คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 6997/2561

แหล่งที่มา : กองผู้ช่วยผู้พิพากษาศาลฎีกา

ย่อสั้น

คณะกรรมการตุลาการศาลปกครองมีอำนาจสั่งพักราชการโจทก์ได้ แม้คณะกรรมการสอบสวนทางวินัยยังไม่ได้เสนอความเห็นต่อคณะกรรมการตุลาการศาลปกครองว่าสมควรจะสั่งพักราชการโจทก์ เพื่อมิให้ปฏิบัติหน้าที่ราชการต่อไปอันจะเป็นการเสียหายแก่ราชการหรือไม่

ย่อยาว

โจทก์ฟ้องขอให้ลงโทษจำเลยทั้งหกตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 83, 90, 91 และ 157
ศาลชั้นต้นพิพากษายกฟ้อง
โจทก์อุทธรณ์ ศาลชั้นต้นมีคำสั่งไม่รับอุทธรณ์ โจทก์ยื่นคำร้องอุทธรณ์คำสั่งไม่รับอุทธรณ์ ระหว่างนัดฟังคำสั่งศาลอุทธรณ์โจทก์ถึงแก่ความตาย นางสาวณัฐรินทร์ บุตรโจทก์ยื่นคำร้องขอเข้าดำเนินคดีต่างผู้ตาย ศาลชั้นต้นอนุญาต ต่อมาศาลอุทธรณ์มีคำสั่งให้รับอุทธรณ์โจทก์ไว้พิจารณา
ศาลอุทธรณ์แผนกคดีทุจริตและประพฤติมิชอบพิพากษายืน
โจทก์ฎีกา โดยผู้พิพากษาซึ่งพิจารณาและลงชื่อในคำพิพากษา ศาลอุทธรณ์อนุญาตให้ฎีกา
ศาลฎีกาวินิจฉัยว่า ข้อเท็จจริงเบื้องต้นรับฟังเป็นยุติโดยโจทก์มิได้ฎีกาโต้แย้งเป็นอย่างอื่นว่า ขณะเกิดเหตุโจทก์ดำรงตำแหน่งประธานศาลปกครองสูงสุดและประธานคณะกรรมการตุลาการศาลปกครอง (ก.ศป.) จำเลยทั้งหกเป็นข้าราชการตุลาการศาลปกครองและได้รับเลือกจากตุลาการในศาลปกครองสูงสุดและตุลาการในศาลปกครองชั้นต้นให้ดำรงตำแหน่งคณะกรรมการตุลาการศาลปกครอง จำเลยทั้งหกจึงเป็นเจ้าพนักงานตามกฎหมาย คณะกรรมการตุลาการศาลปกครองแต่งตั้งคณะกรรมการสอบสวนเพื่อสอบสวนโจทก์ซึ่งถูกกล่าวหาในกรณีที่มีข่าวปรากฏผ่านทางสื่อสารมวลชนว่า โจทก์มีความประสงค์ที่จะสนับสนุนพันตำรวจโท ชูธเรศ รองผู้กำกับการป้องกันปราบปรามสถานีตำรวจนครบาลหัวหมาก ให้ได้รับแต่งตั้งเป็นผู้กำกับการและมอบหมายให้นายดิเรกฤทธิ์ เลขาธิการสำนักงานศาลปกครอง แจ้งความประสงค์ดังกล่าวต่อรองผู้บัญชาการตำรวจแห่งชาติและผู้บัญชาการตำรวจแห่งชาติ ตามข้อ 3 ของระเบียบ ก.ศป. ว่าด้วยวิธีการสอบสวนและสิทธิของตุลาการศาลปกครอง ซึ่งถูกกล่าวหาว่ามีเหตุให้ต้องพ้นจากตำแหน่ง พ.