คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 6472/2551

แหล่งที่มา : เนติบัณฑิตยสภา

ย่อสั้น

วัดโคกเป็นวัดร้างที่รวมเข้ากับวัดโจทก์ก่อนที่จะมีพระราชบัญญัติลักษณะปกครองคณะสงฆ์ รัตนโกสินทร์ศก 121 ออกมาใช้บังคับ จึงไม่อาจถือได้ว่าเป็นการรวมวัดที่ไม่ชอบหรือขัดต่อกฎหมายที่ดินวัดโคกที่รวมเข้ากับวัดโจทก์จึงเป็นศาสนสมบัติของโจทก์ มิใช่ศาสนสมบัติกลางซึ่งเป็นอำนาจหน้าที่ของกรมการศาสนาที่จะดูแลรักษาและจัดการ โจทก์ชอบที่จะขอออกโฉนดครอบคลุมที่ดินทั้งหมดอันเป็นศาสนสมบัติของตนได้
วัดโจทก์เป็นเจ้าของกรรมสิทธิ์ที่ดินที่จำเลยปลูกบ้านพักอาศัย ทั้งการฟ้องคดีเพื่อขับไล่ผู้ที่อยู่ในที่ดินของวัดโดยละเมิดไม่ได้อยู่ในบังคับที่จะต้องได้รับความเห็นชอบจากกรมการศาสนาหรือได้รับอนุมัติจากมหาเถรสมาคมตามกฎกระทรวงฉบับที่ 2 (พ.ศ.2511) ออกตามความใน พ.ร.บ.คณะสงฆ์ พ.ศ.2505 โจทก์จึงมีอำนาจฟ้องขับไล่จำเลย
จำเลยทั้งสิบสามต่างคนต่างเป็นจำเลยในแต่ละสำนวนที่ถูกโจทก์ฟ้องเท่านั้น มิได้เป็นจำเลยในสำนวนอื่นที่ได้รวมพิจารณาเข้าด้วยกัน การที่ศาลชั้นต้นพิพากษาให้จำเลยทั้งสามร่วมกันใช้ค่าฤชาธรรมเนียมแทนโจทก์โดยมิได้สั่งแยกเป็นรายสำนวนจึงไม่ถูกต้อง

ย่อยาว

คดีทั้งสิบสามสำนวนนี้ศาลชั้นต้นสั่งให้รวมพิจารณาพิพากษาเป็นคดีเดียวกัน โดยให้เรียกโจทก์ในทุกสำนวนว่า โจทก์ และเรียกจำเลยในสำนวนแรกถึงสำนวนที่สิบสามว่า จำเลยที่ 1 ถึงที่ 13 ตามลำดับ
โจทก์ฟ้องจำเลยทั้งสิบสามสำนวนเป็นใจความว่า โจทก์มีฐานะเป็นนิติบุคคล ประเภทวัด ได้รับพระราชทานวิสุงคามสีมาเมื่อปี 2423 มีพระธรรมญาณมุนีหรือพระญาณไตรโลกเป็นเจ้าอาวาส โจทก์มอบอำนาจให้พระพิพัฒน์วราภรณ์ รองเจ้าอาวาสเป็นผู้ดำเนินคดีแทนในสองสำนวนแรก และมอบอำนาจให้นายไพรัช ปลื้มญาติเป็นผู้ดำเนินคดีแทนในสิบเอ็ดสำนวนหลัง โจทก์เป็นเจ้าของกรรมสิทธิ์ที่ดินโฉนดเลขที่ 9149 ตำบลคลองสวนพลู อำเภอพระนครศรีอยุธยา จังหวัดพระนครศรีอยุธยา เนื้อที่ 82 ไร่ 3 งาน 30 ตารางวา เมื่อวันที่ 21 พฤษภาคม 2538 จำเลยที่ 1 และที่ 3 ถึงที่ 13 ต่างทำสัญญาเช่าที่ดินคนละส่วนจากโจทก์ มีกำหนด 1 ปี นับแต่วันที่ 21 พฤษภาคม 2538 ถึงวันที่ 20 พฤษภาคม 2539 เพื่อปลูกบ้านพักอาศัย เมื่อครบกำหนดระยะเวลาการเช่า จำเลยที่ 1 และที่ 3 ถึงที่ 13 ไม่ยอมรื้อถอนสิ่งปลูกสร้างออกไปจากที่ดินของโจทก์ ส่วนจำเลยที่ 2 ปลูกบ้านพักอาศัยในที่ดินของโจทก์โดยโจทก์ไม่ยินยอม โจทก์ประสงค์จะใช้ที่ดินทำประโยชน์ จึงได้บอกกล่าวให้จำเลยทั้งสิบสามรื้อถอนสิ่งปลูกสร้างออกไปจากที่ดิน จำเลยทั้งสิบสามเพิกเฉย และยังคงอยู่ในที่ดินโดยละเมิดต่อสิทธิของโจทก์ตลอดมา โจทก์ได้รับความเสียหาย ขอให้บังคับจำเลยที่ 1 และบริวารรื้อถอนบ้านพักอาศัยเลขที่ 55/1 ให้จำเลยที่ 2 และบริวารรื้อถอนบ้านพักอาศัยเลขที่ 58 ให้จำเลยที่ 3 และบริวารรื้อถอนบ้านพักอาศัยเลขที่ 54 ให้จำเลยที่ 4 และบริวารรื้อถอนบ้านพักอาศัยเลขที่ 62 ให้จำเลยที่ 5 และบริวารรื้อถอนบ้านพักอาศัยเลขที่ 59/5 ให้จำเลยที่ 6 และบริวารรื้อถอนบ้านพักอาศัยเลขที่ 54/1 ให้จำเลยที่ 7 และบริวารรื้อถอนบ้านพักอาศัยเลขที่ 60 ให้จำเลยที่ 8 และบริวารรื้อถอนบ้านพักอาศัยเลขที่ 42/1 ให้จำเลยที่ 9 และบริวารรื้อถอนบ้านพักอาศัยเลขที่ 62/1 ให้จำเลยที่ 10 และบริวารรื้อถอนบ้านพักอาศัยเลขที่ 56 ให้จำเลยที่ 11 และบริวารรื้อถอนบ้านพักอาศัยเลขที่ 56/1 ให้จำเลยที่ 12 และบริวารรื้อถอนบ้านพักอาศัยเลขที่ 59/3 และให้จำเลยที่ 13 และบริวารรื้อถอนบ้านพักอาศัยเลขที่ 61 หมู่ที่ 4 ตำบลคลองสวนพลู อำเภอพระนครศรีอยุธยา จังหวัดพระนครศรีอยุธยา พร้อมกับขนย้ายทรัพย์สินออกไปจากที่ดินของโจทก์ และห้ามเข้ายุ่งเกี่ยวอีกต่อไป หากจำเลยทั้งสิบสามไม่ปฏิบัติตาม ให้โจทก์เป็นผู้รื้อถอนและขนย้ายเอง โดยให้จำเลยเป็นผู้ออกค่าใช้จ่าย ให้จำเลยทั้งสิบสามใช้ค่าเสียหายแก่โจทก์โดยให้จำเลยที่ 1 ที่ 8 ที่ 9 ที่ 11 และที่ 12 ใช้ค่าเสียหายเดือนละ 3,000 บาท ให้จำเลยที่ 2 ที่ 3 และที่ 7 ใช้ค่าเสียหายเดือนละ 4,000 บาท และให้จำเลยที่ 4 ถึงที่ 6 ที่ 10 และที่ 13 ใช้ค่าเสียหายเดือนละ 5,000 บาท นับถัดจากวันฟ้องจนกว่าจะรื้อถอนและขนย้ายทรัพย์สินออกไปจากที่ดินของโจทก์
