คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 690/2511

แหล่งที่มา : กองผู้ช่วยผู้พิพากษาศาลฎีกา

ย่อสั้น

โจทก์ฟ้องว่า จำเลยทำสัญญาเช่าซื้อที่ดินของโจทก์ และจำเลยผิดสัญญาและค้างชำระเงิน จำเลยให้การรับว่า ทำสัญญาเช่าซื้อกับโจทก์และไม่ได้ชำระเงินค่าเช่าซื้อให้แก่โจทก์จริง แต่อ้างว่าสัญญาเช่าซื้อเป็นโมฆะ เพราะจำเลยเป็นคนต่างด้าว ไม่มีสิทธิได้มาซึ่งกรรมสิทธิ์ในอสังหาริมทรัพย์ และทำสัญญาด้วยความสำคัญผิดในสารสำคัญแห่งนิติกรรม ดังนี้ จำเลยเป็นฝ่ายกล่าวอ้างขึ้นใหม่ว่าสัญญาเช่าซื้อเป็นโมฆะ โดยมีวัตถุประสงค์ต้องห้ามตามกฎหมายและสำคัญผิดในสารสำคัญของนิติกรรม มิใช่เพียงปฏิเสธว่าไม่ผิดสัญญาเท่ากับจำเลยต่อสู้ว่าการที่จำเลยไม่ชำระเงินค่าเช่าซื้อ ไม่เป็นผิดสัญญา จำเลยจึงมีหน้าที่นำสืบก่อนว่าสัญญานั้นไม่มีผลผูกพันอันจะทำให้จำเลยไม่ต้องปฏิบัติตามสัญญา
สนธิสัญญาทางไมตรีระหว่างราชอาณาจักรไทยกับสาธารณรัฐจีนซึ่งเริ่มใช้บังคับตั้งแต่วันที่ 28 มีนาคม 2489 ความในข้อ 6แห่งสนธิสัญญามีว่า คนชาติแห่งอัครภาคีแต่ละฝ่ายมีสิทธิที่จะได้มาซึ่งอสังหาริมทรัพย์ตลอดทั่วอาณาเขตของอีกฝ่ายหนึ่งนั้น ยังมีผลใช้บังคับตลอดไป ไม่ว่ารัฐบาลของสาธารณรัฐจีนจะไปตั้งอยู่ที่ไต้หวันหรือเกาะฟอโมซา เพราะสนธิสัญญาทางไมตรีระหว่างราชอาณาจักรไทยกับสาธารณรัฐจีนยังมีต่อกันอยู่ หาได้ถูกยกเลิกไปไม่
สำเนาหนังสือกระทรวงมหาดไทยที่ 2639/2504 ลงวันที่ 16กุมภาพันธ์ 2504 ถึงผู้ว่าราชการจังหวัดทุกจังหวัด ระบุสัญชาติคนต่างด้าวที่มีสิทธิขออนุญาตให้ได้มาซึ่งที่ดินตามมาตรา 86 แห่งประมวลกฎหมายที่ดิน โดยไม่ระบุคนต่างด้าวสัญชาติจีนรวมอยู่ด้วย และจำเลยแนบติดมาท้ายฎีกาของจำเลยนั้น จำเลยไม่ได้ระบุอ้างเป็นพยานไว้ก่อนและไม่มีเจ้าหน้าที่รับรองว่าเป็นสำเนาที่ถูกต้องทั้งไม่ใช่กฎหมาย ศาลฎีกาย่อมไม่รับวินิจฉัย
ประมวลกฎหมายที่ดิน มาตรา 86 มิได้บัญญัติห้ามเด็ดขาดไม่ให้คนต่างด้าวถือกรรมสิทธิ์ที่ดิน จำเลยซึ่งเป็นบุคคลสัญชาติจีนและเป็นผู้เช่าซื้อที่ดินของโจทก์ยังอยู่ในวิสัยที่จะไปขออนุญาตถือกรรมสิทธิ์ที่ดินได้และไม่ใช่สัญญาที่มีวัตถุประสงค์เป็นการต้องห้ามชัดแจ้งโดยกฎหมายหรือเป็นการพ้นวิสัย สัญญาเช่าซื้อระหว่างโจทก์จำเลยจึงสมบูรณ์ (วินิจฉัยโดยที่ประชุมใหญ่ครั้งที่ 5 -6/2511)
