คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 495-496/2526

แหล่งที่มา : กองผู้ช่วยผู้พิพากษาศาลฎีกา

ย่อสั้น

การที่ผู้สนับสนุนผู้กระทำความผิดจะต้องรับโทษตามพระราชบัญญัติยาเสพติดให้โทษ ฯ มาตรา 100 นั้น จะต้องมีการกระทำผิดเกี่ยวกับการผลิต จำหน่าย นำเข้าหรือส่งออกซึ่งยาเสพติดให้โทษอันเป็นความผิดตามพระราชบัญญัติดังกล่าวเกิดขึ้นก่อน ไม่ว่าจะเป็นในขั้นพยายามหรือความผิดสำเร็จโดยมีหลักเดียวกับหลักทั่วไปของการสนับสนุนผู้กระทำความผิดตามประมวลกฎหมายอาญา ดังนั้น เมื่อปรากฏว่ากัญชาที่จะส่งออกนอกราชอาณาจักรอยู่ในขั้นเตรียมการ ยังไม่ถึงขั้นพยายามกระทำความผิด แม้จำเลยจะได้ช่วยเหลือในการที่จะส่งกัญชาออกนอกราชอาณาจักร ก็ยังถือไม่ได้ว่าเป็นความผิดฐานสนับสนุนให้มีการส่งกัญชาออกนอกราชอาณาจักร ส่วนการแกล้งละเลยทำเป็นไม่รู้ไม่เห็นการกระทำความผิดก็มิได้หมายความว่าเป็นการสนับสนุนทางอ้อมเสมอไป เพราะการละเว้นไม่ขัดขวางในเมื่อไม่มีหน้าที่ขัดขวางไม่ถือเป็นการกระทำโดยงดเว้นตามประมวลกฎหมายอาญา

