คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 3632/2554

แหล่งที่มา : สำนักวิชาการ

ย่อสั้น

พ.ร.บ.ลักษณะปกครองท้องที่ ฯ มาตรา 5 ข้อ 14 บัญญัติให้ผู้จัดการปกครองศาลเจ้ามีอำนาจและหน้าที่จัดการทั่วไปในกิจการเพื่อประโยชน์แก่ศาลเจ้าโดยฐานะและกาลอันสมควร และมีอำนาจหน้าที่เข้าเป็นโจทก์หรือจำเลยในอรรถคดีทั้งแพ่งและอาญาอันเกี่ยวด้วยเรื่องศาลเจ้าทุกประการ ผู้ร้องสอดจึงมีอำนาจดำเนินคดีในฐานะเป็นคู่ความตามกฎหมายได้ตามบทบังคับแห่งกฎเสนาบดีดังกล่าว แต่อย่างไรก็ตามการที่ผู้ร้องสอดยื่นคำร้องสอดว่า โจทก์ทั้งสองและผู้ถือกรรมสิทธิ์รวมยกที่ดินพิพาทให้แก่ผู้ร้องสอดแล้ว ผู้ร้องสอดเข้าครอบครองทำประโยชน์ในที่ดินพิพาทโดยสงบ เปิดเผยด้วยเจตนาเป็นเจ้าของเกินกว่า 10 ปี ที่ดินพิพาทจึงตกเป็นกรรมสิทธิ์ของผู้ร้องสอดเป็นการกล่าวอ้างข้อพิพาทด้วยกรรมสิทธิ์ คำฟ้องของโจทก์ทั้งสองที่ขอให้บังคับจำเลยและบริวารรื้อถอนสิ่งปลูกสร้างและขนย้ายทรัพย์สินออกไปจากที่ดินพิพาท ย่อมมีผลกระทบกระเทือนต่อสิทธิของผู้ร้องสอด คำร้องสอดของผู้ร้องสอดดังกล่าวจึงเป็นคำร้องสอดเข้าเป็นคู่ความเพื่อให้ได้รับความรับรอง คุ้มครองสิทธิหรือบังคับตามสิทธิของตนที่มีอยู่ตาม ป.วิ.พ. มาตรา 57 (1) แม้คำร้องสอดจะกล่าวว่าขอเข้าเป็นคู่ความร่วมก็ตาม และผู้ร้องสอดมีสิทธิเสมือนหนึ่งว่าตนถูกฟ้องเป็นคดีเรื่องใหม่ดังบัญญัติไว้ในมาตรา 58 วรรคหนึ่ง คำร้องสอดของผู้ร้องถือเป็นคำให้การตาม ป.วิ.พ. มาตรา 177 วรรคสอง ซึ่งได้แสดงโดยชัดแจ้งว่าผู้ร้องสอดปฏิเสธข้ออ้างของโจทก์ทั้งสิ้น รวมทั้งเหตุแห่งการนั้นแล้ว คำร้องสอดจึงชอบด้วยกฎหมาย
อนึ่ง การที่โจทก์ทั้งสองและผู้ถือกรรมสิทธิ์รวมแสดงเจตนายกที่ดินพิพาทอันเป็นที่ดินเอกชนเป็นเจ้าของกรรมสิทธิ์ให้แก่ผู้ร้องสอดแล้ว แต่ยังไม่ได้มีการจดทะเบียนโอนกรรมสิทธิ์ให้แก่กัน การอุทิศที่ดินของโจทก์ทั้งสองและผู้ถือกรรมสิทธิ์รวมจึงยังไม่มีผลให้ที่ดินพิพาทตกเป็นสมบัติสำหรับผู้ร้องสอดโดยสิทธิ์ขาด โจทก์ทั้งสองและผู้ถือกรรมสิทธิ์รวมยังคงเป็นเจ้าของกรรมสิทธิ์ในที่ดินพิพาท การที่โจทก์ทั้งสองและผู้ถือกรรมสิทธิ์รวมยกที่ดินพิพาทให้ผู้ร้องสอดเพื่อใช้เป็นที่ตั้งแห่งใหม่เพื่อเป็นสาธารณประโยชน์ของผู้ร้องสอด แต่ผู้ร้องสอดกลับนำที่ดินพิพาทออกให้บุคคลภายนอกและจำเลยเช่าโดยให้จำเลยปลูกสร้างโรงเรือนในที่ดินพิพาท