แหล่งที่มา : เนติบัณฑิตยสภา
ย่อสั้น
ผู้ส่งสินค้ามิได้แสดงความตกลงด้วยชัดแจ้งในการยกเว้นหรือจำกัดความผิดตามประกาศที่ผู้รับขนปิดไว้ที่ที่ทำการของผู้รับขน ข้อยกเว้นหรือจำกัดความรับผิดของผู้รับขนจึงตกเป็นโมฆะตามประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์ มาตรา 625 พยานหลักฐานอันสำคัญที่เกี่ยวกับประเด็นสำคัญในคดีแม้ไม่ส่งสำเนาต่อศาลก่อนวันสืบพยานสามวัน ศาลก็มีอำนาจรับฟังพยานหลักฐานนั้นได้เพื่อประโยชน์แห่งความยุติธรรม คำให้การของจำเลยเพียงแต่ปฏิเสธจำนวนค่าเสียหายตามฟ้องเท่านั้น ข้อที่จำเลยอุทธรณ์ว่าผู้ส่งสินค้าไม่แจ้งให้จำเลยไปร่วมตรวจสอบเป็นเหตุให้จำเลยไม่ต้องรับผิดหรือรับผิดน้อยลง จึงเป็นข้อที่มิได้ยกขึ้นว่ากันมาแล้วในศาลชั้นต้น
ย่อยาว
โจทก์ฟ้องว่า โจทก์เป็นผู้รับประกันภัยสินค้าเครื่องจักรและอุปกรณ์สำหรับใช้ผลิตน้ำตาลของบริษัทรวมเกษตรกรอุตสาหกรรมจำกัด ซึ่งสั่งซื้อจากประเทศญี่ปุ่น เพื่อความเสียหายหรือสูญหายของสินค้าระหว่างขนส่งเป็นเงิน 10,486,261.50 บาทเมื่อสินค้ามาถึงประเทศไทยแล้ว จำเลยเป็นผู้รับจ้างขนสินค้าเครื่องจักรดังกล่าวจากท่าเรือกรุงเทพไปส่งให้บริษัทเจ้าของสินค้าที่จังหวัดชัยภูมิ โดยได้มอบให้ลูกจ้างจำเลยเป็นผู้ขับรถยนต์บรรทุกคันหมายเลขทะเบียน 70-7368 กรุงเทพมหานครของจำเลยบรรทุกสินค้าดังกล่าว แต่ลูกจ้างของจำเลยได้กระทำโดยประมาทเลินเล่อทำให้หีบบรรจุสินค้าเครื่องจักรที่บรรทุกมากระเด็นตกจากตัวรถกระแทกกับพื้นถนน เป็นเหตุให้เครื่องจักรแตกหักเคลื่อนตัวผิดไปจากตำแหน่งเดิมจนเสียหายใช้งานไม่ได้และไม่อาจซ่อมแซมในประเทศไทยให้คืนดีเหมือนเดิมได้ บริษัทเจ้าของสินค้าต้องส่งเครื่องจักรดังกล่าวไปซ่อมที่ประเทศญี่ปุ่นต้องเสียค่าซ่อม ค่าขนส่งไปกลับ และค่าประกันภัยในการส่งสินค้าไปซ่อมรวมเป็นเงิน 1,369,208.03 บาท บริษัทเจ้าของสินค้าได้ทวงถามให้จำเลยชำระแล้ว จำเลยเพิกเฉย จึงเรียกร้องให้โจทก์รับผิด โจทก์ในฐานะผู้รับประกันภัยได้รับผิดใช้ค่าสินไหมทดแทนให้บริษัทรวมเกษตรกรอุตสาหกรรม จำกัด เจ้าของสินค้าไปเป็นเงิน 1,369,208.03 บาท และรับช่วงสิทธิของบริษัทดังกล่าวมาเรียกร้องเอาจากจำเลยในฐานะนายจ้างของผู้ทำละเมิดและเป็นผู้รับขนสินค้า โจทก์ทวงถามแล้ว จำเลยไม่ชำระ จึงฟ้องขอให้บังคับจำเลยใช้เงินจำนวน 1,369,208.03 บาท พร้อมดอกเบี้ยร้อยละ7.5 ต่อปี นับแต่วันฟ้องจนกว่าชำระเสร็จแก่โจทก์ จำเลยให้การว่าลูกจ้างของจำเลยมิได้ทำโดยประมาทเลินเล่อให้สินค้าตามฟ้องได้รับความเสียหายในระหว่างขนส่ง สินค้าที่จำเลยขนส่งมีสภาพชำรุดเสียหายอยู่แล้ว หากมีความเสียหายขึ้นเป็นเพราะเหตุสุดวิสัยและเป็นความผิดของผู้ว่าจ้าง จำเลยจึงไม่ต้องรับผิด จำเลยกับบริษัทรวมเกษตรกรอุตสาหกรรม จำกัด ได้ตกลงไว้ชัดแจ้งว่าจำกัดความรับผิดไว้ไม่เกิน 300,000 บาท โจทก์จึงไม่มีสิทธิเรียกร้องจากจำเลยมากไปกว่านี้ และสินค้าที่ขนส่งเสียหายไม่เกิน 300,000 บาท ศาลชั้นต้นพิพากษาให้จำเลยใช้เงินจำนวน1,369,208.03 บาท พร้อมดอกเบี้ยในอัตราร้อยละเจ็ดครึ่งต่อปีนับแต่วันฟ้องจนกว่าจะชำระเสร็จแก่โจทก์ จำเลยอุทธรณ์ศาลอุทธรณ์พิพากษายืน จำเลยฎีกา
ศาลฎีกาวินิจฉัยว่า “คดีมีปัญหาต้องวินิจฉัยตามฎีกาของจำเลยข้อแรกว่า บริษัทรวมเกษตรกรอุตสาหกรรม จำกัด ผู้ส่งได้แสดงความตกลงด้วยชัดแจ้งในเงื่อนไขจำกัดความรับผิดของจำเลยไว้เพียง 300,000 บาท ตามเอกสารหมาย ล.1 หรือไม่ ได้พิเคราะห์เอกสารหมาย ล.1 แล้ว เอกสารนี้มีทั้งหมด 3 แผ่น แผ่นแรกเป็นประกาศคณะกรรมการควบคุมการขนส่งทางบกกลาง เรื่อง กำหนด(ปรับปรุง) อัตราค่าขนสินค้าด้วยบรรทุก 6 ล้อ อัตราค่าขนสินค้าด้วยรถบรรทุก 10 ล้อ และกำหนดอัตราค่าบริการในการขนส่งสินค้ามูลค่าสูง รายละเอียดในเอกสารแผ่นนี้เป็นการกำหนดอัตราค่าขนส่งสินค้าไว้ส่วนแผ่นที่สองเป็นใบสั่งจ่ายรถยนต์เงินสดที่เจ้าหน้าที่ของจำเลยสั่งจ่ายรถยนต์ให้ทำการบรรทุกสินค้ารายพิพาทนี้ ตอนท้ายของเอกสารแผ่นนี้มีข้อความว่า “หมายเหตุถ้าไม่แจ้งมูลค่าของสินค้า ร.ส.พ. จะถือว่าสินค้านั้นราคาไม่เกิน100,000 บาท (หนึ่งแสนบาทถ้วน) สำหรับเหมาคันรถยนต์ 6 ล้อและ 10 ล้อ และราคาไม่เกิน 300,000 บาท (สามแสนบาทถ้วน)สำหรับเหมาคันรถบรรทุกหนักเช่นรถลากจูง” ต่อจากนั้นมีช่องสำหรับผู้เช่ารถลงลายมือชื่อ แต่ไม่มีลายมือชื่อของผู้ใดลงไว้ในช่องดังกล่าว สำหรับแผ่นที่สามเป็นประกาศองค์การรับส่งสินค้าและพัสดุภัณฑ์ (จำเลย) เรื่อง กำหนดอัตราค่าบริการในการขนส่งสินค้ามูลค่าสูง ซึ่งมีข้อความในข้อ 3 ว่า “สินค้าลักษณะเหมาคันรถบรรทุกของหนัก เช่น รถลากจูง ราคาสินค้าที่มีราคาประเมินมากกว่า 300,000 บาท มูลค่าสินค้าส่วนที่เกินราคาประเมิน300,000 บาท ร.ส.พ. จะคิดค่าบริการเพิ่มอีกต่างหากในอัตราร้อยละ 0.35 บาท และถ้าหากผู้จ้างไม่แจ้งประเมินราคาสินค้าไว้ หากเกิดความเสียหายหรือสูญหายไป ร.ส.