แหล่งที่มา : สำนักวิชาการ
ย่อสั้น
ก่อนโจทก์นำยึดหุ้นของจำเลยที่ 1 โจทก์ได้นำยึดที่ดินจำนวน 9 แปลง ของจำเลยทั้งห้าไว้ก่อนแล้ว และปรากฏจากคำแถลงของโจทก์ว่าจำเลยที่ 1 ถูกศาลล้มละลายกลางมีคำสั่งพิทักษ์ทรัพย์เด็ดขาด โจทก์จะไปยื่นขอรับชำระหนี้ในคดีล้มละลาย แสดงว่าโจทก์ทราบแล้วว่าจำเลยที่ 1 ถูกศาลมีคำสั่งพิทักษ์ทรัพย์เด็ดขาด ซึ่งโจทก์ต้องไปยื่นคำขอรับชำระหนี้ต่อเจ้าพนักงานพิทักษ์ทรัพย์ภายในระยะเวลาที่กฎหมายกำหนด แต่โจทก์ยังคงใช้สิทธิความเป็นเจ้าหนี้ตามคำพิพากษานำยึดหุ้นของจำเลยที่ 1 อีก โจทก์มิได้ตรวจสอบมูลค่าหุ้นของจำเลยที่ 1 ให้ดีก่อนทำการยึดว่ามีความจำเป็นและสมควรยึดไว้เพื่อขายทอดตลาดหรือไม่ จึงนับว่าเป็นความผิดและเป็นความประมาทเลินเล่ออย่างร้ายแรงของโจทก์เอง นอกจากนี้ ผู้แทนโจทก์ยังแถลงต่อเจ้าพนักงานบังคับคดีในการยึดหุ้นว่า หากเกิดความเสียหายประการใดยินยอมรับผิดชอบเองทั้งสิ้น และเห็นชอบด้วยกับเจ้าพนักงานบังคับคดีในราคาประเมินหุ้นละ 100 บาท เท่ากับมูลค่าหุ้นที่โจทก์อ้างว่าได้ดูจากที่มีการจดทะเบียนไว้ต่อนายทะเบียน ซึ่งสามารถคำนวณเป็นราคาทรัพย์สินที่ยึดเพื่อเสียค่าธรรมเนียมเจ้าพนักงานบังคับคดีได้ ดังนี้ โจทก์จะมาอ้างในภายหลังว่าขณะยึดหุ้นมีมูลค่าติดลบ ไม่มีคนซื้อ เพื่อให้ตนพ้นความรับผิดในค่าธรรมเนียมเจ้าพนักงานบังคับคดีหาได้ไม่ เมื่อโจทก์เป็นผู้ดำเนินกระบวนพิจารณาขอให้เจ้าพนักงานบังคับคดียึดหุ้นของจำเลยที่ 1 เอง และเห็นชอบด้วยกับราคาประเมินมูลค่าหุ้นดังกล่าว โดยไม่ปรากฏว่าเจ้าพนักงานบังคับคดีปฏิบัติหน้าที่โดยผิดพลาดหรือบกพร่องแต่ประการใด โจทก์จึงต้องเป็นผู้ชำระค่าธรรมเนียมยึดทรัพย์สินแล้วไม่มีการขายร้อยละ 3 ครึ่งของราคาทรัพย์สินที่ยึดตาม ป.วิ.พ. มาตรา 149 วรรคหนึ่ง ประกอบตาราง 5 ข้อ 3 ท้าย ป.วิ.พ. (เดิม)
ย่อยาว
คดีสืบเนื่องมาจากศาลชั้นต้นพิพากษาให้จำเลยทั้งห้าร่วมกันชำระเงิน 4,070,000 บาท พร้อมดอกเบี้ยในอัตราร้อยละ 15.5 ต่อปี นับแต่วันที่ 3 ตุลาคม 2538 ถึงวันที่ 27 พฤษภาคม 2539 โดยให้นำเงินที่จำเลยชำระมาแล้วจำนวน 15,000 บาท 5,900 บาท และ 7,000 บาท ไปหักชำระดอกเบี้ยที่ค้างอยู่ในวันที่นำเงินมาชำระในแต่ละครั้ง หากมีเงินเหลือให้นำหักต้นเงินที่ค้างชำระ และดอกเบี้ยในอัตราร้อยละ 16 ต่อปี ของต้นเงินที่ค้างชำระนับแต่วันที่ 28 พฤษภาคม 2539 เป็นต้นไปจนกว่าจะชำระเสร็จ โดยให้นำเงินที่จำเลยที่ 1 ชำระจำนวน 200,000 บาท ไปหักชำระดอกเบี้ยที่ค้างถึงวันที่ 5 กุมภาพันธ์ 2540 หากมีเงินเหลือให้นำไปหักชำระต้นเงิน หากจำเลยทั้งห้าไม่ชำระให้ยึดทรัพย์ที่ดินโฉนดเลขที่ 17361, 17362 และ 20572 ถึง 20578 ตำบลปากช่อง อำเภอปากช่อง จังหวัดนครราชสีมา