คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 2445/2533

แหล่งที่มา : สำนักงานส่งเสริมงานตุลาการ

ย่อสั้น

จำเลยที่ 2 ซึ่ง เป็นหุ้นส่วนผู้จัดการของห้างหุ้นส่วนจำกัดจำเลยที่ 1 ได้ ถึงแก่ความตายไปก่อนโจทก์ฟ้องจำเลยขอให้ล้มละลาย ห้างฯ จำเลยที่ 1 ซึ่ง มีผู้เป็นหุ้นส่วนอยู่สองคนคือจำเลยที่ 2 และ ว. จึงต้อง เลิกกัน เนื่องจากสภาพความเป็นหุ้นส่วนย่อมไม่มีอยู่ต่อไปอีก คงมีอยู่แต่ เฉพาะ ว. ผู้เดียวหากจะดำเนิน กิจการของห้างฯ จำเลยที่ 1 ต่อไปก็เท่ากับดำเนินการในกิจการส่วนตัวของ ว. เท่านั้น เมื่อห้างฯ จำเลยที่ 1เลิกกันก็ต้อง จัดให้มีการชำระบัญชีตาม ป.พ.พ. มาตรา 1247 ถึง1273 ว. จึงไม่มีอำนาจตั้ง ตนเองเป็นผู้แทนของจำเลยที่ 1 และแต่งทนายเข้ามาสู้ คดีแทนจำเลยที่ 1 ได้ เพราะเป็นอำนาจของผู้ชำระบัญชีตาม มาตรา 1259(1) และกรณีดังกล่าวก็ไม่ต้องด้วยป.พ.พ. มาตรา 802 เนื่องจาก ว. มิได้เป็นตัวแทนของจำเลยที่ 1 มาก่อน ว. จึงไม่มีอำนาจเข้าดำเนินคดีแทนจำเลยที่ 1เพราะเหตุฉุกเฉิน ได้ ดังนี้ ศาลชอบที่จะเพิกถอนกระบวนพิจารณาที่ผิดระเบียบนับแต่ ว. แต่งทนายเข้ามาสู้ คดีแทนจำเลยที่ 1เสียทั้งหมด.