ศ.2544 โดยมีจำเลยที่ 1 เป็นประธานคณะกรรมการสอบสวน ในระหว่างที่คณะกรรมการสอบสวนยังไม่ได้เริ่มการสอบสวน ในวันเวลาและสถานที่เกิดเหตุตามฟ้องโจทก์ จำเลยทั้งหกร่วมกันมีมติพักราชการโจทก์ ในวาระที่ 4.14 รายงานผลการสอบข้อเท็จจริงกรณีที่ปรากฏเป็นข่าวทางสื่อมวลชนเกี่ยวกับเลขาธิการสำนักงานศาลปกครองและประธานศาลปกครองสูงสุด กรณีการแต่งตั้งข้าราชการตำรวจ (การสั่งพักราชการตุลาการศาลปกครองผู้ถูกกล่าวหากรณีที่ปรากฏเป็นข่าวทางสื่อมวลชนเกี่ยวกับเลขาธิการสำนักงานศาลปกครองและประธานศาลปกครองสูงสุด กรณีการแต่งตั้งข้าราชการตำรวจ) โดยมีมติว่า “1. สั่งพักราชการนายหัสวุฒิ ประธานศาลปกครองสูงสุด ตุลาการศาลปกครองผู้ถูกกล่าวหา กรณีที่ปรากฏเป็นข่าวทางสื่อมวลชนเกี่ยวกับเลขาธิการสำนักงานศาลปกครองและประธานศาลปกครองสูงสุด กรณีการแต่งตั้งข้าราชการตำรวจ ตามมาตรา 24 วรรคสาม แห่งพระราชบัญญัติจัดตั้งศาลปกครองและวิธีพิจารณาคดีปกครอง พ.ศ.2542 ตั้งแต่บัดนี้เป็นต้นไปจนกว่า ก.ศป. จะพิจารณากรณีที่นายหัสวุฒิ ผู้ถูกกล่าวหาแล้วเสร็จ” โดยคณะกรรมการสอบสวนยังไม่เคยเสนอความเห็นเรื่องพักราชการโจทก์ต่อคณะกรรมการตุลาการศาลปกครอง ตามข้อ 12 ของระเบียบ ก.ศป. ว่าด้วยวิธีการสอบสวนและสิทธิของตุลาการศาลปกครองซึ่งถูกกล่าวหาว่ามีเหตุให้ต้องพ้นจากตำแหน่ง พ.ศ.2544
คดีมีปัญหาต้องวินิจฉัยประการแรกตามฎีกาของโจทก์ว่า หากคณะกรรมการสอบสวนทางวินัยยังไม่ได้เสนอความเห็นต่อคณะกรรมการตุลาการศาลปกครองว่า สมควรจะสั่งพักราชการโจทก์เพื่อมิให้ปฏิบัติหน้าที่ราชการต่อไปอันจะเป็นการเสียหายแก่ราชการ คณะกรรมการตุลาการศาลปกครองมีอำนาจสั่งพักราชการโจทก์หรือไม่ เห็นว่า มาตรา 24 วรรคสาม แห่งพระราชบัญญัติจัดตั้งศาลปกครองและวิธีพิจารณาคดีปกครอง พ.ศ.2542 บัญญัติว่า “ในระหว่างการสอบสวนหรือ…ถ้า ก.ศป. เห็นว่าการให้ผู้ถูกสอบสวนหรือพิจารณาปฏิบัติหน้าที่ต่อไปจะเป็นการเสียหายแก่ราชการจะมีมติให้พักราชการก็ได้” บทบัญญัติดังกล่าวให้อำนาจแก่ ก.ศป. ที่จะใช้ดุลพินิจสั่งพักราชการโจทก์ผู้ถูกกล่าวหาว่ากระทำผิดวินัยได้ หาก ก.ศป. เห็นว่าการให้โจทก์ปฏิบัติหน้าที่ต่อไปจะเป็นการเสียหายแก่ราชการ ส่วนข้อเท็จจริงที่จะทำให้ ก.ศป. เห็นว่าการให้โจทก์ปฏิบัติหน้าที่ต่อไปจะเป็นการเสียหายแก่ราชการหรือไม่ อาจเป็นข้อเท็จจริงที่ ก.ศป. เห็นเองหรือได้จากความเห็นของคณะกรรมการสอบสวนทางวินัย ตามข้อ 12 ของระเบียบ ก.ศป. ว่าด้วยวิธีการสอบสวนและสิทธิของตุลาการศาลปกครองซึ่งถูกกล่าวหาว่ามีเหตุให้ต้องพ้นจากตำแหน่ง พ.ศ.2544 ซึ่งเป็นระเบียบปฏิบัติในการดำเนินการสอบสวน โดยระเบียบนี้ออกโดยอาศัยอำนาจแห่งพระราชบัญญัติจัดตั้งศาลปกครองและวิธีพิจารณาคดีปกครอง พ.ศ.2542 มาตรา 24 วรรคห้า ซึ่งเป็นกฎหมายแม่บท เมื่อกฎหมายแม่บทให้อำนาจ ก.