แหล่งที่มา : สำนักวิชาการ
ย่อสั้น
พยานโจทก์ปากร้อยตำรวจเอก ว. และสิบตำรวจตรี ส. เป็นเจ้าพนักงานตำรวจปฏิบัติการไปตามอำนาจหน้าที่ ทั้งยังเป็นเจ้าพนักงานตำรวจเช่นเดียวกับจำเลยที่ 4 เชื่อว่าให้การไปตามความเป็นจริงที่ประสบพบมา ไม่มีเหตุให้ระแวงสงสัยว่าจะเบิกความปรักปรำให้ร้ายจำเลยที่ 4 ให้ต้องรับโทษ นอกจากนี้พยานโจทก์อีกสองปากก็เป็นพยานที่อยู่ในที่เกิดเหตุและเห็นเจ้าพนักงานตำรวจปฏิบัติหน้าที่ตรวจค้นและพบเมทแอมเฟตามีนในบ้านของจำเลยที่ 1 ซึ่งมีจำเลยที่ 4 มานอนค้างที่บ้าน อีกทั้งพยานโจทก์ทั้งสี่ยังเบิกความสอดคล้องต้องกันกับพยานเอกสารว่า ขณะที่ร้อยตำรวจเอก ว. กับสิบตำรวจตรี ส. ตะโกนเรียกบุคคลในบ้านเพื่อให้เปิดประตู ไฟยังเปิดอยู่และปิดในเวลาต่อมา แต่ก็ได้ความจากพยานโจทก์ทั้งสองปากเบิกความว่า สิบตำรวจตรี ส. สวมไฟฉายที่สามารถส่องสว่างได้ในระยะไกลกว่า 10 เมตร อยู่ที่ศีรษะ ขณะที่ปีนฝาผนังกั้นห้องเพื่อเข้าไปเปิดประตูนั้น เห็นจำเลยที่ 4 วิ่งไปที่บริเวณโอ่งน้ำ ซึ่งก็สัมพันธ์กับแผนที่สังเขปแสดงสถานที่เกิดเหตุและภาพถ่าย จึงน่าเชื่อว่าสิบตำรวจตรี ส. เห็นจำเลยที่ 4 อย่างชัดเจน นอกจากนี้ยังได้ความจากบันทึกคำให้การในชั้นสอบสวนของจำเลยที่ 1 ถึงที่ 3 ซึ่งกระทำขึ้นภายหลังเกิดเหตุเพียง 1 วันด้วยว่า เมทแอมเฟตามีนที่เจ้าพนักงานตำรวจพบเป็นของจำเลยที่ 4 ที่นำไปทิ้งในโอ่งน้ำขณะเจ้าพนักงานตำรวจเข้าตรวจค้น แต่ด้วยความรีบร้อนทำให้เมทแอมเฟตามีนบางส่วนตกหล่นที่พื้น ซึ่งแม้บันทึกคำให้การดังกล่าวจะเป็นพยานบอกเล่าและถือเป็นพยานซัดทอด ซึ่งตามกฎหมายห้ามมิให้รับฟังก็ตาม แต่ก็มิได้ต้องห้ามโดยเด็ดขาด เมื่อพิจารณาตามสภาพ ลักษณะแหล่งที่มาและข้อเท็จจริงแวดล้อมของพยานดังกล่าวนั้น ประกอบกับโจทก์มีพยานบุคคลและพยานเอกสารดังกล่าวมาเป็นพยานหลักฐานสนับสนุนทำให้พยานหลักฐานของโจทก์น่าเชื่อถือ พยานหลักฐานของโจทก์ที่นำสืบมาจึงมีน้ำหนักมั่นคงรับฟังได้โดยปราศจากข้อสงสัยว่าจำเลยที่ 4 ร่วมกันกระทำความผิดกับจำเลยที่ 1
ย่อยาว