ย่อยาว

โจทก์ทั้งสองสำนวนฟ้องขอให้ลงโทษจำเลยที่ ๑ ถึงที่ ๖ ในสำนวนแรกและจำเลยที่ ๑ ถึงที่ ๘ ในสำนวนหลังตามพระราชบัญญัติยาเสพติดให้โทษ พ.ศ. ๒๕๒๒ มาตรา ๔, ๗, ๘, ๒๖, ๗๕, ๗๖, ๑๐๐, ๑๐๒, ๑๐๓ ประกาศกระทรวงสาธารณสุข ฉบับที่ ๒ (พ.ศ. ๒๕๒๒) ข้อ ๔ (๑) ประมวลกฎหมายอาญา มาตรา ๘๐, ๘๓, ๙๑ ประกาศของคณะปฏิวัติ ฉบับที่ ๑๑ ข้อ ๒ กับให้ริบของกลางทั้งหมด และนับโทษจำเลยที่ ๑ ถึงที่ ๖ ต่อจากโทษในสำนวนคดีแรก
จำเลยทุกคนทั้งสองสำนวนให้การปฏิเสธ
ศาลชั้นต้นพิพากษาว่า จำเลยที่ ๑ ที่ ๒ ที่ ๓ และที่ ๗ มีความผิดตามพระราชบัญญัติยาเสพติดให้โทษ พ.ศ. ๒๕๒๒ มาตรา ๗๕, ๗๖ วรรคสอง ประกอบด้วยประมวลกฎหมายอาญา มาตรา ๘๐ ลงโทษจำเลยที่ ๑ ฐานผลิตยาเสพติดให้โทษประเภท ๕ จำคุก ๑๕ ปี ฐานมียาเสพติดให้โทษประเภท ๕ ไว้ในความครอบครองเพื่อจำหน่ายรวมสองกรรมลงโทษจำคุกกระทงละ ๑๕ ปี เป็น ๓๐ ปี รวมจำคุกจำเลยที่ ๑ ไว้ ๔๕ ปี ลงโทษจำเลยที่ ๒ ที่ ๓ ที่ ๕ ที่ ๗ฐานผลิตยาเสพติดให้โทษประเภท ๕ จำคุกคนละ ๑๕ ปี ฐานมียาเสพติดให้โทษประเภท ๕ ไว้ในความครอบครองเพื่อจำหน่าย จำคุกคนละ ๑๕ ปี รวมเป็นจำคุกคนละ ๓๐ ปี จำเลยที่ ๘ มีความผิดตามพระราชบัญญัติยาเสพติดให้โทษ ฯ มาตรา ๗๕ ประกอบด้วยประมวลกฎหมายอาญา มาตรา ๘๐ ให้จำคุกไว้ ๑๐ ปี จำเลยที่ ๓ ที่ ๘ รับสารภาพในชั้นสอบสวน ลดโทษให้หนึ่งในสาม คงจำคุกจำเลยที่ ๓ ไว้ ๒๐ ปี และจำคุกจำเลยที่ ๘ ไว้ ๖ ปี๘ เดือน ของกลางทั้งหมดให้ริบ ให้ยกฟ้องสำหรับจำเลยที่ ๔ และที่ ๖
โจทก์ทั้งสองสำนวนอุทธรณ์ขอให้วางโทษจำคุกจำเลยที่ ๒ ที่ ๗ ที่ ๘เป็นสามเท่าตามพระราชบัญญัติยาเสพติดให้โทษ พ.ศ. ๒๕๒๒ มาตรา ๑๐๐
จำเลยที่ ๑ ที่ ๒ ที่ ๓ ที่ ๕ ทั้งสองสำนวนกับจำเลยที่ ๗ และที่ ๘ อุทธรณ์ขอให้ยกฟ้อง
ศาลอุทธรณ์พิพากษาแก้เป็นว่า จำเลยที่ ๑ มีความผิดฐานมียาเสพติดให้โทษไว้ในครอบครองเพื่อจำหน่ายสองกรรม จำคุกกรรมละ ๑๕ ปี รวมจำคุก๓๐ ปี จำเลยที่ ๒ มีความผิดฐานเป็นข้าราชการสนับสนุนให้มีการส่งออกนอกราชอาณาจักรซึ่งกัญชา จำคุก ๓๐ ปี จำเลยที่ ๕ มีความผิดฐานร่วมกันผลิตกัญชา จำคุก ๑๕ ปี ฐานมีกัญชาไว้ในความครอบครองเพื่อจำหน่าย จำคุก ๑๕ ปี รวมจำคุก ๓๐ ปี จำเลยที่ ๗ มีความผิดฐานเป็นข้าราชการร่วมกันผลิตกัญชา จำคุก ๔๕ ปี มีกัญชาไว้ในความครอบครองเพื่อจำหน่ายและสนับสนุนให้มีการส่งออกนอกราชอาณาจักรซึ่งกัญชา จำคุก ๔๕ ปี รวมจำคุก ๙๐ ปี จำเลยที่ ๘ มีความผิดฐานเป็นเจ้าพนักงานหน่วยงานของรัฐสนับสนุนให้มีการส่งออกนอกราชอาณาจักรซึ่งกัญชา จำคุก ๓๐ ปี จำเลยที่ ๘ ให้การรับสารภาพชั้นสอบสวนเป็นเหตุบรรเทาโทษ ลดโทษให้หนึ่งในสาม คงจำคุก ๒๐ ปี ยกฟ้องจำเลยที่ ๓ และจำเลยอื่น ๆ ในข้อหาที่ศาลอุทธรณ์มิได้วินิจฉัยว่ากระทำผิด นอกจากที่แก้ให้เป็นไปตามคำพิพากษาศาลชั้นต้น
โจทก์ทั้งสองสำนวนฎีกาขอให้ลงโทษจำเลยที่ ๑ ฐานร่วมกันผลิตกัญชาอีกรรมหนึ่ง และลงโทษจำเลยที่ ๓ ฐานร่วมกันผลิตกัญชาไว้ในความครอบครองเพื่อจำหน่าย