ศป. ที่จะใช้ดุลพินิจสั่งพักราชการผู้ถูกสอบสวนได้โดยไม่มีเงื่อนไขใด ๆ หรือกำหนดให้ต้องฟังความเห็นจากคณะกรรมการสอบสวนก่อน จึงไม่อาจนำวิธีการปฏิบัติตามระเบียบดังกล่าวมาตัดอำนาจของ ก.ศป. ประกอบกับจำเลยที่ 1 ซึ่งเป็นประธานกรรมการสอบสวนก็เป็นกรรมการตุลาการศาลปกครอง (ก.ศป.) อยู่ในขณะนั้นด้วย ยิ่งทำให้เห็นได้ว่า ข้อเท็จจริงเกี่ยวกับการปฏิบัติหน้าที่ของโจทก์จะเป็นที่เสียหายแก่ราชการหรือไม่ ย่อมเข้าสู่ที่ประชุม ก.ศป. โดยผ่านทางจำเลยที่ 1 นอกจากนี้ระเบียบ ก.ศป. ว่าด้วยวิธีการสอบสวนและสิทธิของตุลาการศาลปกครองซึ่งถูกกล่าวหาว่ามีเหตุให้ต้องพ้นจากตำแหน่ง พ.ศ.2544 ข้อ 25 กำหนดว่า “การสอบสวนในขั้นตอนใดหากกระทำไม่ถูกต้องตามวิธีการที่กำหนดไว้ในระเบียบนี้ ไม่ทำให้การสอบสวนทั้งหมดเสียไป ทั้งนี้ หากการสอบสวนในขั้นตอนใดมิใช่สาระสำคัญอันจะทำให้เสียความเป็นธรรม ก.ศป. จะสั่งให้แก้ไขหรือดำเนินการในส่วนของขั้นตอนนั้นให้ถูกต้องหรือไม่ก็ได้ แต่หากการสอบสวนในขั้นตอนใดเป็นสาระสำคัญอันจะทำให้เสียความเป็นธรรม ให้ ก.ศป. สั่งให้คณะกรรมการสอบสวนแก้ไขหรือดำเนินการสอบสวนขั้นตอนนั้นให้ถูกต้องโดยเร็ว” และข้อ 27 กำหนดว่า “ให้ ก.ศป. มีอำนาจวินิจฉัยชี้ขาดปัญหาเกี่ยวกับการปฏิบัติตามระเบียบนี้” จากข้อกำหนดทั้งสองข้อดังกล่าว ยิ่งทำให้เห็นว่าแม้ระเบียบดังกล่าวออกโดยความเห็นชอบของที่ประชุมใหญ่ตุลาการในศาปกครองสูงสุดก็ตาม แต่ ก.ศป. ก็ยังคงมีอำนาจที่จะสั่งแก้ไขหรือไม่แก้ไขกระบวนการสอบสวนทางวินัยที่ไม่ถูกต้องตามระเบียบหากเรื่องที่ผิดระเบียบไม่ใช่สาระสำคัญ เว้นแต่ขั้นตอนที่ไม่ถูกต้องนั้นเป็นสาระสำคัญอันจะทำให้เสียความเป็นธรรม ก็ให้ ก.ศป. สั่งให้คณะกรรมการสอบสวนแก้ไขหรือดำเนินการสอบสวนขั้นตอนนั้นให้ถูกต้องโดยเร็ว และเมื่อมีปัญหาเกี่ยวกับการปฏิบัติตามระเบียบนี้ ก.ศป. ก็เป็นผู้มีอำนาจวินิจฉัยชี้ขาด ดังนี้ ย่อมเป็นการยืนยันถึงอำนาจของ ก.ศป. ตามที่พระราชบัญญัติจัดตั้งศาลปกครองและวิธีพิจารณาคดีปกครอง พ.ศ.2542 บัญญัติไว้ ด้วยเหตุดังวินิจฉัยข้างต้น คณะกรรมการตุลาการศาลปกครองมีอำนาจสั่งพักราชการโจทก์ได้ แม้คณะกรรมการสอบสวนทางวินัยยังไม่ได้เสนอความเห็นต่อคณะกรรมการตุลาการศาลปกครองว่าสมควรจะสั่งพักราชการโจทก์เพื่อมิให้ปฏิบัติหน้าที่ราชการต่อไปอันจะเป็นการเสียหายแก่ราชการหรือไม่ ก็ตาม ที่ศาลอุทธรณ์แผนกคดีทุจริตและประพฤติมิชอบวินิจฉัยว่า จำเลยทั้งหกมีอำนาจสั่งพักราชการโจทก์ตามพระราชบัญญัติจัดตั้งศาลปกครองและวิธีพิจารณาคดีปกครอง พ.ศ.2542 มาตรา 24 วรรคสาม ได้โดยไม่จำต้องขอความเห็นของคณะกรรมการสอบสวนก่อนนั้น ศาลฎีกาเห็นพ้องด้วย ฎีกาข้อนี้ของโจทก์ฟังไม่ขึ้น