โจทก์ฟ้องและแก้ฟ้องขอให้ลงโทษตามพระราชบัญญัติยาเสพติดให้โทษ พ.ศ.2522 มาตรา 4, 7, 8, 15, 67, 102 ประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 83 พระราชบัญญัติมาตรการในการปราบปรามผู้กระทำความผิดเกี่ยวกับยาเสพติดให้โทษ พ.ศ.2534 มาตรา 10 ริบเมทแอมเฟตามีนที่เหลือจากการตรวจพิสูจน์ของกลาง ลงโทษจำเลยที่ 4 เป็นสามเท่าของโทษที่กำหนดไว้สำหรับความผิด บวกโทษจำเลยที่ 1 ที่รอไว้ในคดีอาญาหมายเลขแดงที่ 4696/2543 ของศาลชั้นต้น บวกโทษจำเลยที่ 2 ที่รอไว้ในคดีอาญาหมายเลขแดงที่ 2911/2542 ของศาลชั้นต้นเข้าโทษในคดีนี้และนับโทษจำเลยที่ 1 ที่ 2 และที่ 3 ต่อมาจากโทษจำคุกในคดีอาญาหมายเลขแดงที่ 4039/2544, 4040/2544 และ 4038/2544 ของศาลชั้นต้นตามลำดับ
จำเลยที่ 1 ให้การรับว่ามีเมทแอมเฟตามีน จำนวน 40 เม็ด ไว้ในครอบครอง ส่วนจำเลยที่ 2 ที่ 3 และที่ 4 ให้การปฏิเสธ แต่จำเลยที่ 1 ที่ 2 และที่ 3 รับว่าเป็นบุคคลคนเดียวกับจำเลยในคดีที่โจทก์ขอให้บวกโทษและนับโทษต่อ
ศาลชั้นต้นพิพากษาว่า จำเลยที่ 1 และที่ 4 มีความผิดตามพระราชบัญญัติยาเสพติดให้โทษ พ.ศ.2522 มาตรา 15 วรรคหนึ่ง 67 (ที่ถูก มาตรา 15 วรรคหนึ่ง (เดิม) 67 (ที่แก้ไขใหม่) ประกอบประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 83 ให้ลงโทษจำคุกคนละ 7 ปี จำเลยที่ 1 ให้การรับสารภาพเป็นประโยชน์แก่การพิจารณา มีเหตุบรรเทาโทษ ลดโทษตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 78 ให้กึ่งหนึ่ง คงจำคุกจำเลยที่ 1 มีกำหนด 3 ปี 6 เดือน เนื่องจากศาลได้นำโทษจำคุกที่รอการลงโทษจำเลยที่ 1 ไว้ในคดีอาญาหมายเลขแดงที่ 4696/2543 บวกเข้ากับโทษของจำเลยที่ 1 ในคดีอาญาหมายเลขแดงที่ 4039/2544 ของศาลชั้นต้นแล้ว จึงไม่อาจบวกโทษตามคำขอของโจทก์ให้อีกได้ ให้นับโทษจำคุกจำเลยที่ 1 ต่อจากโทษในคดีอาญาหมายเลขแดงที่ 4039/2544 ของศาลชั้นต้น ริบเมทแอมเฟตามีนของกลางที่เหลือจากการตรวจพิสูจน์ ให้ยกฟ้องจำเลยที่ 2 และที่ 3 คำขออื่นนอกจากนี้ให้ยก
โจทก์และจำเลยที่ 4 อุทธรณ์
ศาลอุทธรณ์ภาค 6 พิพากษายืน
จำเลยที่ 4 ฎีกา
