คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 5064/2533

แหล่งที่มา : กองผู้ช่วยผู้พิพากษาศาลฎีกา

ย่อสั้น

โจทก์บรรยายฟ้องเพียงว่า จำเลยที่ 1 เป็นบุตรชายและเป็นลูกจ้างผู้ครอบครองรถยนต์บรรทุกของจำเลยที่ 2 ขับรถยนต์ดังกล่าวด้วยความประมาทปราศจากความระมัดระวังเป็นเหตุให้รถยนต์ที่จำเลยที่ขับชนรถยนต์โจทก์ได้รับความเสียหาย ฟ้องโจทก์กล่าวหาว่าจำเลยที่ 1กระทำละเมิดต่อโจทก์ จำเลยที่ 2 ต้องร่วมรับผิด แต่ไม่ได้บรรยายให้เห็นว่า จำเลยที่ 1 ได้กระทำละเมิดในทางการที่จ้างของจำเลยที่ 2ฟ้องโจทก์จึงขาดสาระสำคัญอันเป็นประเด็นแห่งคดีที่พึงกระทำให้จำเลยที่ 2 ต้องรับผิด ศาลจะพิพากษาให้โจทก์ชนะคดีโดยไม่อาศัยฟ้องไม่ได้ จำเลยที่ 2 จึงไม่ต้องรับผิดต่อโจทก์ตามฟ้อง หลังเกิดเหตุจำเลยที่ 2 และโจทก์ได้ตกลงกันต่อหน้าพนักงานสอบสวนว่า จำเลยที่ 2 ผู้แทนเจ้าของรถยนต์บรรทุกยินดีชดใช้ค่าเสียหายที่เกิดขึ้นกับรถยนต์ของโจทก์ พนักงานสอบสวนได้บันทึกข้อตกลง และให้โจทก์จำเลยทั้งสองลงชื่อไว้ในบันทึกประจำวันเกี่ยวกับคดีบันทึกดังกล่าวเป็นสัญญาประนีประนอมยอมความระหว่างโจทก์กับจำเลยที่ 2 เป็นผลทำให้มูลละเมิดซึ่งมีอยู่ระงับสิ้นไปทำให้แต่ละฝ่ายมีสิทธิตามที่แสดงไว้ในสัญญาตามประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์ มาตรา 852 โจทก์จะมาฟ้องจำเลยที่ 2ในมูลละเมิดที่ระงับสิ้นไปแล้วหาได้ไม่ ชอบที่จะฟ้องจำเลยที่ 2ตามสัญญาประนีประนอมยอมความที่ทำกันไว้.