จำเลยทั้งสิบสามสำนวนให้การว่า โจทก์ไม่มีอำนาจฟ้อง พระธรรมญาณมุนีหรือพระญาณไตรโลกซึ่งเป็นเจ้าอาวาสมีอำนาจกระทำการแทนโจทก์เฉพาะในกิจการทั่วไป ไม่มีอำนาจฟ้องคดีหรือมอบอำนาจให้ผู้ใดฟ้องคดีแทนโจทก์ได้ ลายมือชื่อของพระธรรมญาณมุนีหรือพระญาณไตรโลกในหนังสือมอบอำนาจเป็นลายมือชื่อปลอม โจทก์มิใช่เจ้าของกรรมสิทธิ์ที่ดินที่จำเลยทั้งสิบสามปลูกบ้านพักอาศัยที่ดินดังกล่าวเป็นของวัดโคกร้างซึ่งยังมิได้เพิกถอนทะเบียนวัดและไม่เคยมีการโอนกรรมสิทธิ์ที่ดินให้แก่วัดใด ถือว่าเป็นศาสนสมบัติกลางซึ่งอยู่ในความดูแลของกรมการศาสนา จำเลยทั้งสิบสามครอบครองที่ดินดังกล่าวมาไม่ต่ำกว่า 50 ปี แท้จริงแล้วที่ดินของโจทก์มีเนื้อที่เพียง 71 ไร่เศษ มิใช่ 82 ไร่ 3 งาน 30 ตารางวา ตามที่ระบุในโฉนดที่ดิน การออกโฉนดที่ดินของโจทก์กระทำโดยไม่ชอบ เจ้าพนักงานที่ดินออกโฉนดที่ดินให้แก่โจทก์เกินเลยไปโดยสำคัญผิด เนื่องจากโจทก์หรือผู้แทนโจทก์นำชี้แนวเขตรุกล้ำที่ดินของบุคคลอื่น โดยมิได้แจ้งเจ้าของที่ดินข้างเคียงและจำเลยทั้งสิบสามให้ไปคัดค้านหรือระวังแนวเขตโจทก์จึงไม่มีอำนาจฟ้องจำเลยทั้งสิบสามโดยอ้างว่าเป็นเจ้าของกรรมสิทธิ์ โจทก์กันที่ดินไว้เพื่อจัดประโยชน์หรือนำออกให้เช่าเป็นการไม่ชอบ เพราะไม่ได้รับความเห็นชอบจากกรมการศาสนา และไม่ได้รับอนุมัติจากมหาเถรสมาคมตามกฎกระทรวงฉบับที่ 2 (พ.ศ.2511) ออกตามความในพระราชบัญญัติคณะสงฆ์ พ.ศ.2505 โจทก์มิใช่เจ้าของกรรมสิทธิ์ที่จะมีอำนาจให้เช่าที่ดินได้ จำเลยที่ 1 และที่ 3 ถึงที่ 13 ทำสัญญาเช่าที่ดินกับโจทก์โดยสำคัญผิดว่าโจทก์เป็นเจ้าของกรรมสิทธิ์ที่ดิน สัญญาเช่าที่ดินตามฟ้องจึงตกเป็นโมฆะก่อนครบกำหนดระยะเวลาการเช่า โจทก์ให้คำมั่นว่าจะให้จำเลยที่ 1 และที่ 3 เช่าที่ดินต่อไปคราวละ 1 ปี จนครบ 20 ปี สัญญาเช่าที่ดินจึงยังไม่ครบกำหนด นอกจากนี้โจทก์ให้จำเลยที่ 1 และที่ 3 ถึงที่ 13 ช่วยออกเงินค่าถมดินเทพื้นคอนกรีตบนที่ดินที่เช่าและบริเวณใกล้เคียงทำเป็นทาง อันเป็นการเรียกค่าตอบแทนพิเศษยิ่งกว่าการเช่าธรรมดา โจทก์จึงมีความผูกพันต้องไปจดทะเบียนการเช่าระยะเวลา 20 ปี แต่โจทก์บ่ายเบี่ยงตลอดมา โจทก์ไม่ได้รับความเสียหาย ที่ดินตามฟ้องโดยสภาพไม่อาจนำออกให้เช่าได้ เนื่องจากทำเลที่ตั้งไม่เหมาะสม ขอให้ยกฟ้อง
