แหล่งที่มา : สำนักงานส่งเสริมงานตุลาการ
ย่อสั้น
ปัญหาว่า ของกลางเป็นแร่หรือไม่ เป็นปัญหาข้อเท็จจริง จำเลยให้การ รับสารภาพว่าของกลางดังกล่าวเป็นแร่ ฎีกาของจำเลยที่ว่าของกลางมิใช่แร่จึงเป็นฎีกาโต้เถียง ข้อเท็จจริงที่ยุติแล้ว ศาลฎีกาจึงไม่รับวินิจฉัยให้ พ.ร.บ. แร่ พ.ศ. 2510 มาตรา 4 ให้บทนิยามคำว่า”มีแร่ไว้ในครอบครอง หมายความว่า การซื้อ แร่ การมีไว้ การยึดถือหรือการรับไว้ด้วย ประการใดซึ่ง แร่ ทั้งนี้ ไม่ว่าเพื่อตนเองหรือผู้อื่น” มาตรา 105 บัญญัติว่า “ห้ามมิให้ผู้ใดมีแร่ครอบครองแต่ ละชนิดเกินสองกิโลกรัม เว้นแต่ (1) ฯลฯ ถึง 12 ฯลฯ” มาตรา 108บัญญัติว่า ห้ามมิให้ผู้ใดขนแร่ในที่ใด เว้นแต่ (1) ฯลฯ ถึง 10 ฯลฯ”ดังนี้ การที่จำเลยครอบครองแร่โลหะตะกั่ว โดย ไม่ ชอบ ด้วย กฎหมายแม้ว่าแร่จะเป็นของบุคคลอื่น จำเลยย่อมมีความผิดฐาน มีแร่ไว้ในความครอบครองโดย ไม่ได้รับใบอนุญาตกระทงหนึ่ง และที่จำเลยครอบครองแร่โลหะตะกั่ว ของกลางแล้วขนแร่ไปโดย ไม่มีใบอนุญาตขนแร่ดังกล่าวโดย ฝ่าฝืนมาตรา 108 จำเลยย่อมมีความผิดฐาน ขนแร่โลหะตะกั่วตาม มาตรา 148 อีกกระทงหนึ่ง มิใช่เป็นการกระทำกรรมเดียวผิดกฎหมายหลายบท.
ย่อยาว
โจทก์ฟ้องขอให้ลงโทษจำเลยทั้งเจ็ดตามพระราชบัญญัติแร่พ.ศ. 2510 มาตรา 4, 105, 108, 148, 154, 155 ประมวลกฎหมายอาญามาตรา 83, 91 ริบของกลาง และจ่ายเงินรางวัลแก่เจ้าพนักงานผู้จับตามอัตราส่วนในกฎหมาย
จำเลยทั้งเจ็ดให้การรับสารภาพ
ศาลชั้นต้นพิพากษาว่า จำเลยทั้งเจ็ดมีความผิดตามฟ้องเรียงกระทงลงโทษ ลงโทษจำเลยที่ 1 ฐานใช้ยานพาหนะบรรทุกน้ำหนักเกินอัตรา จำคุก 2 เดือน และปรับ 2,000 บาท ลงโทษจำเลยทั้งเจ็ดฐานมีแร่ไว้ในความครอบครองปรับคนละ 249,730 บาท และฐานขนแร่ปรับคนละ 249,730 บาท รวมลงโทษจำคุกจำเลยที่ 1 มีกำหนด 2 เดือน และปรับ501,640 บาท จำเลยที่ 2 ถึงที่ 7 ปรับคนละ 499,460 บาท จำเลยให้การรับสารภาพเป็นประโยชน์แก่การพิจารณามีเหตุบรรเทาโทษ ลดโทษให้ตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 78 กึ่งหนึ่ง คงจำคุกจำเลยที่ 1 มีกำหนด 1 เดือน และปรับ 250,730 บาท จำเลยที่ 2 ถึงที่ 7 ปรับคนละ249,370 บาท (ที่ถูกเป็น 249,730 บาท) จำเลยที่ 1 ไม่เคยต้องโทษจำคุกมาก่อน โทษจำคุกให้รอการลงโทษไว้ภายในกำหนด 1 ปี ตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 56 จำเลยทั้งเจ็ดไม่ชำระค่าปรับให้กักขังแทนค่าปรับมีกำหนด 2 ปี ตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 29, 30ของกลางริบ ส่วนเงินรางวัลเป็นอำนาจของอธิบดีกรมทรัพยากรธรณีที่จะสั่งจ่าย จึงให้ยกคำร้องส่วนนี้
จำเลยทั้งเจ็ดอุทธรณ์
ศาลอุทธรณ์พิพากษายืน
จำเลยที่ 1 ที่ 2 และที่ 7 ฎีกา