ปัญหาที่ต้องวินิจฉัยต่อไปตามฎีกาของโจทก์มีว่า คดีโจทก์มีมูลหรือไม่ เห็นว่า จากคำบรรยายฟ้องของโจทก์ โจทก์กล่าวอ้างว่าคณะกรรมการตุลาการศาลปกครองแต่งตั้งคณะกรรมการสอบสวนเพื่อสอบสวนโจทก์ซึ่งถูกกล่าวหาในกรณีที่มีข่าวปรากฏผ่านทางสื่อสารมวลชนว่าโจทก์มีความประสงค์ที่จะสนับสนุนพันตำรวจโท ชูธเรศ รองผู้กำกับการป้องกันปราบปรามสถานีตำรวจนครบาลหัวหมาก ให้ได้รับแต่งตั้งเป็นผู้กำกับการ และมอบหมายให้นายดิเรกฤทธิ์ เลขาธิการสำนักงานศาลปกครอง แจ้งความประสงค์ดังกล่าวต่อรองผู้บัญชาการตำรวจแห่งชาติและผู้บัญชาการตำรวจแห่งชาติ ตามข้อ 3 ของระเบียบ ก.ศป. ว่าด้วยวิธีการสอบสวนและสิทธิของตุลาการศาลปกครองซึ่งถูกกล่าวหาว่ามีเหตุให้ต้องพ้นจากตำแหน่ง พ.ศ.2544 ในวาระที่ 4.14 รายงานผลการสอบข้อเท็จจริงกรณีที่ปรากฏเป็นข่าวทางสื่อมวลชนเกี่ยวกับเลขาธิการสำนักงานศาลปกครองและประธานศาลปกครองสูงสุด กรณีการแต่งตั้งข้าราชการตำรวจ (การสั่งพักราชการตุลาการศาลปกครองผู้ถูกกล่าวหากรณีที่ปรากฏเป็นข่าวทางสื่อมวลชนเกี่ยวกับเลขาธิการสำนักงานศาลปกครองและประธานศาลปกครองสูงสุด กรณีการแต่งตั้งข้าราชการตำรวจ)… แสดงให้เข้าใจได้ว่า การที่ ก.ศป. แต่งตั้งคณะกรรมการสอบสวนทางวินัยแก่โจทก์โดยมีจำเลยที่ 1 เป็นประธานกรรมการนั้น ได้มีการสอบสวนข้อเท็จจริงมาก่อนแล้วและกรณีมีมูลตามข้อกล่าวหา จึงได้มีการแต่งตั้งคณะกรรมการสอบสวนทางวินัยแก่โจทก์ โจทก์ดำรงตำแหน่งประธานศาลปกครองสูงสุดและประธานกรรมการตุลาการศาลปกครอง แต่พฤติการณ์ของโจทก์ตามที่ถูกกล่าวหาเป็นการแทรกแซงการพิจารณาแต่งตั้งข้าราชการตำรวจ ขัดต่อหลักธรรมาภิบาลและระบบคุณธรรม ซึ่งโจทก์ในฐานะเป็นผู้ดำรงตำแหน่งสูงสุดของศาลปกครองและประธานกรรมการตุลาการศาลปกครองไม่พึงกระทำและถือว่าเป็นการประพฤติตนไม่สมควร อันเป็นการไม่ประพฤติตนตามวินัยแห่งการเป็นตุลาการศาลปกครอง ตามพระราชบัญญัติจัดตั้งศาลปกครองและวิธีพิจารณาคดีปกครอง พ.ศ.2542 มาตรา 22 วรรคหนึ่ง และประกาศ ก.ศป. เรื่อง วินัยแห่งการเป็นตุลาการศาลปกครอง แม้เป็นเพียงข้อกล่าวหา แต่เมื่อ ก.