แหล่งที่มา : สำนักงานส่งเสริมงานตุลาการ
ย่อสั้น
ที่ดินที่เช่า เป็นที่ลุ่มลึก หากไม่ทำการปรับและถม ที่ดินก็ใช้ประโยชน์ไม่ได้ การที่ผู้เช่าปรับและถม ที่ดินสิ้นค่าใช้จ่ายไปเป็นเงิน 150,000 บาท ทำให้ที่ดินมีราคาสูงขึ้น ก็ทำไปเพื่อประโยชน์ของผู้เช่าที่จะก่อสร้างสิ่งปลูกสร้างและหาผลประโยชน์จากสิ่งก่อสร้างนั้น ทั้งผู้เช่าก็ไม่ได้รับประโยชน์สิ่งใด นอกจากค่าเช่า ดังนี้ สัญญาเช่าดังกล่าวจึงไม่เป็นสัญญาต่างตอบแทนยิ่งกว่าสัญญาเช่าธรรมดา.
ย่อยาว
โจทก์ฟ้องขอให้ขับไล่จำเลยทั้งสองออกไปจากที่ดินดังกล่าวพร้อมทั้งรื้อถอนสิ่งปลูกสร้างทั้งหมดบนที่ดินดังกล่าว กับให้จำเลยทั้งสองชำระค่าเสียหายถึงวันฟ้องจำนวน 4,400 บาท และต่อไปเดือนละ2,200 บาท นับถัดจากวันฟ้องจนกว่าจะออกไปจากที่ดินของโจทก์ทั้งสอง
จำเลยที่ 1 ให้การว่า นายหล่อสามีจำเลยที่ 1 ได้เช่าที่ดินจากนายเพิ่มและโจทก์ที่ 2 จริง แต่เป็นสัญญาต่างตอบแทนยิ่งกว่าสัญญาเช่าธรรมดา เพราะที่ดินที่เช่ามีสภาพเป็นที่ลุ่มน้ำขัง ซึ่งต้องปรับและถมดิน นายหล่อได้ลงทุนถมดินสิ้นเงินไป 150,000 บาทค่าปลูกสร้างโรงเรือนอีก 250,000 บาท และเสียค่าเช่าเป็นรายปีปีละ165 บาท จนถึงปี พ.ศ. 2524 ครั้นเมื่อวันที่ 1 มกราคม 2520 โจทก์ที่ 2 ได้ทำสัญญาให้นายหล่อเช่าต่อไปอีก 21 ปี ซึ่งจะครบกำหนดในวันที่ 1 มกราคม 2543 นายหล่อได้ชำระค่าเช่าล่วงหน้าแล้วถึงวันที่1 มกราคม 2533 เป็นเงิน 1,850 บาท โจทก์ทั้งสองไม่มีสิทธิบอกเลิกสัญญา จำเลยที่ 1 ไม่เคยได้รับหนังสือบอกกล่าวเลิกสัญญา
จำเลยที่ 2 ขาดนัดยื่นคำให้การ
ระหว่างการพิจารณาของศาลชั้นต้น โจทก์ที่ 2 ถึงแก่ความตายนางพุม พรหมประดู่ ภริยาโจทก์ที่ 2 ขอเข้าเป็นคู่ความแทนศาลชั้นต้นอนุญาต
ศาลชั้นต้นพิจารณาแล้ว พิพากษาให้ขับไล่จำเลยทั้งสองและบริวารออกไปจากที่ดินตาม ส.ค. 1 เลขที่ 649/2498 หรือหนังสือรับรองการทำประโยชน์ (น.ส.3ก) เลขที่ 1492 ตำบลนาประดู่ อำเภอโคกโพธิ์ จังหวัดปัตตานี ให้จำเลยทั้งสองรื้อถอนสิ่งปลูกสร้างและส่งมอบที่ดินดังกล่าวให้โจทก์ทั้งสองในสภาพที่เรียบร้อยแทนโจทก์ทั้งสองด้วย
โจทก์ที่ 1 และจำเลยที่ 1 อุทธรณ์
ศาลอุทธรณ์พิพากษายืน
จำเลยที่ 1 ฎีกาในปัญหาข้อกฎหมาย
ศาลฎีกาวินิจฉัยว่า “ข้อเท็จจริงฟังเป็นยุติว่า เมื่อวันที่20 มกราคม 2515 นายหล่อ กลางอรัญ สามีจำเลยที่ 1 ได้ทำสัญญาเช่าที่ดิน ส.