คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 1074/2525

แหล่งที่มา : กองผู้ช่วยผู้พิพากษาศาลฎีกา

ย่อสั้น

จำเลยถูกฟ้องว่าปลูกสร้างอาคารไม่ตรงตามแบบที่ได้รับอนุญาต ศาลชั้นต้นพิพากษายกฟ้อง โดยวินิจฉัยว่าโจทก์นำสืบไม่ได้ว่าการกระทำของจำเลยไม่เข้าข้อยกเว้นตาม มาตรา 31 แห่งพระราชบัญญัติควบคุมอาคาร ฯลฯ อันจะทำให้ถือว่าการกระทำของจำเลยเป็นความผิดเช่นนี้การที่โจทก์อุทธรณ์ว่า โจทก์นำสืบข้อเท็จจริงอันเป็นองค์ประกอบแห่งความผิดครบถ้วนแล้ว และเป็นหน้าที่ของจำเลย ที่จะต้องนำสืบว่าการกระทำของจำเลยเข้าข้อยกเว้นข้ออุทธรณ์ของโจทก์ดังกล่าวจึงเป็นปัญหาข้อกฎหมาย
ข้อบัญญัติส่วนท้องถิ่นเป็นกฎหมายใช้บังคับแก่คนทั่วประเทศมิใช่บังคับเฉพาะแต่คนในท้องถิ่นเท่านั้น จึงเป็น ข้อกฎหมายที่ศาลจะต้องทราบเอง โดยโจทก์มิต้องนำสืบความในข้อบัญญัติดังกล่าว
พนักงานสอบสวนแจ้งข้อหาแก่จำเลยว่า “ก่อสร้างอาคารผิดแบบแปลนที่ได้รับอนุญาตจากคณะเทศมนตรีเมืองปทุมธานี” เช่นนี้เป็นการแจ้งข้อหาชอบด้วยประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความอาญามาตรา 134 พนักงานสอบสวนหาจำต้องแจ้งชื่อพระราชบัญญัติด้วยไม่การสอบสวนจึงชอบด้วยกฎหมายแล้ว
จำเลยทราบอยู่แล้วว่าการก่อสร้างอาคารในเขตเทศบาลต้องได้รับอนุญาตจากเทศบาล ซึ่งมีพระราชกฤษฎีกาให้ใช้พระราชบัญญัติควบคุมการก่อสร้างอาคาร พุทธศักราช 2479 ในเขตเทศบาลเมืองปทุมธานี ฯ แล้ว การที่จำเลยก่อสร้างฝ่าฝืนต่อเติมอาคารผิดไปจากที่ได้รับอนุญาต จึงจะยกเป็นเหตุอ้างว่าไม่รู้กฎหมาย เพื่อไม่ต้องรับโทษ หรือรับโทษน้อยลงตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 62 ไม่ได้