ศาลฎีกาวินิจฉัยว่า “…ข้อเท็จจริงที่คู่ความมิได้โต้เถียงกันฟังได้ว่า ตามวันเวลาและสถานที่เกิดเหตุในฟ้อง เจ้าพนักงานตำรวจไปตรวจค้นบ้านเกิดเหตุและจับกุมจำเลยทั้งสี่ได้พร้อมยึดเมทแอมเฟตามีน จำนวน 153 เม็ด เป็นของกลาง นอกจากนี้ข้อเท็จจริงยังรับฟังได้เป็นยุติตามที่ศาลอุทธรณ์ภาค 6 วินิจฉัยว่า จำเลยที่ 1 กระทำความผิดฐานร่วมกันมีเมทแอมเฟตามีนไว้ในครอบครองโดยไม่ได้รับอนุญาต คดีคงมีปัญหาที่ต้องวินิจฉัยตามฎีกาของจำเลยที่ 4 แต่เพียงว่า จำเลยที่ 4 ร่วมกันกระทำความผิดกับจำเลยที่ 1 หรือไม่ โจทก์มีร้อยตำรวจเอกวิชัย และสิบตำรวจตรีสมภพ เจ้าพนักงานตำรวจผู้ร่วมจับกุมจำเลยทั้งสี่เป็นพยานโจทก์เบิกความในทำนองเดียวกันได้ความว่า หลังจากที่ร้อยตำรวจเอกวิชัยได้รับหมายค้นจากศาลแล้ว เดินทางกันไปที่บ้านของจำเลยที่ 1 ซึ่งเป็นบ้านเกิดเหตุ ขณะไปถึงไฟยังเปิดอยู่เมื่อพยานทั้งสองตะโกนเรียก ไฟก็ดับลงและไม่มีใครยอมเปิดประตู สิบตำรวจตรีสมภพสวมไฟฉายที่ศีรษะแล้วปีนผนังกั้นห้อง เพื่อเปิดประตู ขณะที่ปีนขึ้นไปเห็นจำเลยที่ 4 วิ่งผ่านไปยังบริเวณโอ่งน้ำตรงจุดหมายเลข 9 ตามแผนที่สังเขปแสดงสถานที่เกิดเหตุเอกสารหมาย จ.2 เมื่อเปิดประตูออก พวกของพยานก็เข้ามาสมทบ เมื่อเปิดไฟในบ้านเห็นจำเลยทั้งสี่อยู่ในบ้าน พยานทั้งสองกับพวกจึงแสดงหมายค้น จำเลยที่ 1 รับว่าเป็นเจ้าของบ้าน ผลการตรวจค้นพบเมทแอมเฟตามีนจำนวนหนึ่งอยู่ในโอ่งน้ำในลักษณะถูกเททิ้งลักษณะตามภาพถ่ายหมาย จ.4 จึงนำออกมาตรวจสอบและถ่ายรูปไว้ตามภาพถ่ายหมาย จ.5 นอกจากนี้ยังพบเมทแอมเฟตามีนอีกจำนวนหนึ่งตกอยู่ที่ข้างโอ่งน้ำรวมจำนวน 145 เม็ด และยังพบเมทแอมเฟตามีน จำนวน 8 เม็ด ตกอยู่ที่พื้นใกล้กับบริเวณที่จำเลยที่ 1 และที่ 4 หมอบอยู่ตามภาพถ่ายหมาย จ.7 ชั้นจับกุมจำเลยทั้งสี่ให้การปฏิเสธ แต่จำเลยที่ 1 ถึงที่ 3 ให้การว่าเมทแอมเฟตามีนดังกล่าวเป็นของจำเลยที่ 4 ตามบันทึกการจับกุมเอกสารหมาย จ.8 และมีนางสาวพัชรินทร์ และนางสาวสุรินทร์ เป็นพยานโจทก์เบิกความสนับสนุนด้วยว่า จำเลยที่ 4 มานอนค้างที่บ้านของจำเลยที่ 1 ซึ่งในคืนวันเกิดเหตุพยานทั้งสองอยู่ในห้องนอนที่บ้านเกิดเหตุ ได้ยินเสียงเคาะประตูห้องนอนจึงเปิดประตูออกเห็นเจ้าพนักงานตำรวจนั่งเก็บเมทแอมเฟตามีนอยู่บริเวณโอ่งน้ำตั้งอยู่บนบ้านข้างประตูทางเข้า และเห็นเมทแอมเฟตามีนตกอยู่เกลื่อนพื้นบริเวณโอ่งน้ำ เห็นว่า