ศาลชั้นต้นพิพากษาให้จำเลยทั้งสิบสามและบริวารรื้อถอนบ้านพักอาศัยเลขที่ 55/1 เลขที่ 58 เลขที่ 54 เลขที่ 62 เลขที่ 59/5 เลขที่ 54/1 เลขที่ 60 เลขที่ 42/1 เลขที่ 62/1 เลขที่ 56 เลขที่ 56/1 เลขที่ 59/3 และเลขที่ 61 หมู่ที่ 4 ตำบลคลองสวนพลู อำเภอพระนครศรีอยุธยา จังหวัดพระนครศรีอยุธยา ตามลำดับ พร้อมขนย้ายทรัพย์สินออกไปจากที่ดินของโจทก์ และห้ามจำเลยทั้งสิบสามและบริวารเข้ายุ่งเกี่ยวอีกต่อไป ให้จำเลยแต่ละสำนวนชำระค่าเสียหายแก่โจทก์เดือนละ 1,000 บาท นับแต่วันที่ 26 ตุลาคม 2547 จนกว่าจำเลยทั้งสิบสามจะรื้อถอนสิ่งปลูกสร้างและขนย้ายทรัพย์สินออกไปจากที่ดินของโจทก์ กับให้จำเลยทั้งสิบสามร่วมกันชำระค่าฤชาธรรมเนียมแทนโจทก์ โดยกำหนดค่าทนายความ 3,000 บาท คำขออื่นให้ยก
จำเลยทั้งสิบสามอุทธรณ์ โดยผู้พิพากษาที่ได้นั่งพิจารณาคดีในศาลชั้นต้นรับรองว่ามีเหตุสมควรจะอุทธรณ์ในข้อเท็จจริงได้
ศาลอุทธรณ์ภาค 1 พิพากษายืน ค่าฤชาธรรมเนียมชั้นอุทธรณ์ให้เป็นพับ
จำเลยทั้งสิบสามฎีกา โดยผู้พิพากษาที่ได้นั่งพิจารณาคดีในศาลชั้นต้นรับรองว่ามีเหตุสมควรที่จะฎีกาในข้อเท็จจริงได้
ศาลฎีกาวินิจฉัยว่า “พิเคราะห์แล้ว ข้อเท็จจริงที่คู่ความไม่ได้โต้เถียงกันในชั้นฎีการับฟังได้เบื้องต้นว่า โจทก์เป็นวัดในพระพุทธศาสนา โดยเป็นพระอารามหลวง ได้รับพระราชทานวิสุงคามสีมามาตั้งแต่ปี 2423 ตามหนังสือรับรองสภาพวัดของกรมการศาสนา เอกสารหมาย จ.28 โจทก์มีชื่อเป็นผู้ถือกรรมสิทธิ์ที่ดินโฉนดเลขที่ 9149 ตำบลคลองสวนพลู อำเภอพระนครศรีอยุธยา จังหวัดพระนครศรีอยุธยา เนื้อที่ 82 ไร่ 3 งาน 30 ตารางวา ตามสำเนาโฉนดที่ดิน เอกสารหมาย จ.27 ที่ดินดังกล่าวเป็นที่ตั้งวัดโจทก์ เขตที่ดินด้านทิศตะวันตกอยู่ติดกับแม่น้ำเจ้าพระยา จำเลยทั้งสิบสามต่างปลูกบ้านพักอาศัยอยู่ในที่ดินดังกล่าวบางส่วนทางด้านทิศตะวันตกและทิศใต้ ตามแผนที่วิวาท เอกสารหมาย จ.