จึงเป็นการขัดต่อเจตนาของโจทก์ทั้งสองและผู้ถือกรรมสิทธิ์รวม ทั้งจำเลยให้การกล่าวแก้ข้อพิพาทโดยอ้างสิทธิการเช่าจากผู้ร้องสอดซึ่งไม่ใช่เจ้าของกรรมสิทธิ์ จำเลยจึงไม่อาจยกสิทธิที่เกี่ยวกับสัญญาเช่าขึ้นต่อสู้โจทก์ทั้งสองผู้เป็นเจ้าของกรรมสิทธิ์อย่างแท้จริงได้ เมื่อจำเลยเข้าไปปลูกสร้างโรงเรือนในที่ดินของโจทก์ทั้งสอง จึงเป็นการละเมิดสิทธิของโจทก์ทั้งสองในฐานะเจ้าของรวมย่อมใช้สิทธิอันเกิดแต่กรรมสิทธิ์ครอบไปถึงทรัพย์สินทั้งหมดเพื่อต่อสู้บุคคลภายนอก หรือเรียกร้องเอาทรัพย์สินคืนได้ตาม ป.พ.พ. มาตรา 1359 การที่โจทก์ทั้งสองฟ้องขับไล่จำเลยจึงเป็นการใช้สิทธิสุจริตแล้ว

ย่อยาว

โจทก์ทั้งสองฟ้องขอให้ขับไล่จำเลยและบริวารออกไปจากที่ดินโฉนดเลขที่ 1579 ตำบลสองพี่น้อง อำเภอสองพี่น้อง จังหวัดสุพรรณบุรี กับให้จำเลยรื้อถอนสิ่งปลูกสร้างและขนย้ายทรัพย์สินออกไปจากที่ดินดังกล่าว หากไม่ปฏิบัติตาม ให้โจทก์ทั้งสองเป็นผู้ดำเนินการเอง โดยให้จำเลยเป็นผู้ออกค่าใช้จ่าย
จำเลยให้การ ขอให้ยกฟ้อง
ระหว่างพิจารณาศาลเจ้าโรงเจฮกเฮงตั๊วยื่นคำร้องขอเข้าเป็นจำเลยร่วมอ้างว่า ผู้ร้องสอดเป็นนิติบุคคลตามกฎหมาย โจทก์ทั้งสองและผู้ถือกรรมสิทธิ์รวมยกที่ดินพิพาทให้แก่ผู้ร้องสอดแล้ว ผู้ร้องสอดเข้าครอบครองทำประโยชน์ในที่ดินพิพาทโดยนำออกให้บุคคลภายนอกรวมทั้งจำเลยเช่า ผู้ร้องสอดครอบครองที่ดินพิพาทโดยสงบ เปิดเผยด้วยเจตนาเป็นเจ้าของเกินกว่า 10 ปี ที่ดินพิพาทจึงตกเป็นกรรมสิทธิ์ของผู้ร้องสอดแล้ว โจทก์ทั้งสองใช้สิทธิโดยไม่สุจริต ขอให้ยกฟ้อง โจทก์ทั้งสองและจำเลยไม่คัดค้าน ศาลชั้นต้นมีคำสั่งอนุญาต
ศาลชั้นต้นพิพากษาว่า จำเลยร่วมไม่เป็นนิติบุคคล จึงให้เพิกถอนคำสั่งที่อนุญาตให้เข้าเป็นจำเลยร่วมเสีย กับพิพากษาให้ขับไล่จำเลยและบริวารโดยให้รื้อถอนสิ่งปลูกสร้างและขนย้ายทรัพย์สินออกไปจากที่ดินพิพาทภายในกรอบสีแดงตามแผนที่วิวาทเอกสารหมาย จ. 1 ห้ามจำเลยและบริวารเกี่ยวข้องกับที่ดินพิพาทอีกต่อไปให้จำเลยใช้ค่าฤชาธรรมเนียมแทนโจทก์ทั้งสอง โดยกำหนดค่าทนายความ 1,000 บาท คำขออื่นนอกจากนี้ให้ยก
จำเลยและผู้ร้องสอดอุทธรณ์
ศาลอุทธรณ์ภาค 7 พิพากษากลับ อนุญาตให้ผู้ร้องสอดเข้าเป็นจำเลยร่วม และพิพากษายกฟ้อง ให้โจทก์ทั้งสองใช้ค่าฤชาธรรมเนียมทั้งสองศาลแทนจำเลยและจำเลยร่วม โดยกำหนดค่าทนายความรวม 10,000 บาท