ฎีกาจำเลยในข้อที่ว่า การชำระเงินค่าเช่าซื้อ แม้จะผิดพลาดไปบ้างโจทก์ไม่ถือว่าจำเลยผิดสัญญาก็ดี หรือโจทก์ยังไม่ได้บอกกล่าวให้จำเลยชำระเงินค่าเช่าซื้อยังถือไม่ได้ว่าจำเลยผิดสัญญาก็ดี จำเลยไม่ได้ยกขึ้นต่อสู้ว่ากล่าวมาในศาลชั้นต้น จำเลยจะยกขึ้นในชั้นฎีกาไม่ได้
จำเลยฟ้องแย้งว่า จำเลยได้ชำระเงินให้ ป. ซึ่งโจทก์เป็นหนี้ ป. แทนโจทก์ โจทก์ปฏิเสธว่าจำเลยไม่ได้ชำระเงินแทนและโจทก์มิได้เป็นหนี้แต่จำเลยกลับนำสืบว่าจำเลยส่งมอบข้าวสาร ไม่ใช่ชำระเงินแทน จึงเป็นการนำสืบนอกฟ้องแย้งของจำเลย

ย่อยาว

โจทก์ฟ้องว่า จำเลยทำสัญญาเช่าซื้อที่ดินของโจทก์โฉนดที่๑๔๙๙ พร้อมทั้งโรงสีข้าวเป็นเงิน ๓๕๐,๐๐๐ บาท ตกลงชำระเงินให้เสร็จภายใน ๒๕ เดือน จำเลยผิดสัญญาและค้างชำระเงินโจทก์ ๘๐,๐๐๐ บาทโจทก์บอกเลิกสัญญาเช่าซื้อ ขอให้ศาลพิพากษาขับไล่จำเลยและบริวารออกจากทรัพย์ที่เช่าซื้อ ฯลฯ
จำเลยให้การและฟ้องแย้งว่าชำระเงินค่าเช่าซื้อให้โจทก์แล้วรวม๑๐๐,๐๐๐ บาท โจทก์จำเลยไม่สามารถที่จะโอนหรือรับโอนที่ดินดังกล่าวให้จำเลยถือกรรมสิทธิ์ได้เพราะจำเลยเป็นคนต่างด้าว สัญญาเช่าซื้อเป็นโมฆะ โจทก์ต้องคืนเงินที่รับไป และจำเลยเข้าทำสัญญาด้วยความสำคัญผิดในสารสำคัญแห่งนิติกรรม เครื่องสีข้าวของโจทก์ใช้การไม่ได้ จำเลยได้ซ่อมเครื่องสีข้าวและซ่อมตัวโรงสี รวมค่าซ่อม ๔๐,๐๐๐บาท โจทก์ต้องใช้คืน และจำเลยชำระเงินให้นายประกอบไป ๑,๓๗๐ บาทแทนโจทก์ และโจทก์เอาเงินไปจากจำเลยเป็นพิเศษอีก ๒,๑๕๐ บาท โจทก์ต้องคืน จึงฟ้องแย้งให้โจทก์คืนและใช้เงิน ๔ จำนวนดังกล่าวรวม๑๔๓,๕๒๐ บาท
โจทก์ให้การแก้ฟ้องแย้งว่า แม้จำเลยมีสัญชาติเป็นจีนก็สามารถรับโอนกรรมสิทธิ์ได้ สัญญาเช่าซื้อสมบูรณ์ จำเลยมิได้สำคัญผิดในสารสำคัญของสัญญา จำเลยไม่เคยออกเงินจำนวน ๑,๓๗๐ บาท ใช้แทนโจทก์โจทก์ไม่เคยได้รับเงินจำนวน ๒,๑๕๐ บาทจากจำเลย
ระหว่างพิจารณา จำเลยและบริวารยินยอมออกจากโรงสีพิพาท
ศาลแพ่งพิพากษาให้จำเลยส่งมอบทรัพย์ที่เช่าซื้อให้โจทก์ให้โจทก์ใช้เงินค่าซ่อมโรงสีและเครื่องสีข้าว ๔๐,๐๐๐ บาท ฯลฯคำขอของโจทก์จำเลยนอกจากนี้ให้ยก
โจทก์จำเลยอุทธรณ์
ศาลอุทธรณ์เห็นว่าที่ศาลแพ่งพิพากษาให้โจทก์ใช้เงินค่าซ่อมแซมโรงสีแก่จำเลย ๔๐,๐๐๐ บาท ศาลอุทธรณ์ไม่เห็นพ้องด้วย ส่วนอุทธรณ์โจทก์เรื่องคำขอให้ขับไล่จำเลยศาลแพ่งมิได้พิพากษาให้ขับไล่เพียงให้ส่งมอบทรัพย์ที่เช่าซื้อ ศาลอุทธรณ์เห็นว่าเมื่อโจทก์มีคำขอให้ขับไล่ ศาลก็ควรพิพากษาให้ขับไล่ เผื่อจำเลยและบริวารเข้ามาเกี่ยวข้องกับทรัพย์อีก พิพากษาแก้ให้ขับไล่จำเลยและบริวารออกจากทรัพย์ที่เช่าซื้อ ให้ยกฟ้องแย้งที่ให้โจทก์ชดใช้ค่าซ่อมแซมทรัพย์ที่เช่าซื้อ ยกอุทธรณ์จำเลย ฯลฯ
