แหล่งที่มา : สำนักงานส่งเสริมงานตุลาการ
ย่อสั้น
ศาลชั้นต้นสั่งคำร้องขออุทธรณ์อย่างคนอนาถาของโจทก์ว่าคดีโจทก์ไม่มีเหตุผลสมควรที่จะอุทธรณ์ ไม่อนุญาตให้โจทก์อุทธรณ์อย่างคนอนาถา ถ้าโจทก์ประสงค์จะอุทธรณ์ให้นำค่าขึ้นศาลมาชำระภายในกำหนด ดังนี้ เท่ากับศาลชั้นต้นได้วินิจฉัยเนื้อหาแห่งคำร้องของโจทก์แล้ว การที่โจทก์ยื่นอุทธรณ์คำสั่งดังกล่าวและศาลชั้นต้นมีคำสั่งไม่รับ โจทก์ได้อุทธรณ์คำสั่งศาลชั้นต้นที่ไม่รับอ้างว่าโจทก์ได้ยื่นอุทธรณ์คำสั่งภายในกำหนดเวลาตามกฎหมายแล้วจึงเป็นการอุทธรณ์ตาม ป.วิ.พ. มาตรา 234 มิใช่การอุทธรณ์ตามมาตรา 229 เมื่อศาลอุทธรณ์มีคำสั่งยืนตามคำปฏิเสธของศาลชั้นต้นคำสั่งศาลอุทธรณ์จึงเป็นที่สุดตามมาตรา 236 ศาลอุทธรณ์มีคำสั่งยืนตามคำปฏิเสธของศาลชั้นต้นที่ไม่รับอุทธรณ์ของโจทก์เนื่องจากโจทก์ไม่นำเงินค่าธรรมเนียมชั้นอุทธรณ์มาวางศาลภายในกำหนดเวลาที่ศาลชั้นต้นมีคำสั่ง ถือเป็นการเพิกเฉยไม่ปฏิบัติตามคำสั่งศาลตาม ป.วิ.พ. มาตรา 174(2) และคำสั่งศาลอุทธรณ์ย่อมเป็นที่สุดตามมาตรา 236 เช่นกัน.
ย่อยาว
คดีนี้สืบเนื่องมาจากศาลชั้นต้นพิพากษายกฟ้องโจทก์ค่าฤชาธรรมเนียมให้เป็นพับ ต่อมาวันที่ 24 พฤศจิกายน 2531โจทก์ยื่นคำร้องขออุทธรณ์อย่างคนอนาถา พร้อมกับยื่นอุทธรณ์ศาลชั้นต้นมีคำสั่งเมื่อวันที่ 25 พฤศจิกายน 2531 ว่า คดีโจทก์ไม่มีเหตุผลอันสมควรที่จะอุทธรณ์ ไม่อนุญาตให้โจทก์อุทธรณ์อย่างคนอนาถา ให้ยกคำร้อง ถ้าโจทก์ประสงค์จะอุทธรณ์ ให้นำค่าขึ้นศาลมาชำระภายในวันที่ 12 ธันวาคม 2531 ท้ายคำร้องมีหมายเหตุว่า ให้มาทราบคำสั่งในวันที่ 28 พฤศจิกายน 2531 ถ้าไม่มาใหถือว่าทราบคำสั่ง โจทก์ลงชื่อท้ายหมายเหตุ ต่อมาวันที่ 15ธันวาคม 2531 เจ้าหน้าที่ศาลรายงานว่า พ้นวันนัดที่ 12 ธันวาคม2531 แล้ว โจทก์ไม่นำค่าขึ้นศาลมาชำระตามที่ศาลกำหนด ศาลชั้นต้นมีคำสั่งว่า โจทก์ไม่ชำระค่าขึ้นศาลภายในกำหนดตามคำสั่งศาลจึงไม่รับอุทธรณ์ของโจทก์ ต่อมาวันที่ 20 ธันวาคม 2531 โจทก์ยื่นคำร้องอุทธรณ์คำสั่งศาลชั้นต้นดังกล่าวทั้งหมด ศาลชั้นต้นมีคำสั่งเมื่อวันที่ 21 ธันวาคม 2531 ว่า ศาลมีคำสั่งยกคำร้องขออุทธรณ์อย่างคนอนาถาของโจทก์ และโจทก์ทราบคำสั่งโดยชอบเมื่อวันที่ 28 พฤศจิกายน ศกนี้แล้ว หากโจทก์ประสงค์จะอุทธรณ์ต้องอุทธรณ์ภายในกำหนดตามประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความแพ่งมาตรา 156 วรรคท้าย นอกจากนี้โจทก์อุทธรณ์คำสั่งไม่รับอุทธรณ์ด้วย ซึ่งจะต้องยื่นภายในกำหนดตามประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความแพ่งมาตรา 234 โจทก์ไม่ยื่นอุทธรณ์ภายในกำหนดดังกล่าว จึงไม่รับเป็นอุทธรณ์คำสั่งของโจทก์ทั้งหมด ครั้นวันที่ 29 ธันวาคม 2531โจทก์ยื่นคำร้องฉบับเดียว อุทธรณ์คำสั่งศาลชั้นต้นที่ไม่รับคำร้องอุทธรณ์คำสั่งของโจทก์ว่า การอุทธรณ์คำสั่งศาลชั้นต้นของโจทก์เป็นไปตามประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความแพ่ง มาตรา 229 มิใช่มาตรา 156 วรรคท้าย และโจทก์ไม่จำต้องยื่นคำร้องอุทธรณ์คำสั่งไม่รับอุทธรณ์ตามประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความแพ่ง มาตรา 234
