คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 12218/2558

แหล่งที่มา : กองผู้ช่วยผู้พิพากษาศาลฎีกา

ย่อสั้น

ตามคำบรรยายฟ้องโจทก์ระบุเพียงว่าจำเลยทั้งสองร่วมกันทำหนังสือมอบอำนาจปลอมขึ้นทั้งฉบับว่าโจทก์มอบอำนาจให้จำเลยที่ 1 ทำสัญญาจะซื้อจะขายบางส่วนของที่ดินพิพาทกับบริษัท ท. ผู้จะซื้อ โดยจำเลยทั้งสองปลอมลายมือชื่อโจทก์ในช่องผู้มอบอำนาจ นำตราประทับปลอมนำมาประทับในหนังสือมอบอำนาจ แล้วจำเลยที่ 1 ลงลายมือชื่อเป็นผู้รับมอบอำนาจ จำเลยที่ 2 ลงลายมือชื่อเป็นพยาน หลังจากนั้นจำเลยทั้งสองใช้หนังสือมอบอำนาจปลอมดังกล่าวอ้างแก่บริษัท ท. ทำให้โจทก์เสียหายโดยมิได้ระบุว่าหนังสือมอบอำนาจปลอมดังกล่าวเป็นเอกสารสิทธิ อันเป็นความผิดตาม ป.อ. มาตรา 265 แม้ในคำขอท้ายฟ้องจะระบุอ้างมาตรา 265 มาด้วยก็ตาม ก็เป็นการระบุเกินมาจากคำบรรยายฟ้องของโจทก์ในตอนต้น ถือไม่ได้ว่าโจทก์ฟ้องว่าจำเลยทั้งสองกระทำความผิดตาม ป.อ. มาตรา 265 คงเป็นความผิดตามมาตรา 264 วรรคแรก, 268 วรรคแรก ประกอบมาตรา 264 วรรคแรก ซึ่งมีอัตราโทษจำคุกไม่เกินสามปี หรือปรับไม่เกินหกพันบาท หรือทั้งจำทั้งปรับ คดีจึงต้องห้ามมิให้อุทธรณ์ในปัญหาข้อเท็จจริงตาม ป.วิ.อ. มาตรา 193 ทวิ

ย่อยาว

โจทก์ฟ้องขอให้ลงโทษจำเลยทั้งสองตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 83, 90, 91, 264, 265, 268
ศาลชั้นต้นไต่สวนมูลฟ้องแล้ว เห็นว่าคดีมีมูล ให้ประทับฟ้อง
จำเลยทั้งสองให้การปฏิเสธ
ศาลชั้นต้นพิพากษายกฟ้อง
โจทก์อุทธรณ์
ศาลอุทธรณ์ภาค 8 พิพากษากลับว่า จำเลยทั้งสองมีความผิดตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 264 วรรคแรก และ 268 วรรคแรก ประกอบมาตรา 264 วรรคแรก ต้องลงโทษตามมาตรา 268 วรรคแรก ประกอบมาตรา 264 วรรคแรก ตามมาตรา 268 วรรคสอง ประกอบมาตรา 83 จำคุกคนละ 1 ปี
จำเลยทั้งสองฎีกา
ศาลฎีกาวินิจฉัยว่า ตามคำบรรยายฟ้องโจทก์ระบุเพียงว่าจำเลยทั้งสองร่วมกันทำหนังสือมอบอำนาจปลอมขึ้นทั้งฉบับว่าโจทก์มอบอำนาจให้จำเลยที่ 1 ทำสัญญาจะซื้อจะขายบางส่วนของที่ดินพิพาทกับบริษัททีม – เอ จำกัด ผู้จะซื้อ โดยจำเลยทั้งสองปลอมลายมือชื่อโจทก์ในช่องผู้มอบอำนาจ ทำตราประทับปลอมนำมาประทับในหนังสือมอบอำนาจ แล้วจำเลยที่ 1 ลงลายมือชื่อเป็นผู้รับมอบอำนาจ จำเลยที่ 2 ลงลายมือชื่อเป็นพยาน หลังจากนั้นจำเลยทั้งสองใช้หนังสือมอบอำนาจปลอมดังกล่าวอ้างแก่บริษัททีม – เอ จำกัด ทำให้โจทก์เสียหายโดยมิได้ระบุว่าหนังสือมอบอำนาจปลอมดังกล่าว เป็นเอกสารสิทธิ อันเป็นความผิดตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 265 แม้ในคำขอท้ายฟ้องจะระบุอ้างมาตรา 265 มาด้วยก็ตาม ก็เป็นการระบุเกินมาจากคำบรรยายฟ้องของโจทก์ในตอนต้น ถือไม่ได้ว่าโจทก์ฟ้องว่าจำเลยทั้งสองกระทำความผิดตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 265 คงเป็นความผิดตามมาตรา 264 วรรคแรก, 268 วรรคแรก ประกอบมาตรา 264 วรรคแรก ซึ่งมีอัตราโทษจำคุกไม่เกินสามปี หรือปรับไม่เกินหกพันบาท หรือทั้งจำทั้งปรับ คดีจึงต้องห้ามมิให้อุทธรณ์ในปัญหาข้อเท็จจริงตามประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความอาญา มาตรา 193 ทวิ การที่ศาลอุทธรณ์ภาค 8 รับวินิจฉัยอุทธรณ์ของโจทก์ในปัญหาข้อเท็จจริงจึงไม่ชอบ ปัญหาดังกล่าวเป็นปัญหาที่เกี่ยวกับการที่ศาลอุทธรณ์ภาค 8 ไม่ปฏิบัติตามบทบัญญัติแห่งประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความอาญาอันเป็นปัญหาเกี่ยวกับความสงบเรียบร้อย ศาลฎีกามีอำนาจยกขึ้นอ้างได้ตามประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความอาญา มาตรา 195 วรรคสอง ประกอบมาตรา 225 คดีไม่จำต้องวินิจฉัยฎีกาของจำเลยทั้งสองอีก
พิพากษายกคำพิพากษาศาลอุทธรณ์ภาค 8 และยกฎีกาของจำเลยทั้งสอง

Share