คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 34/2533

แหล่งที่มา : สำนักงานส่งเสริมงานตุลาการ

ย่อสั้น

ตาม พ.ร.บ.คุณสมบัติมาตรฐานสำหรับกรรมการและพนักงานรัฐวิสาหกิจฯ กำหนดให้พนักงานพ้นจากตำแหน่งเนื่องจากอายุ 60 ปี บริบูรณ์นั้น บทบัญญัติดังกล่าวมิใช่เป็นข้อตกลงกำหนดระยะเวลาการจ้างระหว่างโจทก์ซึ่งเป็นลูกจ้างกับจำเลยซึ่งเป็นรัฐวิสาหกิจ เพราะจำเลยหาได้ถูกผูกพันที่จะต้องจ้าง โจทก์จนกว่าจะมีอายุ 60 ปี บริบูรณ์จำเลยอาจเลิกจ้างเมื่อโจทก์ขาดคุณสมบัติอื่นที่กำหนดไว้หรือโจทก์สมัครใจลาออกจากตำแหน่งก่อน การที่โจทก์รับทราบข้อกำหนดเกี่ยวกับคุณสมบัติของพนักงานจำเลยถือไม่ได้ว่า โจทก์จำเลยได้ตกลงกำหนดระยะเวลาการจ้างไว้แน่นอน อันจะเป็นเหตุให้จำเลยไม่ต้องจ่ายค่าชดเชยเมื่อเลิกจ้าง ส่วนที่บทบัญญัติดังกล่าวบัญญัติว่าพนักงานรัฐวิสาหกิจที่มีอายุ 60 ปี บริบูรณ์ถือว่าขาดคุณสมบัติและพ้นจากตำแหน่งนั้นการกำหนดคุณสมบัติทั่ว ๆ ไปเท่านั้น กรณีจะเป็นการเลิกจ้างหรือไม่นั้น ต้องพิจารณาตามประกาศกระทรวงมหาดไทย เรื่องการคุ้มครองแรงงาน ซึ่งตามประกาศดังกล่าวได้ให้ความหมายการเลิกจ้างไว้ โดยหมายถึงการที่ นายจ้าง ให้ลูกจ้างออกจากงานไม่ว่ากรณีใด ๆ โดยลูกจ้างไม่ได้กระทำความผิด ดังนี้การที่โจทก์ต้องพ้นจากตำแหน่งเพราะมีอายุครบ 60 ปี บริบูรณ์ จึงเป็นการเลิกจ้างแล้ว ส่วนที่ประกาศกระทรวงมหาดไทยดังกล่าวมิได้บัญญัติให้การเกษียณอายุรวมอยู่ในความหมายคำว่าเลิกจ้าง ก็เนื่องจากเห็นว่าความหมายครอบคลุมถึงการที่ นายจ้าง ให้ลูกจ้างพ้นจากตำแหน่งเพราะเหตุเกษียณอายุอยู่แล้ว.

