คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 3172/2532

แหล่งที่มา : เนติบัณฑิตยสภา

ย่อสั้น

จำเลยทั้งสองร่วมกันทำเลียนเครื่องหมายการค้าของผู้อื่นแล้วนำไปติดประทับไว้ที่กระสอบซึ่งมีข้าวสารเจ้าบรรจุอยู่ และร่วมกันเสนอจำหน่ายและจำหน่ายข้าวสารเจ้านั้นแก่ผู้ซื้อข้าวสารเจ้าทั้งหมดจึงเป็นทรัพย์ส่วนหนึ่งที่จำเลยทั้งสองใช้ในการกระทำความผิดตามฟ้อง ศาลมีคำสั่งรับได้ตามประมวลกฎหมายอาญามาตรา 33(1)

ย่อยาว

โจทก์ฟ้อง ขอให้ลงโทษจำเลยตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 274,275, 91, 33 ริบของกลาง จำเลยทั้งสองให้การรับสารภาพ ศาลชั้นต้นพิพากษาว่า จำเลยทั้งสองมีความผิดตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 274,275, 91, 33 รวม 2 กระทง ให้ลงโทษจำเลยที่ 1 ปรับกระทงละ 2,000 บาทจำเลยที่ 2 ลงโทษจำคุกกระทงละ 2 เดือน และปรับกระทงละ 2,000 บาทรวมโทษจำเลยที่ 1 ปรับ 4,000 บาท จำเลยที่ 2 จำคุก 4 เดือน และปรับ4,000 บาท จำเลยให้การรับสารภาพลดโทษให้กึ่งหนึ่งตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 78 คงลงโทษจำเลยที่ 1 ปรับ 2,000 บาทจำเลยที่ 2 จำคุก 2 เดือน และปรับ 2,000 บาท โทษจำคุกให้รอไว้มีกำหนด 1 ปี ไม่ชำระค่าปรับให้จัดการตามประมวลกฎหมายอาญามาตรา 29, 30 ให้ริบกระสอบข้าวสารและใบปลิวโฆษณาที่มีเครื่องหมายการค้าอันเป็นเครื่องหมายการค้าที่เลียนเครื่องหมายการค้าของผู้เสียหาย ส่วนข้าวสารเจ้า (ข้าวหอมมะลิ) ของกลางนั้นให้คืนแก่เจ้าของ โจทก์อุทธรณ์ขอให้ริบข้าวสารเจ้า (ข้าวหอมมะลิ)ของกลางด้วย ศาลอุทธรณ์พิพากษาแก้เป็นว่า ให้ริบข้าวสารเจ้า(ข้าวหอมมะลิ) ของกลางทั้งหมดด้วย นอกจากที่แก้ให้คงเป็นไปตามคำพิพากษาศาลชั้นต้น จำเลยที่ 1 ฎีกา
ศาลฎีกาวินิจฉัยว่า “คงมีปัญหาตามฎีกาของจำเลยที่ 1 เพียงว่าข้าวสารเจ้า (ข้าวหอมมะลิ) จำนวน 2,500 กระสอบ ของกลางเป็นทรัพย์ที่ใช้ในการกระทำความผิดหรือไม่ พิเคราะห์แล้ว คดีนี้จำเลยทั้งสองร่วมกันเลียนเครื่องหมายการค้าของผู้เสียหาย แล้วนำไปติดประทับทำให้ปรากฏไว้ที่กระสอบข้าวสารเจ้าซึ่งมีข้าวสารเจ้าบรรจุอยู่จำนวน2,500 กระสอบ และที่ใบปลิวโฆษณาที่บรรจุในกระสอบข้าวสารเจ้าดังกล่าวจำนวน 2,500 ใบ นอกจากนี้จำเลยทั้งสองยังได้เสนอจำหน่ายและจำหน่ายข้าวสารเจ้านั้นให้แก่บริษัทเอ็นทียูซี แฟร์ไพรซ์ โค-โอเปอร์เรทีฟ จำกัด ประเทศสิงคโปร์อีกด้วย ทั้งนี้โดยจำเลยทั้งสองประสงค์จะให้บริษัทเอ็นทียูซี แฟร์ไพรซ์ โค-โอเปอร์เรทีฟ จำกัด และประชาชนทั่วไปหลงเชื่อว่า ข้าวสารเจ้าที่บรรจุอยู่ในกระสอบจำนวนดังกล่าวเป็นของผู้เสียหาย ข้าวสารเจ้าของกลางทั้งหมดจึงเป็นทรัพย์ส่วนหนึ่งที่จำเลยทั้งสองใช้ในการกระทำความผิดตามฟ้อง ซึ่งศาลย่อมมีอำนาจสั่งริบเสียได้ ตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 33(1)”
พิพากษายืน

Share