ย่อยาว

โจทก์ฟ้องว่า จำเลยได้รับอนุญาตให้ปลูกสร้างอาคาร ๓ ชั้น ๖ คูหาจากเทศบาลเมืองปทุมธานี โดยไม่มีระเบียงและกำแพงด้านหลัง และต้องเว้นที่ด้านหลังอาคาร ๒ เมตร เพื่อเป็นที่ปลอดภัยเมื่อเกิดเพลิงไหม้ครั้นระหว่างวันที่ ๒๔ กรกฎาคม ถึง ๙ ธันวาคม ๒๕๒๒ จำเลยได้ต่อเติมระเบียงและก่อกำแพงด้านหลังอาคารโดยไม่ได้รับอนุญาตและไม่ตรงตามแบบเจ้าพนักงานสั่งให้จำเลยแก้ไขแต่จำเลยเพิกเฉย เหตุเกิดที่ตำบลบางปรอก อำเภอเมืองปทุมธานี ขอให้ลงโทษตามพระราชบัญญัติควบคุมอาคาร ฯลฯ
จำเลยให้การปฏิเสธ
ศาลชั้นต้นวินิจฉัยว่า จำเลยก่อสร้างอาคารผิดไปจากแบบแปลนที่ได้รับอนุญาต แต่โจทก์ไม่มีพยานหลักฐานนำสืบว่าการกระทำของจำเลยไม่เข้าข้อยกเว้นตามพระราชบัญญัติควบคุมอาคาร ฯลฯ มาตรา ๓๑ จึงฟังไม่ได้ว่าการกระทำของจำเลยเป็นความผิด พิพากษายกฟ้อง
โจทก์อุทธรณ์
ศาลอุทธรณ์วินิจฉัยว่า จำเลยมีความผิดตามพระราชบัญญัติควบคุมอาคาร ฯลฯ มาตรา ๓๑, ๖๕ พิพากษากลับ ฯลฯ
จำเลยฎีกา
ศาลฎีกาวินิจฉัยว่า ที่จำเลยฎีกาว่าโจทก์อุทธรณ์ในปัญหาข้อเท็จจริงต้องห้ามอุทธรณ์ตามประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความอาญา มาตรา ๑๙๓ ทวิ ศาลอุทธรณ์ไม่มีอำนาจวินิจฉัยนั้น ปรากฏว่า ศาลชั้นต้นวินิจฉัยว่าแม้จะฟังว่าจำเลยก่อสร้างอาคารผิดไปจากแบบแปลนที่ได้รับอนุญาตตามมาตรา ๓๑แห่งพระราชบัญญัติควบคุมอาคาร พ.ศ. ๒๕๒๒ แต่มีข้อยกเว้นอยู่ในมาตราดังกล่าว ข้อ (๑)(๒) โจทก์ไม่มีพยานนำสืบว่าการกระทำของจำเลยไม่เข้าข้อยกเว้น จึงฟังไม่ได้ว่าการกระทำของจำเลยเป็นความผิดตามฟ้อง โจทก์อุทธรณ์ว่าโจทก์นำสืบข้อเท็จจริงอันเป็นองค์ประกอบความผิดครบถ้วนแล้ว เป็นหน้าที่ของจำเลยที่จะนำสืบข้อยกเว้นเป็นข้อต่อสู้ ดังนี้อุทธรณ์ของโจทก์จึงเป็นปัญหาข้อกฎหมาย และศาลอุทธรณ์มีอำนาจวินิจฉัยได้
ที่จำเลยฎีกาว่า โจทก์มิได้นำสืบข้อบัญญัติท้องถิ่นซึ่งไม่ใช่กฎหมายที่ใช้บังคับแก่คนทั่วประเทศ จึงจะลงโทษจำเลยไม่ได้ นั้น เห็นว่า ข้อบัญญัติท้องถิ่นเป็นกฎหมายชนิดหนึ่งใช้บังคับแก่คนทั่วประเทศ หาใช่บังคับแต่เฉพาะคนในท้องถิ่นเท่านั้นไม่โจทก์จึงไม่ต้องนำสืบในข้อนี้ เมื่อจำเลยปลูกสร้างอาคารนอกเหนือจากที่ได้รับอนุญาตโดยมิได้ยกเป็นข้อต่อสู้ว่าจำเลยกระทำโดยอาศัยอำนาจตามข้อยกเว้น จำเลยจึงต้องมีความผิดตามฟ้อง
