คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 6479/2545

แหล่งที่มา : สำนักงานส่งเสริมงานตุลาการ

ย่อสั้น

จำเลยใช้รถยนต์บรรทุกของกลางมีน้ำหนักบรรทุกรวมน้ำหนักรถเกินอัตราที่กฎหมายกำหนดไว้มาก เพื่อประโยชน์ส่วนตัวโดยไม่คำนึงถึงความเสียหายที่จะเกิดขึ้นแก่ทางหลวงแผ่นดิน ทั้งมีผลกระทบต่อผู้ร่วมใช้เส้นทางสัญจรไปมาที่ต้องเสี่ยงต่ออันตรายอันเกิดจากสภาพแห่งท้องถนนที่ได้รับความเสียหายทำให้ยากต่อการควบคุมให้รถแล่นไปได้อย่างปลอดภัย ซึ่งอาจมีผลก่อให้เกิดอันตรายต่อผู้ขับขี่ได้ ดังนั้น รถยนต์บรรทุกของกลางซึ่งใช้ในการกระทำความผิดจึงเป็นทรัพย์ที่สมควรต้องริบ

ย่อยาว

โจทก์ฟ้องว่า ตามวันเวลาเกิดเหตุเจ้าพนักงานจับจำเลยได้พร้อมด้วยรถยนต์บรรทุก ขอให้ลงโทษจำเลยตามพระราชบัญญัติทางหลวง พ.ศ. 2535 มาตรา 61, 73ประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 33 และริบรถยนต์บรรทุกของกลาง

จำเลยให้การรับสารภาพ

ศาลชั้นต้นพิพากษาว่า จำเลยมีความผิดตามพระราชบัญญัติทางหลวงพ.ศ. 2535 มาตรา 61, 73 จำคุก 2 เดือน และปรับ 6,000 บาท โทษจำคุกให้รอการลงโทษไว้ 1 ปี ให้จำเลยไปรายงานตัวต่อพนักงานคุมประพฤติทุก 3 เดือนต่อครั้ง ภายในกำหนด 1 ปี กับให้จำเลยทำงานบริการสังคมและสาธารณประโยชน์ตามที่จำเลยและพนักงานคุมประพฤติเห็นสมควรเป็นเวลา 20 ชั่วโมงตามประมวลกฎหมายอาญามาตรา 56 ไม่ชำระค่าปรับจัดการตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 29, 30 ส่วนรถยนต์ของกลางนั้นยังไม่เห็นสมควรริบ ยกคำขอโจทก์ในส่วนนี้

โจทก์อุทธรณ์ขอให้ริบรถยนต์บรรทุกของกลาง โดยอธิบดีอัยการเขต 7 รักษาการในตำแหน่งอัยการพิเศษประจำเขต 7 ซึ่งได้รับมอบหมายจากอัยการสูงสุดรับรองให้อุทธรณ์ในปัญหาข้อเท็จจริง

ศาลอุทธรณ์ภาค 7 พิพากษาแก้เป็นว่า ให้ริบรถยนต์บรรทุกของกลาง นอกจากที่แก้ให้เป็นไปตามคำพิพากษาศาลชั้นต้น

จำเลยฎีกา โดยผู้พิพากษาซึ่งพิจารณาและลงชื่อในคำพิพากษาศาลชั้นต้นอนุญาตให้ฎีกาในปัญหาข้อเท็จจริง

ศาลฎีกาวินิจฉัยว่า “มีปัญหาที่ต้องวินิจฉัยตามฎีกาของจำเลยว่า สมควรริบรถยนต์บรรทุกของกลางหรือไม่ เห็นว่า จำเลยใช้รถยนต์บรรทุกของกลางมีน้ำหนักบรรทุกรวมน้ำหนักรถเกินอัตราที่กฎหมายกำหนดไว้ถึง 12,900 กิโลกรัม เพื่อประโยชน์ส่วนตัวโดยไม่คำนึงถึงความเสียหายที่จะเกิดขึ้นแก่ทางหลวงแผ่นดิน ทั้งยังมีผลกระทบต่อผู้ร่วมใช้เส้นทางสัญจรไปมาที่ต้องเสี่ยงต่ออันตรายอันเกิดจากสภาพแห่งท้องถนนที่ได้รับความเสียหายทำให้ยากต่อการควบคุมให้รถแล่นไปได้อย่างปลอดภัย ซึ่งอาจมีผลก่อให้เกิดอันตรายต่อผู้ขับขี่ได้ ดังนั้น รถยนต์บรรทุกของกลางซึ่งใช้ในการกระทำความผิดจึงเป็นทรัพย์ที่สมควรต้องริบ การที่ศาลอุทธรณ์ภาค 7 ใช้ดุลพินิจริบรถยนต์บรรทุกของกลาง ศาลฎีกาเห็นพ้องด้วย ฎีกาของจำเลยฟังไม่ขึ้น”

พิพากษายืน

Share