คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 2284/2533

แหล่งที่มา : กองผู้ช่วยผู้พิพากษาศาลฎีกา

ย่อสั้น

ที่ดินพิพาทเป็นทรัพย์มรดกของ อ. ตกทอดแก่ทายาทคือโจทก์ทั้งสามและจำเลยทั้งสอง เมื่อ อ. ถึงแก่ความตายแล้ว จำเลยที่ 2 ได้ ครอบครองที่ดินพิพาทต่อมาโดยโจทก์ทั้งสามไม่ได้ครอบครองร่วมด้วย อ. เจ้ามรดกถึงแก่ความตายเมื่อวันที่ 3 เมษายน 2521 โจทก์ทั้งสามทราบแล้ว แต่เพิ่มมาฟ้องคดีมรดกเมื่อวันที่ 29 พฤษภาคม 2527 พ้น 1 ปี นับแต่เจ้ามรดกถึงแก่ความตาย คดีโจทก์จึงขาดอายุความฟ้องคดีมรดกตาม ประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์ มาตรา 1748, 1754เมื่อคดีของโจทก์ขาดอายุความฟ้องคดีมรดกเสียแล้ว ปัญหาที่โจทก์ทั้งสามอ้างว่าเมื่อวันที่ 2 มิถุนายน 2526 จำเลยทั้งสองไปแจ้งความเท็จต่อเจ้าพนักงานให้ใส่ชื่อ จำเลยทั้งสองในหนังสือรับรองการทำประโยชน์ที่ดินพิพาทเพียงสองคน เป็นการปิดบังทรัพย์มรดก ต้องถูกกำจัดไม่ให้รับมรดกนั้น จึงไม่จำต้องวินิจฉัยให้ต่อไป

