คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 4814/2537

แหล่งที่มา : กองผู้ช่วยผู้พิพากษาศาลฎีกา

ย่อสั้น

การที่จำเลยตกลงแบ่งทรัพย์มรดกให้แก่โจทก์ตามสิทธิในฐานะทายาทและโจทก์จำเลยได้ตกลงระงับข้อพิพาทซึ่งมีอยู่ให้เสร็จไปด้วยต่างยอมผ่อนผันให้แก่กันและทำหลักฐานกันไว้เป็นหนังสืออันมีลักษณะเป็นสัญญาประนีประนอมยอมความที่มีผลบังคับกันได้ตามมาตรา 850,1750 วรรคสอง แห่งประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์ ผลแห่งข้อตกลงทำให้ข้อคัดค้านของโจทก์ระงับไป และได้สิทธิในที่ดินพิพาทตามสัญญาประนีประนอมยอมความ เมื่อจำเลยไม่ปฏิบัติตามข้อตกลงโจทก์จึงมีสิทธินำคดีมาฟ้องศาลได้

ย่อยาว

โจทก์ฟ้องว่า ที่ดินโฉนดเลขที่ 22225 ซึ่งมีชื่อจำเลยเป็นผู้ถือกรรมสิทธิ์นั้น เดิมเป็นที่ดินที่มีเพียงสิทธิครอบครองโดยโจทก์และจำเลยได้รับมรดกจากมารดา โจทก์จำเลยตกลงกันว่าที่ดินแปลงหมายเลข 3 ตามระวางรูปแผนที่ซึ่งเจ้าพนักงานรังวัดได้จัดทำขึ้นให้ตกเป็นของโจทก์ โดยจำเลยรับว่าจะโอนที่ดินแปลงดังกล่าวให้แก่โจทก์ต่อเมื่อแบ่งแยกโฉนดในนามเดิมเสร็จแล้ว จำเลยได้นำที่ดินโฉนดเลขที่ 22225 ไปจำนองไว้แก่ธนาคารกรุงไทย จำกัด ต่อมาเมื่อเจ้าพนักงานที่ดินรังวัดเสร็จได้แบ่งแยกโฉนดที่ดินแปลงหมายเลข3เป็นโฉนดที่ดินเลขที่ 21837 แต่จำเลยไม่ยอมโอนที่ดินดังกล่าวให้แก่โจทก์ตามข้อตกลง ขอให้บังคับจำเลยไปจดทะเบียนโอนกรรมสิทธิ์ที่ดินโฉนดเลขที่ 21837 ให้แก่โจทก์โดยปลอดภาระจำนอง หากจำเลยไม่โอน ให้ถือเอาคำพิพากษาเป็นการแสดงเจตนาของจำเลยโดยให้โจทก์เป็นผู้ไถ่ถอนจำนองและให้จำเลยชดใช้เงินที่ไถ่ถอนจำนองทั้งต้นเงินและดอกเบี้ยคืนโจทก์จนครบ
จำเลยให้การว่า จำเลยเป็นเจ้าของกรรมสิทธิ์ที่ดินโฉนดเลขที่ 22225 ที่ดินแปลงดังกล่าวมิใช่มรดก แต่เดิมเป็นที่ดินมือเปล่า นางพรรณีมารดาจำเลยได้ครอบครองทำประโยชน์ตลอดมาต่อมาได้ยกให้แก่จำเลยเมื่อประมาณ 10 ปีที่แล้ว จำเลยได้เข้าครอบครองทำประโยชน์และเป็นผู้เสียภาษีบำรุงท้องที่โดยโจทก์และทายาทอื่นไม่ได้เข้าเกี่ยวข้อง ที่จำเลยให้ถ้อยคำต่อเจ้าพนักงานที่ดินจังหวัดชลบุรีนั้นไม่มีผลตามกฎหมาย และไม่ผูกพันจำเลยที่ต้องโอนที่ดินให้แก่โจทก์ เพราะเป็นเพียงสัญญาจะยกที่ดินให้แก่โจทก์เท่านั้น