โจทก์ทั้งสองฎีกา
ศาลฎีกาวินิจฉัยว่า “ข้อเท็จจริงรับฟังเป็นยุติว่า โจทก์ทั้งสองกับพวกรวม 10 คน เป็นเจ้าของกรรมสิทธิ์รวมในที่ดินโฉนดเลขที่ 1579 ตำบลสองพี่น้อง (บางลี่) อำเภอสองพี่น้อง จังหวัดสุพรรณบุรี เนื้อที่ 1 ไร่ 2 งาน 3 ตารางวา ตามสำเนาโฉนดที่ดินเอกสารหมาย จ. 2 โดยซื้อมาเมื่อปี 2521 มีวัตถุประสงค์เพื่อจะใช้เป็นที่ตั้งแห่งใหม่ของผู้ร้องสอดเนื่องจากที่ตั้งเดิมมีสภาพทรุดโทรมเนื้อที่น้อยและเป็นทางตัน หลังจากซื้อที่ดินพิพาทมาแล้วได้ส่งมอบการครอบครองให้ผู้ร้องสอดโดยไม่ได้จดทะเบียนโอนกรรมสิทธิ์ แต่เนื่องจากผู้ร้องสอดได้ที่ดินเพิ่มขึ้นและปลูกสร้างอาคารใหม่ในที่ตั้งแห่งเดิมจึงไม่ได้ย้ายมายังที่ดินพิพาท ชาวบ้านช่วยกันออกเงินเพื่อนำดินมาถมที่ดินพิพาทบางส่วน จากนั้นผู้ร้องสอดปลูกสร้างห้องแถวในที่ดินพิพาทบางส่วนแล้วให้บุคคลภายนอกเช่า โดยผู้ร้องสอดเป็นผู้เก็บผลประโยชน์ เมื่อปี 2544 จำเลยทำสัญญาเช่าที่ดินพิพาทกับผู้ร้องสอดเนื้อที่ 380 ตารางวา คิดค่าเช่าปีละ 28,000 บาท มีกำหนดระยะเวลาเช่า 3 ปี ตามสัญญาเช่าที่ดินเอกสารหมาย ล. 4 หลังจากทำสัญญาเช่าแล้วจำเลยได้ปลูกสร้างอาคารเพื่อทำการค้าขายวัสดุก่อสร้าง ตามภาพถ่ายหมาย ล. 10 และ ล. 11 หลังจากโจทก์ทั้งสองและผู้ถือกรรมสิทธิ์รวมยกที่ดินพิพาทให้แก่ผู้ร้องสอดแล้วไม่เคยเข้าไปยุ่งเกี่ยวกับที่ดินพิพาท คดีมีปัญหาต้องวินิจฉัยตามฎีกาของโจทก์ทั้งสองในประเด็นแรกว่า ผู้ร้องสอดมีสิทธิร้องสอดเข้าเป็นจำเลยร่วมได้หรือไม่ เห็นว่า พระราชบัญญัติลักษณะปกครองท้องที่ พ.ศ.2457 มาตรา 5 บัญญัติให้เสนาบดีผู้บัญชาการปกครองท้องที่มีอำนาจที่จะตั้งกฎข้อบังคับสำหรับจัดการให้เป็นไปตามพระราชบัญญัตินี้ ถ้าและกฎนั้นได้รับพระราชทานพระบรมราชานุญาตและประกาศในราชกิจจานุเบกษาแล้ว ก็ให้ถือว่าเป็นเหมือนส่วนหนึ่งในพระราชบัญญัตินี้ ต่อมาวันที่ 15 มีนาคม 2463 เสนาบดีกระทรวงนครบาลและเสนาบดีกระทรวงมหาดไทยได้ออกกฎเสนาบดีว่าด้วยที่กุศลสถานชนิดศาลเจ้า จึงถือว่ากฎเสนาบดีดังกล่าวเป็นส่วนหนึ่งของพระราชบัญญัติดังกล่าวมีผลใช้บังคับได้ตามกฎหมาย ซึ่งกฎเสนาบดีดังกล่าวข้อ 14 บัญญัติให้ผู้จัดการปกครองศาลเจ้ามีอำนาจและหน้าที่จัดการทั่วไปในกิจการเพื่อประโยชน์แก่ศาลเจ้าโดยฐานะและกาลอันสมควร