ย่อยาว

โจทก์ฟ้องว่า โจทก์เป็นผู้เช่าซื้อรถยนต์บรรทุก 10 ล้อหมายเลขทะเบียน 70-0039 ตาก จำเลยที่ 1 เป็นบุตรและลูกจ้างจำเลยที่ 2 และเป็นผู้ครอบครองรถยนต์บรรทุกหมายเลขทะเบียน 80-2448กำแพงเพชร จำเลยที่ 2 เป็นผู้เช่าซื้อและผู้ครอบครองรถยนต์บรรทุกหมายเลขทะเบียน 80-2448 กำแพงเพชร และจำเลยที่ 3 เป็นผู้รับประกันภัยรถยนต์บรรทุกหมายเลขทะเบียน 80-2448 กำแพงเพชร เมื่อวันที่24 เมษายน 2525 โจทก์ใช้นายสมจิตร์ น้อยโม่ ลูกจ้างของโจทก์ขับรถยนต์บรรทุกของโจทก์บรรทุกอ้อยจากจังหวัดนครสวรรค์ไปส่งโรงงานน้ำตาล จังหวัดสิงห์บุรี ขณะที่นายสมจิตร์ขับรถยนต์ของโจทก์ไปตามถนนสายเอเชีย ถึงหน้าค่ายจิระประวัติ ตำบลนครสวรรค์ออก อำเภอเมืองนครสวรรค์ จังหวัดนครสวรรค์ จำเลยที่ 1 ซึ่งเป็นบุตรชายและเป็นลูกจ้างผู้ครอบครองรถของจำเลยที่ 2 ขับรถยนต์ของจำเลยที่ 2 แต่สวนทางมาด้วยความประมาทปราศจากความระมัดระวัง โดยขับแซงรถยนต์คันอื่นเข้ามาในช่องเดินรถของโจทก์ในระยะกระชั้นชิด เป็นเหตุให้รถยนต์ที่จำเลยที่ 1 ขับชนรถยนต์ของโจทก์ได้รับความเสียหาย ขอให้บังคับจำเลยทั้งสามร่วมกันชำระค่าเสียหายแก่โจทก์จำนวน 294,665 บาทพร้อมด้วยดอกเบี้ยในอัตราร้อยละเจ็ดครึ่งต่อปี นับแต่วันฟ้องจนกว่าจะชำระเสร็จ
จำเลยที่ 1 ขาดนัดยื่นคำให้การและขาดนัดพิจารณา
จำเลยที่ 2 ให้การว่า จำเลยที่ 2 มิได้เป็นนายจ้างของจำเลยที่ 1 จำเลยที่ 2 เช่าซื้อรถยนต์บรรทุกหมายเลขทะเบียน 80-2448กำแพงเพชร มาจากนายยอดอดุลย์ แล้วเอาประกันภัยรถยนต์ดังกล่าวไว้แก่จำเลยที่ 3 และจำเลยที่ 2 ได้ให้จำเลยที่ 1 เช่ารถยนต์ดังกล่าวในอัตราเดือนละ 15,000 บาท ขณะเกิดเหตุคดีนี้รถยนต์ดังกล่าวอยู่ในระหว่างการเช่าของจำเลยที่ 1 และการรับประกันภัยของจำเลยที่ 3จำเลยที่ 2 จึงไม่ต้องรับผิดขอให้ยกฟ้อง
จำเลยที่ 3 ให้การและแก้ไขคำให้การว่า โจทก์ไม่ได้เป็นเจ้าของผู้ครอบครองรถยนต์บรรทุกหมายเลขทะเลียน 70-0039 ตาก จำเลยที่ 1ไม่ได้เป็นลูกจ้างจำเลยที่ 2 หลังจากเกิดเหตุคดีนี้ จำเลยที่ 2ทำสัญญาประนีประนอมยอมความชดใช้ค่าเสียหายให้แก่โจทก์ หนี้ในมูลละเมิดจึงระงับสิ้นไป และการที่จำเลยที่ 2 ตกลงชดใช้ค่าเสียหายให้แก่โจทก์ดังกล่าว โดยจำเลยที่ 3 ไม่ได้ยินยอมอันเป็นการประพฤติผิดเงื่อนไขกรมธรรม์ประกันภัยอีกด้วยจำเลยที่ 3 จึงไม่ต้องรับผิดต่อโจทก์ นอกจากนี้ในวันเกิดเหตุจำเลยที่ 1 ไม่ได้ขับรถยนต์โดยประมาท อย่างไรก็ดีจำเลยที่ 3 จะรับผิดไม่เกิน 100,000 บาทตามที่ระบุไว้ในกรมธรรม์ประกันภัย ขอให้ยกฟ้อง
ศาลชั้นต้นพิจารณาแล้ว พิพากษาให้จำเลยทั้งสามชำระเงิน 141,665บาทโดยจำเลยที่ 3 รับผิดชำระ 100,000 บาท พร้อมด้วยดอกเบี้ยในอัตราร้อยละเจ็ดครึ่งต่อปี นับแต่วันฟ้องจนกว่าจะชำระเสร็จให้แก่โจทก์
จำเลยที่ 3 อุทธรณ์