ย่อยาว

คดีทั้งสองสำนวนนี้ ศาลแรงงานกลางรวมพิจารณาพิพากษาเข้าด้วยกัน โดยเรียกโจทก์ตามลำดับสำนวนว่า โจทก์ที่ 1 และโจทก์ที่ 2
โจทก์ทั้งสองสำนวนฟ้องว่า โจทก์ทั้งสองเป็นลูกจ้างประจำของจำเลยตั้งแต่วันที่ 1 ตุลาคม 2511 และวันที่ 1 ตุลาคม 2516 ได้รับค่าจ้างอัตราสุดท้ายเดือนละ 8,960 บาท และ 14,600 บาท ตามลำดับเมื่อวันที่ 1 ตุลาคม 2532 จำเลยเลิกจ้างโจทก์ทั้งสองเพราะเหตุเกษียณอายุ โดยโจทก์ทั้งสองไม่ได้กระทำความผิดจำเลยไม่จ่ายค่าชดเชย ขอให้บังคับจำเลยจ่ายค่าชดเชยแก่โจทก์ที่ 1 จำนวน53,760 บาท และโจทก์ที่ 2 จำนวน 87,600 บาท พร้อมด้วยดอกเบี้ยตามกฎหมายในต้นเงินของโจทก์แต่ละคนนับแต่วันเลิกจ้างจนกว่าจะชำระเสร็จ
จำเลยทั้งสองสำนวนให้การว่า การที่โจทก์ทั้งสองพ้นจากตำแหน่งเพราะเหตุเกษียณอายุไม่เป็นการเลิกจ้างตามประกาศกระทรวงมหาดไทยเรื่อง การคุ้มครองแรงงาน และกรณีเป็นการจ้างที่มีกำหนดระยะเวลาไว้แน่นอน จำเลยไม่ต้องจ่ายค่าชดเชย ขอให้ยกฟ้อง
วันนัดพิจารณาโจทก์ทั้งสองและจำเลยแถลงรับกันว่า โจทก์ทั้งสองเป็นลูกจ้างประจำของจำเลยทำงานอยู่ที่โรงงานน้ำตาลสุพรรณบุรีซึ่งเป็นรัฐวิสาหกิจ จำเลยให้โจทก์ทั้งสองออกจากงานเพราะเหตุเกษียณอายุ ซึ่งเป็นไปตามพระราชบัญญัติคุณสมบัติมาตรฐานสำหรับกรรมการและพนักงานรัฐวิสาหกิจ (ฉบับที่ 3) พ.ศ. 2520ศาลแรงงานกลางเห็นว่า ตามคำฟ้อง คำให้การ และคำแถลงรับข้อเท็จจริงของคู่ความคดีพอวินิจฉัยได้ จึงให้งดสืบพยาน
ศาลแรงงานกลางวินิจฉัยว่า การที่จำเลยให้โจทก์ทั้งสองออกจากงานเพราะเหตุเกษียณอายุ เป็นการที่จำเลยไม่ยอมให้ลูกจ้างทำงานอีกต่อไป จึงเป็นการเลิกจ้างตามความหมายของประกาศกระทรวงมหาดไทยเรื่อง การคุ้มครองแรงงาน ข้อ 46 ที่พระราชบัญญัติคุณสมบัติมาตรฐานสำหรับกรรมการและพนักงานรัฐวิสาหกิจ พ.ศ. 2518 มาตรา 9, 11กำหนดให้พนักงานรัฐวิสาหกิจต้องมีอายุไม่เกิน 60 ปีบริบูรณ์ และให้พนักงานรัฐวิสาหกิจซึ่งมีอายุครบ 60 ปี บริบูรณ์ พ้นจากตำแหน่งนั้นเป็นการกำหนดคุณสมบัติของพนักงานโดยทั่ว ๆ ไป มิใช่ระยะเวลาจ้าง โจทก์ทั้งสองไม่ใช่ลูกจ้างประจำที่มีกำหนดระยะเวลาการจ้างไว้แน่นอน จำเลยต้องจ่ายค่าชดเชยพร้อมดอกเบี้ยแก่โจทก์ทั้งสอง พิพากษาให้จำเลยจ่ายค่าชดเชยแก่โจทก์ที่ 1 จำนวน53,760 บาท และโจทก์ที่ 2 จำนวน 87,600 บาท พร้อมดอกเบี้ยร้อยละเจ็ดครึ่งต่อปีจากต้นเงินของโจทก์แต่ละคนนับแต่วันที่ 1ตุลาคม 2532 จนกว่าจะชำระเสร็จ
