แหล่งที่มา : กองผู้ช่วยผู้พิพากษาศาลฎีกา
ย่อสั้น
ตามประกาศธนาคารแห่งประเทศไทย เรื่อง การกำหนดให้ธนาคารพาณิชย์ปฏิบัติในเรื่องดอกเบี้ยและส่วนลด ลงวันที่ 20 ตุลาคม 2536 ข้อ 5 ระบุว่าไม่ให้นำประกาศธนาคารแห่งประเทศไทยฉบับนี้มาใช้บังคับแก่กรณีการให้สินเชื่อโดยตกลงกันเป็นเงินตราต่างประเทศนั้น ย่อมมีผลทำให้ธนาคารโจทก์ไม่ต้องตกอยู่ภายใต้ข้อจำกัดในการเรียกดอกเบี้ยจากเงินสินเชื่อตามหลักเกณฑ์ของประกาศธนาคารแห่งประเทศไทยฉบับนี้เท่านั้น โจทก์กับจำเลยที่ 1 ย่อมมีอิสระในการตกลงอัตราดอกเบี้ยกันเองได้ โดยจะตกลงกันใช้อัตราดอกเบี้ยตามประกาศธนาคารโจทก์ในเรื่องนี้ก็ได้
การที่โจทก์คิดดอกเบี้ยจำเลยที่ 1 สูงกว่าที่ตกลงกันไว้ในสัญญาทรัสต์รีซีททั้งหกฉบับ กรณีเป็นการคิดดอกเบี้ยไม่ถูกต้องตามสัญญา มิใช่เป็นการเรียกเบี้ยปรับตาม ป.พ.พ. มาตรา 379 ซึ่งศาลมีอำนาจลดลงเป็นจำนวนพอสมควรตาม ป.พ.พ. มาตรา 383 ได้ ส่วนหนี้ตามสัญญาเลตเตอร์ออฟเครดิตซึ่งจำเลยที่ 1 ปฏิบัติผิดข้อตกลงในการขอเปิดเลตเตอร์ออฟเครดิตดังกล่าว โดยไม่ชำระเงินจำนวน 126,810 ดอลลาร์สหรัฐ ที่โจทก์จ่ายไปตามเลตเตอร์ออฟเครดิตดังกล่าว โดยในสัญญาขอเปิดเลตเตอร์ออฟเครดิตดังกล่าวไม่มีการกำหนดอัตราดอกเบี้ยผิดนัดไว้ ดังนี้ โจทก์ย่อมมีสิทธิเรียกดอกเบี้ยตามสัญญาเลตเตอร์ออฟเครดิตดังกล่าวในระหว่างผิดนัดได้เพียงอัตราร้อยละ 7.5 ต่อปี ตาม ป.พ.พ. มาตรา 7 และมาตรา 224 เท่านั้น
ย่อยาว
โจทก์ฟ้องขอให้บังคับจำเลยที่ 1 ชำระเงินจำนวน 31,500,105.82 บาท พร้อมดอกเบี้ยอัตราร้อยละ 14.50 ต่อปี ของต้นเงินจำนวน 19,952,666.74 บาท นับถัดจากวันที่ 18 ตุลาคม 2543 เป็นต้นไปจนกว่าจะชำระเสร็จแก่โจทก์ ให้จำเลยที่ 2 ร่วมกันหรือแทนกันกับจำเลยที่ 1 ชำระหนี้จำนวน 11,500,000 บาท พร้อมดอกเบี้ยอัตราร้อยละ 14.50 ต่อปี นับถัดจากวันที่ 18 ตุลาคม 2543 เป็นต้นไปจนกว่าจะชำระเสร็จแก่โจทก์ และให้จำเลยที่ 3 ร่วมกันหรือแทนกันกับจำเลยที่ 1 ชำระหนี้จำนวน 15,000,000 บาท พร้อมดอกเบี้ยอัตราร้อยละ 14.50 ต่อปี นับถัดจากวันที่ 18 ตุลาคม 2543 เป็นต้นไปจนกว่าจะชำระเสร็จแก่โจทก์ หากจำเลยทั้งสามไม่ชำระหรือชำระไม่ครบถ้วน ให้ยึดทรัพย์จำนองของจำเลยที่ 2 ออกขายทอดตลาดนำเงินมาชำระหนี้แก่โจทก์จนครบถ้วน หากไม่พอชำระ ให้ยึดทรัพย์สินอื่นของจำเลยทั้งสามออกขายทอดตลาดนำเงินมาชำระหนี้แก่โจทก์จนครบถ้วน
จำเลยที่ 1 และที่ 3 ให้การขอให้ยกฟ้อง
จำเลยที่ 2 ขาดนัดยื่นคำให้การ