ศป. พิจารณาการสอบสวนข้อเท็จจริงแล้วได้มีการแต่งตั้งคณะกรรมการสอบสวนทางวินัยแก่โจทก์ แสดงว่าข้อกล่าวหานั้นมีมูล ซึ่งหากจำเลยทั้งหกเห็นว่า หากโจทก์ยังคงอยู่ในตำแหน่งประธานศาลปกครองสูงสุดและประธานกรรมการตุลาการศาลปกครองอาจทำให้เกิดความเคลือบแคลงสงสัยจากบุคคลในสังคมว่าโจทก์อาจใช้ตำแหน่งหน้าที่ทำการแทรกแซงหรือขัดขวางการสอบสวนของคณะกรรมการสอบสวน หรือมีพฤติการณ์ที่แสดงว่าหากโจทก์ยังคงอยู่ในตำแหน่งจะเป็นอุปสรรคต่อการสอบสวนของคณะกรรมการสอบสวน จำเลยทั้งหกก็มีอำนาจสั่งพักราชการโจทก์ ตามพระราชบัญญัติจัดตั้งศาลปกครองและวิธีพิจารณาคดีปกครอง พ.ศ.2542 มาตรา 24 วรรคสาม ในข้อที่ว่า… การให้ผู้ถูกสอบสวน (โจทก์)…ปฏิบัติหน้าที่ต่อไปจะเป็นการเสียหายแก่ราชการจะมีมติให้พักราชการก็ได้ ซึ่งในเรื่อง “จะเป็นการเสียหายแก่ราชการ” นั้น โจทก์เองก็ได้บรรยายฟ้องไว้ว่า โจทก์มิได้มีพฤติการณ์ที่จะเข้าไปแทรกแซงหรือขัดขวางการสอบสวนของคณะกรรมการสอบสวน หรือมีพฤติการณ์ที่แสดงว่าถ้าโจทก์ยังอยู่ในหน้าที่ราชการต่อไปจะเป็นอุปสรรคต่อการสอบสวนของคณะกรรมการสอบสวนหรือปฏิบัติหน้าที่ราชการให้เกิดความเสียหายแก่ราชการของศาลปกครอง หรือมีพฤติการณ์อันไม่น่าไว้วางใจ ถ้าให้โจทก์ยังคงปฏิบัติหน้าที่ราชการต่อไปอาจเกิดความเสียหายแก่ราชการของศาลปกครอง หรือจะก่อให้เกิดความไม่สงบเรียบร้อยขึ้นในศาลปกครอง ซึ่งข้อที่โจทก์บรรยายฟ้องมา หากมองในมุมกลับย่อมเห็นได้ว่าข้อกล่าวหาที่เป็นมูลให้โจทก์ถูกตั้งคณะกรรมการสอบสวนทางวินัยในขณะที่โจทก์ดำรงตำแหน่งประธานศาลปกครองสูงสุดและประธานกรรมการตุลาการศาลปกครองนั้น หากจำเลยทั้งหกในฐานะคณะกรรมการตุลาการศาลปกครองไม่สั่งพักราชการโจทก์ โดยให้โจทก์ปฏิบัติหน้าที่ต่อไปอาจเกิดความเสียหายแก่ราชการก็เป็นได้ นอกจากนี้เมื่อศาลพิจารณาคำฟ้องโจทก์แล้ว หากเห็นว่าการกระทำของจำเลยทั้งหกไม่มีมูลความผิด ศาลก็มีอำนาจพิพากษายกฟ้องโจทก์ได้โดยไม่ต้องไต่สวนมูลฟ้องก่อน ทั้งนี้เป็นไปตามประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความอาญา มาตรา 167 ประกอบมาตรา 185 วรรคหนึ่ง และไม่เป็นการฝ่าฝืนมาตรา 162 (1) แต่ประการใด ที่ศาลอุทธรณ์แผนกคดีทุจริตและประพฤติมิชอบวินิจฉัยว่า จำเลยทั้งหกในฐานะคณะกรรมการตุลาการศาลปกครองออกคำสั่งพักราชการโจทก์ ไม่เป็นการปฏิบัติหน้าที่โดยมิชอบเพื่อให้เกิดความเสียหายแก่โจทก์ คดีโจทก์ไม่มีมูลนั้น ศาลฎีกาเห็นพ้องด้วย ฎีกาข้อนี้ของโจทก์ฟังไม่ขึ้นเช่นกัน
พิพากษายืน

Share