จำเลยทั้งสองสำนวนอุทธรณ์ต่อศาลฎีกา
ศาลฎีกาแผนกคดีแรงงานวินิจฉัยว่า “ที่จำเลยขอแถลงการณ์ด้วยวาจานั้น ศาลฎีกาเห็นว่าไม่จำเป็น จึงให้งดเสีย จำเลยอุทธรณ์ข้อแรกว่า คำพิพากษาศาลแรงงานกลางเพียงแต่กล่าวถึงข้อเท็จจริงแล้วสรุปเอาโดยมิได้ให้เหตุผลว่า เหตุใดการเกษียณอายุจึงเป็นการเลิกจ้างตามกฎหมาย จึงเป็นคำพิพากษาที่ไม่ชอบด้วยพระราชบัญญัติจัดตั้งศาลแรงงานและวิธีพิจารณาคดีแรงงาน พ.ศ. 2522 มาตรา 51เห็นว่า คำพิพากษาศาลแรงงานกลางที่ได้กล่าวไว้ข้างต้นได้วินิจฉัยประเด็นแห่งคดีเรื่องเกษียณอายุเป็นการเลิกจ้างไว้อย่างละเอียดครบถ้วนด้วยเหตุผล เป็นคำพิพากษาที่ชอบด้วยบทบัญญัติของกฎหมายดังกล่าวแล้ว
จำเลยอุทธรณ์ข้อสองว่า การที่โจทก์ทั้งสองต้องพ้นจากตำแหน่งเพราะมีอายุครบ 60 ปี บริบูรณ์ เป็นกรณีสัญญาจ้างระหว่างโจทก์ทั้งสองกับจำเลยได้สิ้นสุดลงด้วยตนเองโดยข้อตกลงที่ทำกันไว้ ซึ่งโจทก์ทั้งสองได้ทราบและยอมรับกฎเกณฑ์เกี่ยวกับระยะเวลาการทำงานดังกล่าวจึงเป็นการจ้างที่มีกำหนดระยะเวลาการจ้างไว้แน่นอนนั้นเห็นว่า การที่โจทก์ทั้งสองต้องพ้นจากตำแหน่งเนื่องจากมีอายุครบ 60 ปี บริบูรณ์ก็เพราะพระราชบัญญัติคุณสมบัติมาตรฐานสำหรับกรรมการและพนักงานรัฐวิสาหกิจ พ.ศ. 2518 กำหนดไว้ ไม่ใช่ว่ามีข้อตกลงกำหนดระยะเวลาการจ้างระหว่างโจทก์ทั้งสองกับจำเลย เพราะจำเลยหาได้ถูกผูกพันที่จะต้องจ้างโจทก์ทั้งสองจนกว่าจะมีอายุครบ 60 ปี บริบูรณ์ไม่ จำเลยอาจจะเลิกจ้างโจทก์แต่ละคนเมื่อใดก็ได้ก่อนที่โจทก์แต่ละคนจะมีอายุครบ 60 ปี บริบูรณ์ หากโจทก์แต่ละคนขาดคุณสมบัติข้ออื่นตามพระราชบัญญัติดังกล่าว หรือโจทก์แต่ละคนจะสมัครใจลาออกจากตำแหน่งก่อนอายุครบ 60 ปี บริบูรณ์ ก็ย่อมทำได้ การที่โจทก์ทั้งสองทราบและยอมรับกฎเกณฑ์เกี่ยวกับข้อกำหนดระยะเวลาดังกล่าว ก็เป็นเพียงรับทราบข้อกำหนดเกี่ยวกับคุณสมบัติของพนักงานของจำเลย ถือไม่ได้ว่าโจทก์ทั้งสองกับจำเลยตกลงกำหนดระยะเวลาการจ้างไว้แน่นอน อันจะเป็นเหตุให้จำเลยไม่ต้องจ่ายค่าชดเชยเมื่อเลิกจ้าง