ศาลอุทธรณ์วินิจฉัยว่า ตามฟ้องและข้อนำสืบของโจทก์ฟังได้แต่เพียงว่า จำเลยที่ 1 เป็นลูกจ้างของจำเลยที่ 2 เท่านั้น ส่วนปัญหาที่ว่าจำเลยที่ 1 กระทำละเมิดอยู่ในทางการที่จ้างของจำเลยที่ 2หรือไม่ โจทก์ไม่นำสืบข้อเท็จจริงไว้ และเมื่อโจทก์ไม่ได้กล่าวอ้างมาในฟ้องว่าการกระทำละเมิดของจำเลยที่ 1 อยู่ในทางการที่จ้างของจำเลยที่ 2 และนำสืบให้ได้ความตามที่กล่าวอ้าง จึงไม่อาจให้จำเลยที่ 2 ร่วมรับผิดต่อโจทก์ได้ จำเลยที่ 3 ในฐานะผู้รับประกันภัยค้ำจุนไว้จากจำเลยที่ 2 จึงไม่ต้องร่วมรับผิดต่อโจทก์ พิพากษาแก้เป็นว่า ให้ยกฟ้องจำเลยที่ 2 ที่ 3 นอกจากที่แก้คงให้เป็นไปตามคำพิพากษาศาลชั้นต้น
โจทก์ฎีกา
ศาลฎีกาวินิจฉัยว่า ในปัญหาที่โจทก์ฎีกาว่า จำเลยที่ 2 ที่ 3จะต้องร่วมรับผิดต่อโจทก์ตามฟ้องนั้น โจทก์บรรยายฟ้องแต่เพียงว่าจำเลยที่ 1 เป็นบุตรชายและลูกจ้างของจำเลยที่ 2 และเป็นผู้ครอบครองรถยนต์บรรทุกหมายเลขทะเบียน 80-2448 กำแพงเพชร จำเลยที่ 2 เป็นผู้เช่าซื้อและผู้ครอบครองรถยนต์ดังกล่าว จำเลยที่ 1 ซึ่งเป็นบุตรชายและลูกจ้างผู้ครอบครองรถยนต์บรรทุกของจำเลยที่ 2 ขับรถยนต์ด้วยความประมาทปราศจากความระมัดระวังเป็นเหตุให้รถยนต์ที่จำเลยที่ 1ขับชนรถยนต์โจทก์ได้รับความเสียหาย เห็นว่า ตามฟ้องโจทก์ดังกล่าวต้องฟังว่าโจทก์กล่าวหาว่าจำเลยที่ 1 กระทำละเมิดต่อดจทก์ จำเลยที่ 2 ที่ต้องร่วมรับผิด โจทก์มิได้บรรยายฟ้องให้เห็นว่า จำเลยที่ 1ได้กระทำละเมิดในทางการที่จ้างของจำเลยที่ 2 ฟ้องของโจทก์จึงขาดสาระสำคัญอันเป็นประเด็นแห่งคดีที่พึงกระทำให้จำเลยที่ 2 ต้องรับผิด ศาลจะพิพากษาให้โจทก์ชนะคดีโดยไม่อาศัยฟ้องไม่ได้ จำเลยที่ 2จึงไม่ต้องรับผิดต่อโจทก์ตามฟ้อง ตามประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์มาตรา 425 จำเลยที่ 3 ในฐานะผู้รับประกันภัยจึงไม่ต้องรับผิดต่อโจทก์ด้วย ในปัญหาที่โจทก์ฎีกาว่าจำเลยที่ 2 เป็นผู้ครอบครองรถยนต์บรรทุกหมายเลขทะเบียน 80-2448 กำแพงเพชร จะต้องรับผิดตามข้อตกลงเรื่องค่าเสียหายต่อโจทก์นั้น ข้อเท็จจริงได้ความว่า จำเลยที่ 2เป็นผู้ครอบครองรถยนต์บรรทุกหมายเลขทะเบียน 80-2448 กำแพงเพชรและหลังเกิดเหตุจำเลยที่ 2 และโจทก์ได้ตกลงกันต่อหน้าร้อยตำรวจเอกสุนทร กมลพันธ์ฤกษ์ พนักงานสอบสวนสถานีตำรวจภูธร อำเภอเมืองนครสวรรค์ จังหวัดนครสวรรค์ ว่า จำเลยที่ 2 ผู้แทนเจ้าของรถยนต์หมายเลขทะเบียน 80-2448 กำแพงเพชร ยินดีชดใช้ค่าเสียหายที่เกิดกับรถยนต์หมายเลขทะเบียน 70-0039 ตาก ร้อยตำรวจเอกสุนทรได้บันทึกข้อตกลงและให้โจทก์ จำเลยที่ 1 ที่ 2 ลงชื่อไว้ปรากฏตามรายงานประจำวันเกี่ยวกับคดีเอกสารหมาย จ.2 บันทึกดังกล่าวจึงเป็นสัญญาประนีประนอมยอมความระหว่างโจทก์กับจำเลยที่ 2 และเป็นผลให้มูลละเมิดซึ่งมีอยู่ระงับสิ้นไป ทำให้แต่ละฝ่ายได้สิทธิตามที่แสดงไว้ในสัญญาตามประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์ มาตรา 852 โจทก์จะมาฟ้องจำเลยที่ 2 ในมูลละเมิดที่ระงับสิ้นไปแล้วหาได้ไม่ ชอบที่จะฟ้องจำเลยที่ 2 ตามสัญญาประนีประนอมยอมความที่ได้ทำกันไว้ที่ศาลอุทธรณ์พิพากษามานั้น ศาลฎีกาเห็นพ้องด้วย ฎีกาโจทก์ฟังไม่ขึ้น
พิพากษายืน.

Share