คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 3210/2532

แหล่งที่มา : เนติบัณฑิตยสภา

ย่อสั้น

แม้หนี้ตามฟ้องจะเป็นหนี้ที่เกิดขึ้นโดยผลของคำพิพากษาซึ่งยังไม่ถึงที่สุด แต่คู่ความก็ต้องผูกพันในผลของคำพิพากษาจนกว่าคำพิพากษานั้นจะถูกเปลี่ยนแปลง แก้ไข กลับหรืองดเสีย หนี้ตามคำพิพากษานั้นจึงถือได้ว่าเป็นหนี้ซึ่งอาจกำหนดจำนวนได้แน่นอนและเมื่อต่อมาศาลอุทธรณ์ได้พิพากษายืนให้จำเลยชำระหนี้ดังกล่าวแก่โจทก์ โดยเจ้าพนักงานพิทักษ์ทรัพย์ไม่ได้เข้าไปในคดี กรณีจึงไม่มีเหตุที่ยังไม่สมควรให้จำเลยล้มละลายตามพระราชบัญญัติล้มละลาย พ.ศ. 2483 มาตรา 14

ย่อยาว

โจทก์ทั้งสองเป็นเจ้าหนี้จำเลยตามคำพิพากษาของศาลแพ่ง คดีหมายเลขแดงที่ 9491/2527 เป็นเงิน 2,399,567.95 บาท พร้อมดอกเบี้ยและค่าฤชาธรรมเนียมกับค่าทนายความ 10,000 บาท โดยจำเลยทราบคำบังคับของศาลแล้ว ไม่สามารถชำระหนี้แก่โจทก์และไม่มีทรัพย์สินอย่างหนึ่งอย่างใดที่จะยึดมาชำระหนี้ได้ ประกอบกับจำเลยยื่นคำร้องขออุทธรณ์คดีดังกล่าวอย่างคนอนาถาโดยแจ้งว่าจำเลยเป็นคนยากจน ไม่มีเงินและทรัพย์สินใดที่จะจำหน่ายเอาเสียค่าธรรมเนียมศาล นอกจากนี้จำเลยจำหน่ายจ่ายโอนทรัพย์สินไปให้พ้นอำนาจศาลโดยไม่สุจริต ถือได้ว่าจำเลยมีหนี้สินล้นพ้นตัวขอให้มีคำสั่งพิทักษ์ทรัพย์จำเลยเด็ดขาด และพิพากษาให้ล้มละลายจำเลยให้การว่า หนี้ตามคำพิพากษาดังกล่าวยังไม่แน่นอน เพราะมีข้อโต้แย้งกันอยู่ในเรื่องยอดหนี้ จำเลยได้ชำระหนี้ให้โจทก์ครบถ้วนแล้ว จำเลยมิได้จำหน่ายจ่ายโอนทรัพย์สินให้พ้นอำนาจศาลโดยไม่สุจริต คดีดังกล่าวอยู่ระหว่างอุทธรณ์ ศาลสูงอาจมีคำพิพากษาให้ยกฟ้องโจทก์ได้ จำเลยไม่มีหนี้สินอื่นอีกขอให้ยกฟ้องศาลชั้นต้นมีคำสั่งพิทักษ์ทรัพย์จำเลยเด็ดขาดตามพระราชบัญญัติล้มละลาย พ.ศ. 2483 มาตรา 14 จำเลยอุทธรณ์ ศาลอุทธรณ์พิพากษายืน จำเลยฎีกา
ศาลฎีกาวินิจฉัยว่า “คดีฟังยุติได้ว่า ศาลแพ่งได้พิพากษาให้จำเลยชำระเงินแก่โจทก์จำนวน 2,399,567.95 บาท พร้อมดอกเบี้ยและค่าฤชาธรรมเนียมกับค่าทนายความ 10,000 บาท ตามคดีหมายเลขแดงที่ 9491/2527 คดีอยู่ในระหว่างการพิจารณาของศาลอุทธรณ์ โจทก์จึงฟ้องคดีนี้ให้จำเลยล้มละลาย
คดีมีปัญหาตามฎีกาจำเลยว่า โจทก์จะฟ้องให้จำเลยล้มละลายได้หรือไม่ โดยจำเลยฎีกาว่า หนี้ตามที่โจทก์ฟ้องเป็นหนี้ที่ไม่อาจกำหนดจำนวนได้แน่นอน พิเคราะห์แล้วเห็นว่า หนี้ตามที่โจทก์ฟ้องนั้นเป็นหนี้ที่เกิดขึ้นโดยผลของคำพิพากษา แม้ว่าคำพิพากษาในคดีนั้นจะยังไม่ถึงที่สุดโดยอยู่ในระหว่างการพิจารณาของศาลอุทธรณ์(ขณะโจทก์ฟ้องคดีนี้) แต่คู่ความยังต้องผูกพันในผลของคำพิพากษาจนกว่าคำพิพากษานั้นจะถูกเปลี่ยนแปลงแก้ไข กลับหรืองดเสียในที่สุด หนี้ตามคำพิพากษาดังกล่าวจึงถือได้ว่าเป็นหนี้ซึ่งอาจกำหนดจำนวนได้แน่นอนแล้ว ทั้งข้อเท็จจริงได้ความว่า คดีดังกล่าวต่อมาศาลอุทธรณ์ได้พิพากษายืนตามคำพิพากษาศาลชั้นต้น ให้จำเลยชำระหนี้แก่โจทก์ตามฟ้อง โดยเจ้าพนักงานพิทักษ์ทรัพย์ก็ไม่ได้เข้าไปในคดี กรณีจึงไม่มีเหตุที่ยังไม่สมควรให้ลูกหนี้ล้มละลายตามพระราชบัญญัติล้มละลาย พ.ศ. 2483 มาตรา 14 โจทก์ฟ้องขอให้จำเลยล้มละลายได้”
พิพากษายืน

Share