แหล่งที่มา : สำนักงานส่งเสริมงานตุลาการ
ย่อสั้น
การแต่งตั้งผู้จัดการมรดกนั้น ศาลย่อมใช้ดุลพินิจ คำนึงถึงความเหมาะสมเพื่อประโยชน์แก่กองมรดกด้วย ถึงแม้ไม่มีผู้คัดค้านคำร้องของผู้ร้อง และผู้ร้องไม่เป็นบุคคลต้องห้ามในการเป็นผู้จัดการมรดกตาม ป.พ.พ. มาตรา 1718 ก็ตาม แต่เมื่อปรากฏข้อเท็จจริงว่าผู้ร้องไม่มีความสุจริตใจในการรักษาผลประโยชน์ในทรัพย์สินให้แก่ผู้รับพินัยกรรมของเจ้ามรดก จึงไม่เหมาะสมที่จะตั้งผู้ร้องเป็นผู้จัดการมรดกตามคำร้อง.
ย่อยาว
ผู้ร้องยื่นคำร้องว่า นายแดงถึงแก่กรรม โดยได้มีคำสั่งในพินัยกรรม ตั้งผู้ร้องเป็นผู้จัดการมรดก ผู้ร้องไม่เป็นบุคคลต้องห้ามขอให้มีคำสั่งตั้งผู้ร้องเป็นผู้จัดการมรดกของผู้ตาย
ศาลชั้นต้นพิจารณาแล้วมีคำสั่งยกคำร้อง
ผู้ร้องอุทธรณ์
ศาลอุทธรณ์ภาค 2 พิพากษายืน
ผู้ร้องฎีกา
ศาลฎีกาวินิจฉัยว่า “คดีมีปัญหาว่า ผู้ร้องสมควรเป็นผู้จัดการมรดกของนางแดงสีแรืงพันธ์หรือสีเรืองพันธุ์ เจ้ามรดกหรือไม่ได้ความจากนายแร่ พิลึก ผู้เขียนพินัยกรรม และนายเช้งหรือเช้าเพิ่มกสิกร พยานในพินัยกรรม เอกสารหมาย ร.1 ว่าเมื่อวันที่ 25พฤศจิกายน 2527 นางแดงบอกนายแร่ว่ามีที่ดินอยู่ 2 แปลง ขอให้นายแร่ทำพินัยกรรมยกที่นาตาม น.ส.3ก. เอกสารหมาย ร.3 ให้นางสงกาสีเรืองพันธ์หรือสีเรืองพันธุ์ ภริยานายแกะบุตรชาย นายแร่จึงเขียนพินัยกรรมให้โดยให้ผู้ร้องเป็นผู้จัดการมรดกตามพินัยกรรม และนายเช้งหรือเช้าซึ่งอยู่ที่บ้านนายแร่ขณะนั้นเป็นพยานในพินัยกรรม เห็นว่าแม้คดีนี้ไม่มีผู้คัดค้านคำร้องของผู้ร้อง และผู้ร้องไม่เป็นบุคคลต้องห้ามในการเป็นผู้จัดการมรดกตามประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์มาตรา 1718 ก็ตาม แต่การแต่งตั้งผู้จัดการมรดกตามคำสั้งศาล ศาลย่อมใช้ดุลพินิจโดยคำนึงถึงความเหมาะสมเพื่อประโยชน์แก่กองมรดกด้วยข้อเท็จจริงปรากฏว่าผู้ร้องขอให้พนักงานที่ดินอำเภอบรรพตพิสัยจังหวัดนครสวรรค์ โอนที่ดินตาม น.ส.3 ก. เอกสารหมาย ร. 3 ให้ผู้ร้องก่อนวันเบิกความ วันที่ 6 มีนาคม 2532 ประมาณ 6 ถึง 7 เดือนคือประมาณเดือนสิงหาคมถึงกันยายน 2531 หลังวันที่นางแดงตายประมาณ3 ปี 6 เดือน จึงเป็นการต้องห้ามตามประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์มาตรา 1717 วรรคท้าย เพราะการรับเป็นผู้จัดการมรดกนั้นผู้จัดการมรดกจะทำภายหลัง 1 ปีนับแต่วันที่เจ้ามรดกตายไม่ได้ เว้นแต่ศาลอนุญาต ซึ่งศาลฎีกาเห็นว่าผู้ร้องไม่ได้แสดงเหตุผลและความจำเป็นที่ผู้ร้องเพิ่งขอจัดการมรดกตามพินัยกรรมและร้องขอจัดการมรดกหลังวันที่นางแดงตายนานถึง 3 ปี 6 เดือน และ 4 ปีเศ๋ตตามลำดับทั้งไม่ได้ความว่าผู้ร้องแจ้งให้นางสงกาผู้รับทรัพย์สินตามพินัยกรรมให้รับทราบเพื่อรับโอนที่ดินมรดกแต่อย่างใด แต่กลับได้ความว่า ผู้ร้องขอให้พนักงานที่ดินอำเภอบรรพตพิสัยโอนที่ดินมรดกให้ผู้ร้องเสียเองนอกจากนี้ผู้ร้องเบิกความว่าเท่าที่ผู้ร้องทราบนางแดงมีที่ดิน1 แปลง ตาม น.ส.3 ก. เอกสารหมาย ร.3 เท่านั้น ซึ่งขัดกับที่นายแร่อ้างว่านางแดงมีที่ดินอยู่ 2 แปลง แสดงว่าผู้ร้องไม่มีความสุจริตใจในการรักษาผลประโยชน์ในทรัพย์สินให้แก่ผู้รับพินัยกรรมของนางแดงเจ้ามรดก จึงไม่เหมาะสมในการเป็นผู้จัดการมรดกตามคำร้อง ที่ศาลอุทธรณ์ภาค 2 พิพากษายืนตามคำสั่งของศาลชั้นต้นให้ยกคำร้องนั้นศาลฎีกาเห็นพ้องด้วย ฎีกาผู้ร้องฟังไม่ขึ้น”
พิพากษายืน.