ย่อยาว

โจทก์ฟ้องว่า โจทก์ทั้งสามและจำเลยที่ ๑ เป็นบุตรของนายบุญจันและนางอ้อย ปราบคเชนทร์ คนทั้งสองมีที่ดิน ๑ แปลง ตามหนังสือรับรองการทำประโยชน์ (น.ส.๓ก.) เลขที่ ๖๐๙๓ นายบุญจันถึงแก่ความตายไปประมาณ ๔๐ ปีแล้ว ต่อมานางอ้อยได้แต่งงานใหม่กับนายถม สิงห์กุลมีบุตร ๑ คน คือจำเลยที่ ๒ นายถมถึงแก่ความตายก่อนนางอ้อย นางอ้อยถึงแก่ความตายเมื่อ พ.ศ. ๒๕๒๑ ไม่ได้ทำพินัยกรรมไว้ เมื่อวันที่ ๒ มิถุนายน ๒๕๒๖ จำเลยทั้งสองไปแจ้งความเท็จต่อเจ้าพนักงานที่ดินว่าจำเลยทั้งสองเท่านั้นเป็นทายาทนางอ้อย ขอให้โอนใส่ชื่อจำเลยทั้งสองเป็นผู้มีสิทธิครอบครองที่ดินข้างต้นเพียงสองคน เป็นการปิดบังทายาทคนอื่น ต้องถูกกำจัดไม่ให้รับมรดก ขอให้บังคับจำเลยไปโอนแบ่งแยกที่ดินตามหนังสือรับรองการทำประโยชน์ (น.ส.๓ก.) เลขที่ ๖๐๙๓ ออกเป็น ๓ ส่วนแก่โจทก์ทั้งสาม
จำเลยที่ ๑ ขาดนัดยื่นคำให้การ
จำเลยที่ ๒ ให้การว่า เมื่อนายบุญจันถึงแก่ความตายแล้ว ต่อมาในปี ๒๕๑๘ นางอ้อยได้ขอออกหนังสือรับรองการทำประโยชน์ (น.ส.๓ก.) ที่ดินพิพาทเป็นชื่อนางอ้อย โจทก์ทั้งสามและจำเลยที่ ๑ ตกลงให้จำเลยที่ ๒ เลี้ยงดูนางอ้อยโดยนางอ้อยยินยอมยกที่ดินพิพาทของนางอ้อยแก่จำเลยที่ ๒ จำเลยที่ ๒ ได้ครอบครองเป็นเจ้าของตลอดมา ต่อมาโจทก์ทั้งสามอยากได้ที่ดินพิพาทคืน จึงฟ้องเป็นคดีนี้เมื่อขาดอายุความฟ้องคดีมรดกแล้ว จำเลยมิได้ปิดบังทรัพย์มรดก ขอให้ยกฟ้อง
ศาลชั้นต้นพิจารณาแล้ว พิพากษายกฟ้อง
โจทก์ทั้งสามอุทธรณ์
ศาลอุทธรณ์พิพากษายืน
โจทก์ทั้งสามฎีกา
ศาลฎีกาวินิจฉัยว่า คดีมีปัญหาตามฎีกาโจทก์ประการแรกว่า ที่ดินพิพาทเป็นทรัพย์มรดกของนางอ้อย ปราบคเชนทร์ หรือสิงห์กุล หรือไม่เพียงใด ข้อเท็จจริงปรากฏว่าเดิมที่พิพาทนี้เป็นสินสมรสระหว่างนางอ้อยกับนายบุญจัน ปราบคเชนทร์ สามีเก่า แต่เมื่อนายบุญจันถึงแก่ความตายแล้วก็หาได้มีการแบ่งที่ดินพิพาทส่วนที่เป็นทรัพย์มรดกของนายบุญจันแก่ทายาททั้งหลายไม่ นางอ้อยยังคงครอบครองที่ดินพิพาททั้งแปลงตลอดมาเป็นระยะเวลาประมาณ ๓๐ ปี ต่อมาในปี ๒๕๑๘ นางอ้อยก็ได้ขอออกหนังสือรับรองการทำประโยชน์ที่ดินพิพาททั้งแปลงเป็นชื่อของนางอ้อยแต่ผู้เดียว โดยไม่ปรากฏว่ามีทายาทคนใดโต้แย้งคัดค้านทั้งตามทางนำสืบของคู่ความก็รับกันว่าที่ดินพิพาทคดีนี้เป็นที่ดินที่นางอ้อยได้ขอออกหนังสือรับรองการทำประโยชน์ไว้ทั้งแปลง หาได้แยกส่วนที่เป็นสินสมรสของนายบุญจันออกก่อนแต่อย่างใดไม่ ดังนี้แสดงว่าเมื่อนายบุญจันถึงแก่ความตายแล้ว นางอ้อยได้ครอบครองที่ดินพิพาทส่วนของนายบุญจันจากนางอ้อย ดังนั้น เมื่อนางอ้อยถึงแก่ความตายแล้วที่ดินพิพาททั้งแปลงจึงเป็นทรัพย์มรดกของนางอ้อยตกทอดแก่ทายาทคือโจทก์ทั้งสามและจำเลยทั้งสองตามส่วน
ปัญหาที่ต้องพิจารณาต่อไปมีว่า โจทก์ทั้งสามและจำเลยทั้งสองได้ครอบครองที่ดินพิพาทหรือไม่ อย่างไร โจทก์ที่ ๑ นำสืบได้ความว่า โจทก์ที่ ๑ แต่งงานกับนายเสริม เด่นวงษ์ ตั้งแต่อายุ ๑๙ ปีแต่งงานแล้วก็แยกเรือนออกไปอยู่กับนายเสริมซึ่งอยู่ห่างบ้านนางอ้อยในที่ดินพิพาทประมาณ ๓ กิโลเมตร โจทก์ที่ ๒ นำสืบว่า โจทก์ที่ ๒มีภรรยามาแล้ว ๓ คน โจทก์ที่ ๒ เคยมาอาศัยอยู่กับนางอ้อย แต่เมื่อได้ภรรยาก็ไปอยู่กับภรรยา ทั้งยังเคยเดินทางไปทำงานในกรุงเทพมหานครและไปทำงานเหมืองแร่ที่จังหวัดพังงาเป็นเวลานาน และโจทก์ที่ ๒ ยังเบิกความด้วยว่า เมื่อนางอ้อยถึงแก่ความตายแล้ว โจทก์ที่ ๒ ไม่ได้เข้าไปอยู่อาศัยในบ้านในที่ดินพิพาท