คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 3937/2554

แหล่งที่มา : สำนักวิชาการ

ย่อสั้น

โจทก์มิได้นำสืบถึงรายการการใช้โทรศัพท์ระหว่างสายลับกับโทรศัพท์เคลื่อนที่ของกลาง ข้อเท็จจริงยังรับฟังไม่ได้ว่าโทรศัพท์เคลื่อนที่ของกลางเป็นเครื่องมือเครื่องใช้ ยานพาหนะหรือวัตถุอื่นใดซึ่งจำเลยได้ใช้ในการกระทำความผิดฐานมีเฮโรอีนไว้ในครอบครองเพื่อจำหน่ายตามที่โจทก์ฟ้องโดยตรง และไม่ใช่ทรัพย์สินที่จำเลยได้ใช้หรือมีไว้เพื่อใช้ในการกระทำความผิดหรือได้มาโดยได้กระทำความผิดซึ่งหมายถึงความผิดตามฐานที่โจทก์ฟ้องเท่านั้น จึงไม่อาจริบโทรศัพท์เคลื่อนที่ของกลางตาม พ.ร.บ.ยาเสพติดให้โทษ ฯ มาตรา 102 และ ป.อ. มาตรา 33 ทั้งโทรศัพท์เคลื่อนที่ดังกล่าวไม่ใช่ทรัพย์สินที่ผู้ใดทำหรือมีไว้เป็นความผิดอันจะต้องริบเสียทั้งสิ้นตาม ป.อ. มาตรา 32 และปัญหาดังกล่าวเป็นข้อกฎหมายที่เกี่ยวกับความสงบเรียบร้อย ศาลฎีกามีอำนาจยกขึ้นวินิจฉัยได้เองตาม ป.วิ.อ. มาตรา 195 วรรคสอง ประกอบมาตรา 225

