คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 981-991/2526

แหล่งที่มา : กองผู้ช่วยผู้พิพากษาศาลฎีกา

ย่อสั้น

เงินส่วนแบ่งรายได้ค่าโดยสารหรือเงินเปอร์เซ็นต์ที่จำเลยจ่ายให้โจทก์เมื่อโจทก์ทำงานเกินเวลาทำงานปกติคือเกินวันละ 8 ชั่วโมง มิใช่ค่าจ้างตามประกาศกระทรวงมหาดไทย เรื่องการคุ้มครองแรงงาน เพราะมิใช่เป็นเงินที่จ่ายแก่ลูกจ้างเป็นการตอบแทนการทำงานในเวลาทำงานปกติของวันทำงาน จึงไม่อาจนำมาเป็นฐานคำนวณค่าทำงานในวันหยุดได้
ค่าครองชีพเป็นค่าจ้างจึงต้องนำมารวมคำนวณเป็นค่าทำงานในวันหยุดให้ลูกจ้างด้วย

ย่อยาว

โจทก์ทั้งสิบเอ็ดสำนวนฟ้องว่า โจทก์สำนวนที่ 1 จำนวน 12 คนและโจทก์ สำนวนที่ 2 ถึงที่ 11 เป็นลูกจ้างประจำของจำเลย เมื่อ พ.ศ. 2523 จำเลยออกคำสั่งกำหนดให้วันที่ 1 ของทุกเดือน วันที่ 5 และวันที่ 10 ของเดือนธันวาคม เป็นวันหยุดตามประเพณี จำเลยให้โจทก์ที่ 1 ถึงที่ 12 ในสำนวนที่ 1 ทำงานในวันหยุดตามประเพณีโดยไม่นำเงินเปอร์เซ็นต์และเงินค่าครองชีพซึ่งเป็นค่าจ้างมาคำนวณจ่ายให้โจทก์ที่ 1 ถึงที่ 10 ส่วนโจทก์ที่ 11, ที่ 12 จำเลยนำเฉพาะเบี้ยเลี้ยงมาคำนวณจ่ายโดยไม่นำค่าจ้างกับเงินค่าครองชีพมาคำนวณด้วย และให้โจทก์สำนวนที่ 2 ถึงที่ 11 ทำงานในวันหยุดตามประเพณีและวันหยุดประจำสัปดาห์โดยจำเลยจ่ายค่าจ้างให้โจทก์ไม่ครบตามกฎหมายคุ้มครองแรงงาน ขอให้บังคับจำเลยจ่ายค่าทำงานในวันหยุดให้โจทก์ทั้งสิบเอ็ดสำนวนพร้อมด้วยดอกเบี้ย

จำเลยทั้งสิบเอ็ดสำนวนให้การว่า โจทก์ทุกคนเป็นลูกจ้างของจำเลย ค่าครองชีพและเงินส่วนแบ่งจากเงินรายได้ค่าโดยสารหรือเงินเปอร์เซ็นต์ที่จำเลยจ่ายให้โจทก์มิใช่ค่าจ้างเพื่อตอบแทนการทำงานปกติ ดังนั้นจำเลยจึงไม่ต้องนำเงินทั้งสองประเภทมาเป็นฐานคำนวณค่าทำงานในวันหยุด โจทก์ไม่มีสิทธิเรียกดอกเบี้ยเพราะจำเลยมิได้ผิดนัด ขอให้ยกฟ้อง