พ.จะชดใช้ค่าเสียหายให้ไม่เกิน 300,000 บาท” จำเลยต่อสู้ว่าตัวแทนของบริษัทรวมเกษตรกรอุตสาหกรรม จำกัด ผู้ส่งไม่ได้แจ้งประเมินราคาสินค้าพิพาทไว้ จำเลยจึงรับผิดไม่เกิน 300,000 บาท ตามเอกสารหมาย ล.1 นี้ เห็นว่า เอกสารหมาย ล.1 แผ่นที่ 1 และแผ่นที่ 3 เป็นเพียงประกาศของจำเลยปิดไว้ในที่ทำการของจำเลยเท่านั้น หากจำเลยประสงค์จะให้ผู้ส่งตกลงตามข้อจำกัดความรับผิดในวงเงินตามประกาศดังกล่าว จำเลยก็สามารถให้ผู้ส่งลงลายมือชื่อในช่องผู้เช่าในเอกสารหมาย ล.1 แผ่นที่ 2 ซึ่งมีหมายเหตุการจำกัดความรับผิดในวงเงินไม่เกิน 300,000 บาท ได้แต่ในเอกสารหมาย ล.1 แผ่นที่ 2 ซึ่งเป็นใบสั่งจ่ายรถยนต์สำหรับขนส่งสินค้ารายพิพาทนี้ไม่ปรากฏว่าผู้ส่งได้ลงลายมือชื่อไว้ในช่องดังกล่าว ยิ่งกว่านั้นนายวิศิษฐ์ เนียมนิล พยานจำเลยยังเบิกความตอบทนายโจทก์ถามค้านว่า สำหรับการขนส่งสินค้าคดีนี้ทางผู้ว่าจ้างไม่ได้ลงชื่อในเอกสารหมาย ล.1 แผ่นที่ 2 และการที่พยานแจ้งให้ผู้ว่าจ้างทราบว่า มีข้อจำกัดความรับผิดนั้นทางผู้ว่าจ้างก็ไม่ได้ตกลงด้วย ดังนี้ ข้อเท็จจริงจึงฟังไม่ได้ว่า ผู้ส่งสินค้ารายพิพาทนี้ได้แสดงความตกลงด้วยชัดแจ้งในการยกเว้นหรือจำกัดความรับผิดตามเอกสารหมาย ล.1 ดังนั้น ข้อจำกัดหรือยกเว้นความรับผิดของจำเลยตามเอกสารหมาย ล.1 จึงตกเป็นโมฆะ ตามประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์ มาตรา 625 จำเลยจะอาศัยข้อความในเอกสารหมาย ล.1 มาจำกัดความรับผิดของจำเลยไม่ได้ ฎีกาของจำเลยข้อนี้ฟังไม่ขึ้น
ปัญหาที่จะต้องวินิจฉัยต่อไปตามฎีกาของจำเลยข้อที่สองมีว่าเอกสารหมาย จ.1 และ จ.3 ถึง จ.11 ที่โจทก์อ้างส่งศาลโดยส่งสำเนาให้แก่จำเลยก่อนวันสืบพยาน 3 วัน แล้ว แต่โจทก์มิได้ส่งสำเนาเอกสารดังกล่าวต่อศาลก่อนวันสืบพยาน 3 วัน ศาลจะรับฟังเอกสารดังกล่าวเป็นพยานหลักฐานในคดีได้หรือไม่ เห็นว่าแม้ประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์ มาตรา 90 จะบัญญัติว่า คู่ความที่อ้างอิงเอกสารเป็นพยานหลักฐานต้องส่งสำเนาให้แก่ศาลและคู่ความอีกฝ่ายหนึ่งก่อนวันสืบพยาน 3 วัน และมาตรา 87 บัญญัติห้ามมิให้ศาลรับฟังพยานหลักฐานใดที่ผู้อ้างมิได้ปฏิบัติตามมาตรา 90 ก็ตาม แต่ในมาตรา 87 นั้นเอง ก็ได้บัญญัติข้อยกเว้นไว้ว่า ถ้าศาลเห็นว่าเพื่อประโยชน์แห่งความยุติธรรมจำเป็นจะต้องสืบพยานหลักฐานอันสำคัญซึ่งเกี่ยวกับประเด็นข้อสำคัญในคดี ก็ให้ศาลมีอำนาจรับฟังพยานหลักฐานนั้นได้ เอกสารหมาย จ.1 และ จ.3ถึง จ.11 ล้วนเป็นพยานหลักฐานอันสำคัญที่เกี่ยวกับประเด็นสำคัญในคดี ศาลชั้นต้นจึงมีอำนาจรับฟังพยานเอกสารดังกล่าวได้เพื่อประโยชน์แห่งความยุติธรรม ฉะนั้น การที่ศาลชั้นต้นรับฟังพยานเอกสารดังกล่าวจึงเป็นการชอบด้วยบทบัญญัติแห่งประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความแพ่ง มาตรา 87(2) ฎีกาของจำเลยข้อนี้ฟังไม่ขึ้น
ปัญหาที่ต้องวินิจฉัยต่อไปตามฎีกาของจำเลยข้อสุดท้ายมีว่าการที่ศาลอุทธรณ์ไม่รับวินิจฉัยอุทธรณ์ของจำเลยที่ว่าผู้ส่งสินค้าไม่แจ้งให้จำเลยทราบถึงความเสียหายที่เกิดขึ้นระหว่างการขนส่งเพื่อร่วมตรวจสอบด้วย แต่กลับส่งไปซ่อมยังต่างประเทศ ไม่เปิดโอกาสให้จำเลยบรรเทาความเสียหายเป็นการปกปิดความจริง จำเลยไม่ควรรับผิดเกินครึ่งหนึ่งของค่าเสียหายตามข้อจำกัดความรับผิดของจำเลยที่มีอยู่ต่อผู้ส่ง โดยศาลอุทธรณ์เห็นว่าเป็นข้อที่มิได้ยกขึ้นว่ากันมาในศาลชั้นต้นนั้น เป็นการไม่ชอบด้วยกฎหมายหรือไม่ โดยจำเลยฎีกาว่าจำเลยได้ให้การต่อสู้เรื่องค่าเสียหายไว้แล้วว่าโจทก์ไม่ได้เสียหายตามฟ้อง ดังนั้นการที่ไม่ได้แจ้งให้จำเลยทราบถึงความเสียหายที่เกิดในระหว่างขนส่งเพื่อให้จำเลยมีสิทธิร่วมตรวจสอบด้วย จึงเป็นส่วนหนึ่งของการต่อสู้ในเรื่องค่าเสียหาย อุทธรณ์ของโจทก์ดังกล่าวจึงเป็นข้อที่ได้ยกขึ้นว่ากันมาแล้วในศาลชั้นต้น ชอบที่ศาลอุทธรณ์จะรับวินิจฉัยให้ ศาลฎีกาได้พิเคราะห์คำให้การของจำเลยแล้วเห็นว่าจำเลยให้การต่อสู้เกี่ยวกับเรื่องค่าเสียหายไว้ในคำให้การข้อ 5ว่า “โจทก์ไม่ได้เสียหายตามฟ้องสินค้าที่จำเลยทำการขนส่งหากจะเสียหายก็ไม่ถึง 300,000 บาท ค่าขนส่งไปและกลับในการส่งสินค้าไปทำการซ่อมก็ไม่เป็นความจริง ซึ่งโจทก์ไม่ต้องเสียค่าใช้จ่ายใด ๆ ทั้งสิ้น อีกทั้งไม่ต้องเสียค่าเบี้ยประกันภัยใด ๆ ในการส่งสินค้าไปซ่อมอีกด้วยเช่นเดียวกัน” ตามคำให้การของจำเลยดังกล่าวจำเลยเพียงแต่ปฏิเสธจำนวนค่าเสียหายของโจทก์ว่ามีไม่ถึงจำนวนตามฟ้องเท่านั้น หาได้อ้างถึงการที่ผู้ส่งสินค้าไม่แจ้งให้จำเลยไปร่วมตรวจสอบ เป็นเหตุให้จำเลยไม่ต้องรับผิดหรือรับผิดน้อยลงไป ดังนั้น ข้อที่จำเลยอุทธรณ์จึงมิได้รวมอยู่ในคำให้การเรื่องค่าเสียหาย ที่ศาลอุทธรณ์ไม่รับวินิจฉัยอุทธรณ์ของจำเลยข้อนี้เพราะเป็นข้อที่มิได้ยกขึ้นว่ากันมาแล้วในศาลชั้นต้นจึงชอบแล้ว ฎีกาของจำเลยข้อนี้ฟังไม่ขึ้นเช่นเดียวกัน”
พิพากษายืน