จำเลยฎีกา
ในเรื่องหน้าที่นำสืบ ได้ความตามคำให้การของจำเลยรับว่า ได้ทำสัญญาเช่าซื้อกับโจทก์ และไม่ได้ชำระเงินค่าเช่าซื้อให้แก่โจทก์จริงตามฟ้อง แต่อ้างว่าสัญญาเช่าซื้อเป็นโมฆะเพราะจำเลยเป็นคนต่างด้าวไม่มีสิทธิได้มาซึ่งกรรมสิทธิ์ในอสังหาริมทรัพย์ ดังนี้ ศาลฎีกาเห็นว่า จำเลยเป็นฝ่ายกล่าวอ้างขึ้นใหม่ว่าสัญญาเช่าซื้อเป็นโมฆะโดยมีวัตถุที่ประสงค์ต้องห้ามตามกฎหมายและสำคัญผิดในสารสำคัญของนิติกรรม มิใช่เพียงปฏิเสธว่าไม่ผิดสัญญา กลับอ้างความเสียเปล่าของโมฆะกรรมขึ้นต่อสู้ เท่ากับจำเลยต่อสู้ว่าการที่จำเลยไม่ชำระเงินค่าเช่าซื้อ ไม่เป็นการผิดสัญญา เพราะสัญญาเช่าซื้อเป็นโมฆะ จำเลยจึงมีหน้าที่ต้องนำสืบก่อนว่าสัญญานั้นไม่มีผลผูกพันอันจะทำให้จำเลยไม่ต้องปฏิบัติตามสัญญาดังที่จำเลยกล่าวอ้าง
จำเลยฎีกาว่า สัญญาเช่าซื้อระหว่างโจทก์จำเลยตกเป็นโมฆะตามประมวลกฎหมายที่ดิน มาตรา ๘๖ เพราะจำเลยเป็นคนสัญชาติจีน ศาลฎีกาเห็นว่าสนธิสัญญาทางไมตรีระหว่างราชอาณาจักรไทยกับสาธารณรัฐจีนซึ่งได้เริ่มใช้ตั้งแต่วันที่ ๒๘ มีนาคม ๒๔๘๙ ความในข้อ ๖ แห่งสนธิสัญญานั้นมีว่า คนชาติแห่งอัครภาคีแต่ละฝ่ายมีสิทธิที่จะได้มาซึ่งอสังหาริมทรัพย์ตลอดทั่วอาณาเขตของอีกฝ่ายหนึ่งนั้น ยังมีผลใช้บังคับตลอดไป ไม่ว่ารัฐบาลของสาธารณรัฐจีนจะไปตั้งอยู่ที่ไต้หวันหรือเกาะฟอโมซา เพราะสนธิสัญญาทางไมตรีระหว่างราชอาณาจักรไทยกับสาธารณรัฐจีนยังมีต่อกันอยู่ หาได้ถูกยกเลิกไปโดยปริยายดังฎีกาของจำเลยไม่ จำเลยย่อมอยู่ในข่ายที่จะถือกรรมสิทธิ์ที่ดินในประเทศไทยได้ ส่วนสำเนาหนังสือของกระทรวงมหาดไทยที่ ๒๖๓๙/๒๕๐๔ลงวันที่ ๑๖ กุมภาพันธ์ ๒๕๐๔ ระบุสัญชาติคนต่างด้าวที่มีสิทธิขออนุญาตให้ได้มาซึ่งที่ดินตามมาตรา ๘๖ แห่งประมวลกฎหมายที่ดินโดยไม่ได้ระบุคนต่างด้าวสัญชาติจีนรวมอยู่ด้วย ถึงผู้ว่าราชการจังหวัดทุกจังหวัดซึ่งจำเลยแนบติดมาท้ายฎีกาของจำเลยนั้น สำเนาหนังสือดังกล่าวนี้จำเลยไม่ได้ระบุอ้างเป็นพยานไว้ก่อนและไม่มีเจ้าหน้าที่รับรองว่าเป็นสำเนาที่ถูกต้อง ทั้งไม่ใช่กฎหมาย ศาลฎีกาไม่รับวินิจฉัย
