คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 1007/2543

แหล่งที่มา : สำนักงานส่งเสริมงานตุลาการ

ย่อสั้น

ผู้ร้องทำสัญญาซื้อรถจักรยานยนต์ของกลางจากผู้ขายตามสัญญาซื้อขายรถแบบเงินผ่อน โดยในสัญญาได้กำหนดให้ผู้ร้องชำระราคารถจักรยานยนต์ของกลางบางส่วนในวันทำสัญญา ส่วนที่เหลือผ่อนชำระรวม 24 งวด เมื่อชำระราคารถจักรยานยนต์ครบแล้วผู้ขายจึงจะโอนกรรมสิทธิ์ให้ สัญญาซื้อขายรถจักรยานยนต์ของกลางจึงเป็นสัญญาซื้อขายมีเงื่อนไข เมื่อปรากฏว่าก่อนที่ศาลชั้นต้นมีคำพิพากษาให้ริบรถจักรยานยนต์ของกลางนั้น ผู้ร้องยังมิได้ชำระเงินงวดสุดท้ายให้แก่ผู้ขาย กรรมสิทธิ์ในรถจักรยานยนต์ของกลางจึงยังอยู่ที่ผู้ขายแม้ว่าต่อมาศาลชั้นต้นจะมีคำพิพากษาให้ริบรถจักรยานยนต์ของกลางก็ตาม แต่รถจักรยานยนต์ของกลางที่ศาลมีคำพิพากษาให้ริบนั้นจะตกเป็นของแผ่นดินก็ต่อเมื่อคำพิพากษาทีให้ริบของกลางดังกล่าวเป็นที่สุด แต่ระหว่างที่คำพิพากษาที่ให้ริบของกลางดังกล่าวยังไม่เป็นที่สุดเจ้าของกรรมสิทธิ์ในทรัพย์ของกลางยังคงมีอำนาจที่จะจำหน่าย จ่าย โอน ทรัพย์ของตนได้ เมื่อปรากฏว่าศาลชั้นต้นได้มีคำพิพากษาให้ริบรถจักรยานยนต์ของกลางดังกล่าว โดยไม่มีคู่ความฝ่ายใดอุทธรณ์ฎีกา คำพิพากษาศาลชั้นต้นดังกล่าวนั้นจะเป็นที่สุดก็ต่อเมื่อระยะเวลาในการอุทธรณ์ฎีกาได้สิ้นสุดลงดังที่ได้บัญญัติไว้ในประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความแพ่ง มาตรา 147 วรรคสอง ประกอบด้วยประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความอาญามาตรา 15 ดังนั้น ก่อนหน้าที่คำพิพากษาศาลชั้นต้นดังกล่าวจะเป็นที่สุด ผู้ขายซึ่งเป็นเจ้าของกรรมสิทธิ์ในรถจักรยานยนต์ของกลางยังสามารถที่จะโอนกรรมสิทธิ์ในรถจักรยานยนต์ของกลางให้แก่ผู้ร้องได้ เมื่อผู้ร้องได้ชำระราคางวดสุดท้ายก่อนวันที่คำพิพากษาศาลชั้นต้นที่ให้ริบรถจักรยานยนต์ของกลางจะเป็นที่สุด ผู้ขายจึงสามารถโอนกรรมสิทธิ์ให้แก่ผู้ร้อง และถือได้ว่าผู้ร้องเป็นเจ้าของรถจักรยานยนต์ของกลางที่แท้จริงอันมีสิทธิที่จะยื่นคำร้องขอคืนของกลางได้ เมื่อผู้ร้องและผู้ขายซึ่งเป็นเจ้าของเดิมของรถจักรยานยนต์ของกลางขณะที่ถูกนำไปใช้กระทำความผิดมิได้มีส่วนรู้เห็นเป็นใจในการกระทำความผิด จึงสมควรคืนรถจักรยานยนต์ของกลางให้แก่ผู้ร้อง

ย่อยาว

คดีสืบเนื่องมาจากโจทก์ฟ้องขอให้ลงโทษจำเลยทั้งสองฐานร่วมกันลักทรัพย์ในเวลากลางคืนโดยใช้ยานพาหนะเพื่อสะดวกแก่การกระทำความผิดหรือการพาทรัพย์นั้นไปหรือรับของโจร จำเลยที่ 1 ให้การรับสารภาพฐานลักทรัพย์ จำเลยที่ 2 ให้การปฏิเสธ ศาลชั้นต้นพิพากษาลงโทษจำเลยที่ 1 ตามประมวลกฎหมายอาญามาตรา 335(7) ประกอบด้วยมาตรา 336 ทวิ จำคุกจำเลยที่ 1 มีกำหนด 6 ปี ลดโทษให้กึ่งหนึ่งคงจำคุก 3 ปี และริบรถจักรยานยนต์คันหมายเลขทะเบียน เบตง ข-6542ส่วนจำเลยที่ 2 ศาลชั้นต้นมีคำสั่งให้แยกฟ้องเป็นคดีใหม่ และต่อมาคดีดังกล่าวศาลชั้นต้นมีคำพิพากษายกฟ้อง

ผู้ร้องยื่นคำร้อง ขอให้คืนรถจักรยานยนต์ของกลาง

โจทก์ยื่นคำร้องคัดค้าน ขอให้ยกคำร้อง

ศาลชั้นต้นไต่สวนแล้วมีคำสั่งยกคำร้อง

ผู้ร้องและโจทก์อุทธรณ์

ศาลอุทธรณ์ภาค 9 พิพากษากลับ ให้คืนรถจักรยานยนต์ของกลางที่ศาลชั้นต้นสั่งริบแก่ผู้ร้อง