โจทก์จำเลยแถลงรับกันว่าเงินส่วนแบ่งรายได้ค่าโดยสารหรือเงินเปอร์เซ็นต์ที่โจทก์ที่ 1 ถึงที่ 10 ในสำนวนที่ 1 ได้รับนี้เป็นไปตามคำสั่งของจำเลยที่ส่งศาลซึ่งกำหนดอัตราไว้ต่างกันตามจำนวนค่าโดยสารที่เก็บได้ ตามปกติจำเลยจะจ่ายเงินส่วนแบ่งรายได้จากค่าโดยสารหรือเปอร์เซ็นต์ให้ต่อเมื่อโจทก์ทำงานเกินวันละ 8 ชั่วโมง ซึ่งเป็นเวลาปกติของวันทำงาน ถ้าทำงานไม่ถึง 8 ชั่วโมงใน 1 วันจะไม่มีสิทธิได้รับเว้นแต่กรณีทำงานไม่ถึงวันละ 8 ชั่วโมงนั้นเกิดขึ้นโดยผู้บังคับบัญชาหรือนายจ้างสั่งให้หยุด อันเป็นการหยุดก่อนเวลาเพื่อประโยชน์ของจำเลย ส่วนค่าครองชีพจำเลยจ่ายให้แก่โจทก์ซึ่งเป็นลูกจ้างรายวันและรายเดือนพร้อมกับค่าจ้างทุกวันที่ 27 ของเดือน โดยไม่คำนึงว่าโจทก์จะได้มาทำงานหรือไม่ ในการทำงานจำเลยกำหนดวันทำงานไว้สัปดาห์ละ 6 วัน วันหยุดประจำสัปดาห์ไม่ได้กำหนดแน่นอนเพราะมีการสับเปลี่ยนหมุนเวียนกันหยุด ส่วนวันหยุดตามประเพณีจำเลยกำหนดไว้ปีละ 14 วัน คือวันที่ 1 ของทุกเดือน วันที่ 5 และวันที่ 10 ของเดือนธันวาคมกำหนดเวลาทำงานปกติของวันทำงานแต่ละวันมี 8 ชั่วโมงโดยแบ่งงานเป็นกะและมีการสับเปลี่ยนหมุนเวียนกะ จำเลยให้โจทก์ทำงานเท่ากับเวลาปกติของวันทำงานคือวันละ 8 ชั่วโมง การจ่ายค่าทำงานในวันหยุดที่จำเลยจ่ายให้โจทก์ไปแล้วบางส่วนนั้น จำเลยจ่ายให้พร้อมกับค่าจ้างเดือนละครั้ง คือโจทก์ที่ 1 ถึงที่ 10 ในสำนวนที่ 1 ซึ่งเป็นลูกจ้างรายวัน จำเลยจ่ายให้โดยนำเฉพาะค่าจ้างมาคำนวณจ่าย ไม่ได้นำค่าครองชีพและเปอร์เซ็นต์หรือเงินส่วนแบ่งรายได้จากค่าโดยสารมาคำนวณจ่ายให้ด้วย ส่วนโจทก์อื่นซึ่งเป็นลูกจ้างรายเดือนนั้น จำเลยนำเฉพาะเบี้ยเลี้ยงที่จ่ายให้เป็นรายวันเฉพาะวันทำงานมาคำนวณจ่ายโดยจ่าเบี้ยเลี้ยงเพิ่มให้อีก 1 เท่า มิได้นำค่าจ้างหรือเงินเดือนกับค่าครองชีพมาคำนวณจ่ายให้ด้วย โจทก์จำเลยแถลงไม่สืบพยาน

ศาลแรงงานกลางวินิจฉัยว่า ค่าครองชีพเป็นค่าจ้างที่ต้องนำมาเป็นฐานในการคำนวณค่าทำงานในวันหยุด ให้จำเลยนำเฉพาะค่าครองชีพมาคำนวณจ่ายค่าทำงานในวันหยุดตามประเพณีให้แก่โจทก์ที่ 1 ถึงที่ 10 ในสำนวนที่ 1ตามจำนวน – วันที่โจทก์ดังกล่าวได้ทำงานในวันหยุดที่ปรากฏในบัญชีที่จำเลยส่งศาล สำหรับโจทก์อื่นนอกจากนี้ให้จำเลยนำเงินเดือน ค่าจ้าง ค่าครองชีพของแต่ละคนตามอัตราที่ได้รับอยู่ในเวลาที่ได้ทำงานในวันหยุดตามประเพณีหรือได้ทำงานในวันหยุดประจำสัปดาห์มาเป็นฐานในการคำนวณจ่ายค่าทำงานในวันหยุดได้ตามจำนวนวันทำงานในวันหยุดของโจทก์แต่ละคนในบัญชีที่จำเลยส่งศาลและให้จำเลยเสียดอกเบี้ยแก่โจทก์ คำขออื่นนอกจากนี้ให้ยก