จำเลยอุทธรณ์ข้อสุดท้ายว่า โจทก์ทั้งสองพ้นจากตำแหน่งโดยผลของกฎหมาย คือ พระราชบัญญัติคุณสมบัติมาตรฐานสำหรับกรรมการและพนักงานรัฐวิสาหกิจ พ.ศ. 2518 มาตรา 9, 11 ที่แก้ไขแล้ว ไม่ใช่การเลิกจ้าง และการที่ประกาศกระทรวงมหาดไทย เรื่องการคุ้มครองแรงงาน (ฉบับที่ 6) ลงวันที่ 31 กรกฎาคม 2521 มิได้บัญญัติให้การเกษียณอายุรวมอยู่ในคำนิยามของคำว่าการเลิกจ้างแสดงให้เห็นว่า กฎหมายไม่ประสงค์จะให้ผู้พ้นจากตำแหน่งเพราะเกษียณอายุถือเป็นการเลิกจ้างอันจะได้รับค่าชดเชยอีกนั้น เห็นว่าการที่พระราชบัญญัติคุณสมบัติมาตรฐานสำหรับกรรมการและพนักงานรัฐวิสาหกิจ พ.ศ. 2518 ที่แก้ไขแล้ว บัญญัติว่า พนักงานรัฐวิสาหกิจที่มีอายุครบ 60 ปี บริบูรณ์ ถือว่าขาดคุณสมบัติและเป็นอันพ้นจากตำแหน่งนั้น เป็นการกำหนดคุณสมบัติโดยทั่ว ๆ ไปของพนักงาน และเป็นบทบัญญัติให้รัฐวิสาหกิจผู้เป็นนายจ้างถือปฏิบัติแนวเดียวกันเท่านั้น ส่วนจะเป็นการเลิกจ้างหรือไม่ ต้องพิจารณาตามประกาศกระทรวงมหาดไทย เรื่อง การคุ้มครองแรงงาน ซึ่งตามประกาศกระทรวงมหาดไทยดังกล่าว ข้อ 46 วรรคสอง ที่แก้ไขแล้วได้ให้ความหมายของคำว่าการเลิกจ้างไว้ว่า หมายความว่า การที่นายจ้างให้ลูกจ้างออกจากงาน ปลดออกจากงาน หรือไล่ออกจากงานโดยที่ลูกจ้างไม่ได้กระทำความผิดตามข้อ 47 ฯลฯ ซึ่งหมายถึงการที่นายจ้างให้ลูกจ้างออกจากงานไม่ว่ากรณีใด ๆ โดยลูกจ้างไม่ได้กระทำความผิดตามที่ระบุไว้ ดังนั้น การที่โจทก์ทั้งสองต้องพ้นจากตำแหน่งเพราะมีอายุครบ 60 ปี บริบูรณ์ อันหมายถึงโจทก์ทั้งสองต้องออกจากงาน โดยโจทก์ทั้งสองไม่ได้กระทำความผิดจึงเป็นการเลิกจ้างตามประกาศกระทรวงมหาดไทย เรื่อง การคุ้มครองแรงงานดังกล่าว ส่วนที่ประกาศกระทรวงมหาดไทยเรื่อง การคุ้มครองแรงงาน (ฉบับที่ 6) ลงวันที่ 31 กรกฎาคม 2521มิได้บัญญัติให้การเกษียณอายุรวมอยู่ในความหมายของคำว่า การเลิกจ้างดังประกาศกระทรวงมหาดไทย เรื่อง การคุ้มครองแรงงาน (ฉบับที่ 5)ก็เนื่องจากเห็นว่า ความหมายของคำว่า การเลิกจ้างที่ให้ไว้ครอบคลุมถึงการที่นายจ้างให้ลูกจ้างพ้นจากตำแหน่งเพราะเหตุเกษียณอายุอยู่แล้ว หาได้ทำให้เห็นว่า ประกาศกระทรวงมหาดไทย เรื่องการคุ้มครองแรงงาน (ฉบับที่ 6) ไม่ประสงค์ที่จะถือว่าการเกษียณอายุเป็นการเลิกจ้าง ที่ศาลแรงงานกลางพิพากษามานั้นชอบแล้ว อุทธรณ์ทุกข้อของจำเลยทั้งสองสำนวนฟังไม่ขึ้น”
พิพากษายืน.

Share