ศาลทรัพย์สินทางปัญญาและการค้าระหว่างประเทศกลางพิพากษาให้จำเลยที่ 1 ชำระเงินจำนวน 31,500,105.82 บาท พร้อมดอกเบี้ยอัตราร้อยละ 14.50 ต่อปี ของต้นเงินจำนวน 19,952,666.74 บาท นับถัดจากวันที่ 18 ตุลาคม 2543 เป็นต้นไปจนกว่าจะชำระเสร็จแก่โจทก์ แต่ในระหว่างช่วงเวลาดังกล่าวนี้ ถ้าธนาคารแห่งประเทศไทยและธนาคารโจทก์มีประกาศกำหนดอัตราดอกเบี้ยที่คิดจากลูกค้าต่ำกว่าอัตรานี้ก็ให้คิดตามอัตราที่ประกาศนั้น แต่ต้องไม่เกินร้อยละ 14.50 ต่อปี ให้จำเลยที่ 2 ร่วมกันหรือแทนกันกับจำเลยที่ 1 ชำระเงินจำนวน 11,500,000 บาท พร้อมดอกเบี้ยอัตราร้อยละ 14.50 ต่อปี ของต้นเงินจำนวน 11,500,000 บาท นับถัดจากวันที่ 18 ตุลาคม 2543 เป็นต้นไปจนกว่าจะชำระเสร็จแก่โจทก์ แต่ในระหว่างช่วงเวลาดังกล่าวนี้ ถ้าธนาคารแห่งประเทศไทยและธนาคารโจทก์มีประกาศกำหนดอัตราดอกเบี้ยที่คิดจากลูกค้าต่ำกว่าอัตรานี้ก็ให้คิดตามอัตราที่ประกาศนั้น แต่ต้องไม่เกินร้อยละ 14.50 ต่อปี และให้จำเลยที่ 3 ร่วมกันหรือแทนกันกับจำเลยที่ 1 ชำระเงินจำนวน 15,000,000 บาท พร้อมดอกเบี้ยอัตราร้อยละ 14.50 ต่อปี ของต้นเงิน 15,000,000 บาท นับถัดจากวันที่ 18 ตุลาคม 2543 เป็นต้นไปจนกว่าจะชำระเสร็จแก่โจทก์ แต่ในระหว่างช่วงเวลาดังกล่าวนี้ถ้าธนาคารแห่งประเทศไทยและธนาคารโจทก์มีประกาศกำหนดอัตราดอกเบี้ยที่คิดจากลูกค้าต่ำกว่าอัตรานี้ก็ให้คิดตามอัตราที่ประกาศนั้น แต่ต้องไม่เกินร้อยละ 14.50 ต่อปี หากจำเลยทั้งสามไม่ชำระหรือชำระไม่ครบถ้วน ให้ยึดที่ดินโฉนดเลขที่ 5818 และ 5821 ตำบลถนนสี่พระยา (บางรัก) อำเภอบางรัก กรุงเทพมหานคร พร้อมสิ่งปลูกสร้าง ออกขายทอดตลาดนำเงินมาชำระหนี้แก่โจทก์ หากได้เงินมาไม่พอชำระหนี้ก็ให้ยึดทรัพย์สินอื่นของจำเลยทั้งสามออกขายทอดตลาดนำเงินมาชำระหนี้แก่โจทก์จนครบถ้วน กับให้จำเลยทั้งสามร่วมกันหรือแทนกันใช้ค่าฤชาธรรมเนียมแทนโจทก์ โดยกำหนดค่าทนายความให้ 50,000 บาท
จำเลยที่ 1 และที่ 3 อุทธรณ์ต่อศาลฎีกา
ระหว่างอุทธรณ์ ก่อนที่ศาลทรัพย์สินทางปัญญาและการค้าระหว่างประเทศกลางจะส่งสำนวนคดีนี้มายังศาลฎีกา บริษัทบริหารสินทรัพย์เพชรบุรี จำกัด ยื่นคำร้องขอเข้าสวมสิทธิเป็นคู่ความแทนโจทก์ตามพระราชกำหนดบริษัทบริหารสินทรัพย์ พ.ศ.2541 มาตรา 7 ซึ่งศาลทรัพย์สินทางปัญญาและการค้าระหว่างประเทศกลางมีคำสั่งอนุญาตแล้วนั้น เห็นว่า เป็นการไม่ชอบด้วยกฎหมาย เพราะการสั่งคำร้องดังกล่าวเป็นอำนาจของศาลฎีกาแผนกคดีทรัพย์สินทางปัญญาและการค้าระหว่างประเทศที่จะพิจารณาสั่ง แต่เมื่อคดีนี้ได้ขึ้นมาสู่การพิจารณาของศาลฎีกาแผนกคดีทรัพย์สินทางปัญญาและการค้าระหว่างประเทศแล้วเช่นนี้ ศาลฎีกาแผนกคดีทรัพย์สินทางปัญญาและการค้าระหว่างประเทศเห็นสมควรให้ยกคำสั่งของศาลทรัพย์สินทางปัญญาและการค้าระหว่างประเทศกลางดังกล่าวเสีย และมีคำสั่งอนุญาตให้บริษัทบริหารสินทรัพย์เพชรบุรี จำกัด เข้าสวมสิทธิเป็นคู่ความแทนโจทก์ได้ตามคำร้อง
