คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 4814/2545

แหล่งที่มา : สำนักงานส่งเสริมงานตุลาการ

ย่อสั้น

การกระทำอันก่อให้เกิดหนี้ตามคำฟ้องเป็นการกระทำความผิดตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 147 ซึ่งมีอายุความ 20 ปี ตามประมวลกฎหมายอาญามาตรา 95(1) เมื่อการกระทำตามที่โจทก์ฟ้องไม่มีผู้ใดฟ้องทางอาญา สิทธิของโจทก์ซึ่งเป็นผู้เสียหายที่จะฟ้องทางแพ่งเนื่องจากความผิดนั้นย่อมระงับไปตามกำหนดเวลาดังที่กฎหมายอาญาบัญญัติไว้ในเรื่องอายุความฟ้องคดีอาญาตามประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความอาญา มาตรา 51 วรรคหนึ่ง หากข้อเท็จจริงฟังไม่ได้ว่าจำเลยกระทำผิดอาญา อายุความก็ต้องบังคับตามประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์โดยศาลแรงงานกลางต้องฟังข้อเท็จจริงว่าจำเลยกระทำผิดอาญาหรือไม่จากพยานหลักฐานของโจทก์จำเลย แต่คดีนี้ยังไม่มีการสืบพยานหลักฐานของคู่ความ การที่ศาลแรงงานกลางพิพากษายกฟ้องโจทก์โดยให้เหตุผลว่าคดีของโจทก์ขาดอายุความเพราะนำคดีมาฟ้องเมื่อเกิน 10 ปีแล้ว จึงไม่ชอบ

ย่อยาว

โจทก์ฟ้องว่า โจทก์เป็นนิติบุคคลตามพระราชบัญญัติองค์การโทรศัพท์แห่งประเทศไทย พ.ศ. 2497 จำเลยเคยเป็นลูกจ้างโจทก์ จำเลยได้รับเงินค่าเช่าใช้บริการโทรศัพท์จากผู้ใช้บริการโทรศัพท์แล้วไม่นำส่งเป็นรายได้ของโจทก์ตามระเบียบและได้ทำลายหลักฐานต้นขั้วใบแจ้งหนี้หรือใบเสร็จรับเงินด้วยซึ่งถือว่าทุจริตต่อหน้าที่ขณะกระทำความผิดจำเลยเป็นเจ้าพนักงานของรัฐมีเจตนาโดยปฏิบัติหรือละเว้นการปฏิบัติหน้าที่โดยมิชอบ โจทก์มีคำสั่งแต่งตั้งคณะกรรมการสอบสวนทางวินัย ผลการสอบสวนยุติว่าจำเลยกระทำความผิดทางวินัย โจทก์จึงลงโทษจำเลยโดยไล่ออก และให้ชดใช้เงินจำนวนดังกล่าวคืนโจทก์ ต่อมามีบันทึกอ้างถึงหนี้จำนวน 35,960 บาท อันเป็นหนี้ที่เกิดจากการทุจริตของจำเลยที่ได้มีการตรวจสอบพบในภายหลังซึ่งหนี้ดังกล่าวมีมูลเหตุจากการกระทำโดยทุจริตของจำเลยในคราวเดียวกัน รวมเป็นหนี้ทั้งสิ้นจำนวน 162,183.50 บาท การกระทำของจำเลยเป็นความผิดวินัยอย่างร้ายแรง ผิดสัญญาจ้างและข้อตกลงเกี่ยวกับสภาพการจ้างและเป็นการละเมิดต่อโจทก์ทำให้โจทก์เสียหาย จำเลยต้องชำระดอกเบี้ยร้อยละเจ็ดครึ่งต่อปีของต้นเงินดังกล่าวนับแต่วันที่ 16 พฤษภาคม 2527 อันเป็นวันที่โจทก์ไล่จำเลยออกจนถึงวันฟ้องเป็นเงิน 201,699 บาท โจทก์ทวงถามให้จำเลยชำระเงินแล้ว ขอให้บังคับจำเลยชำระเงินจำนวน 363,882.50 บาท พร้อมด้วยดอกเบี้ยร้อยละเจ็ดครึ่งต่อปีของต้นเงิน 162,183.50 บาท นับถัดจากวันฟ้องไปจนกว่าจะชำระเสร็จแก่โจทก์

จำเลยให้การว่า ฟ้องโจทก์ขาดอายุความเพราะโจทก์ฟ้องในมูลละเมิดเกินกว่า1 ปี นับแต่วันที่ผู้เสียหายรู้ถึงการละเมิดและรู้ตัวผู้จะพึงใช้ค่าสินไหมทดแทนหรือเมื่อพ้น10 ปี นับแต่วันทำละเมิด หรือฟ้องในเรื่องผิดสัญญาจ้างแรงงานเกินกว่า 10 ปี ผู้รับมอบอำนาจโจทก์ไม่สามารถจะดำเนินคดีแทนโจทก์ได้เพราะหนังสือมอบอำนาจไม่ได้ปิดอากรแสตมป์ จำเลยไม่ได้กระทำผิดหรือยักยอกเงินของโจทก์ตามฟ้อง โจทก์ไม่มีสิทธิคิดดอกเบี้ยจากจำเลย ขอให้ยกฟ้อง