ศาลอุทธรณ์มีคำสั่งว่า สำหรับข้อที่โจทก์อุทธรณ์คำสั่งศาลชั้นต้นที่ไม่อนุญาตให้โจทก์อุทธรณ์อย่างคนอนาถานั้น เห็นว่าเมื่อโจทก์ทราบคำสั่งในวันที่ 28 พฤศจิกายน 2531 แล้ว โจทก์ต้องอุทธรณ์คำสั่งดังกล่าวภายใน 7 วัน นับแต่วันที่มีคำสั่งตามประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความแพ่ง มาตรา 156 วรรคท้ายแต่โจทก์อุทธรณ์คำสั่งดังกล่าวเมื่อวันที่ 20 ธันวาคม 2531จึงเกินกำหนด ศาลชั้นต้นไม่รับอุทธรณ์คำสั่งของโจทก์ในข้อนี้ชอบแล้ว ส่วนข้อที่โจทก์อุทธรณ์ว่า ที่ศาลชั้นต้นสั่งไม่รับอุทธรณ์โจทก์ทั้งหมดเป็นการไม่ชอบนั้น เห็นว่าที่ศาลชั้นต้นสั่งรับไม่รับอุทธรณ์โจทก์ เพราะโจทก์ไม่นำเงินค่าธรรมเนียมชั้นอุทธรณ์มาวางศาลภายในกำหนดเวลาที่ศาลชั้นต้นกำหนด เป็นการเพิกเฉยไม่ปฏิบัติตามคำสั่งศาล ตามประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความแพ่งมาตรา 174(2) อันเป็นการทิ้งอุทธรณ์ซึ่งยุติไปแล้ว ที่ศาลชั้นต้นสั่งไม่รับอุทธรณ์ของโจทก์จึงชอบแล้ว ให้ยกอุทธรณ์คำสั่งของโจทก์
โจทก์ฎีกา
ศาลฎีกาวินิจฉัยว่า “คดีนี้เดิมศาลชั้นต้นสั่งไม่อนุญาตให้โจทก์อุทธรณ์อย่างคนอนาถา ซึ่งเท่ากับได้วินิจฉัยในเนื้อหาแห่งคำร้องของโจทก์แล้ว เมื่อโจทก์อุทธรณ์คำสั่งดังกล่าวและศาลชั้นต้นมีคำสั่งไม่รับอุทธรณ์ โจทก์ได้อุทธรณ์คำสั่งศาลชั้นต้นที่ไม่รับอุทธรณ์ของโจทก์โดยอ้างว่าโจทก์ได้ยื่นอุทธรณ์คำสั่งไม่รับอุทธรณ์ภายในกำหนดระยะเวลาตามกฎหมายแล้วจึงเป็นการอุทธรณ์คำสั่งศาลชั้นต้นที่ไม่รับอุทธรณ์ของโจทก์ตามประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความแพ่ง มาตรา 234 เมื่อศาลอุทธรณ์มีคำสั่งยืนตามคำปฏิเสธของศาลชั้นต้นโดยวินิจฉัยว่าโจทก์ไม่ยื่นอุทธรณ์คำสั่งภายในกำหนดคำสั่งของศาลอุทธรณ์จึงเป็นที่สุดตามมาตรา 236 กรณีไม่ใช่การอุทธรณ์ตามประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความแพ่งมาตรา 229 ตามที่โจทก์อ้าง โจทก์ไม่มีสิทธิฎีกาคำสั่งนั้นอีกได้ส่วนที่ศาลอุทธรณ์มีคำสั่งยืนตามคำปฏิเสธของศาลชั้นต้นที่ไม่รับอุทธรณ์ของโจทก์เนื่องจากโจทก์ไม่นำเงินค่าธรรมเนียมชั้นอุทธรณ์มาวางศาลภายในกำหนดเวลาที่ศาลชั้นต้นมีคำสั่งเป็นการเพิกเฉยไม่ปฏิบัติตามคำสั่งศาล ตามประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความแพ่ง มาตรา 174(2) นั้น คำสั่งของศาลอุทธรณ์ก็ย่อมเป็นที่สุดตามประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความแพ่งมาตรา 236 อีกเช่นกัน ฎีกาของโจทก์จึงต้องห้ามทั้งหมด”
พิพากษาให้ยกฎีกาของโจทก์.