ศาลฎีกาแผนกคดีทรัพย์สินทางปัญญาและการค้าระหว่างประเทศวินิจฉัยว่า ข้อเท็จจริงที่คู่ความมิได้โต้เถียงกันในชั้นนี้รับฟังเป็นที่ยุติได้ว่า จำเลยที่ 1 เป็นลูกค้าของธนาคารโจทก์ สำนักงานใหญ่ ประเภทสินเชื่อธุรกิจต่างประเทศ เมื่อระหว่างปี 2539 ถึงปี 2540 จำเลยที่ 1 ได้ขอให้โจทก์ออกเลตเตอร์ออฟเครดิตรวม 6 ฉบับ เพื่อชำระค่าสินค้าที่จำเลยที่ 1 สั่งซื้อจากผู้ขายในต่างประเทศ โดยจำเลยที่ 1 ตกลงว่าจะชำระเงินที่โจทก์จ่ายไปตามเลตเตอร์ออฟเครดิตดังกล่าวคืนแก่โจทก์ภายในกำหนดที่ตกลงกันไว้ โจทก์ได้ออกเลตเตอร์ออฟเครดิตรวม 6 ฉบับ ให้ตามคำขอของจำเลยที่ 1 และได้ชำระค่าสินค้าให้แก่ผู้ขายตามเลตเตอร์ออฟเครดิตดังกล่าวแล้ว จำเลยที่ 1 จึงมีหน้าที่จะต้องชำระค่าสินค้าที่โจทก์ชำระไปนั้นคืนแก่โจทก์พร้อมดอกเบี้ย แต่จำเลยที่ 1 ยังไม่มีเงินมาชำระจึงได้ทำสัญญาทรัสต์ซีทไว้กับโจทก์รวม 6 ฉบับ และขอรับเอกสารเกี่ยวกับการขนส่งสินค้าที่จำเลยที่ 1 สั่งซื้อไปจากโจทก์เพื่อนำไปรับสินค้าก่อน และจำเลยที่ 1 ตกลงจะชำระเงินค่าสินค้าแก่โจทก์ภายในระยะเวลาที่กำหนดพร้อมดอกเบี้ย ส่วนเลตเตอร์ออฟเครดิตฉบับสุดท้ายที่โจทก์ออกตามคำขอของจำเลยที่ 1 และได้จ่ายเงินตามเลตเตอร์ออฟเครดิตไปแล้วนั้น จำเลยที่ 1 ไม่ได้ทำสัญญาทรัสต์รีซีทไว้กับโจทก์ ทั้งนี้โดยหนี้ของจำเลยที่ 1 ทั้งหมดดังกล่าวจำเลยที่ 2 และที่ 3 ต่างเข้าทำสัญญาค้ำประกันไว้แก่โจทก์รวมวงเงินจำนวน 11,500,000 บาท และ 15,000,000 บาท พร้อมดอกเบี้ย ตามลำดับ และจำเลยที่ 2 ยังได้จดทะเบียนจำนองที่ดินโฉนดเลขที่ 5818 และ 5821 ตำบลถนนสี่พระยา (บางรัก) อำเภอบางรัก กรุงเทพมหานคร พร้อมสิ่งปลูกสร้างเป็นหลักประกันการชำระหนี้ของจำเลยที่ 1 ไว้กับโจทก์รวมวงเงินจำนวน 22,100,000 บาท ด้วย ต่อมาเมื่อหนี้ตามสัญญาทรัสต์รีซีททั้งหกฉบับถึงกำหนดชำระ จำเลยที่ 1 ผิดนัดไม่ชำระหนี้แก่โจทก์ ส่วนหนี้ตามเลตเตอร์ออฟเครดิตฉบับสุดท้ายจำนวนเงิน 126,810 ดอลลาร์สหรัฐ ซึ่งโจทก์ได้จ่ายเงินตามเลตเตอร์ออฟเครดิตแก่ผู้ขายไปแล้ว และครบกำหนดที่จำเลยที่ 1 จะต้องชำระเงินนั้นแก่โจทก์ในวันที่ 5 มกราคม 2540 แต่จำเลยที่ 1 ผิดนัดไม่ชำระแก่โจทก์เช่นเดียวกัน ซึ่งเมื่อโจทก์ได้เปลี่ยนเงินสกุลต่างประเทศเป็นเงินไทยตามอัตราแลกเปลี่ยนเงิน ณ วันที่ครบกำหนดชำระหนี้ตามสัญญาแต่ละฉบับและหักหนี้ที่จำเลยที่ 1 ชำระออกแล้ว จำเลยที่ 1 คงค้างชำระหนี้ดังกล่าวแก่โจทก์คิดเป็นเงินไทยเป็นต้นเงินจำนวน 2,788,148.34 บาท 741,249.52 บาท 952,166.88 บาท 667,866 บาท 3,554,907 