พร้อมสิ่งปลูกสร้างออกขายทอดตลาดนำเงินมาชำระให้แก่โจทก์ หากไม่พอชำระหนี้ให้ยึดทรัพย์อื่นของจำเลยทั้งห้าออกขายทอดตลาดนำเงินมาชำระให้แก่โจทก์จนครบ กับให้จำเลยทั้งห้าร่วมกันชำระค่าฤชาธรรมเนียมแทนโจทก์ โดยกำหนดค่าทนายความ 3,000 บาท ส่วนค่าขึ้นศาลให้ใช้แทนเท่าทุนทรัพย์ที่โจทก์ชนะคดี ผู้แทนโจทก์นำเจ้าพนักงานบังคับคดียึดที่ดินโฉนดเลขที่ 17361, 17362 และ 20572 ถึง 20578 ตำบลปากช่อง อำเภอปากช่อง จังหวัดนครราชสีมา พร้อมสิ่งปลูกสร้าง และศาลชั้นต้นอนุญาตให้นำออกขายทอดตลาด ต่อมาจำเลยที่ 1 ถูกศาลล้มละลายกลางมีคำสั่งพิทักษ์ทรัพย์เด็ดขาด
ผู้แทนโจทก์นำเจ้าพนักงานบังคับคดียึดหุ้นบริษัทปากช่องแลนด์มาร์ค จำกัด หุ้นหมายเลข 860001 ถึง 935000 จำนวน 75,000 หุ้น ซึ่งมีชื่อจำเลยที่ 1 เป็นผู้ถือกรรมสิทธิ์ ศาลชั้นต้นมีคำสั่งอนุญาตให้ขายทอดตลาดได้ ต่อมาโจทก์ยื่นคำแถลงต่อเจ้าพนักงานบังคับคดีขอถอนการยึดและขอยกเว้นค่าธรรมเนียมยึดทรัพย์สินแล้ว ไม่มีการขาย เจ้าพนักงานบังคับคดีมีคำสั่งว่า โจทก์ต้องเสียค่าธรรมเนียมถอนการยึด
โจทก์ยื่นคำร้องว่า ขณะโจทก์นำเจ้าพนักงานบังคับคดียึดหุ้นของจำเลยที่ 1 ซึ่งมีอยู่ในบริษัทปากช่องแลนด์มาร์ค จำกัด นั้น โจทก์สำคัญผิดว่าหุ้นดังกล่าวมีมูลค่าหุ้นละ 100 บาท แต่ในความเป็นจริงแล้วหุ้นไม่มีมูลค่าเลย เพราะติดลบอยู่ 4,242,000 บาท จึงเป็นหุ้นที่ไม่มีราคาและไม่มีผู้ใดซื้อหุ้นอย่างแน่นอน โจทก์เพิ่งทราบเรื่อง ทั้งปัจจุบันบริษัทปากช่องแลนด์มาร์ค จำกัด ไม่มีสภาพเป็นนิติบุคคลแล้ว และไม่มีหุ้นที่จะนำออกขายทอดตลาดได้ ค่าธรรมเนียมยึดทรัพย์แล้วไม่มีการขายในอัตราร้อยละ 3.5 ของราคาทรัพย์ที่ยึดจึงไม่อาจคำนวณเป็นตัวเงินได้ คำสั่งของเจ้าพนักงานบังคับคดีไม่ชอบด้วยกฎหมาย ขอให้เพิกถอนคำสั่งของเจ้าพนักงานบังคับคดีและอนุญาตให้โจทก์ถอนการยึดโดยงดชำระค่าธรรมเนียมยึดทรัพย์สินแล้วไม่มีการขาย
ศาลชั้นต้นมีคำสั่งว่า ขณะโจทก์นำยึดหุ้นของจำเลยที่ 1 หุ้นยังมีมูลค่า แม้ต่อมาหุ้นดังกล่าวจะไม่มีมูลค่าเนื่องจากบริษัทปากช่องแลนด์มาร์ค จำกัด ไม่มีสภาพเป็นนิติบุคคลแล้วหากโจทก์ประสงค์จะถอนการยึด โจทก์ต้องเสียค่าธรรมเนียมถอนการยึดตามความเห็นของเจ้าพนักงานบังคับคดี ให้ยกคำร้อง
โจทก์อุทธรณ์
ศาลอุทธรณ์ภาค 3 พิพากษายืน ค่าฤชาธรรมเนียมในชั้นอุทธรณ์ให้เป็นพับ
โจทก์ฎีกา
ศาลฎีกาวินิจฉัยว่า มีปัญหาต้องวินิจฉัยตามฎีกาของโจทก์ว่า โจทก์จะต้องเสียค่าธรรมเนียมเจ้าพนักงานบังคับคดีที่ยึดทรัพย์สินแล้วไม่มีการขายตามประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความแพ่ง มาตรา 149 วรรคหนึ่ง และตาราง 5 ข้อ 3 ท้ายประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความแพ่ง (เดิม) หรือไม่ โจทก์ฎีกาว่า โจทก์นำยึดหุ้นของจำเลยที่ 1 โดยดูจากมูลค่าหุ้นที่จดทะเบียนไว้ต่อนายทะเบียน จึงเข้าใจว่าหุ้นมีมูลค่าหุ้นละ 100 บาท แต่ในความเป็นจริงขณะที่โจทก์นำยึดหุ้นติดลบ 59.57 บาท ต่อหุ้น ซึ่งไม่มีคนซื้อ หากโจทก์ทราบว่าหุ้นติดลบไม่มีมูลค่าโจทก์จะไม่นำยึด โจทก์มิได้ประมาทเลินเล่ออย่างร้ายแรง และเมื่อหุ้นไม่มีมูลค่าจึงไม่อาจคำนวณค่าธรรมเนียมยึดทรัพย์สินแล้วไม่มีการขายเป็นตัวเงินได้ โจทก์ไม่มีหน้าที่ต้องเสีย ค่าธรรมเนียมยึดทรัพย์สินแล้วไม่มีการขายนั้น เห็นว่า ก่อนโจทก์นำยึดหุ้นของจำเลยที่ 1 โจทก์ได้นำยึดที่ดินจำนวน 9 แปลง ของจำเลยทั้งห้าไว้ก่อนแล้ว และปรากฏจากคำแถลงของโจทก์ว่า จำเลยที่ 1 ถูกศาลล้มละลายกลางมีคำสั่งพิทักษ์ทรัพย์เด็ดขาด โจทก์จะไปยื่นขอรับชำระหนี้ในคดีล้มละลาย แสดงว่าโจทก์ทราบแล้วว่าจำเลยที่ 1 ถูกศาลมีคำสั่งพิทักษ์ทรัพย์เด็ดขาด ซึ่งโจทก์ต้องไปยื่นคำขอรับชำระหนี้ต่อเจ้าพนักงานพิทักษ์ทรัพย์ภายในระยะเวลาที่กฎหมายกำหนด แต่โจทก์ยังคงใช้สิทธิความเป็นเจ้าหนี้ตามคำพิพากษานำยึดหุ้นของจำเลยที่ 1 อีก โจทก์มิได้ตรวจสอบมูลค่าหุ้นของจำเลยที่ 1 ให้ดีก่อนทำการยึดว่ามีความจำเป็นและสมควรยึดไว้เพื่อขายทอดตลาดหรือไม่ จึงนับว่าเป็นความผิดและเป็นความประมาทเลินเล่ออย่างร้ายแรงของโจทก์เอง นอกจากนี้ ผู้แทนโจทก์ยังแถลงต่อเจ้าพนักงานบังคับคดีในการยึดหุ้นว่า หากเกิดความเสียหายประการใดยินยอมรับผิดชอบเองทั้งสิ้น และเห็นชอบด้วยกับเจ้าพนักงานบังคับคดีในราคาประเมินหุ้นละ 100 บาท เท่ากับมูลค่าหุ้นที่โจทก์อ้างว่าได้ดูจากที่มีการจดทะเบียนไว้ต่อนายทะเบียน ซึ่งสามารถคำนวณเป็นราคาทรัพย์สินที่ยึดเพื่อเสียค่าธรรมเนียมเจ้าพนักงานบังคับคดีได้ ดังนี้ โจทก์จะมาอ้างในภายหลังว่าขณะยึดหุ้นมีมูลค่าติดลบไม่มีคนซื้อ เพื่อให้ตนพ้นความรับผิดในค่าธรรมเนียมเจ้าพนักงานบังคับคดีหาได้ไม่ เมื่อโจทก์เป็นผู้ดำเนินกระบวนพิจารณาขอให้เจ้าพนักงานบังคับคดียึดหุ้นของจำเลยที่ 1 เอง และเห็นชอบด้วยกับราคาประเมินมูลค่าหุ้นดังกล่าว โดยไม่ปรากฏว่าเจ้าพนักงานบังคับคดีปฏิบัติหน้าที่โดยผิดพลาดหรือบกพร่องแต่ประการใด โจทก์จึงต้องเป็นผู้ชำระค่าธรรมเนียมยึดทรัพย์สินแล้วไม่มีการขายร้อยละ 3 ครึ่งของราคาทรัพย์สินที่ยึดตามประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความแพ่ง มาตรา 149 วรรคหนึ่ง ประกอบตาราง 5 ข้อ 3 ท้ายประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความแพ่ง (เดิม) กรณีจึงไม่มีเหตุให้เพิกถอนคำสั่งเจ้าพนักงานบังคับคดีตามคำร้องของโจทก์ ที่ศาลอุทธรณ์ภาค 3 พิพากษายืนตามคำสั่งศาลชั้นต้นที่ให้ยกคำร้องของโจทก์นั้นชอบแล้ว ฎีกาของโจทก์ฟังไม่ขึ้น
พิพากษายืน ค่าฤชาธรรมเนียมชั้นฎีกาให้เป็นพับ