คงมีแต่นายแดงบุตรชายเข้าไปอยู่อาศัย ส่วนโจทก์ที่ ๓ นำสืบว่า โจทก์ที่ ๓ แต่งงานเมื่ออายุ๒๐ ปี แต่งงานแล้วก็ย้ายไปอยู่กับสามีที่จังหวัดเพชรบูรณ์เป็นเวลา๒๐ ปี แล้ว และโจทก์มีนางคง โนนวิวาท ลูกพี่ลูกน้องกับโจทก์จำเลยเบิกความว่า ตอนทำศพนางอ้อย ลูก ๆ ของนางอ้อยทุกคนตกลงกันว่า ให้ยกที่ดินพิพาทให้ลูกคนที่เลี้ยงนางอ้อย ซึ่งความข้อนี้โจทก์ที่ ๑ก็เบิกความแต่เพียงว่า โจทก์ที่ ๑ กับพวกพี่น้องคนอื่นส่งเสียเลี้ยงดูนางอ้อย โดยโจทก์ที่ ๑ ส่งข้าวส่งน้ำให้เป็นประจำ ซึ่งก็ไม่ปรากฏว่าโจทก์ที่ ๑ เลี้ยงดูนางอ้อยโดยใกล้ชิดเป็นประจำอย่างไรและโจทก์อื่นก็มิได้นำสืบสนับสนุนโจทก์ที่ ๑ ในข้อนี้ พยานโจทก์ทั้งสามดังกล่าวมาแล้วเป็นการนำสืบเพียงลอย ๆ ไม่ปรากฏชัดแจ้งว่าโจทก์ทั้งสามได้ครอบครองที่ดินพิพาทอย่างไร พยานหลักฐานของโจทก์มีน้ำหนักน้อย ส่วนฝ่ายจำเลยทั้งสองนั้นนอกจากจะได้ความจากคำเบิกความของจำเลยทั้งสองว่า จำเลยที่ ๒ ได้มาเลี้ยงดูนางอ้อยในบ้าน ซึ่งอยู่ในที่ดินพิพาทตั้งแต่ก่อนนางอ้อยจะถึงแก่ความตาย และเมื่อนางอ้อยถึงแก่ความตายแล้ว จำเลยที่ ๒ ก็ยังอยู่ในบ้านนั้นต่อมาแล้ว ฝ่ายจำเลยยังมีนายแพงตา มุ่งสมัคร ข้าราชการบำนาญ ซึ่งเป็นพยานคนกลางเบิกความสนับสนุน และมีนายคง โนนวิวาท นางบี้ มาชัยน้องสาวนายบุญจัน พยานโจทก์เบิกความเจือสมด้วยว่า ก่อนนางอ้อยถึงแก่ความตาย จำเลยที่ ๒ อยู่กับนางอ้อยในบ้านในที่ดินพิพาท และเมื่อนางอ้อยถึงแก่ความตายแล้วจำเลยที่ ๒ ก็ยังคงอาศัยอยู่ในบ้านนั้น ซึ่งนอกจากพยานบุคคลดังกล่าว จำเลยที่ ๒ ยังมีพยานเอกสารคือคำร้องขอใช้ไฟฟ้าจากการไฟฟ้าส่วนภูมิภาค ซึ่งอ้างว่าขอเข้าไปใช้ในบ้านในที่ดินพิพาทนั้น ตามคำขอเอกสารหมาย ล.๑ ลงวันที่ ๑๕ธันวาคม ๒๕๒๑ หลังนางอ้อยถึงแก่ความตายประมาณ ๘ เดือน เป็นพยานประกอบ ดังนี้เห็นว่า ฝ่ายจำเลยมีพยานบุคคลและพยานเอกสารสนับสนุนเป็นหลักฐานมั่นคง พยานจำเลยมีน้ำหนักมากกว่าพยานโจทก์ ความปรากฏว่า หลังจากนางอ้อยถึงแก่ความตายแล้ว ฝ่ายโจทก์ซึ่งมีฐานะเป็นพี่จำเลยก็หาได้ดำเนินการเพื่อจัดการแบ่งทรัพย์มรดกที่ดินพิพาทให้เป็นที่เรียบร้อยเสียแต่อย่างใดไม่ และต่อมาอีกประมาณ ๕ ปี จำเลยทั้งสองได้ไปขอจดทะเบียนโอนทรัพย์มรดกที่ดินพิพาทข้างต้นเป็นของจำเลยทั้งสอง ซึ่งย่อมจะต้องมีการประกาศตามระเบียบ แต่ก็ไม่ปรากฏว่าฝ่ายโจทก์ได้ไปโต้แย้งคัดค้านเสียในตอนนั้น พฤติการณ์ดังกล่าวประกอบพยานหลักฐานที่ศาลวินิจฉัยมาแล้วข้างต้นเชื่อว่า จำเลยที่ ๒ได้อยู่ในที่ดินพิพาทกับนางอ้อยตั้งแต่ก่อนนางอ้อยถึงแก่ความตายและเมื่อนางอ้อยถึงแก่ความตายแล้ว จำเลยที่ ๒ ก็ได้ครอบครองที่ดินพิพาทต่อมาโดยโจทก์ทั้งสามไม่ได้ครอบครองทรัพย์มรดกที่ดินพิพาทร่วมกับจำเลยที่ ๒ ข้อเท็จจริงปรากฏว่านางอ้อย ปราบคเชนทร์ หรือสิงห์กุล เจ้ามรดกถึงแก่ความตายเมื่อวันที่ ๓ เมษายน ๒๕๒๑ โจทก์ทั้งสามซึ่งไม่ได้ร่วมครอบครองทรัพย์มรดกด้วยฟ้องคดีมรดกเมื่อวันที่ ๒๙ พฤษภาคม ๒๕๒๗ พ้น ๑ ปี นับแต่เจ้ามรดกถึงแก่ความตายซึ่งโจทก์ทั้งสามทราบแล้ว คดีโจทก์จึงขาดอายุความฟ้องคดีมรดกตามประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์ มาตรา ๑๗๔๘, ๑๗๕๔ เมื่อคดีของโจทก์ทั้งสามขาดอายุความฟ้องคดีมรดกเสียแล้ว กรณีไม่จำต้องวินิจฉัยในปัญหาว่าจำเลยถูกกำจัดไม่ให้รับมรดกเพราะปิดบังทรัพย์มรดกหรือไม่ต่อไปที่ศาลล่างทั้งสองพิพากษายกฟ้องโจทก์ทั้งสามชอบแล้ว ฎีกาโจทก์ทั้งสามฟังไม่ขึ้น
พิพากษายืน.

Share