บาท 4,793,700 บาท และ 6,454,629 บาท ตามลำดับ รวมเป็นต้นเงินทั้งสิ้น 19,952,666.74 บาท กับดอกเบี้ยนับแต่วันผิดนัดชำระหนี้ของต้นเงินแต่ละจำนวนดังกล่าว ทั้งนี้โดยจำเลยทั้งสามมิได้อุทธรณ์คัดค้านคำพิพากษาศาลทรัพย์สินทางปัญญาและการค้าระหว่างประเทศกลาง สำหรับหนี้ต้นเงินจำนวนดังกล่าวรวมทั้งมิได้อุทธรณ์คัดค้านคำพิพากษาศาลทรัพย์สินทางปัญญาและการค้าระหว่างประเทศกลาง สำหรับดอกเบี้ยช่วงก่อนฟ้อง จำเลยที่ 1 และที่ 3 คงอุทธรณ์คัดค้านคำพิพากษาศาลทรัพย์สินทางปัญญาและการค้าระหว่างประเทศกลางเฉพาะเรื่องดอกเบี้ยนับแต่วันถัดจากวันฟ้อง (ฟ้องวันที่ 20 ตุลาคม 2543) เป็นต้นไปเท่านั้น สำหรับคดีในส่วนของจำเลยที่ 2 นั้น ปรากฏว่าไม่มีคู่ความฝ่ายใดอุทธรณ์ ดังนั้นคดีในส่วนของจำเลยที่ 2 จึงเป็นอันยุติไปตามคำพิพากษาศาลทรัพย์สินทางปัญญาและการค้าระหว่างประเทศกลาง
ที่จำเลยที่ 1 และที่ 3 อุทธรณ์เป็นข้อกฎหมายว่าตามประกาศธนาคารแห่งประเทศไทย เรื่อง การกำหนดให้ธนาคารพาณิชย์ปฏิบัติในเรื่องดอกเบี้ยและส่วนลด ข้อ 5 ระบุว่า “ประกาศนี้ไม่ใช้บังคับแก่กรณีการรับฝากเงินตามบัตรเงินฝากด้วยวิธีประมูล การรับฝากเงินหรือการกู้ยืมเงินระหว่างธนาคารพาณิชย์กับธนาคารพาณิชย์อื่น บริษัทเงินทุน… และกรณีที่ธนาคารพาณิชย์รับฝากเงินเป็นเงินตราต่างประเทศ หรือให้สินเชื่อโดยตกลงกันเป็นเงินตราต่างประเทศ ทั้งนี้ไม่ว่าจะจ่ายเป็นเงินสกุลใด” และมูลหนี้ตามคำฟ้องคดีนี้ตามสัญญาเลตเตอร์ออฟเครดิตและสัญญาทรัสต์รีซีทมีจำนวนเงินที่ต้องชำระกันเป็นเงินดอลลาร์สหรัฐ จึงเป็นกรณีต้องห้ามมิให้นำประกาศธนาคารแห่งประเทศไทยฉบับดังกล่าวมาใช้บังคับ ประกาศธนาคารโจทก์ที่กำหนดอัตราดอกเบี้ย ซึ่งโจทก์นำมาใช้ในการคิดดอกเบี้ยจากจำเลยที่ 1 และที่ 3 จึงขัดต่อประกาศธนาคารแห่งประเทศไทย ข้อ 5 ดังกล่าว โจทก์จึงไม่มีสิทธิคิดดอกเบี้ยจากจำเลยที่ 1 ตามประกาศธนาคารโจทก์นั้น เห็นว่า ตามประกาศธนาคารแห่งประเทศไทย ดังกล่าว ธนาคารแห่งประเทศไทยเพียงแต่กำหนดหลักเกณฑ์ในการเรียกดอกเบี้ยของธนาคารพาณิชย์ตามบทบัญญัติแห่งพระราชบัญญัติการธนาคารพาณิชย์ พ.ศ.2505 มาตรา 14 (2) หรือกล่าวอีกนัยหนึ่งเป็นการวางข้อจำกัดในการเรียกดอกเบี้ยของธนาคารโจทก์เท่านั้นการที่ประกาศธนาคารแห่งประเทศไทยฉบับดังกล่าวในข้อ 5 ระบุว่าไม่ให้นำประกาศธนาคารแห่งประเทศไทยฉบับนี้มาใช้บังคับแก่กรณีการให้สินเชื่อโดยตกลงกันเป็นเงินตราต่างประเทศนั้นย่อมมีผลทำให้ธนาคารโจทก์ไม่ต้องตกอยู่ภายใต้ข้อจำกัดในการเรียกดอกเบี้ยจากเงินสินเชื่อตามหลักเกณฑ์ของประกาศธนาคารแห่งประเทศไทยฉบับนี้เท่านั้น โจทก์กับจำเลยที่ 1 ย่อมมีอิสระในการตกลงอัตราดอกเบี้ยกันเองได้ ซึ่งย่อมตกลงกันในเรื่องดอกเบี้ยโดยอาศัยอัตราตามประกาศธนาคารโจทก์ในเรื่องนี้ได้ด้วย ไม่มีผลเป็นการขัดต่อกฎหมายดังเช่นที่จำเลยที่ 1 และที่ 3 อุทธรณ์แต่อย่างใด อุทธรณ์ข้อนี้ของจำเลยที่ 1 และที่ 3 จึงฟังไม่ขึ้น