ที่จำเลยฎีกาว่า เจ้าพนักงานให้เวลาจำเลยแก้ไขอาคารที่ก่อสร้างผิดแบบแปลนภายใน ๑๕ วัน น้อยกว่าที่กฎหมายกำหนดไว้คือ ๓๐ วันจึงเป็นคำสั่งที่ไม่มอบ ใช้บังคับแก่จำเลยไม่ได้ นั้น ปรากฏว่า โจทก์มิได้ร้องขอให้ศาลบังคับให้จำเลยรื้อถอนอาคาร จึงไม่มีประเด็นต้องวินิจฉัยว่าการสั่งให้จำเลยแก้ไขอาคารที่ก่อสร้างนั้น ให้เวลาน้อยกว่าที่กฎหมายกำหนดหรือไม่
ที่จำเลยฎีกาว่า การสอบสวนไม่ชอบ เพราะพนักงานสอบสวนไม่ได้แจ้งให้จำเลยทราบว่าจำเลยกระทำผิดตามพระราชบัญญัติ พ.ศ. ใด จึงเป็นการปฏิบัติไม่ชอบด้วยประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความอาญา มาตรา ๑๓๔ นั้นเห็นว่า ตามมาตรา ๑๓๔ มีบัญญัติแต่เพียงว่าให้แจ้งข้อหาให้ทราบเท่านั้นไม่มีข้อความว่าต้องแจ้งชื่อพระราชบัญญัติและ พ.ศ. ให้ผู้ต้องหาทราบด้วยเมื่อพนักงานสอบสวนแจ้งข้อหาว่า “ก่อสร้างอาคารผิดแบบแปลนที่ได้รับอนุญาตจากคณะเทศมนตรีเมืองปทุมธานี” จึงเป็นการเพียงพอที่จะทำให้ผู้ต้องหาเข้าใจข้อหาและต่อสู้คดีได้ถูกต้องแล้ว การสอบสวนที่พนักงานสอบสวนกระทำในคดีนี้จึงชอบด้วยกฎหมายแล้ว
ที่จำเลยฎีกาว่า จำเลยเข้าใจโดยสุจริตว่าพระราชบัญญัติควบคุมอาคาร พ.ศ. ๒๕๒๒ ยังไม่ได้ประกาศใช้ในเขตเทศบาลเมืองปทุมธานี จำเลยจึงไม่ต้องรับโทษหรือรับโทษน้อยลง ตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา ๖๒ นั้น เห็นว่าก่อนที่จะมีการประกาศใช้พระราชบัญญัติดังกล่าว ได้มีกฎหมายเกี่ยวกับการควบคุมการก่อสร้างอาคารอยู่แล้วหลายฉบับที่สำคัญได้แก่พระราชบัญญัติควบคุมการก่อสร้างอาคาร พุทธศักราช ๒๔๗๙ และพระราชบัญญัติควบคุมการก่อสร้างอาคาร (ฉบับที่ ๒) พ.ศ. ๒๕๐๔ และมีพระราชกฤษฎีกาให้ใช้พระราชบัญญัติควบคุมการก่อสร้างอาคาร พุทธศักราช ๒๔๗๙ ในเขตเทศบาลเมืองปทุมธานี จังหวัดปทุมธานี พ.ศ. ๒๔๙๙ แล้ว ซึ่งตามมาตรา ๘๐ แห่งพระราชบัญญัติควบคุมอาคาร พ.ศ. ๒๕๒๒ บัญญัติว่า “ท้องที่ใดได้มีพระราชกฤษฎีกาให้ใช้บังคับพระราชบัญญัติควบคุมการก่อสร้างอาคารพุทธศักราช ๒๔๗๙ หรือพระราชบัญญัติควบคุมการก่อสร้างในเขตเพลิงไหม้พุทธศักราช ๒๔๗๖ อยู่ก่อนวันที่พระราชบัญญัตินี้ใช้บังคับ ให้ถือว่าได้มีพระราชกฤษฎีกาให้ใช้บังคับพระราชบัญญัตินี้ในท้องที่นั้นแล้ว”ก่อนที่จะก่อสร้างอาคารตามฟ้อง จำเลยก็ทราบอยู่แล้วว่าการก่อสร้างในเขตเทศบาลต้องได้รับอนุญาตจากเทศบาล จึงได้ขออนุญาตจากเทศบาลเมืองปทุมธานี ปรากฏตามใบอนุญาตเลขที่ ๓๔/๒๕๑๒ ในการอนุญาตก็จะต้องมีแบบแปลนและรายละเอียดที่เป็นเงื่อนไข หรือข้อที่อนุญาตให้ทำได้หรือข้อห้ามไว้ เมื่อจำเลยฝ่าฝืนต่อเติมอาคารผิดไปจากที่ได้รับอนุญาตจำเลยจะอ้างว่าไม่รู้กฎหมายไม่ได้
พิพากษายืน

Share