ศาลฎีกาวินิจฉัยว่า “ที่จำเลยที่ 1 ที่ 2 และที่ 7 ฎีกาข้อ 2.1 ว่า ของกลางมิใช่เป็นแร่ตามพระราชบัญญัติแร่ พ.ศ. 2510มาตรา 4 เพราะปรากฏว่าหลังการจับกุม ผู้ว่าราชการจังหวัดกาญจนบุรีได้ส่งของกลางให้กรมทรัพยากรธรณี ทำการตรวจวิเคราะห์ทางฟิสิกส์และเคมีตามหนังสือ กจ.0033/27314 ลงวันที่ 21 พฤศจิกายน 2531ผลการตรวจวิเคราะห์ปรากฏตามรายงานการตรวจวิเคราะห์แร่ของกลางว่าของกลางตัวอย่างที่ 1 ส่วนหนึ่งพบธาตุตะกั่วและพลวงเล็กน้อยตัวอย่างที่ 2 เป็นตะกรัน พบธาตุตะกั่วและพลวงเล็กน้อย ไม่สามารถหาเปอร์เซ็นต์ทางฟิสิกส์ได้ ฉะนั้นของกลางไม่อาจถือได้ว่าเป็นแร่ศาลฎีกาเห็นว่า ปัญหาว่า ของกลางเป็นแร่หรือไม่ เป็นปัญหาข้อเท็จจริง ทั้งจำเลยก็ให้การรับสารภาพแล้วว่าของกลางดังกล่าวเป็นแร่ ฎีกาของจำเลยจึงเป็นฎีกาโต้เถียงข้อเท็จจริงที่ยุติแล้วศาลฎีกาจึงไม่รับวินิจฉัยให้ ที่จำเลยที่ 1 ที่ 2 และที่ 7 ฎีกาข้อ 2.3 เป็นปัญหาข้อกฎหมายอีกข้อหนึ่งว่าความผิดฐานมีแร่ไว้ในความครอบครองและฐานขนแร่ เป็นการกระทำกรรมเดียวผิดต่อกฎหมายหลายบท ตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 90 นั้น เห็นว่า พระราชบัญญัติแร่พ.ศ. 2510 มาตรา 4 พระราชกำหนดแก้ไขเพิ่มเติมพระราชบัญญัติแร่พ.ศ. 2510 (ฉบับที่ 2) พ.ศ. 2528 มาตรา 3 และประกาศสำนักนายกรัฐมนตรี เรื่อง การอนุมัติพระราชกำหนดแก้ไขเพิ่มเติมพระราชบัญญัติแร่ พ.ศ. 2510 (ฉบับที่ 2) พ.ศ. 2528ประกาศ ณ วันที่ 24 พฤษภาคม พ.ศ. 2528 ให้บทนิยามคำว่า “มีแร่ไว้ในครอบครอง หมายความว่า การซื้อแร่ การมีไว้ การยึดถือหรือการรับไว้ด้วยประการใดซึ่งแร่ ทั้งนี้ไม่ว่าเพื่อตนเองหรือผู้อื่น”พระราชบัญญัติแร่ พ.ศ. 2510 มาตรา 105 และพระราชบัญญัติแร่(ฉบับที่ 3) พ.ศ. 2522 มาตรา 18 บัญญัติว่า “ห้ามมิให้ผู้ใดมีแร่ไว้ในครอบครอง แต่ละชนิดเกินสองกิโลกรัมเว้นแต่ (1) ฯลฯ ถึง(12) ฯลฯ” พระราชบัญญัติแร่ พ.ศ. 2510 มาตรา 108 พระราชบัญญัติแร่(ฉบับที่ 2) พ.ศ. 2516 มาตรา 32 บัญญัติว่า “ห้ามมิให้ผู้ใดขนแร่ในที่ใด เว้นแต่ (1) ฯลฯ ถึง (10) ฯลฯ” ดังนั้น การที่จำเลยที่ 1ที่ 2 และที่ 7 ร่วมกับจำเลยอื่นครอบครองแร่โดยไม่ชอบด้วยกฎหมายแม้ว่าแร่จะเป็นของบุคคลอื่น จำเลยที่ 1 ที่ 2 และที่ 7 ย่อมมีความผิดฐานมีแร่โลหะตะกั่วไว้ในความครอบครองโดยไม่ได้รับใบอนุญาตกระทงหนึ่ง และที่จำเลยที่ 1 ที่ 2 และที่ 7 ครอบครองแร่โลหะตะกั่วของกลางแล้วขนแร่ไปโดยไม่มีใบอนุญาตขนแร่ดังกล่าวโดยฝ่าฝืนมาตรา 108 จำเลยที่ 1 ที่ 2 และที่ 7 ย่อมมีความผิดฐานขนแร่โลหะตะกั่ว ตามพระราชบัญญัติแร่ พ.ศ. 2510 มาตรา 148 ซึ่งแก้ไขเพิ่มเติมโดยพระราชบัญญัติแร่ (ฉบับที่ 3) พ.ศ. 2522 มาตรา 21อีกกระทงหนึ่ง มิใช่เป็นการกระทำกรรมเดียวผิดกฎหมายหลายบทดังที่จำเลยที่ 1 ที่ 2 และที่ 7 ฎีกา…”
พิพากษายืน.