ส่วนข้อที่จำเลยที่ 1 และที่ 3 อุทธรณ์ว่า ดอกเบี้ยที่โจทก์เรียกร้องตามคำฟ้องเป็นเบี้ยปรับนั้น เห็นว่า ตามสัญญาทรัสต์รีซีททั้งหกฉบับมีข้อความระบุไว้ในทำนองเดียวกันว่า จำเลยที่ 1 จะต้องนำเงินมาชำระค่าสินค้าในจำนวนและในกำหนดเวลาที่ระบุไว้ตามรายละเอียดแนบท้ายให้แก่โจทก์ ตลอดจนยอมให้โจทก์คิดดอกเบี้ยในจำนวนเงินที่ระบุไว้ตามรายละเอียดแนบท้ายสัญญาในอัตราสูงสุดที่ธนาคารพาณิชย์เรียกเก็บได้ตามที่มีประกาศธนาคารแห่งประเทศไทยเกี่ยวกับการกำหนดให้ธนาคารพาณิชย์ปฏิบัติในเรื่องดอกเบี้ยและส่วนลด ซึ่งหมายถึงอัตราดอกเบี้ยตามที่ระบุในประกาศธนาคารโจทก์ฉบับต่างๆ ซึ่งมีผลใช้บังคับในแต่ละช่วงเวลาตามประกาศแต่ละฉบับเหล่านั้น นับแต่วันที่โจทก์ได้ชำระเงินค่าสินค้าแทนจำเลยที่ 1 อันเป็นข้อสัญญาตกลงชำระดอกเบี้ยและอัตราดอกเบี้ยที่ต้องชำระในช่วงระยะเวลานับแต่วันที่โจทก์ได้ชำระเงินค่าสินค้าแทนจำเลยที่ 1 ไปตามเลตเตอร์ออฟเครดิตจนถึงวันครบกำหนดเวลาชำระเงินตามที่ระบุไว้ในสัญญา เป็นการคิดดอกเบี้ยกรณีที่ไม่มีการผิดนัดชำระหนี้ และในข้อ 7 มีข้อความระบุไว้ในทำนองเดียวกันว่า ในกรณีที่จำเลยที่ 1 ตกเป็นผู้ผิดนัดผิดสัญญา จำเลยที่ 1 ยอมให้โจทก์คิดดอกเบี้ยในจำนวนเงินที่ค้างชำระในอัตราตามที่กำหนดไว้ในข้อ 4 ตามประกาศธนาคารแห่งประเทศไทย เรื่อง การกำหนดให้ธนาคารพาณิชย์ปฏิบัติในเรื่องดอกเบี้ยและส่วนลด ลงวันที่ 20 ตุลาคม 2536 ข้อ 3 (2) กำหนดให้ธนาคารพาณิชย์ประกาศอัตราดอกเบี้ยที่เรียกเก็บจากลูกค้ารายย่อยชั้นดี (เอ็มอาร์อาร์) กับส่วนต่างสูงสุดที่จะใช้บวกเข้ากับอัตราดอกเบี้ยที่เรียกเก็บจากลูกค้ารายย่อยชั้นดี และอัตราดอกเบี้ยสูงสุดที่ธนาคารพาณิชย์จะเรียกเก็บจากลูกค้าที่ปฏิบัติผิดเงื่อนไข และข้อ 3 (4) กำหนดให้ธนาคารพาณิชย์เรียกดอกเบี้ยจากลูกค้าทุกประเภทได้ไม่เกินอัตราดอกเบี้ยที่เรียกจากลูกค้ารายย่อยชั้นดี (เอ็มอาร์อาร์) บวกส่วนต่างสูงสุดตามที่ธนาคารพาณิชย์ประกาศกำหนดไว้ เว้นแต่ในกรณีลูกค้าที่ปฏิบัติผิดเงื่อนไข ธนาคารพาณิชย์จะเรียกดอกเบี้ยได้ไม่เกินอัตราดอกเบี้ยสูงสุดที่ธนาคารพาณิชย์ประกาศกำหนดสำหรับลูกค้าที่ปฏิบัติผิดเงื่อนไข ดังนั้นอัตราดอกเบี้ยตามสัญญาข้อ 4 คืออัตราดอกเบี้ยสูงสุดที่ธนาคารพาณิชย์เรียกเก็บได้ตามที่มีประกาศธนาคารแห่งประเทศไทยเกี่ยวกับการกำหนดให้ธนาคารพาณิชย์ปฏิบัติในเรื่องดอกเบี้ยและส่วนลดนี้ ย่อมหมายความถึงอัตราดอกเบี้ยสูงสุดที่โจทก์มีสิทธิเรียกจากลูกค้าทั่วไปซึ่งไม่ได้ผิดนัดชำระหนี้หรือปฏิบัติผิดเงื่อนไขตามประกาศธนาคารแห่งประเทศไทย ข้อ 3 (4) ดังกล่าวนั่นเอง มิใช่อัตราดอกเบี้ยสูงสุดที่ธนาคารพาณิชย์ประกาศกำหนดสำหรับเรียกจากลูกค้าที่ปฏิบัติผิดเงื่อนไข ซึ่งโจทก์จะมีสิทธิเรียกได้เฉพาะเมื่อจำเลยที่ 1 ผิดนัดชำระหนี้แล้วเท่านั้น และเมื่อตามสัญญาทรัสต์รีซีทข้อ 7 ที่เป็นข้อตกลงเรื่องอัตราดอกเบี้ยเมื่อจำเลยที่ 1 ผิดนัดชำระหนี้แก่โจทก์แล้วกลับระบุให้ใช้อัตราดอกเบี้ยในอัตราตามที่กำหนดในสัญญาข้อ 4 ดังนั้นแม้จำเลยที่ 1 ผิดนัดชำระหนี้แล้ว โจทก์ก็มีสิทธิตามสัญญาทรัสต์รีซีทในอันที่จะเรียกดอกเบี้ยได้เพียงอัตราดอกเบี้ยสูงสุดสำหรับลูกค้าทั่วไปที่ไม่ผิดนัดชำระหนี้ตามที่กำหนดไว้ในสัญญาข้อ 4 เท่านั้น แต่เมื่อพิจารณาถึงการคิดดอกเบี้ยของโจทก์ตามสัญญาทรัสต์รีซีทฉบับที่ 1 ถึงที่ 6 ที่ปรากฏในบัญชีการคิดคำนวณจำนวนหนี้ตามสัญญาทรัสต์รีซีทแต่ละฉบับประกอบกับประกาศธนาคารโจทก์ เรื่อง อัตราดอกเบี้ยเงินให้สินเชื่อแล้ว ปรากฏว่า นับแต่วันที่จำเลยที่ 1 ผิดนัดชำระหนี้ตามสัญญาทรัสต์รีซีทฉบับที่ 1 ถึงที่ 6 แต่ละฉบับเป็นต้นไปนั้น แทนที่โจทก์จะคิดดอกเบี้ยจากจำเลยที่ 1 ในอัตราดอกเบี้ยสูงสุดสำหรับลูกค้าทั่วไปที่ไม่ผิดนัด ซึ่งระบุไว้ในประกาศฉบับต่างๆ เหล่านี้ว่าเป็นอัตราดอกเบี้ยสูงสุดสำหรับลูกค้าทั่วไป เท่ากับอัตราดอกเบี้ยเอ็มอาร์อาร์บวกส่วนต่างสูงสุด แต่โจทก์กลับคิดดอกเบี้ยผิดนัดผิดสัญญาโดยปรับเปลี่ยนไปตามอัตราดังกล่าวที่ระบุไว้ในประกาศธนาคารโจทก์ฉบับต่างๆ ที่มีผลบังคับในแต่ละช่วงเวลา ซึ่งสูงกว่าอัตราดอกเบี้ยสูงสุดสำหรับลูกค้าทั่วไป (ที่ไม่ผิดนัด) เป็นการคิดดอกเบี้ยสูงกว่าที่ตกลงกันไว้ในสัญญาทรัสต์รีซีท หรือกล่าวได้อีกนัยหนึ่งว่าเป็นการคิดดอกเบี้ยที่ไม่ถูกต้องตามสัญญาเท่านั้น ไม่ใช่เป็นการเรียกเบี้ยปรับตามประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์ มาตรา 379 ซึ่งหากสูงเกินส่วนแล้วศาลมีอำนาจลดลงเป็นจำนวนพอสมควรตามมาตรา 383 ดังที่จำเลยที่ 1 และที่ 3 อุทธรณ์ แต่อย่างไรก็ตาม เมื่อโจทก์คิดดอกเบี้ยสูงเกินสิทธิโดยไม่ชอบ จึงชอบที่ศาลฎีกาแผนกคดีทรัพย์สินทางปัญญาและการค้าระหว่างประเทศจะต้องแก้ไขให้โจทก์เรียกดอกเบี้ยจากจำเลยที่ 1 เท่าที่โจทก์มีสิทธิตามสัญญาทรัสต์รีซีทฉบับที่ 1 ถึงที่ 6 เท่านั้น กล่าวคือ นับแต่เมื่อจำเลยที่ 1 ผิดนัดชำระหนี้แก่โจทก์ ให้คิดดอกเบี้ยได้เพียงอัตราดอกเบี้ยสูงสุดสำหรับลูกค้าทั่วไป (ที่ไม่ผิดนัด) ตามที่ปรากฏในประกาศธนาคารโจทก์ฉบับต่างๆ ปรับเปลี่ยนลอยตัวไปตามช่วงเวลาที่ประกาศแต่ละฉบับมีผลใช้บังคับ รวมทั้งประกาศที่จะออกมาใช้บังคับหลังวันฟ้องจนกว่าจะมีการชำระหนี้เสร็จสิ้นด้วย ส่วนหนี้ตามสัญญาขอเปิดเลตเตอร์ออฟเครดิตฉบับสุดท้ายซึ่งโจทก์ออกให้ตามคำขอของจำเลยที่ 1 แต่จำเลยที่ 1 มิได้ทำสัญญาทรัสต์รีซีทไว้กับโจทก์นั้น ปรากฏว่าโจทก์ได้ชำระเงินให้แก่ผู้ขายสินค้าให้จำเลยที่ 1 ตามเลตเตอร์ออฟเครดิตดังกล่าวแล้ว แต่จำเลยที่ 1 ปฏิบัติผิดข้อตกลงในการขอเปิดเลตเตอร์ออฟเครดิต โดยจำเลยที่ 1 ไม่ชำระเงินจำนวน 126,810 ดอลลาร์สหรัฐ ที่โจทก์ได้จ่ายไปตามเลตเตอร์ออฟเครดิตดังกล่าวให้แก่โจทก์ซึ่งคิดเป็นเงินไทยในอัตราแลกเปลี่ยนเงินในขณะนั้นได้จำนวน 6,454,629 บาท และตามคำขอเปิดเลตเตอร์ออฟเครดิตฉบับสุดท้ายในข้อ 9 ได้ระบุไว้ว่า “ข้าพเจ้า (จำเลยที่ 1) ยอมรับที่จะชำระดอกเบี้ยในอัตราร้อยละ… ต่อปี รวมทั้งค่าธรรมเนียม… ให้แก่ธนาคาร (โจทก์) ด้วยในทันทีที่ธนาคารเรียกร้อง” ตามสัญญามีข้อตกลงที่จำเลยที่ 1 จะต้องชำระดอกเบี้ยแก่โจทก์ แต่มิได้มีการพิมพ์หรือเขียนกำหนดอัตราดอกเบี้ยไว้แต่อย่างใด ดังนี้ โจทก์ย่อมมีสิทธิเรียกดอกเบี้ยตามสัญญาขอเปิดเลตเตอร์ออฟเครดิตดังกล่าวในระหว่างผิดนัดได้เพียงอัตราร้อยละ 7.5 ต่อปี ตามประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์ มาตรา 7 และมาตรา 224 เท่านั้น แต่เมื่อพิจารณาจากบัญชีรายการคำนวณดอกเบี้ยผิดนัดแล้ว ปรากฏว่าโจทก์คิดดอกเบี้ยสำหรับหนี้จำนวนนี้จากจำเลยที่ 1 ในอัตราดอกเบี้ยผิดนัดผิดสัญญาตามที่กำหนดไว้ในประกาศธนาคารโจทก์ตลอดมา ซึ่งสูงกว่าร้อยละ 7.5 ต่อปี อันเป็นเพียงการคิดดอกเบี้ยโดยไม่ถูกต้อง เมื่อโจทก์คิดดอกเบี้ยไม่ถูกต้องตามสิทธิที่มีอยู่ตามสัญญาอันเป็นการคิดดอกเบี้ยโดยไม่ชอบก็ต้องแก้ไขให้คิดดอกเบี้ยตามที่โจทก์มีสิทธิเรียกได้คือร้อยละ 7.5 ต่อปี เท่านั้น อุทธรณ์ของจำเลยที่ 1 และที่ 3 ฟังขึ้นบางส่วน แต่เนื่องจากคดีนี้ จำเลยที่ 1 และที่ 3 อุทธรณ์คัดค้านพิพากษาศาลทรัพย์สินทางปัญญาและการค้าระหว่างประเทศกลางเฉพาะเรื่องดอกเบี้ย โดยมีคำขอมาท้ายคำฟ้องอุทธรณ์ขอให้ศาลฎีกาแผนกคดีทรัพย์สินทางปัญญาและการค้าระหว่างประเทศพิพากษาแก้เฉพาะดอกเบี้ยส่วนที่นับแต่วันถัดจากวันฟ้องจนกว่าชำระเสร็จแก่โจทก์เท่านั้น และจำเลยที่ 1 กับที่ 3 ได้ชำระค่าขึ้นศาลชั้นอุทธรณ์มาอย่างคดีที่มีคำขอปลดเปลื้องทุกข์อันไม่อาจคำนวณเป็นราคาเงินได้เป็นเงินเพียง 200 บาท ตามคำฟ้องอุทธรณ์ของจำเลยที่ 1 และที่ 3 ดังกล่าว แสดงให้เห็นว่า จำเลยที่ 1 และที่ 3 ไม่ประสงค์ที่จะให้ศาลฎีกาแผนกคดีทรัพย์สินทางปัญญาและการค้าระหว่างประเทศพิพากษาแก้ไขเรื่องดอกเบี้ยที่โจทก์เรียกจากจำเลยที่ 