความเสียหายเพียงใด จำเลยที่ 2 ฎีกาว่า โจทก์ไม่ส่งสำเนาเอกสารหมาย จ.4,จ.5, จ.11 ถึง จ.14, จ.19 จ.24 ให้จำเลยที่ 2 และคำเบิกความของนายเสาร์ พรหมโสภา พยานโจทก์ประกอบเอกสารแสดงถึงความเสียหายของรถยนต์หมายเลขทะเบียน ม-0345 เพชรบูรณ์ไม่น่าเชื่อถือ เห็นว่าเอกสารหมาย จ.4, จ.5 เป็นบันทึกการต่อรองเรื่องค่าเสียหาย เอกสารนอกนั้นแสดงถึงการที่บริษัทกรุงเทพแสงอรุณค้ายาง จำกัด จำหน่ายวัสดุให้โจทก์และอู่ถาวรทำการซ่อมรถยนต์ให้โจทก์ รวมทั้งนายวิชัยรับเงินจากโจทก์ แม้โจทก์ไม่ส่งสำเนาเอกสารดังที่จำเลยที่ 2 อ้างแต่ก็ได้ความจากนายวิชัยประจักษ์พยานและนายเสาร์ช่างประจำอู่ถาวรผู้ดำเนินการซ่อมรถยนต์ให้โจทก์เบิกความประกอบภาพถ่ายรถยนต์หมายเลขทะเบียน ม-0345 เพชรบูรณ์ หลังจากถูกชนหมาย จ.6ใบเสร็จรับเงินเอกสารหมาย จ.7, จ.8, จ.10, จ.16, จ.17, จ.18,จ.20, จ.21, จ.23 ใบสั่งจ่ายเงินเอกสารหมาย จ.9, จ.15, จ.22เพียงพอฟังได้ว่า โจทก์จ่ายค่าซ่อมรถยนต์แทนห้างหุ้นส่วนจำกัดวิชัยบริการ ผู้เอาประกันภัยคนใหม่ไปจำนวน 39,519 บาทแล้วจริงได้ความจากนายเสาร์ว่าค่าซ่อมรถยนต์หมายเลขทะเบียน ม-0345เพชรบูรณ์ ที่โจทก์จ่ายให้นั้นเป็นราคาต่ำสุดของผู้เข้าประมูล4 ราย พิเคราะห์ภาพถ่ายรถยนต์หลังถูกชนหมาย จ.6 ประกอบแล้วเห็นว่าจำนวนค่าใช้จ่ายดังกล่าวเหมาะสมแล้ว เมื่อโจทก์ผู้รับประกันภัยจ่ายเงินค่าสินไหมทดแทนแก่นายวิชัยในฐานะผู้เอาประกันภัยแล้วโจทก์ก็ย่อมรับช่วงสิทธิที่จะเรียกร้องต่อจำเลยที่ 2 ได้ส่วนที่จำเลยที่ 2 ฎีกาว่า ศาลอุทธรณ์พิพากษาให้จำเลยที่ 2เสียดอกเบี้ยนับแต่วันละเมิดไม่ถูกต้องนั้น เห็นว่า โจทก์เป็นผู้รับช่วงสิทธิตามประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์ มาตรา 880สิทธิของโจทก์ที่จะรับช่วงสิทธิย่อมเกิดขึ้นนับตั้งแต่วันที่โจทก์ได้ชำระค่าสินไหมทดแทนเป็นต้นไป โจทก์จะคิดดอกเบี้ยนับแต่วันทำละเมิดเสมือนเป็นผู้เสียหายโดยตรงมิได้ จึงชอบที่จะคิดดอกเบี้ยได้นับแต่วันที่โจทก์ชำระค่าสินไหมทดแทน แต่ตามฟ้องโจทก์ไม่ปรากฏวันที่โจทก์ชำระค่าสินไหมทดแทน ทั้งโจทก์ไม่นำสืบให้ปรากฏแน่ชัดว่าโจทก์ชำระค่าสินไหมทดแทนไปในวันใดโจทก์จึงควรได้ดอกเบี้ยนับแต่วันฟ้องเป็นต้นไป ฎีกาข้อนี้ของจำเลยที่ 2 ฟังขึ้น
จำเลยที่ 2 ฎีกาข้อสุดท้ายว่า ศาลอุทธรณ์พิพากษาให้จำเลยที่ 2 ชดใช้ค่าฤชาธรรมเนียมเกินจากคำขอในอุทธรณ์ของโจทก์นั้นเห็นว่า ศาลอุทธรณ์พิพากษาให้จำเลยที่ 2 ซึ่งแพ้คดีใช้ค่าฤชาธรรมเนียมรวมสองศาลแทนโจทก์ โดยกำหนดค่าทนายความให้2,000 บาท นั้นถูกต้องตามประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความแพ่งมาตรา 161, 167, 246 แล้ว ฎีกาข้อนี้ของจำเลยที่ 2 ฟังไม่ขึ้น”
พิพากษาแก้เป็นว่า ให้จำเลยที่ 2 ชำระเงิน 39,519 บาทพร้อมดอกเบี้ยอัตราร้อยละเจ็ดครึ่งต่อปีนับตั้งแต่วันฟ้องเป็นต้นไปจนกว่าจะชำระให้แก่โจทก์เสร็จ