คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 2207/2549

แหล่งที่มา : กองผู้ช่วยผู้พิพากษาศาลฎีกา

ย่อสั้น

ด้านหลังใบรับขนทางอากาศมีข้อความระบุจำนวนจำกัดความรับผิดของผู้ขนส่งไว้ 20 ดอลลาร์สหรัฐ ต่อน้ำหนักสินค้า 1 กิโลกรัม ทั้งด้านหน้าใบรับขนทางอากาศก็ยังทำช่องการแสดงมูลค่าสำหรับการขนส่งไว้เพื่อให้มีการกรอกข้อความได้ ซึ่งก็ปรากฏว่ามีข้อความกรอกไว้เป็นภาษาอังกฤษว่า N.V.D. หรือ non value declare หมายความว่า ผู้ส่งสินค้าเลือกที่จะไม่แสดงมูลค่าเพื่อการขนส่ง ซึ่งเท่ากับยอมรับในจำนวนจำกัดความรับผิดดังกล่าว ประกอบกับการที่บริษัท อ. เป็นตัวแทนผู้ส่งสินค้าและเป็นตัวแทนออกใบรับขนทางอากาศเอกสารหมาย ล. 1 โดยมีข้อความดังกล่าวอยู่และอยู่ในความรู้เห็นเป็นอย่างดีของบริษัทนี้ ย่อมแสดงว่าบริษัทดังกล่าวกระทำการในฐานะตัวแทนผู้ส่งสินค้าได้ตกลงในเรื่องจำนวนจำกัดความรับผิดของผู้ขนส่งที่อยู่ด้านหลังใบรับขนทางอากาศเอกสารหมาย ล. 1 โดยชัดแจ้ง ซึ่งมีผลผูกพันบริษัท ม. ผู้ส่งสินค้า จึงถือได้ว่าผู้ส่งสินค้าได้ตกลงในจำนวนจำกัดความรับผิดของจำเลยผู้ขนส่งโดยชัดแจ้งแล้วเช่นกัน ข้อจำกัดความรับผิดอันเป็นข้อตกลงในสัญญารับขนทางอากาศรายนี้ย่อมมีผลผูกพันโดยสมบูรณ์ จำเลยย่อมได้รับประโยชน์ตามข้อจำกัดความรับผิดนี้