โจทก์ฎีกา

ศาลฎีกาวินิจฉัยว่า “คดีมีปัญหาข้อกฎหมายที่ต้องวินิจฉัยเพียงประการเดียวว่า ผู้ร้องเป็นเจ้าของรถจักรยานยนต์หมายเลขทะเบียน เบตง ข-6542 ของกลางที่แท้จริงและมีสิทธิยื่นคำร้องขอคืนของกลางหรือไม่ เห็นว่า ผู้ร้องทำสัญญาซื้อรถจักรยานยนต์ของกลางจากนางสาวชาริณี ตามสัญญาซื้อขายรถแบบเงินผ่อนโดยในสัญญาได้กำหนดให้ผู้ร้องมีหน้าที่ต้องชำระราคารถจักรยานยนต์ของกลางบางส่วนในวันทำสัญญา ส่วนราคารถจักรยานยนต์ของกลางที่เหลือนั้นผู้ร้องมีหน้าที่ต้องผ่อนชำระเป็นงวด ๆ รวม 24 งวด เมื่อชำระราคารถจักรยานยนต์ครบแล้วผู้ขายจึงจะโอนกรรมสิทธิ์ให้ ฉะนั้นสัญญาซื้อขายรถจักรยานยนต์ของกลางจึงเป็นสัญญาซื้อขายมีเงื่อนไข เมื่อปรากฏว่าก่อนที่ศาลชั้นต้นมีคำพิพากษาให้ริบรถจักรยานยนต์ของกลางนั้น ผู้ร้องยังมิได้ชำระเงินงวดสุดท้ายให้แก่ผู้ขาย กรรมสิทธิ์ในรถจักรยานยนต์ของกลางจึงยังอยู่ที่ผู้ขาย แม้ว่าต่อมาศาลชั้นต้นจะมีคำพิพากษาให้ริบรถจักรยานยนต์ของกลางก็ตาม แต่รถจักรยานยนต์ของกลางที่ศาลมีคำพิพากษาให้ริบนั้นจะตกเป็นของแผ่นดินก็ต่อเมื่อคำพิพากษาที่ให้ริบของกลางดังกล่าวเป็นที่สุด แต่ระหว่างที่คำพิพากษาที่ให้ริบของกลางดังกล่าวยังไม่เป็นที่สุดเจ้าของกรรมสิทธิ์ในทรัพย์ของกลางยังคงมีอำนาจที่จะจำหน่าย จ่าย โอน ทรัพย์ของตนได้ เมื่อปรากฏว่าศาลชั้นต้นได้มีคำพิพากษาให้ริบรถจักรยานยนต์ของกลางคันดังกล่าวในวันที่ 4 กรกฎาคม 2540 โดยไม่มีคู่ความฝ่ายใดอุทธรณ์ฎีกาโต้แย้งคำพิพากษาศาลชั้นต้นดังกล่าวต่อไป คำพิพากษาศาลชั้นต้นดังกล่าวนั้นจะเป็นที่สุดก็ต่อเมื่อระยะเวลาในการอุทธรณ์ฎีกาได้สิ้นสุดลงในวันที่ 4 สิงหาคม 2540 ดังที่ได้บัญญัติไว้ในมาตรา 147 วรรคสองแห่งประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความแพ่ง ประกอบด้วยมาตรา 15 แห่งประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความอาญา ดังนั้น ก่อนหน้าที่พิพากษาศาลชั้นต้นดังกล่าวจะเป็นที่สุดในวันที่ 4 สิงหาคม 2540 ผู้ขายซึ่งเป็นเจ้าของกรรมสิทธิ์ในรถจักรยานยนต์ของกลางยังสามารถที่จะโอนกรรมสิทธิ์ในรถจักรยานยนต์ของกลางให้แก่ผู้ร้องได้ เมื่อผู้ร้องได้ชำระราคารถจักรยานยนต์ของกลางงวดสุดท้ายให้แก่ผู้ขายเมื่อวันที่ 5 กรกฎาคม 2540 อันเป็นวันก่อนวันที่คำพิพากษาศาลชั้นต้นที่ให้ริบรถจักรยานยนต์ของกลางจะเป็นที่สุด ผู้ขายจึงสามารถโอนกรรมสิทธิ์ในรถจักรยานยนต์ของกลางให้แก่ผู้ร้อง และถือได้ว่าผู้ร้องเป็นเจ้าของรถจักรยานยนต์ของกลางที่แท้จริงอันมีสิทธิที่จะยื่นคำร้องขอคืนของกลางได้ ทั้งเมื่อผู้ร้องและนางสาวชาริณี ผู้ขาย ซึ่งเป็นเจ้าของเดิมของรถจักรยานยนต์ของกลางขณะที่ถูกนำไปใช้ในการกระทำความผิดมิได้มีส่วนรู้เห็นเป็นใจในการกระทำความผิด จึงสมควรคืนรถจักรยานยนต์ของกลางให้แก่ผู้ร้อง ที่ศาลอุทธรณ์ภาค 9 พิพากษามานั้น ศาลฎีกาเห็นพ้องด้วยในผล ฎีกาโจทก์ฟังไม่ขึ้น”

พิพากษายืน

Share