และมีอำนาจหน้าที่เข้าเป็นโจทก์หรือจำเลยในอรรถคดีทั้งแพ่งและอาญาอันเกี่ยวด้วยเรื่องศาลเจ้าทุกประการ ผู้ร้องสอดจึงมีอำนาจดำเนินคดีในฐานะเป็นคู่ความตามกฎหมายได้ตามบทบังคับแห่งกฎเสนาบดีดังกล่าว แต่อย่างไรก็ตามศาลอุทธรณ์ภาค 7 ยังมิได้วินิจฉัยว่าคำร้องสอดดังกล่าวชอบด้วยกฎหมายหรือไม่ เห็นว่า คดีขึ้นมาสู่ศาลฎีกาแล้ว จึงเห็นควรวินิจฉัยไปเสียเลยโดยไม่จำต้องย้อนสำนวนไปให้ศาลอุทธรณ์ภาค 7 วินิจฉัยก่อน ผู้ร้องสอดยื่นคำร้องสอดว่า โจทก์ทั้งสองและผู้ถือกรรมสิทธิ์รวมยกที่ดินพิพาทให้แก่ผู้ร้องสอดแล้ว ผู้ร้องสอดเข้าครอบครองทำประโยชน์ในที่ดินพิพาทโดยสงบ เปิดเผย ด้วยเจตนาเป็นเจ้าของเกินกว่า 10 ปี ที่ดินพิพาทจึงตกเป็นกรรมสิทธิ์ของผู้ร้องสอด เป็นการกล่าวอ้างข้อพิพาทด้วยกรรมสิทธิ์ คำฟ้องของโจทก์ทั้งสองที่ขอให้บังคับจำเลยและบริวารรื้อถอนสิ่งปลูกสร้างและขนย้ายทรัพย์สินออกไปจากที่ดินพิพาทย่อมมีผลกระทบกระเทือนต่อสิทธิของผู้ร้องสอด คำร้องสอดของผู้ร้องสอดดังกล่าวจึงเป็นคำร้องสอดเข้าเป็นคู่ความเพื่อให้ได้รับความรับรอง คุ้มครองสิทธิหรือบังคับตามสิทธิของตนที่มีอยู่ตามประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความแพ่ง มาตรา 57 (1) แม้คำร้องสอดจะกล่าวว่าขอเข้าเป็นคู่ความร่วมก็ตาม และผู้ร้องสอดมีสิทธิเสมือนหนึ่งว่าตนถูกฟ้องเป็นคดีเรื่องใหม่ดังที่บัญญัติไว้ในมาตรา 58 วรรคหนึ่ง คำร้องสอดของผู้ร้องสอดถือเป็นคำให้การตามประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความแพ่ง มาตรา 177 วรคสอง ซึ่งได้แสดงโดยชัดแจ้งว่าผู้ร้องสอดปฏิเสธข้ออ้างของโจทก์ทั้งสิ้น รวมทั้งเหตุแห่งการนั้นแล้ว คำร้องสอดดังกล่าวจึงชอบด้วยกฎหมาย แต่ที่ศาลอุทธรณ์ภาค 7 อนุญาตให้ผู้ร้องสอดเข้าเป็นจำเลยร่วมนั้นไม่ถูกต้อง เห็นสมควรแก้ไขเสียใหม่โดยอนุญาตให้ผู้ร้องสอดเข้าเป็นคู่ความ ฎีกาของโจทก์ทั้งสองในข้อนี้ฟังไม่ขึ้น
ปัญหาที่ต้องวินิจฉัยประเด็นสุดท้ายมีว่า โจทก์ทั้งสองใช้สิทธิฟ้องขับไล่จำเลยโดยสุจริตหรือไม่ เห็นว่า กฎเสนาบดีว่าด้วยที่กุศลสถานชนิดศาลเจ้า ลงวันที่ 15 มีนาคม 2463 ข้อ 5 บัญญัติให้ผู้ที่ประสงค์จะอุทิศที่ดินของตนที่มีหรือยังไม่มีศาลเจ้าตั้งอยู่แล้วให้เป็นสมบัติสำหรับศาลเจ้าโดยสิทธิ์ขาด