ย่อยาว

โจทก์ฟ้องขอให้บังคับจำเลยชำระเงินจำนวน 663,073.30 บาท พร้อมดอกเบี้ยในอัตราร้อยละ 7.5 ต่อปี ของต้นเงินจำนวน 630,675.58 บาท นับแต่วันฟ้องจนกว่าจะชำระเสร็จแก่โจทก์
จำเลยให้การขอให้ยกฟ้อง
ศาลทรัพย์สินทางปัญญาและการค้าระหว่างประเทศกลางพิพากษาให้จำเลยชำระเงินจำนวน 663,073.30 บาท พร้อมดอกเบี้ยอัตราร้อยละ 7.5 ต่อปี ของต้นเงินจำนวน 630,675.58 บาท นับจากวันฟ้อง (ฟ้องวันที่ 17 มกราคม 2544) จนกว่าจะชำระเสร็จ ให้จำเลยชำระค่าฤชาธรรมเนียมแทนโจทก์ โดยกำหนดค่าทนายความ 20,000 บาท
จำเลยอุทธรณ์ต่อศาลฎีกา
ศาลฎีกาแผนกคดีทรัพย์สินทางปัญญาและการค้าระหว่างประเทศวินิจฉัยว่า…มีปัญหาที่ต้องวินิจฉัยตามอุทธรณ์ของจำเลยว่า จำเลยต้องรับผิดจำกัดจำนวนเงิน เพราะในสัญญารับขนของทางอากาศมีข้อจำกัดความรับผิดที่คู่สัญญาตกลงกันไว้หรือไม่ เห็นว่า ตามใบรับขนทางอากาศเอกสารหมาย ล.1 ที่เป็นของจำเลยผู้ขนส่งทางอากาศอันเป็นหลักฐานแห่งสัญญารับขนของทางอากาศมีข้อความสอดคล้องกับใบรับขนทางอากาศที่บริษัทแอร์โรเชียน เอ็กซ์เพรส จำกัด ออกให้แก่บริษัทมินีแบเทคโนโลยี จำกัด ผู้ขายที่เป็นผู้ส่งสินค้าคดีนี้ โดยเป็นใบรับขนทางอากาศที่ออกวันเดียวกัน คือวันที่ 17 มกราคม 2543 ระบุเที่ยวบินเดียวกัน และในใบรับขนทางอากาศเอกสารหมาย จ.4 ก็ระบุถึงเลขที่ใบรับขนทางอากาศตามเอกสารหมาย ล.1 ไว้ด้วย แสดงว่าใบรับขนทางอากาศทั้งสองฉบับออกเกี่ยวเนื่องกันเพื่อการขนส่งสินค้ารายนี้ และเมื่อพิจารณาข้อความในรายละเอียดตามใบรับขนทางอากาศ 2 ฉบับนี้ประกอบกัน ปรากฏว่าใบรับขนทางอากาศเอกสารหมาย จ.4 ในช่องผู้ส่งมีชื่อบริษัทแอร์โรเชียน เอ็กซ์เพรส จำกัด อันแสดงว่าบริษัทดังกล่าวทำหน้าที่เป็นตัวแทนของผู้ส่งของคือบริษัทมินีแบเทคโนโลยี จำกัด ด้วย นอกจากนี้ในใบรับขนทางอากาศเอกสารหมาย ล.1 ซึ่งระบุว่าบริษัทแอร์โรเชียน เอ็กซ์เพรส จำกัด เป็นผู้ส่งสินค้าเองนั้นก็มีลายมือชื่อของบุคคลซึ่งเคยเป็นพนักงานของบริษัทแอร์โรเชียน เอ็กซ์เพรส จำกัด อยู่ในช่องผู้ขนส่งหรือตัวแทนผู้ขนส่ง ซึ่งแสดงว่าบริษัทดังกล่าวเกี่ยวข้องในการออกใบรับขนทางอากาศฉบับนี้แทนจำเลยด้วย บริษัทนี้ย่อมอยู่ในฐานะเป็นตัวแทนของผู้ส่งสินค้าและตัวแทนของจำเลย และข้อความเกี่ยวกับเงื่อนไขการเพิ่มจำนวนจำกัดความรับผิดในด้านหน้าของใบตราส่งทั้งสองฉบับก็เป็นทำนองเดียวกัน กล่าวคือ ผู้ส่งสินค้าต้องสนใจข้อความเกี่ยวกับข้อจำกัดความรับผิดด้านหลังใบรับขนทางอากาศนี้ และผู้ส่งสินค้าสามารถเพิ่มจำนวนจำกัดความรับผิดได้โดยการแสดงมูลค่าสำหรับการขนส่ง และจ่ายเงินเพิ่มหากจำเป็นด้วย และด้านหลังใบรับขนทางอากาศมีข้อความระบุจำนวนจำกัดความรับผิดของผู้ขนส่งไว้ 20 ดอลลาร์สหรัฐ ต่อน้ำหนักสินค้า 1 กิโลกรัม ทั้งด้านหน้าใบรับขนทางอากาศก็ยังทำช่องการแสดงมูลค่าสำหรับการขนส่งไว้ เพื่อให้มีการกรอกข้อความได้ ซึ่งก็ปรากฏว่ามีข้อความกรอกไว้ในช่องนี้เป็นภาษาอังกฤษว่า N.V.D หรือ non value declare จึงหมายความว่า ผู้ส่งสินค้าเลือกที่จะไม่แสดงมูลค่าเพื่อการขนส่ง ซึ่งเท่ากับยอมรับในจำนวนจำกัดความรับผิดดังกล่าว เมื่อพิจารณาประกอบกับการที่บริษัทแอร์โรเชียน เอ็กซ์เพรส จำกัด เป็นตัวแทนผู้ส่งสินค้าและเป็นตัวแทนออกใบรับขนทางอากาศเอกสารหมาย ล.1 ซึ่งมีข้อความดังกล่าวอยู่และอยู่ในความรู้เห็นเป็นอย่างเดียวของบริษัทนี้อยู่แล้ว ย่อมแสดงว่าบริษัทดังกล่าวซึ่งกระทำการในฐานะตัวแทนผู้ส่งสินค้าตกลงในเรื่องจำนวนจำกัดความรับผิดของผู้ขนส่งที่อยู่ด้านหลังใบรับขนทางอากาศเอกสารหมาย ล.1 โดยชัดแจ้ง ซึ่งมีผลผูกพันบริษัทมินีแบเทคโนโลยี จำกัด ผู้ส่งสินค้า จึงถือได้ว่าผู้ส่งสินค้าได้ตกลงในจำนวนจำกัดความรับผิดของจำเลยผู้ขนส่งโดยชัดแจ้งแล้วเช่นกัน ข้อจำกัดความรับผิดอันเป็นข้อตกลงในสัญญารับขนของทางอากาศรายนี้ย่อมมีผลผูกพันโดยสมบูรณ์ จำเลยจึงย่อมได้รับประโยชน์ตามข้อจำกัดความรับผิดนี้ และในการคิดคำนวณจำนวนจำกัดความรับผิดตามน้ำหนักสินค้านั้น ปรากฏตามใบกำกับสินค้าว่า สินค้าที่แบ่งบรรจุในกล่องรวม 40,000 ชิ้น เป็นสินค้าอย่างเดียวกันมีน้ำหนักรวม 21.1 กิโลกรัม แต่สินค้าที่เสียหายมีจำนวนเพียง 30,000 ชิ้น จึงคิดเป็นน้ำหนัก 15.825 กิโลกรัม คิดเป็นเงินตามจำนวนจำกัดความรับผิด 20 ดอลลาร์สหรัฐ ต่อน้ำหนักสินค้า 1 กิโลกรัม แล้ว ได้เป็นเงิน 316.50 ดอลลาร์สหรัฐ…
พิพากษาแก้เป็นว่า ให้จำเลยชำระเงินจำนวน 12,074.47 บาท พร้อมดอกเบี้ยอัตราร้อยละ 7.5 ต่อปี ของต้นเงินดังกล่าวนับตั้งแต่วันที่ 12 พฤษภาคม 2543 เป็นต้นไปจนกว่าจะชำระเสร็จสิ้นแก่โจทก์ ค่าฤชาธรรมเนียมทั้งสองศาลให้เป็นพับ.

Share