ย่อยาว

โจทก์ฟ้องว่า จำเลยที่ 1 เป็นนิติบุคคลประเภทห้างหุ้นส่วนจำกัดโดยมีจำเลยที่ 2 เป็นหุ้นส่วนผู้จัดการ ส่วนจำเลยที่ 3 เคยเป็นหุ้นส่วนผู้จัดการของจำเลยที่ 1 ได้ออกจากการเป็นหุ้นส่วนผู้จัดการก่อนการฟ้องคดีนี้ยังไม่เกิน 2 ปี เมื่อประมาณเดือนธันวาคม 2526ถึงเดือนมีนาคม 2528 จำเลยที่ 1 ได้สั่งซื้อและรับสินค้าไปจากโจทก์หลายคราว แต่จำเลยที่ 1 ผิดนัดไม่ชำระหนี้ค่าสินค้าให้แก่โจทก์รวมทั้งดอกเบี้ยเป็นเงิน 17,234,499.53 บาท จำเลยที่ 2 ที่ 3จึงต้องร่วมรับผิดกับจำเลยที่ 1 เป็นส่วนตัวชดใช้ให้แก่โจทก์หนี้ของจำเลยทั้งสามเป็นหนี้ที่มีจำนวนแน่นอนถึงกำหนดชำระแล้วและมีจำนวนเกินกว่า 100,000 บาท จำเลยทั้งสามมีหนี้สินล้นพ้นตัวขอศาลมีคำสั่งพิทักษ์ทรัพย์จำเลยทั้งสามเด็ดขาด และมีคำพิพากษาให้จำเลยทั้งสามล้มละลายต่อไป
จำเลยที่ 1 โดยนางวราภรณ์ แซ่ซื้อ หุ้นส่วน และจำเลยที่ 3ยื่นคำให้การว่า จำนวนหนี้ตามฟ้องเป็นหนี้ที่ไม่ชอบด้วยกฎหมายและมีจำนวนยังไม่แน่นอน หนี้ตามฟ้องขาดอายุความ จำเลยยังคงประกอบธุรกิจอยู่ในสถานการค้าตามปกติ จำเลยไม่เคยแจ้งว่าไม่สามารถชำระหนี้ให้แก่โจทก์
จำเลยที่ 2 ไม่ได้ยื่นคำให้การ
ระหว่างการพิจารณาของศาลชั้นต้น ทนายจำเลยที่ 1 และที่ 3ยื่นคำร้องว่านางวราภรณ์ แซ่ซื้อ แจ้งว่าจำเลยที่ 2 ซึ่งเป็นหุ้นส่วนผู้จัดการของจำเลยที่ 1 ได้ถึงแก่กรรม นางวราภรณ์ผู้เป็นหุ้นส่วนคนหนึ่งในห้างฯ จำเลยที่ 1 จำเป็นต้องลงลายมือชื่อพร้อมประทับตราห้างฯ จำเลยที่ 1 แทนจำเลยที่ 2 เพื่อแต่งตั้งทนายความเข้าแก้ต่างในคดีนี้ ปรากฏตามใบแต่งทนาย ซึ่งได้ยื่นไว้พร้อมกับคำให้การเมื่อวันที่ 21 ตุลาคม 2530 ศาลชั้นต้นจึงสั่งจำหน่ายคดีเฉพาะจำเลยที่ 2 เสียจากสารบบความ และต่อมาในวันที่ 9 พฤษภาคม 2531ซึ่งเป็นวันนัดสืบพยานโจทก์ ทนายโจทก์และทนายจำเลยที่ 3 มาศาลทนายจำเลยที่ 3 แถลงว่า นางวราภรณ์หุ้นส่วนจำกัดความรับผิดของจำเลยที่ 1 ทราบเรื่องการดำเนินคดีนี้แล้ว แต่ยืนยันว่าจะไม่ตั้งผู้ชำระบัญชี จำเลยที่ 1 ขอให้ศาลดำเนินกระบวนพิจารณาต่อไปทนายโจทก์แถลงว่า นางวราภรณ์ไม่มีอำนาจทำการแทนจำเลยที่ 1 ได้เมื่อไม่ตั้งผู้ชำระบัญชี ก็เท่ากับดำเนินคดีไปโดยไม่มีผู้แทนจำเลยที่ 1 ศาลชั้นต้นพิเคราะห์แล้วเห็นว่า เมื่อจำเลยที่ 1ไม่ตั้งผู้ชำระบัญชีเข้ามาดำเนินคดี นางวราภรณ์ไม่มีอำนาจแต่งทนายเข้ามาดำเนินคดีแทนจำเลยที่ 1 จึงมีคำสั่งว่า จำเลยที่ 1 ขาดนัดพิจารณา ให้ดำเนินกระบวนพิจารณาสำหรับจำเลยที่ 1 ไปฝ่ายเดียวและให้เพิกถอนการดำเนินกระบวนพิจารณาในส่วนที่นางวราภรณ์แต่งทนายเข้ามาดำเนินคดีแทนจำเลยที่ 1 โดยถือว่าเป็นการดำเนินกระบวนพิจารณาผิดระเบียบเสียทั้งหมด
จำเลยที่ 1 โดยนางวราภรณ์ แซ่ซื้อ อุทธรณ์ว่า มีอำนาจดำเนินคดีแทนจำเลยที่ 1 ได้ ตามประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์ มาตรา 802ศาลอุทธรณ์พิพากษายืน
จำเลยที่ 1 โดยนางวราภรณ์ แซ่ซื้อ ฎีกา
ศาลฎีกาวินิจฉัยว่า “คดีมีประเด็นจะต้องวินิจฉัยว่า นางวราภรณ์แซ่ซื้อ มีอำนาจดำเนินคดีในฐานะผู้แทนของจำเลยที่ 1 หรือไม่ข้อเท็จจริงได้ความตามรายงานกระบวนพิจารณาลงวันที่ 17 มีนาคม 2531ว่า นายธานินทร์ วงประเสริฐ จำเลยที่ 2 ซึ่งเป็นหุ้นส่วนผู้จัดการของจำเลยที่ 1 ได้ถึงแก่กรรมไปก่อนโจทก์ฟ้องคดีนี้แล้ว ฉะนั้นห้างหุ้นส่วนจำกัด ส. เจริญยนต์ตากสิน จำเลยที่ 1 ซึ่งมีผู้เป็นหุ้นส่วนอยู่สองคนคือ จำเลยที่ 2 และนางวราภรณ์ แซ่ซื้อจึงต้องเลิกกัน เพราะสภาพความเป็นหุ้นส่วนย่อมไม่มีอยู่ต่อไปอีกคงมีอยู่แต่เฉพาะนางวราภรณ์ แซ่ซื้อ ผู้เดียว หากจะดำเนินกิจการของห้างฯ จำเลยที่ 1 อยู่ต่อไปก็เท่ากับดำเนินการในกิจการส่วนตัวของนางวราภรณ์ แซ่ซื้อ เท่านั้น เมื่อห้างฯ จำเลยที่ 1 เลิกกันต้องจัดให้มีการชำระบัญชี ตามประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์ มาตรา1247-1273 นางวราภรณ์ แซ่ซื้อ จึงไม่มีอำนาจใด ๆ จะตั้งตนเองเป็นผู้แทนของจำเลยที่ 1 และแต่งทนายเข้ามาสู้คดีแทนจำเลยที่ 1ได้เพราะเป็นอำนาจของผู้ชำระบัญชีตาม มาตรา 1259(1) การที่ศาลชั้นต้นเพิกถอนกระบวนพิจารณานับแต่นางวราภรณ์ แซ่ซื้อแต่งทนายเข้ามาสู้คดีแทนจำเลยที่ 1 เสียทั้งหมดเพราะถือว่าเป็นการดำเนินกระบวนพิจารณาที่ผิดระเบียบนั้นชอบด้วยกฎหมายแล้วส่วนที่นางวราภรณ์ แซ่ซื้อ อ้างประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์มาตรา 802 ว่าตนมีอำนาจดำเนินคดีในฐานะผู้แทนของจำเลยที่ 1 นั้นเห็นว่าการจะอ้างมาตราดังกล่าวนี้จะต้องเป็นตัวแทนของจำเลยที่ 1มาก่อนจึงจะมีอำนาจดำเนินการแทนจำเลยที่ 1 ในเหตุฉุกเฉินได้เมื่อนางวราภรณ์ แซ่ซื้อ ไม่ได้เป็นตัวแทนของจำเลยที่ 1 จะเข้าดำเนินคดีแทนจำเลยที่ 1 เพราะเหตุฉุกเฉินไม่ได้…”
พิพากษายืน.

Share