คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 3145/2533

แหล่งที่มา : สำนักงานส่งเสริมงานตุลาการ

ย่อสั้น

หมายอายัดชั่วคราวนั้น เป็นเพียงวิธีการชั่วคราวก่อนพิพากษาเมื่อศาลชั้นต้นพิพากษาให้โจทก์ชนะคดี คำสั่งนั้นก็ยังมีผลต่อไปจนกว่าจะได้ปฏิบัติตามคำพิพากษาเท่าที่จำเป็นเพื่อบังคับตามคำพิพากษาเท่านั้น เมื่อปรากฏว่าศาลชั้นต้นได้ออกหมายอายัดชั่วคราวให้ผู้คัดค้านส่งเงินที่จำเลยซึ่งเป็นลูกหนี้ตามคำพิพากษามีสิทธิได้รับจากผู้คัดค้านต่อศาล แต่ผู้คัดค้านยังมิได้ปฏิบัติตามคำสั่งอายัดชั่วคราวโดยคดีอยู่ระหว่างอุทธรณ์คำสั่ง ต่อมาเมื่อศาลชั้นต้นได้พิพากษาให้จำเลยชำระเงินแก่โจทก์คดีถึงที่สุด และในชั้นบังคับคดีศาลชั้นต้นได้มีคำสั่งให้ผู้คัดค้านส่งเงินจำนวนเดียวกันกับที่มีคำสั่งในหมายอายัดชั่วคราว ดังนี้ย่อมถือได้ว่าคำสั่งอายัดชั่วคราวดังกล่าวเป็นอันยกเลิกไป ปัญหาว่าผู้คัดค้านต้องส่งเงินต่อศาลชั้นต้นตามหมายอายัดชั่วคราวตามที่โจทก์อุทธรณ์ต่อศาลอุทธรณ์ไว้ก่อนนั้นหรือไม่ จึงไม่เป็นประโยชน์แก่คดีอีกต่อไป การที่ศาลอุทธรณ์พิพากษายกอุทธรณ์ของผู้คัดค้านเสีย จึงชอบด้วยกฎหมาย.