เมื่อมิได้จดทะเบียนต่อพนักงานเจ้าหน้าที่จึงเป็นโมฆะโจทก์ไม่มีสิทธิเรียกร้องให้จำเลยโอนที่ดินโฉนดเลขที่ 21837แก่โจทก์ จำเลยเป็นเจ้าของกรรมสิทธิ์ที่ดินโฉนดเลขที่ 21837จึงมีสิทธิตามกฎหมายในการใช้สอย จำหน่ายจ่ายโอน จำนองหรือก่อภาระผูกพันในที่ดินดังกล่าวได้ โจทก์ไม่มีอำนาจฟ้องบังคับให้จำเลยโอนกรรมสิทธิ์ที่ดินดังกล่าว ขอให้ยกฟ้อง
ศาลชั้นต้นพิพากษาให้จำเลยไปทำการจดทะเบียนโอนกรรมสิทธิ์ที่ดินโฉนดเลขที่ 21837 ให้แก่โจทก์โดยปลอดจำนอง และหากจำเลยไม่ไปโอนก็ให้ถือเอาคำพิพากษาเป็นการแสดงเจตนาของจำเลย หากที่ดินดังกล่าวติดจำนองเมื่อโจทก์ไถ่ถอนจำนองก็ให้จำเลยชดใช้เงินที่ไถ่ถอนจำนองทั้งต้นเงินและดอกเบี้ยแก่โจทก์จนครบ
จำเลยอุทธรณ์
ศาลอุทธรณ์พิพากษายืน
จำเลยฎีกา
ศาลฎีกาวินิจฉัยโดยฟังข้อเท็จจริงว่า ที่ดินแปลงดังกล่าวเป็นมรดกของนางพรรณี แล้ววินิจฉัยข้อกฎหมายว่า ปัญหาต่อไปมีว่าบันทึกถ้อยคำของจำเลยเอกสารหมาย ล.8 ซึ่งมีข้อความว่า “ฯลฯ ข้าฯได้ตกลงกับนายสุธรรมได้เรียบร้อยแล้วโดยตกลงกันว่าที่ดินแปลงเลขที่ดิน 111 เนื้อที่ 27 ไร่ 24 วานั้น ให้แบ่งเป็น 6 ส่วนตามรูปแผนที่ที่ข้าฯ ได้แนบไว้นี้ และให้นายสุธรรมจับสลากว่านายสุธรรมจะได้แปลงหมายเลขที่เท่าไร ผลปรากฏว่านายสุธรรมได้แปลงหมายเลข 3 ซึ่งเมื่อดำเนินการออกโฉนดเสร็จเรียบร้อยแล้วข้าฯ จะดำเนินการแบ่งแยกที่ดินตามเขตที่แบ่งไว้ในรูปแผนที่ตามที่นายสุธรรมจับสลากได้ โอนให้แก่นายสุธรรมต่อไป ฯลฯ”เมื่อฟังว่าที่ดินขอออกโฉนดเป็นทรัพย์มรดกของนางพรรณีแล้วกรณีจึงไม่ใช่เป็นคำมั่นว่าจะให้ที่ดินตามที่จำเลยฎีกาโต้แย้งมาแต่เป็นการตกลงแบ่งทรัพย์มรดกให้แก่โจทก์ตามสิทธิในฐานะทายาทโดยโจทก์จำเลยตกลงระงับข้อพิพาทซึ่งมีอยู่ให้เสร็จไปด้วยต่างยอมผ่อนผันให้แก่กัน และทำหลักฐานกันไว้เป็นหนังสือจึงมีลักษณะเป็นสัญญาประนีประนอมยอมความที่มีผลบังคับกันได้ตามมาตรา 850,1750 วรรคสอง แห่งประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์ ผลแห่งข้อตกลงทำให้ข้อคัดค้านของโจทก์ระงับไป และได้สิทธิในที่ดินพิพาท และเมื่อแบ่งโฉนดกันเรียบร้อยแล้วที่ดินตามโฉนดเลขที่ 21837 จำเลยจึงมีหน้าที่ต้องโอนที่ดินตามโฉนดดังกล่าวให้โจทก์ เมื่อจำเลยไม่ปฏิบัติตามข้อตกลง โจทก์จึงมีสิทธินำคดีมาฟ้องศาลได้
พิพากษายืน

Share