1 และที่ 3 ในช่วงก่อนวันฟ้อง ดังนี้ ศาลฎีกาแผนกคดีทรัพย์สินทางปัญญาและการค้าระหว่างประเทศจึงไม่พิพากษาแก้ไขเกินไปกว่าหรือนอกจากที่ปรากฏในคำขอท้ายฟ้องอุทธรณ์ของจำเลยที่ 1 และที่ 3 ดังกล่าว เมื่อได้วินิจฉัยเป็นคุณแก่จำเลยที่ 1 และที่ 3 ในอันที่จะต้องรับผิดชำระหนี้ในส่วนดอกเบี้ยต่ำลงนับแต่วันถัดจากวันฟ้อง และการชำระหนี้ของจำเลยที่ 1 และที่ 3 ผู้อุทธรณ์กับจำเลยที่ 2 ซึ่งมิได้อุทธรณ์เป็นกรณีเกี่ยวด้วยการชำระหนี้อันไม่อาจแบ่งแยกได้ ศาลฎีกาแผนกคดีทรัพย์สินทางปัญญาและการค้าระหว่างประเทศเห็นสมควรพิพากษาให้มีผลถึงจำเลยที่ 2 ด้วย ทั้งนี้ ตามพระราชบัญญัติจัดตั้งศาลทรัพย์สินทางปัญญาและการค้าระหว่างประเทศและวิธีพิจารณาคดีทรัพย์สินทางปัญญาและการค้าระหว่างประเทศ พ.ศ.2539 มาตรา 45 ประกอบด้วยประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความแพ่ง มาตรา 245 (1)
พิพากษาแก้เป็นว่า เฉพาะดอกเบี้ยภายหลังวันฟ้อง (ฟ้องวันที่ 20 ตุลาคม 2543) ให้จำเลยที่ 1 ชำระแก่โจทก์ในอัตราดอกเบี้ยสูงสุดสำหรับลูกค้าทั่วไป (ที่ไม่ผิดนัด) ตามประกาศธนาคารโจทก์ฉบับที่ใช้บังคับในวันถัดจากวันฟ้องและปรับเปลี่ยนไปตามประกาศธนาคารโจทก์ที่ประกาศภายหลังวันฟ้องซึ่งมีผลใช้บังคับในแต่ละช่วงเวลาที่คิดดอกเบี้ยส่วนนี้ หากภายหลังวันฟ้องไม่มีประกาศธนาคารโจทก์เป็นฐานในการคำนวณอัตราดอกเบี้ย ก็ให้ใช้อัตราดอกเบี้ยที่บริษัทบริหารสินทรัพย์เพชรบุรี จำกัด ผู้เข้าสวมสิทธิเป็นคู่ความแทนโจทก์พึงมีสิทธิเรียกเก็บจากลูกค้าทั่วไปที่ไม่ผิดนัดตามสัญญาเดิมตามหลักเกณฑ์ที่ธนาคารแห่งประเทศไทยประกาศกำหนดตามความในมาตรา 10 วรรคหนึ่ง แห่งพระราชกำหนดบริษัทบริหารสินทรัพย์ พ.ศ.2541 แต่ทั้งนี้อัตราดอกเบี้ยดังกล่าวทุกกรณีต้องไม่เกินร้อยละ 14.5 ต่อปี ตามคำขอท้ายคำฟ้องของโจทก์ โดยให้ชำระดอกเบี้ยในอัตราดังกล่าวในต้นเงินตามสัญญาทรัสต์รีซีททั้งหกฉบับตามคำฟ้อง รวมเป็นต้นเงินจำนวน 13,498,037.74 บาท และให้ชำระดอกเบี้ยในอัตราร้อยละ 7.5 ต่อปี ในต้นเงินตามสัญญาขอเปิดเลตเตอร์ออฟเครดิตเอกสารหมาย จ.32 จำนวน 6,454,629 บาท นับแต่วันถัดจากวันฟ้องเป็นต้นไปจนกว่าจะชำระเสร็จ กับให้จำเลยที่ 2 และที่ 3 ร่วมรับผิดชำระดอกเบี้ยดังกล่าวแก่โจทก์ในอัตราเดียวกับที่จำเลยที่ 1 ต้องรับผิดในต้นเงินตามจำนวนที่ตนต้องรับผิดตามคำพิพากษาศาลทรัพย์สินทางปัญญาและการค้าระหว่างประเทศกลาง นับแต่วันถัดจากวันฟ้องจนกว่าจะชำระเสร็จ นอกจากที่แก้คงให้เป็นไปตามคำพิพากษาศาลทรัพย์สินทางปัญญาและการค้าระหว่างประเทศกลาง ค่าฤชาธรรมเนียมชั้นอุทธรณ์ให้เป็นพับ.