ให้ยื่นเรื่องราวแสดงเจตนาเป็นลายลักษณ์อักษรแก่นายอำเภอผู้ปกครองท้องที่ที่ที่ดินตั้งอยู่ โดยจะต้องมีชื่อและที่อยู่ของผู้ซึ่งจะอุทิศที่ดิน กับรายละเอียดของที่ดินซึ่งจะอุทิศให้ พร้อมทั้งหน้าโฉนดหรือหลักฐานสำคัญสำหรับที่ดินด้วย ข้อเท็จจริงในคดีนี้ได้ความว่า โจทก์ทั้งสองและผู้ถือกรรมสิทธิ์รวมแสดงเจตนายกที่ดินพิพาทอันเป็นที่ดินเอกชนเป็นเจ้าของกรรมสิทธิ์ให้แก่ผู้ร้องสอดแล้ว แต่ยังไม่ได้มีการจดทะเบียนโอนกรรมสิทธิ์ให้แก่กัน การอุทิศที่ดินของโจทก์ทั้งสองและผู้ถือกรรมสิทธิ์รวมจึงยังไม่มีผลให้ที่ดินพิพาทตกเป็นสมบัติสำหรับผู้ร้องสอดโดยสิทธิ์ขาด โจทก์ทั้งสองและผู้ถือกรรมสิทธิ์รวมยังคงเป็นเจ้าของกรรมสิทธิ์ในที่ดินพิพาท การที่โจทก์ทั้งสองและผู้ถือกรรมสิทธิ์รวมยกที่ดินพิพาทให้ผู้ร้องสอดเพื่อใช้เป็นที่ตั้งแห่งใหม่เพื่อเป็นสาธารณประโยชน์ของผู้ร้องสอด แต่ผู้ร้องสอดกลับนำที่ดินพิพาทออกให้บุคคลภายนอกและจำเลยเช่าโดยให้จำเลยปลูกสร้างโรงเรือนในที่ดินพิพาท จึงเป็นการขัดต่อเจตนาของโจทก์ทั้งสองและผู้ถือกรรมสิทธิ์รวม ทั้งจำเลยให้การกล่าวแก้ข้อพิพาทโดยอ้างสิทธิการเช่าจากผู้ร้องสอดซึ่งไม่ใช่เจ้าของกรรมสิทธิ์ จำเลยจึงไม่อาจยกสิทธิที่เกี่ยวกับสัญญาเช่าขึ้นต่อสู้โจทก์ทั้งสองผู้เป็นเจ้าของกรรมสิทธิ์ที่แท้จริงได้ เมื่อจำเลยเข้าไปปลูกสร้างโรงเรือนในที่ดินของโจทก์ทั้งสองจึงเป็นการละเมิดสิทธิของโจทก์ทั้งสอง โจทก์ทั้งสองในฐานะเจ้าของรวมย่อมใช้สิทธิอันเกิดแต่กรรมสิทธิ์ครอบไปถึงทรัพย์สินทั้งหมดเพื่อต่อสู้บุคคลภายนอก หรือเรียกร้องเอาทรัพย์สินคืนได้ ตามประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์ มาตรา 1359 การที่โจทก์ทั้งสองฟ้องขับไล่จำเลยจึงเป็นการใช้สิทธิโดยสุจริตแล้ว ที่ศาลอุทธรณ์ภาค 7 พิพากษามานั้น ศาลฎีกาไม่เห็นพ้องด้วย ฎีกาของโจทก์ทั้งสองในข้อนี้ฟังขึ้น”
พิพากษาแก้เป็นว่า อนุญาตให้ผู้ร้องสอดเข้าเป็นคู่ความ ค่าฤชาธรรมเนียมในส่วนของผู้ร้องสอดให้เป็นพับ และให้ขับไล่จำเลยโดยให้รื้อถอนสิ่งปลูกสร้างกับขนย้ายทรัพย์สินและบริวารออกไปจากที่ดินพิพาทภายในกรอบสีแดง ตามแผนที่วิวาทเอกสารหมาย จ. 1 ห้ามจำเลยและบริวารเกี่ยวข้องกับที่ดินพิพาทอีกต่อไป ให้จำเลยใช้ค่าฤชาธรรมเนียมทั้งสามศาลแทนโจทก์ทั้งสอง โดยกำหนดค่าทนายความรวม 20,000 บาท คำขออื่นนอกจากนี้ให้ยก

Share