โจทก์ที่ 1 ถึงที่ 10 ในสำนวนที่ 1 และจำเลยทั้งสิบเอ็ดสำนวนอุทธรณ์ต่อศาลฎีกา

ศาลฎีกาแผนกคดีแรงงานวินิจฉัยข้อกฎหมายว่า ข้อเท็จจริงฟังได้ว่าโจทก์ทุกคนทำงานเป็นกะ กะละ 8 ชั่วโมง เงินส่วนแบ่งรายได้ค่าโดยสารหรือเงินเปอร์เซ็นต์จำเลยคิดคำนวณจ่ายให้โจทก์จากยอดรายได้ในแต่ละวันที่โจทก์เก็บได้จากผู้ใช้บริการเป็นอัตราร้อยละของยอดเงินดังกล่าว โดยจำเลยจะจ่ายให้เมื่อโจทก์ทำงานเกินเวลาทำงานปกติคือเกินวันละ 8 ชั่วโมง ถ้าทำงานไม่ถึงวันละ 8 ชั่วโมงก็ไม่มีสิทธิได้รับ เว้นแต่การทำงานไม่ถึงวันละ 8 ชั่วโมงนั้นเป็นเพราะผู้บังคับบัญชาหรือนายจ้างสั่งให้หยุดอันเป็นการหยุดก่อนเวลาเพื่อประโยชน์ของจำเลย จำเลยก็จะจ่ายเงินส่วนแบ่งรายได้จากค่าโดยสารให้ดังนี้ เงินส่วนแบ่งรายได้จากค่าโดยสารที่จำเลยจ่ายให้โจทก์ที่ 1 ถึงที่ 10 ในสำนวนที่ 1 จึงไม่ใช่เงินที่จ่ายแก่ลูกจ้างเป็นการตอบแทนการทำงานในเวลาปกติของวันทำงานตามบทนิยามของคำว่า “ค่าจ้าง” ในประกาศกระทรวงมหาดไทย เรื่อง การคุ้มครองแรงงาน ลงวันที่ 16 เมษายน 2515 เพราะจ่ายให้เฉพาะเมื่อลูกจ้างทำงานเกินเวลาทำงานปกติของวันทำงานคือเกินวันละ8 ชั่วโมงและมีลักษณะไม่แน่นอน มากบ้างน้อยบ้างตามจำนวนเงินค่าโดยสารที่เก็บได้เป็นการจ่ายเพื่อตอบแทนการทำงานเกินเวลาทำงานปกติของวันทำงานและมิใช่เป็นการจ่ายค่าจ้างตามผลงานที่ลูกจ้างทำได้เพราะมิได้เป็นการคำนวณผลของงานที่สำเร็จเป็นหน่วย ลักษณะการทำงานของโจทก์จึงเป็นการทำงานโดยคำนวณเป็นระยะเวลาไม่ใช่คำนวณจากผลงาน เงินส่วนแบ่งรายได้จากค่าโดยสารหรือเงินเปอร์เซ็นต์จึงไม่ใช่ค่าจ้างที่ต้องนำมาคำนวณจ่ายค่าทำงานในวันหยุด

ส่วนที่จำเลยอุทธรณ์ว่า การที่นายจ้างให้ลูกจ้างทำงานในวันหยุดและกฎหมายกำหนดให้นายจ้างจ่ายค่าทำงานในวันหยุดแก่ลูกจ้างไม่น้อยกว่าหนึ่งเท่าของค่าจ้างที่ลูกจ้างได้รับเป็นรายชั่วโมงหรือเป็นระยะเวลาอย่างอื่นตามสัญญาจ้าง จะนำค่าครองชีพมาเป็นฐานคำนวณค่าทำงานในวันหยุดไม่ได้นั้น เห็นว่าประกาศกระทรวงมหาดไทย เรื่อง การคุ้มครองแรงงาน ข้อ 39มีความว่า “ถ้านายจ้างให้ลูกจ้างทำงานในวันหยุดซึ่งลูกจ้างมีสิทธิได้รับค่าจ้างนายจ้างจะต้องจ่ายค่าทำงานในวันหยุดแก่ลูกจ้างตามอัตราดังต่อไปนี้ (1)ลูกจ้างซึ่งได้รับค่าจ้างเป็นรายชั่วโมงหรือเป็นระยะเวลาอย่างอื่นเพิ่มไม่น้อยกว่าหนึ่งเท่าของค่าจ้างนวันทำงานตามจำนวนชั่วโมงที่ทำงานในวันหยุด ปัญหาว่าหนึ่งเท่าของค่าจ้างในวันทำงานหมายถึงค่าจ้างเป็นรายชั่วโมง รายวัน รายเดือนเท่านั้น หรือจะต้องนำค่าครองชีพมารวมด้วย เห็นว่าค่าครองชีพเป็นค่าจ้างที่ต้องนำมาเป็นฐานในการคำนวณค่าชดเชยด้วย เพราะค่าครองชีพเป็นเงินที่นายจ้างจ่ายเพื่อตอบแทนการทำงานในวันทำงานปกติของลูกจ้างมีจำนวนแน่นอนเป็นประจำทุกเดือนทำนองเดียวกับค่าจ้าง จึงเป็นส่วนหนึ่งของค่าจ้าง เมื่อลูกจ้างทำงานในวันหยุดซึ่งลูกจ้างมีสิทธิได้รับค่าจ้าง นายจ้างจึงต้องจ่ายค่าทำงานในวันหยุดเพิ่มขึ้นไม่น้อยกว่าหนึ่งเท่าของค่าจ้างในวันทำงาน ซึ่งต้องนำค่าครองชีพมารวมคำนวณด้วย ข้อความที่ว่า “ตามจำนวนชั่วโมงที่ทำงานในวันหยุด” นั้น มีความหมายว่าในวันหยุดลูกจ้างมีสิทธิได้รับค่าทำงานในวันหยุดคำนวณจากค่าจ้างทั้งหมดได้ชั่วโมงละเท่าใด ก็ให้นายจ้างจ่ายค่าทำงานในวันหยุดเพิ่มขึ้นอีกหนึ่งเท่า ไม่ได้หมายความว่านายจ้างมีสิทธิจ่ายค่าทำงานในวันหยุดเพิ่มขึ้นหนึ่งเท่าของค่าจ้างรายชั่วโมงโดยไม่รวมค่าครองชีพ

พิพากษายืน

Share