คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 1603/2511

แหล่งที่มา : กองผู้ช่วยผู้พิพากษาศาลฎีกา

ย่อสั้น

เอกสารแบบขอและรับโอนการเช่าที่ดินของกรมรถไฟเป็นเพียงเอกสารสิทธิ. กล่าวคือเป็นเอกสารแห่งการก่อ เปลี่ยนแปลงโอนสงวนหรือระงับซึ่งสิทธิ. แต่ไม่ใช่เอกสารราชการเพราะไม่ใช่เอกสารที่เจ้าพนักงานได้ทำขึ้นหรือรับรองในหน้าที่.
ความผิดในข้อหาอ้างใช้เอกสารปลอม เป็นความผิดสำเร็จเมื่อยื่นเอกสารต่อเจ้าพนักงานผู้มีหน้าที่รับเรื่อง. อายุความฟ้องคดีจึงนับตั้งแต่วันยื่นเอกสารเป็นต้นไป. แม้จะต้องมีการเสนอขึ้นไปตามลำดับชั้นจนถึงเจ้าพนักงานผู้ออกคำสั่งในชั้นที่สุด.

ย่อยาว

โจทก์ฟ้องว่า จำเลยกับพวกบังอาจร่วมกันปลอมแบบขอโอนและรับโอนการเช่าที่ดินกรมรถไฟอันเป็นเอกสารสิทธิที่เป็นเอกสารราชการลงชื่อนายซิว แซ่เลา เป็นผู้โอนสิทธิการเช่าที่ดินกรมรถไฟ บริเวณสถานีรถไฟศรีสะเกษให้แก่จำเลย เป็นเหตุให้ผู้อำนวยการฝ่ายการเดินรถเจ้าพนักงานกรมรถไฟหลงเชื่อว่าเป็นเอกสารของนายซิว แซ่เลา ซึ่งความจริงได้ถึงแก่กรรมไปแล้ว และสิทธิการเช่าได้ตกทอดแก่โจทก์ซึ่งเป็นเหล่าทายาท และจำเลยยังบังอาจอ้างใช้เอกสารดังกล่าวแก่เจ้าพนักงานรถไฟและต่อศาลในการนำคดีฟ้องร้องโจทก์เป็นเหตุให้เกิดความเสียหายแก่โจทก์ กรมรถไฟและประชาชน ขอให้ลงโทษตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 264, 266, 268, 83 ศาลชั้นต้นฟังว่าคดีมีมูล สั่งรับประทับฟ้อง จำเลยให้การปฏิเสธและต่อสู้ด้วยว่าคดีโจทก์ขาดอายุความแล้ว ศาลชั้นต้นสั่งงดสืบพยานภายหลังโจทก์นำพยานเข้าสืบหนึ่งปากแล้ววินิจฉัยว่าเอกสารตามฟ้องเป็นเพียงเอกสารสิทธิ มิใช่เอกสารราชการ โจทก์ฟ้องว่าจำเลยกระทำผิดระหว่างวันที่ 1-17 กุมภาพันธ์2495 และมาฟ้องเมื่อวันที่ 8 มิถุนายน 2508 ซึ่งเป็นเวลาเกินกว่า10 ปีแล้ว ไม่ว่าจะนับอายุความตามกฎหมายลักษณะอาญาหรือประมวลกฎหมายอาญา ซึ่งเป็นกฎหมายที่ใช้อยู่ขณะหรือภายหลังกระทำผิด คดีโจทก์ย่อมขาดอายุความ พิพากษายกฟ้อง โจทก์ทั้งสามอุทธรณ์ และจำเลยอุทธรณ์ด้วยว่ามิได้กระทำผิดตามที่ถูกกล่าวหา ศาลอุทธรณ์พิพากษายืน โจทก์ฎีกาว่าเอกสารที่กล่าวหาเป็นหนังสือที่เป็นหลักฐานแห่งการเปลี่ยนแปลงแก้สิทธิการเช่าที่ดินและหนี้สินทางราชการจึงเป็นหนังสือสำคัญในราชการตามกฎหมายลักษณะอาญา มาตรา 225(1) หรือประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 1(8) (9), 266 ซึ่งมีโทษอย่างสูงถึง 10 ปีจึงยังไม่ขาดอายุความ ศาลฎีกาวินิจฉัยว่าเอกสารแบบขอและรับโอนการเช่าที่ดินรถไฟเป็นเอกสารสิทธิ กล่าวคือ เป็นเอกสารที่เป็นหลักฐานแห่งการก่อเปลี่ยนแปลง โอนสงวนหรือระงับซึ่งสิทธิ ไม่ใช่เอกสารราชการเพราะไม่ใช่เอกสารซึ่งเจ้าพนักงานได้ทำขึ้น หรือรับรองในหน้าที่และไม่ใช่เป็นหนังสือสำคัญในราชการตามกฎหมายลักษณะอาญา มาตรา 225(1)คดีจึงมีความผิดตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 265 หรือปลอมหนังสือสำคัญตามกฎหมายลักษณะอาญา มาตรา 224 ซึ่งมีอัตราโทษตั้งแต่6 เดือนถึง 5 ปี ฉะนั้น แม้จะใช้อายุความตามประมวลกฎหมายอาญามาตรา 95(3) คือฟ้องได้ภายใน 10 ปี ไม่ใช่อายุความ 5 ปีตามกฎหมายลักษณะอาญา มาตรา 78 ซึ่งเป็นกฎหมายที่ใช้บังคับในขณะกระทำผิด คดีก็ขาดอายุความแล้ว ส่วนในข้อหาใช้หรืออ้างเอกสารปลอมนั้น ทางพิจารณาได้ความว่าจะต้องยื่นคำขอดังกล่าวต่อนายสถานีรถไฟซึ่งจะนำเสนอตามลำดับชั้นจนถึงหัวหน้ากองจัดการเดินรถเขตเป็นผู้สั่ง ความผิดฐานใช้หรืออ้างเอกสารปลอมถือว่าสำเร็จตั้งแต่ตอนที่ยื่นเอกสารนั้นต่อนายสถานีรถไฟ ฉะนั้น อายุความจึงต้องนับตั้งแต่วันที่ยื่นเป็นต้นไป คดีนี้ปรากฏว่าหัวหน้ากองจัดการเดินรถเขต 2 ได้มีหนังสืออนุญาตโอนการเช่าเมื่อวันที่ 5 พฤศจิกายน2497 แม้นับอายุความตั้งแต่วันดังกล่าวนี้จนถึงวันฟ้องก็เกินกำหนด10 ปีแล้ว คดีในข้อหานี้จึงขาดอายุความอีกเช่นเดียวกัน พิพากษายืน.

Share