พยานโจทก์ปากร้อยตำรวจเอกวิชัย และสิบตำรวจตรีสมภพเป็นเจ้าพนักงานตำรวจปฏิบัติการไปตามอำนาจหน้าที่ ทั้งยังเป็นเจ้าพนักงานตำรวจเช่นเดียวกับจำเลยที่ 4 เชื่อว่าให้การไปตามความเป็นจริงที่ประสบพบมา ไม่มีเหตุให้ระแวงสงสัยว่าจะเบิกความปรักปรำให้ร้ายจำเลยที่ 4 ให้ต้องรับโทษ นอกจากนี้พยานโจทก์อีกสองปากก็เป็นพยานที่อยู่ในที่เกิดเหตุและเห็นเจ้าพนักงานตำรวจปฏิบัติหน้าที่ตรวจค้นและพบเมทแอมเฟตามีนในบ้านของจำเลยที่ 1 ซึ่งมีจำเลยที่ 4 มานอนค้างที่บ้าน อีกทั้งพยานโจทก์ทั้งสี่ยังเบิกความสอดคล้องต้องกันกับพยานเอกสาร แม้ขณะที่ร้อยตำรวจเอกวิชัยกับสิบตำรวจตรีสมภพตะโกนเรียกบุคคลในบ้านเพื่อให้เปิดประตู ไฟยังเปิดอยู่และปิดในเวลาต่อมาก็ตาม แต่ก็ได้ความจากพยานโจทก์ทั้งสองปากดังกล่าวเบิกความว่า สิบตำรวจตรีสมภพสวมไฟฉายที่สามารถส่องสว่างได้ในระยะไกลกว่า 10 เมตร อยู่ที่ศีรษะ ขณะที่ปีนฝาผนังกั้นห้องนั้นเพื่อเข้าไปเปิดประตู เห็นจำเลยที่ 4 วิ่งไปที่บริเวณโอ่งน้ำ ซึ่งก็สัมพันธ์กับแผนที่สังเขปแสดงสถานที่เกิดเหตุเอกสารหมาย จ.2 และภาพถ่ายหมาย จ.4 จ.5 จ.6 และ จ.7 จึงน่าเชื่อว่า สิบตำรวจตรีสมภพเห็นจำเลยที่ 4 อย่างชัดเจน นอกจากนี้ยังได้ความจากบันทึกคำให้การในชั้นสอบสวนของจำเลยที่ 1 ถึงที่ 3 ซึ่งกระทำขึ้นภายหลังเกิดเหตุเพียง 1 วันด้วยว่า เมทแอมเฟตามีนที่เจ้าพนักงานตำรวจตรวจพบเป็นของจำเลยที่ 4 ที่นำไปทิ้งในโอ่งน้ำขณะเจ้าพนักงานตำรวจเข้าตรวจค้น แต่ด้วยความรีบร้อนทำให้เมทแอมเฟตามีนบางส่วนตกหล่นที่พื้น ซึ่งแม้บันทึกคำให้การดังกล่าวจะเป็นพยานบอกเล่า และถือเป็นพยานซัดทอด ซึ่งตามกฎหมายห้ามมิให้รับฟังก็ตาม แต่ก็มิได้ต้องห้ามโดยเด็ดขาด เมื่อพิจารณาตามสภาพ ลักษณะ แหล่งที่มาและข้อเท็จจริงแวดล้อมของพยานดังกล่าวนั้น ประกอบกับโจทก์มีพยานบุคคลและพยานเอกสารดังกล่าวมาเป็นพยานหลักฐานสนับสนุนทำให้พยานหลักฐานของโจทก์น่าเชื่อถือ พยานหลักฐานของโจทก์ที่นำสืบมาจึงมีน้ำหนักมั่นคงรับฟังได้โดยปราศจากข้อสงสัยว่า จำเลยที่ 4 ร่วมกันกระทำความผิดกับจำเลยที่ 1 ที่ศาลล่างทั้งสองพิพากษามานั้น ศาลฎีกาเห็นพ้องด้วย ฎีกาของจำเลยที่ 4 ฟังไม่ขึ้น”
พิพากษายืน