ย่อยาว

โจทก์ฟ้องขอให้ลงโทษตามพระราชบัญญัติยาเสพติดให้โทษ พ.ศ.2522 มาตรา 4, 7, 8, 15, 66, 67, 102 ประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 32, 33 ริบของกลาง
จำเลยให้การปฏิเสธ
ศาลชั้นต้นพิพากษาว่า จำเลยมีความผิดตามพระราชบัญญัติยาเสพติดให้โทษ พ.ศ.2522 มาตรา 15 วรรคหนึ่ง, 67 จำคุก 2 ปี และปรับ 60,000 บาท จำเลยให้การรับสารภาพชั้นจับกุมและชั้นสอบสวน เป็นประโยชน์แก่การพิจารณา มีเหตุบรรเทาโทษ ลดโทษให้หนึ่งในสามตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 78 คงจำคุก 1 ปี 4 เดือน และปรับ 40,000 บาท โทษจำคุกให้รอการลงโทษไว้มีกำหนด 3 ปี ให้จำเลยไปรายงานตัวต่อพนักงานคุมประพฤติทุก 3 เดือนต่อครั้ง ภายใน 1 ปี ห้ามจำเลยเกี่ยวข้องกับยาเสพติดให้โทษทุกชนิดกับให้ทำกิจกรรมบริการสังคมหรือสาธารณประโยชน์ตามที่จำเลยและพนักงานคุมประพฤติเห็นสมควรมีกำหนด 30 ชั่วโมง หากจำเลยไม่ชำระค่าปรับให้จัดการตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 29, 30 ริบของกลางข้อหาอื่นให้ยก
โจทก์อุทธรณ์
ศาลอุทธรณ์ภาค 2 พิพากษาแก้เป็นว่า จำเลยมีความผิดตามพระราชบัญญัติยาเสพติดให้โทษ พ.ศ.2522 มาตรา 15 วรรคหนึ่ง, 66 วรรคหนึ่ง จำคุก 4 ปี คำให้การรับสารภาพชั้นจับกุมและสอบสวนของจำเลยเป็นประโยชน์แก่การพิจารณา มีเหตุบรรเทาโทษ ลดโทษให้หนึ่งในสามตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 78 คงจำคุก 2 ปี 8 เดือน นอกจากที่แก้ให้เป็นไปตามคำพิพากษาศาลชั้นต้น
จำเลยฎีกา
ศาลฎีกาวินิจฉัยว่า “ฎีกาของจำเลยที่ว่า โจทก์มิได้นำสายลับมาเบิกความ ไม่มีการเตรียมธนบัตรล่อซื้อ และไม่มีหลักฐานยืนยันการติดต่อทางโทรศัพท์ระหว่างจำเลยกับสายลับ ทั้งเฮโรอีนของกลางมีน้ำหนักไม่ถึง 3 กรัม นั้น เห็นว่า เป็นฎีกาที่เมื่อพิจารณาฎีกาทั้งฉบับแล้วกรณีไม่มีเหตุที่จะเปลี่ยนแปลงผลตามคำวินิจฉัยของศาลอุทธรณ์ภาค 2 ฎีกาของจำเลยจึงไม่เป็นสาระอันควรแก่การพิจารณา ศาลฎีกาไม่รับคดีไว้พิจารณาพิพากษา ตามรัฐธรรมนูญแห่งราชอาณาจักรไทย พุทธศักราช 2550 มาตรา 219 วรรคสอง และพระธรรมนูญศาลยุติธรรม มาตรา 23 วรรคหนึ่ง
อนึ่ง คดีนี้โจทก์ขอให้ศาลสั่งริบโทรศัพท์เคลื่อนที่ของกลางโดยอ้างว่าจำเลยใช้ในการติดต่อซื้อขายเฮโรอีน แต่โจทก์ฟ้องขอให้ลงโทษจำเลยในความผิดฐานมีเฮโรอีนไว้ในครอบครองเพื่อจำหน่าย เมื่อพยานหลักฐานที่โจทก์นำสืบได้ความเพียงว่าจำเลยที่ 1 ถูกจับขณะจะมาส่งมอบเฮโรอีน และเจ้าพนักงานตำรวจค้นพบเฮโรอีนของกลางในกระเป๋ากางเกงข้างขวาของจำเลย และพบโทรศัพท์เคลื่อนที่ของกลางอยู่ในมือจำเลยโดยที่โจทก์มิได้นำสืบถึงรายการการใช้โทรศัพท์ระหว่างโทรศัพท์ของสายลับกับโทรศัพท์เคลื่อนที่ของกลาง ดังนั้น ข้อเท็จจริงจึงยังรับฟังไม่ได้ว่าโทรศัพท์เคลื่อนที่ของกลางเป็นเครื่องมือ เครื่องใช้ ยานพาหนะหรือวัตถุอื่นใดซึ่งจำเลยได้ใช้ในการกระทำความผิดฐานมีเฮโรอีนไว้ในครอบครองเพื่อจำหน่ายตามที่โจทก์ฟ้องโดยตรง และไม่ใช่ทรัพย์สินที่จำเลยได้ใช้หรือมีไว้เพื่อใช้ในการกระทำความผิด หรือได้มาโดยได้กระทำความผิดซึ่งหมายถึงความผิดตามฐานที่โจทก์ฟ้องเท่านั้น จึงไม่อาจริบโทรศัพท์เคลื่อนที่ของกลางตามพระราชบัญญัติยาเสพติดให้โทษ พ.ศ.2522 มาตรา 102 และประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 33 ทั้งโทรศัพท์เคลื่อนที่ดังกล่าวไม่ใช่ทรัพย์สินที่ผู้ใดทำหรือมีไว้เป็นความผิด อันจะต้องริบเสียทั้งสิ้นตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 32 ที่ศาลล่างทั้งสองมีคำพิพากษาให้ริบโทรศัพท์เคลื่อนที่ของกลางด้วยนั้น ศาลฎีกาไม่เห็นพ้องด้วย และปัญหาดังกล่าวเป็นข้อกฎหมายที่เกี่ยวกับความสงบเรียบร้อย ศาลฎีกามีอำนาจยกขึ้นวินิจฉัยได้เองตามประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความอาญา มาตรา 195 วรรคสอง ประกอบด้วยมาตรา 225
พิพากษาแก้เป็นว่า ให้คืนโทรศัพท์เคลื่อนที่ของกลางแก่เจ้าของ นอกจากที่แก้ให้เป็นไปตามคำพิพากษาศาลอุทธรณ์ภาค 2

Share