จำเลยยื่นคำร้องขอให้ศาลแรงงานกลางวินิจฉัยชี้ขาดเบื้องต้นในปัญหาข้อกฎหมายเรื่องอายุความ ศาลแรงงานกลางเห็นว่าคดีพอวินิจฉัยได้โดยไม่จำต้องสืบพยานโจทก์และจำเลย ให้งดสืบพยานโจทก์และจำเลย

ศาลแรงงานกลางวินิจฉัยว่า โจทก์ฟ้องให้จำเลยชำระเงินค่าเช่าใช้โทรศัพท์ที่จำเลยรับจากผู้ใช้บริการโทรศัพท์แล้วไม่นำส่งโจทก์คืนให้แก่โจทก์โดยอ้างว่าจำเลยผิดสัญญาจ้างแรงงานและข้อตกลงเกี่ยวกับสภาพการจ้างและเป็นการละเมิดต่อโจทก์อายุความตามสัญญาจ้างแรงงานไม่มีกฎหมายบัญญัติไว้โดยเฉพาะจึงมีอายุความ 10 ปีตามประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์ มาตรา 193/30 ส่วนอายุความในมูลละเมิดมีกำหนด 1 ปี นับแต่วันที่โจทก์รู้ถึงการละเมิดและรู้ตัวผู้จะพึงต้องใช้ค่าสินไหมทดแทนหรือเมื่อพ้น 10 ปี นับแต่วันทำละเมิดตามมาตรา 448 และการที่โจทก์อ้างว่าการกระทำของจำเลยเป็นความผิดอาญาซึ่งน่าจะเป็นความผิดฐานยักยอกสิทธิที่โจทก์จะฟ้องทางแพ่งมีอายุความ 10 ปี นับแต่วันกระทำความผิดตามประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความอาญา มาตรา 51 ประกอบประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 95, 352, 353 ฟ้องโจทก์จึงขาดอายุความตามประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์ มาตรา 193/9พิพากษายกฟ้อง

โจทก์อุทธรณ์ต่อศาลฎีกา

ศาลฎีกาแผนกคดีแรงงานวินิจฉัยว่า “มีปัญหาต้องวินิจฉัยเพียงประการเดียวว่าฟ้องของโจทก์ขาดอายุความหรือไม่ เห็นว่า โจทก์ฟ้องว่าจำเลยซึ่งเป็นเจ้าพนักงานของรัฐรับชำระเงินค่าเช่าใช้บริการโทรศัพท์จากผู้ใช้บริการโทรศัพท์แล้วไม่นำเงินส่งเข้าเป็นรายได้ของโจทก์รวมทั้งสิ้นเป็นเงิน 162,183.50 บาท ขอให้บังคับจำเลยชำระเงินจำนวนดังกล่าวคืนโจทก์พร้อมดอกเบี้ย ซึ่งการกระทำอันก่อให้เกิดหนี้ตามคำฟ้องดังกล่าวหากเป็นการกระทำความผิดก็เป็นความผิดตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 147 ซึ่งมีอายุความ 20 ปี ตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 95(1) แต่การกระทำตามที่โจทก์ฟ้องไม่มีผู้ใดฟ้องทางอาญา สิทธิของโจทก์ซึ่งเป็นผู้เสียหายที่จะฟ้องทางแพ่งเนื่องจากความผิดนั้นย่อมระงับไปตามกำหนดเวลาดังที่กฎหมายลักษณะอาญาบัญญัติไว้ในเรื่องอายุความฟ้องคดีอาญา ทั้งนี้ตามประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความอาญา มาตรา 51 วรรคหนึ่ง หากข้อเท็จจริงฟังไม่ได้ว่าจำเลยกระทำผิดอาญา อายุความในคดีนี้ก็จะต้องบังคับตามประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์ โดยศาลแรงงานกลางต้องฟังข้อเท็จจริงว่าจำเลยกระทำผิดอาญาหรือไม่ดังกล่าวจากพยานหลักฐานของโจทก์จำเลย แต่คดีนี้ยังไม่มีการสืบพยานหลักฐานของคู่ความ การที่ศาลแรงงานกลางพิพากษายกฟ้องโจทก์โดยให้เหตุผลว่าคดีของโจทก์ขาดอายุความเพราะนำคดีมาฟ้องเมื่อเกิน 10 ปี แล้ว จึงไม่ชอบ อุทธรณ์ของโจทก์ฟังขึ้น”

พิพากษายกคำพิพากษาศาลแรงงานกลาง ให้ศาลแรงงานกลางพิจารณาพิพากษาใหม่ต่อไปตามรูปคดี

Share