คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 2037/2533

แหล่งที่มา : สำนักงานส่งเสริมงานตุลาการ

ย่อสั้น

ตาม ประกาศกระทรวงมหาดไทย เรื่อง การคุ้มครองแรงงาน ข้อ 47(2)และ (5) ที่แก้ไขใหม่ ระบุว่านายจ้างไม่ต้องจ่ายค่าชดเชยให้แก่ลูกจ้างในกรณีลูกจ้างจงใจทำให้นายจ้างได้ รับความเสียหายหรือลูกจ้างประมาทเลินเล่อเป็นเหตุให้นายจ้างได้ รับความเสียหายอย่างร้ายแรงดังนี้การที่โจทก์ป่วยไม่สามารถปฏิบัติงานตาม หน้าที่ได้ ตาม ปกตินั้นเป็นเหตุที่เกิดขึ้นตาม สภาพร่างกายโดย ธรรมชาติ มิใช่เกิดจากการกระทำของโจทก์ ถือ ไม่ได้ว่าโจทก์จงใจทำให้จำเลยได้ รับความเสียหายหรือเป็นการกระทำโดย ประมาทเลินเล่อเป็นเหตุให้จำเลยได้ รับความเสียหาย เมื่อจำเลยเลิกจ้างจึงต้อง จ่ายค่าชดเชยให้โจทก์.