ค. 1 เอกสารหมาย จ.1 จากนายเพิ่ม พรหมประดู่ บิดาโจทก์ที่ 1 กับโจทก์ที่ 2 มีกำหนด 3 ปี เมื่อครบกำหนดแล้วให้ต่อสัญญาเช่าได้อีก 2 ครั้ง ครั้งละ 3 ปี ซึ่งจะครบกำหนดในวันที่ 20 มกราคม2524 ปรากฏตามหนังสือสัญญาเช่าที่ดิน เอกสารหมาย จ.2 ต่อมาวันที่1 มกราคม 2520 ก่อนครบกำหนดการเช่าดังกล่าว โจทก์ที่ 2 กับนายหล่อได้ทำสัญญาเช่ากันอีกฉบับหนึ่งตามสัญญาเช่าเอกสารหมาย ล.1 สัญญาเช่าใหม่นี้ตกลงเช่ามีกำหนดเวลาตั้งแต่วันทำสัญญาจนถึงวันที่ 1มกราคม 2523 โดยนายหล่อได้ชำระค่าเช่าล่วงหน้าในงวดแรกตั้งแต่วันที่ 1 มกราคม 2520 ถึงวันที่ 1 มกราคม 2533 ไปแล้วเป็นเงิน1,850 บาท หากจะเช่าต่อไปได้อีกจะต้องชำระค่าเช่าล่วงหน้าอีกเป็นเงิน 1,800 บาท ในวันที่ 25 กุมภาพันธ์ 2520 นายเพิ่มและนายหล่อได้ทำบันทึกตกลงให้นายหล่อเช่าที่ดินต่อไปมีกำหนดเวลาเท่ากับที่โจทก์ที่ 2 ตกลงให้นายหล่อเช่า ปรากฏตามบันทึกต่อท้ายหนังสือสัญญาเช่าที่ดินเอกสารหมาย จ.2 นายเพิ่มถึงแก่ความตายหลังจากทำบันทึกดังกล่าวแล้ว โจทก์ที่ 1 ซึ่งเป็นทายาทผู้รับมรดกได้ร่วมกับโจทก์ที่ 2 ขอให้ทางราชการออกหนังสือรับรองการทำประโยชน์ที่ดินที่ให้เช่าปรากฏตามหนังสือรับรองการทำประโยชน์เอกสารหมาย จ.3 และในปี พ.ศ. 2523 นายหล่อถึงแก่กรรม จำเลยที่ 1 ซึ่งเป็นภรรยาของนายหล่อได้ครอบครองที่ดินที่เช่าต่อมา ในปลายปี พ.ศ. 2527 ก่อนฟ้องคดีนี้ โจทก์ทั้งสองได้มีหนังสือบอกเลิกการเช่าแก่จำเลยทั้งสองแล้ว ปัญหาที่ขึ้นมาสู่ศาลฎีกามีว่า สัญญาเช่าที่ดินระหว่างนายหล่อกับนายเพิ่มและโจทก์ที่ 2 เป็นสัญญาต่างตอบแทนยิ่งกว่าสัญญาเช่าธรรมดาหรือไม่ ศาลฎีกาเห็นว่า ปรากฏตามสัญญาเช่าที่ดินเอกสารหมาย จ.2 แล้วว่า ที่ดินที่เช่าเป็นที่ลุ่มลึก หากเช่าแล้วไม่ทำการปรับและถมที่ดิน ที่ดินดังกล่าวก็ใช้ประโยชน์ไม่ได้ นายหล่อจึงได้ลงทุนทำการปรับและถมที่ดินสิ้นค่าใช้จ่ายไปเป็นเงิน 150,000 บาทแม้จะทำให้ที่ดินมีราคาสูงขึ้น แต่นายหล่อก็ทำไปเพื่อประโยชน์ของนายหล่อเองที่จะได้ทำการก่อสร้างสิ่งปลูกสร้างและหาผลประโยชน์จากสิ่งปลูกสร้างนั้นได้หากนายหล่อจะต้องลงทุนปรับและถมที่ดินที่เช่าโดยนายเพิ่มและโจทก์ที่ 2 ประสงค์จะให้เช่าที่ดินมีกำหนดเวลาถึงวันที่ 1 มกราคม 2543 จริงสัญญาเช่าที่ทำขึ้นถึง 2 ครั้งก็น่าจะระบุไว้ให้ชัดแจ้งว่าเพื่อเป็นการตอบแทนในการที่นายหล่อทำการปรับปรุงและถมที่ดินที่เช่าให้แก่นายเพิ่มและโจทก์ที่ 2แต่ก็หาได้ระบุไว้ไม่ ทั้งคู่สัญญาก็น่าจะจดทะเบียนการเช่าต่อพนักงานเจ้าหน้าที่ให้ถูกต้องตามกฎหมาย แต่ก็หาได้กระทำไม่ นอกจากนั้นนายเพิ่มและโจทก์ที่ 2 ก็ไม่ได้รับประโยชน์สิ่งใดอีกนอกจากค่าเช่าตามสัญญาเช่าเท่านั้น รูปคดีจึงฟังไม่ได้ว่าสัญญาเช่าทั้งสองฉบับดังกล่าวเป็นสัญญาต่างตอบแทนยิ่งกว่าสัญญาเช่าธรรมดาดังนั้นเมื่อนายหล่อผู้เช่าถึงแก่กรรมสัญญาเช่าที่ดินดังกล่าวจึงระงับไป…”
พิพากษายืน.