ย่อยาว

คดีสืบเนื่องมาจากโจทก์ฟ้องขอให้จำเลยชำระหนี้ค่าซื้อขายสินค้าตามหนังสือรับสภาพหนี้ ระหว่างการพิจารณาของศาลชั้นต้น โจทก์ยื่นคำร้องในเหตุฉุกเฉินขอให้ศาลมีคำสั่งอายัดเงินที่จำเลยมีสิทธิได้รับจากรมทางหลวงไว้เป็นการชั่วคราวก่อนพิพากษา ศาลชั้นต้นไต่สวนแล้วมีหมายอายัดชั่วคราวถึงกรมทางหลวงผู้คัดค้านอายัดสิทธิเรียกร้องเป็นเงินของจำเลยอันมีต่อผู้คัดค้าน ซึ่งจะต้องชำระเงินจำนวน1,000,000 บาทแก่จำเลย โดยห้ามมิให้ผู้คัดค้านชำระเงินจำนวนดังกล่าวแก่จำเลยแต่ให้นำส่งมอบแก่ศาลชั้นต้นภายใน 15 วัน
กรมทางหลวงยื่นคำคัดค้านว่า ผู้คัดค้านบอกเลิกสัญญาจ้างที่ทำไว้กับจำเลยทั้งสองฉบับ เป็นเหตุให้จำเลยมีหนี้สินอันเกิดจากการผิดสัญญาที่จะต้องชำระเงินให้แก่ผู้คัดค้าน เป็นเงินค่างานล่วงหน้าค้างชำระซึ่งจำเลยจะต้องรับผิดชอบคืนให้แก่ผู้คัดค้านตามสัญญาที่ ท. 1/2530 ลงวันที่ 29 มกราคม 2530 เป็นเงินจำนวน4,393,920 บาท ตามสัญญาที่ ท. 7/2530 ลงวันที่ 22 พฤษภาคม 2530เป็นจำนวนเงิน 551,633.51 บาท และจำเลยยังจะต้องชำระค่าเสียหายอันเกิดจากการผิดสัญญาที่ตกลงกันไว้ทั้งสองฉบับอีกส่วนหนึ่งต่างหากซึ่งยังไม่รู้จำนวนแน่นอน แต่คาดว่าหนี้สินของจำเลยที่จะต้องชดใช้ให้แก่ผู้คัดค้านมีจำนวนสูงกว่าเงินค่าจ้างค้างจ่าย ผู้คัดค้านจึงไม่อาจจัดส่งเงินค่างานจำนวน 1,000,000 บาทให้แก่ศาลชั้นต้นได้
ศาลชั้นต้นไต่สวนแล้ว มีคำสั่งให้ผู้คัดค้านส่งเงินตามหมายอายัดชั่วคราวของศาลฉบับลงวันที่ 13 พฤษภาคม 2531 ต่อศาลโดยพลันภายในกำหนด 7 วัน นับจากวันที่ได้ฟังคำสั่งเป็นต้นไป
ผู้คัดค้านอุทธรณ์
คดีอยู่ระหว่างพิจารณาของศาลอุทธรณ์ โจทก์ยื่นคำร้องขอให้จำหน่ายอุทธรณ์โดยอ้างเหตุว่าคดีซึ่งโจทก์ฟ้องจำเลย ศาลชั้นต้นได้มีคำพิพากษาให้จำเลยชำระเงินให้แก่โจทก์และคดีถึงที่สุด กับโจทก์ได้ขอหมายบังคับคดีแล้ว
ศาลอุทธรณ์พิพากษายกอุทธรณ์ผู้คัดค้าน
ผู้คัดค้านฎีกา
ศาลฎีกาวินิจฉัยว่า “ข้อที่ต้องวินิจฉัยตามฎีกาผู้คัดค้านมีว่าการที่ศาลอุทธรณ์ไม่รับวินิจฉัยอุทธรณ์ของผู้คัดค้านในปัญหาว่าผู้คัดค้านจะต้องส่งเงินต่อศาลตามหมายอายัดชั่วคราวหรือไม่นั้นชอบด้วยกฎหมายหรือไม่ ปรากฏว่าก่อนศาลอุทธรณ์มีคำพิพากษาในปัญหาดังกล่าวศาลชั้นต้นพิจารณาให้จำเลยชำระเงินแก่โจทก์ คดีถึงที่สุดศาลชั้นต้นได้ออกหมายบังคับคดียึดทรัพย์สินของจำเลยเพื่อบังคับตามคำพิพากษาแล้ว คดีอยู่ระหว่างการบังคับคดี เจ้าพนักงานบังคับคดีได้มีหนังสืแจ้งการอายัดเงินที่จำเลยซึ่งเป็นลูกหนี้ตามคำพิพากษามีสิทธิได้รับจากผู้คัดค้านตามสัญญาที่ ท. 1/2530 และ ท. 7/2530เป็นจำนวน 955,000 บาท โดยให้ผู้คัดค้านส่งมอบเงินดังกล่าวต่อเจ้าพนักงานบังคับคดีภายใน 10 วัน ผู้คัดค้านโต้แย้งว่าจำเลยไม่มีสิทธิได้รับเงินจำนวนดังกล่าว ศาลชั้นต้นมีคำสั่งลงวันที่ 9มิถุนายน 2532 ให้ผู้คัดค้านปฏิบัติตามคำสั่งอายัดเงินของเจ้าพนักงานบังคับคดี โดยให้ส่งเงินภายใน 15 วันนับแต่วันฟังคำสั่งศาลฎีกาเห็นว่า คำสั่งของศาลชั้นต้นให้ผู้คัดค้านส่งเงินต่อศาลตามหมายอายัดชั่วคราวนั้น เป็นเพียงวิธีการชั่วคราวก่อนพิพากษาเมื่อศาลชั้นต้นพิพากษาให้โจทก์ชนะคดี คำสั่งนั้นก็ยังคงมีผลต่อไปจนกว่าจะได้ปฏิบัติตามคำพิพากษาเท่าที่จำเป็นเพื่อบังคับตามคำพิพากษานั้นเท่านั้น ตามประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความแพ่งมาตรา 260(2) เมื่อปรากฏว่าในชั้นบังคับคดีศาลชั้นต้นได้มีคำสั่งให้ผู้คัดค้านส่งเงินจำนวนเดียวกันกับที่มีคำสั่งในหมายอายัดชั่วคราว ย่อมถือได้ว่าคำสั่งที่ให้ผู้คัดค้านส่งเงินตามหมายอายัดชั่วคราวดังกล่าวเป็นอันยกเลิกไป ปัญหาว่าผู้คัดค้านต้องส่งเงินต่อศาลชั้นต้นตามหมายอายัดชั่วคราวหรือไม่ จึงไม่เป็นประโยชน์แก่คดีอีกต่อไป หากผู้คัดค้านเห็นว่าตนมีสิทธิที่จะไม่ส่งเงินต่อเจ้าพนักงานบังคับคดีตามคำสั่งของศาลชั้นต้นในชั้นบังคับคดีก็ชอบที่จะใช้สิทธิอุทธรณ์คำสั่งดังกล่าวต่อไป ศาลอุทธรณ์พิพากษาชอบแล้ว…”
พิพากษายืน.

Share