ย่อยาว

โจทก์ฟ้องว่า จำเลยได้จ้างโจทก์เข้าทำงานเป็นลูกจ้างประจำต่อมาเมื่อวันที่ 1 กรกฎาคม 2532 จำเลยได้เลิกจ้างโจทก์ โดยอ้างเหตุว่าโจทก์เป็นผู้มีผลงานต่ำกว่ามาตรฐานและหย่อนสมรรถภาพในการทำงาน ครั้งสุดท้ายโจทก์มีตำแหน่งเป็นคนงานฝ่ายขาย ได้รับค่าจ้างเดือนละ 5,630 บาท โจทก์มีสิทธิได้รับค่าชดเชยเท่ากับค่าจ้างอัตราสุดท้าย 180 วัน เป็นเงิน 33,780 บาท แต่จำเลยไม่จ่ายให้ ขอให้พิพากษาบังคับจำเลยจ่ายค่าชดเชยจำนวน 33,780 บาทพร้อมด้วยดอกเบี้ยในอัตราร้อยละเจ็ดครึ่งต่อปี นับแต่วันเลิกจ้างจนกว่าจะชำระเสร็จแก่โจทก์
จำเลยให้การว่า โจทก์ป่วยเป็นโรคหัวใจตีบและรั่ว เป็นเหตุให้โจทก์หย่อนสมรรถภาพในการทำงาน ทำให้จำเลยได้รับความเสียหายจำเลยจึงมีคำสั่งให้โจทก์ออกจากงาน และจำเลยมีข้อบังคับองค์การแบตเตอรี่ว่าด้วยกองทุนบำเหน็จ พ.ศ. 2521 ข้อ 9 กำหนดว่า พนักงานที่ออกจากงานมีสิทธิได้รับเงินบำเหน็จแต่เพียงอย่างเดียวและถือว่าเป็นเงินค่าชดเชยตามกฎหมายคุ้มครองแรงงานด้วย โจทก์ได้รับเงินบำเหน็จจำนวน 101,340 บาท จากจำเลย ถือว่าโจทก์ได้รับค่าชดเชยไปแล้วโจทก์ไม่มีสิทธิเรียกค่าชดเชยจากจำเลยอีก ขอให้ยกฟ้อง
ในวันนัดพิจารณา คู่ความแถลงรับข้อเท็จจริงกันว่า โจทก์เป็นลูกจ้างประจำของจำเลย ได้รับค่าจ้างอัตราสุดท้ายเดือนละ 5,630 บาทจำเลยเลิกจ้างโจทก์เนื่องจากโจทก์ป่วยเป็นโรคหัวใจตีบและรั่วอยู่ในสภาพที่ไม่สามารถปฏิบัติงานในตำแหน่งหน้าที่ได้ โจทก์มีผลงานต่ำกว่ามาตรฐานและหย่อนสมรรถภาพในการทำงาน โจทก์ทำงานติดต่อกันถึงวันเลิกจ้างเป็นเวลาครบ 3 ปีขึ้นไปแล้ว จำเลยมีข้อบังคับองค์การแบตเตอรี่ว่าด้วยกองทุนบำเหน็จ พ.ศ. 2521 ตามเอกสารท้ายคำให้การหมายเลข 1 เมื่อจำเลยให้โจทก์ออกจากงาน จำเลยได้จ่ายเงินบำเหน็จให้แก่โจทก์รับไปตามข้อบังคับดังกล่าวเป็นจำนวน 101,340 บาทซึ่งเป็นจำนวนมากกว่าค่าชดเชยที่โจทก์จะได้รับตามกฎหมายแรงงานศาลแรงงานกลางเห็นว่า คดีพอวินิจฉัยได้แล้วจึงมีคำสั่งให้งดสืบพยานโจทก์และพยานจำเลย
ศาลแรงงานกลางพิพากษาให้จำเลยจ่ายค่าชดเชยจำนวน 33,780 บาทแก่โจทก์พร้อมด้วยดอกเบี้ยในอัตราร้อยละเจ็ดครึ่งต่อปี นับแต่วันที่1 กรกฎาคม 2532 จนกว่าจะชำระเสร็จ
จำเลยอุทธรณ์ต่อศาลฎีกา
ศาลฎีกาแผนกคดีแรงงานวินิจฉัยว่า “จำเลยอุทธรณ์ว่า โจทก์ป่วยเป็นโรคหัวใจตีบและรั่ว ไม่สามารถปฏิบัติงานในหน้าที่ได้ตามปกติอันเป็นเหตุให้จำเลยได้รับความเสียหายอย่างร้ายแรง จำเลยจึงต้องให้โจทก์ออกจากงานเพื่อบรรจุบุคคลอื่นเข้าปฏิบัติหน้าที่แทนการที่จำเลยให้โจทก์ออกจากงานในกรณีดังกล่าวถือได้ว่าเป็นการให้โจทก์ออกจากงานตามข้อ 47 ของประกาศกระทรวงมหาดไทย เรื่อง การคุ้มครองแรงงาน จำเลยไม่ต้องจ่ายค่าชดเชย พิเคราะห์แล้วเห็นว่าในกรณีที่ลูกจ้างทำให้นายจ้างได้รับความเสียหาย ซึ่งนายจ้างไม่ต้องจ่ายค่าชดเชยให้แก่ลูกจ้างเมื่อเลิกจ้างด้วยเหตุดังกล่าวนั้น ตามประกาศกระทรวงมหาดไทย เรื่อง การคุ้มครองแรงงาน ข้อ 47(2)และ (5) ที่แก้ไขใหม่ ระบุว่านายจ้างไม่ต้องจ่ายค่าชดเชยให้แก่ลูกจ้างในกรณีลูกจ้างจงใจทำให้นายจ้างได้รับความเสียหาย หรือลูกจ้างประมาทเลินเล่อเป็นเหตุให้นายจ้างได้รับความเสียหายอย่างร้ายแรง แต่การที่โจทก์ป่วยไม่สามารถปฏิบัติงานในหน้าที่ได้ตามปกติเป็นเหตุที่เกิดขึ้นตามสภาพของร่างกายโดยธรรมชาติ ไม่ใช่เกิดจากการกระทำของโจทก์ ซึ่งจำเลยก็ได้มีคำสั่งให้โจทก์ออกจากงานและบรรจุบุคคลอื่นเข้าทำงานแทน การที่โจทก์ป่วยไม่สามารถปฏิบัติงานในหน้าที่ได้ตามปกติ จึงถือไม่ได้ว่าโจทก์จงใจทำให้จำเลยได้รับความเสียหายหรือเป็นการกระทำโดยประมาทเลินเล่อ เป็นเหตุให้จำเลยได้รับความเสียหาย จำเลยต้องจ่ายค่าชดเชยให้แก่โจทก์เมื่อเลิกจ้าง ศาลแรงงานกลางวินิจฉัยปัญหานี้ชอบแล้ว อุทธรณ์ของจำเลยฟังไม่ขึ้น”
พิพากษายืน.

Share