ประเด็นที่ว่า สัญญาเช่าซื้อระหว่างโจทก์จำเลยจะตกเป็นโมฆะตามประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์ มาตรา ๑๑๓ หรือไม่นั้น ศาลฎีกาโดยที่ประชุมใหญ่วินิจฉัยว่าประมวลกฎหมายที่ดิน พ.ศ. ๒๔๙๗ มาตรา ๘๖ มิได้บัญญัติห้ามเด็ดขาดไม่ให้คนต่างด้าวถือกรรมสิทธิ์ที่ดิน จำเลยยังอยู่ในวิสัยที่จะไปขออนุญาตถือกรรมสิทธิ์ที่ดินได้ และไม่ใช่สัญญาที่มีวัตถุประสงค์เป็นการต้องห้ามชัดแจ้งโดยกฎหมายหรือเป็นการพ้นวิสัย สัญญาเช่าซื้อจึงสมบูรณ์
จำเลยฎีกาว่า จำเลยไม่ได้เป็นฝ่ายผิดสัญญาไม่ชำระเงินค่าเช่าซื้อแก่โจทก์ เพราะสัญญาเช่าซื้อเป็นโมฆะ โจทก์จะริบเงินที่จำเลยชำระให้แก่โจทก์แล้วไม่ได้นั้น เมื่อศาลฎีกาได้วินิจฉัยแล้วสัญญาเช่าซื้อระหว่างโจทก์จำเลยสมบูรณ์ไม่เป็นโมฆะ กับฟังได้ตามคำฟ้องโจทก์ เพราะจำเลยไม่ได้ปฏิเสธว่าจำเลยไม่ได้ชำระเงินค่าเช่าซื้อให้แก่โจทก์ตั้งแต่เดือนกันยายน ๒๕๐๒ ตลอดมาจนถึงวันฟ้องจำเลยจึงเป็นฝ่ายผิดสัญญาเช่าซื้อข้อ ๒ ที่จำเลยฎีกาว่าการชำระเงินค่าเช่าซื้อแม้จะผิดพลาดไปบ้าง โจทก์ไม่ถือว่าจำเลยผิดสัญญาก็ดีหรือโจทก์ยังไม่ได้บอกกล่าวให้จำเลยชำระเงินค่าเช่าซื้อ ยังถือไม่ได้ว่าจำเลยเป็นฝ่ายผิดสัญญาก็ดี ฎีกาของจำเลยดังกล่าวมานี้จำเลยไม่ได้ยกขึ้นต่อสู้ว่ากล่าวมาในศาลชั้นต้น จำเลยจะยกขึ้นฎีกาไม่ได้
ศาลฎีกาฟังว่า จำเลยได้รับหนังสือบอกเลิกสัญญาจากโจทก์แล้วและเห็นว่าโจทก์จึงมีสิทธิริบเงินค่าเช่าซื้อจำนวนเงิน ๑๐๐,๐๐๐ บาทที่จำเลยชำระให้โจทก์แล้วได้ตามสัญญาข้อ ๖ ฉะนั้น จำเลยจะขอคืนเงินจำนวนนี้หาได้ไม่
นอกจากนี้ศาลฎีกาเห็นว่า คดีฟังไม่ได้ว่าจำเลยได้ซ่อมแซมขนาดใหญ่อันเป็นหน้าที่เจ้าของทรัพย์หรือผู้ให้เช่าต้องชดใช้ จำเลยจึงเรียกร้องเอาเงินค่าซ่อมแซมจำนวน ๔๐,๐๐๐ บาท ไม่ได้ ส่วนประเด็นเรื่องฟ้องแย้งข้อนี้ของจำเลยจะเป็นฟ้องเคลือบคลุมหรือไม่ ศาลฎีกาไม่ต้องวินิจฉัย
จำเลยฎีกาว่า เงินจำนวน ๑,๓๗๐ บาท เป็นราคาข้าวสารซึ่งจำเลยส่งมอบข้าวสารให้นายประกอบและนายสถิตย์แทนโจทก์ โจทก์ต้องใช้คืนให้จำเลยนั้น ข้อนี้จำเลยมิได้ฟ้องเรียกราคาข้าวสารที่จำเลยส่งมอบให้ผู้อื่นตามคำสั่งของโจทก์ แต่ฟ้องแย้งว่าจำเลยได้ชำระเงินให้นายประกอบ ๑,๓๗๐ บาท ซึ่งโจทก์เป็นหนี้นายประกอบแทนโจทก์ โจทก์ปฏิเสธว่าจำเลยไม่ได้ชำระเงินแทนและโจทก์มิได้เป็นหนี้นายประกอบแต่จำเลยกลับนำสืบว่าจำเลยส่งมอบข้าวสารไม่ชำระเงินแทน จึงเป็นการนำสืบนอกฟ้องแย้งของจำเลย จะขอให้ศาลพิพากษานอกฟ้องแย้งหาได้ไม่
พิพากษายืน

Share