จำเลยที่ ๓ ทั้งสองสำนวนฎีกาคัดค้านคำพิพากษาศาลอุทธรณ์ที่วินิจฉัยอ้างว่าจำเลยที่ ๓ ติดต่อเกี่ยวข้องกับจำเลยที่ ๑ ที่ ๒ ที่ ๘
จำเลยที่ ๑ ที่ ๒ ที่ ๕ ทั้งสองสำนวนกับจำเลยที่ ๗ ที่ ๘ ฎีกา ขอให้ยกฟ้อง
ศาลฎีกาวินิจฉัยปัญหาข้อกฎหมายว่า พระราชบัญญัติยาเสพติดให้โทษ พ.ศ. ๒๕๒๒ มาตรา ๑๐๐ บัญญัติว่า “กรรมการและพนักงานเจ้าหน้าที่ตามพระราชบัญญัตินี้ หรือข้าราชการหรือพนักงานองค์การและหน่วยงานของรัฐผู้ใดผลิต จำหน่าย นำเข้าหรือส่งออกซึ่งยาเสพติดให้โทษอันเป็นการกระทำความผิดตามพระราชบัญญัตินี้ หรือร่วมมือสนับสนุนในการกระทำดังกล่าวไม่ว่าโดยทางตรงหรือทางอ้อม ต้องระวางโทษเป็นสามเท่าของโทษที่กำหนดไว้สำหรับความผิดนั้น” การสนับสนุนผู้กระทำผิดที่จะได้รับโทษตามบทกฎหมายมาตรานี้จะต้องมีการกระทำผิดเกี่ยวกับการผลิต จำหน่าย นำเข้าหรือส่งออกซึ่งยาเสพติดให้โทษอันเป็นความผิดตามพระราชบัญญัติที่ว่านี้เกิดขึ้นทั้งนี้ไม่ว่าจะเป็นในขั้นพยายามหรือความผิดสำเร็จ ถ้ายังไม่มีการกระทำความผิดถึงขั้นที่กล่าวมานั้น การสนับสนุนก็ยังไม่มีโทษเช่นเดียวกับหลักทั่วไปของการสนับสนุนผู้กระทำความผิดตามประมวลกฎหมายอาญา โดยจะเห็นได้จากข้อความในบทมาตรานี้ที่ว่า “หรือร่วมมือสนับสนุนในการกระทำดังกล่าวไม่ว่าโดยทางตรงหรือทางอ้อม” การร่วมมือสนับสนุนการกระทำดังกล่าวก็คือการร่วมมือสนับสนุนในการผลิต จำหน่าย นำเข้าหรือส่งออกซึ่งยาเสพติดให้โทษอันเป็นความผิดตามพระราชบัญญัตินี้นั่นเอง การแกล้งละเลยทำเป็นไม่รู้ไม่เห็นการกระทำผิดก็มิได้หมายความว่าเป็นการสนับสนุนทางอ้อมเสมอไป เพราะการละเว้นไม่ขัดขวางหรือยอมให้กระทำโดยไม่ขัดขวางในเมื่อตนไม่มีหน้าที่ขัดขวาง ไม่ถือเป็นการกระทำโดยงดเว้นตามประมวลกฎหมายอาญามาตรา ๕๙ วรรคท้าย ไม่เป็นการร่วมหรือสนับสนุนการกระทำความผิด เมื่อข้อเท็จจริงปรากฏว่า กัญชาที่เจ้าหน้าที่ตำรวจจับกุมได้ที่บ้านพักของจำเลยที่ ๗ เป็นกัญชาที่ขนมาเตรียมไว้เพื่อจะส่งออกนอกราชอาณาจักรโดยทางเครื่องบิน การส่งออกซึ่งกัญชานั้นอยู่ในขั้นตระเตรียมการ ยังไม่ถึงขั้นพยายามกระทำความผิด แม้จำเลยที่ ๒ ที่ ๗ ที่ ๘ จะได้ช่วยเหลือในการที่จะส่งออกนอกราชอาณาจักรซึ่งกัญชารายนี้ การกระทำของจำเลยที่ ๒ ที่ ๗ ที่ ๘ ยังไม่เป็นความผิดฐานสนับสนุนให้มีการส่งออกนอกราชอาณาจักรซึ่งกัญชาตามพระราชบัญญัติยาเสพติดให้โทษ พ.ศ. ๒๕๒๒ มาตรา ๑๐๐ สำหรับความผิดของจำเลยที่ ๗ ในข้อหาฐานร่วมกันมีกัญชาไว้ในความครอบครองเพื่อจำหน่าย ไม่เข้าเกณฑ์ที่จะได้รับโทษหนักขึ้นตามบัญญัติดังกล่าว เพราะมิใช่เป็นการจำหน่าย
พิพากษาแก้เป็นว่า จำเลยที่ ๗ ไม่มีความผิดฐานสนับสนุนให้มีการส่งกัญชาออกนอกราชอาณาจักร จำคุกจำเลยที่ ๗ ในความผิดฐานเป็นข้าราชการร่วมกันผลิตกัญชา ๔๕ ปี ฐานมีกัญชาไว้ในความครอบครองเพื่อจำหน่าย ๑๕ ปีรวมจำคุก ๖๐ ปี ให้ยกฟ้องจำเลยที่ ๒ ที่ ๘ นอกจากที่แก้ให้เป็นไปตามคำพิพากษาศาลอุทธรณ์

Share