ล.1 โดยจำเลยที่ 1 และที่ 3 ถึงที่ 13 ทำสัญญาเช่าที่ดินจากโจทก์ มีกำหนด 1 ปี นับแต่วันที่ 21 พฤษภาคม 2538 และทำบันทึกขออาศัยอยู่ในที่ดินหลังจากครบกำหนดระยะเวลาการเช่าต่อไปอีกจนถึงวันที่ 20 พฤษภาคม 2541 ตามสัญญาเช่าที่ดินและบันทึกต่อท้ายสัญญา เอกสารหมาย จ.1 จ.2 และ จ.4 แต่เมื่อครบกำหนดระยะเวลาในวันที่ 20 พฤษภาคม 2541 จำเลยที่ 1 และที่ 3 ถึงที่ 13 ยังคงอยู่ในที่ดินตลอดมา เช่นเดียวกับจำเลยที่ 2 ซึ่งอยู่ในที่ดินโดยมิได้ทำสัญญาเช่าที่ดินกับโจทก์ โจทก์ประสงค์จะนำที่ดินที่จำเลยทั้งสิบสามปลูกบ้านพักอาศัยไปจัดสร้างโรงเรียนพระปริยัติธรรม ขยายโรงเรียนวัดพนัญเชิงกับสร้างเขื่อนด้านที่ติดกับแม่น้ำเจ้าพระยา และได้จัดสถานที่แห่งใหม่พร้อมสาธารณูปโภคให้แก่จำเลยทั้งสิบสามไว้แล้ว แต่จำเลยทั้งสิบสามไม่ยอมขนย้ายไปอยู่สถานที่แห่งใหม่ที่โจทก์จัดให้
คดีมีปัญหาวินิจฉัยตามฎีกาของจำเลยทั้งสิบสามว่า โจทก์มีอำนาจฟ้องขับไล่จำเลยทั้งสิบสามหรือไม่ เห็นว่า โจทก์กล่าวอ้างมาในคำฟ้องตรงกับสำเนาสัญญาเช่าที่ดินที่แนบท้ายฟ้องว่า ที่ดินที่จำเลยที่ 1 และที่ 3 ถึงที่ 13 เช่าจากโจทก์เป็นกรรมสิทธิ์ของโจทก์ มิได้กล่าวถึงสิทธิอื่น เป็นการยืนยันว่าโจทก์มีอำนาจให้เช่าเพราะโจทก์เป็นเจ้าของกรรมสิทธิ์แต่อย่างเดียว จำเลยที่ 1 และที่ 3 ถึงที่ 13 จึงชอบที่จะยกข้อที่ว่าที่ดินที่เช่ามิใช่ของโจทก์ และโจทก์ไม่มีอำนาจให้เช่าขึ้นเป็นข้อต่อสู้โจทก์ในกรณีเช่นนี้ได้ อย่างไรก็ตาม โจทก์ฟ้องขับไล่โดยอ้างว่าสัญญาเช่าที่ดินที่จำเลยที่ 1 และที่ 3 ถึงที่ 13 ทำไว้กับโจทก์ได้สิ้นสุดไปแล้ว ส่วนจำเลยที่ 2 อยู่ในที่ดินของโจทก์โดยโจทก์ไม่ยินยอม แม้โจทก์จะอ้างว่าอาจนำที่ดินไปให้ผู้อื่นเช่าได้เดือนละ 3,000 บาท ถึง 5,000 บาท ก็เป็นการอ้างเพื่อกำหนดจำนวนค่าเสียหายที่ขอให้บังคับจำเลยทั้งสิบสามชำระแก่โจทก์นับถัดจากวันฟ้องเป็นต้นไปเท่านั้น มิใช่เป็นการเรียกค่าเสียหายที่กำหนดไว้ในสัญญาเช่าที่ดินและบันทึกต่อท้ายสัญญา เอกสารหมาย จ.1 จ.2 และ จ.4 ถึง จ.14 แต่อย่างใด สภาพแห่งข้อหาและคำขอบังคับตามคำฟ้องของโจทก์จึงเป็นเรื่องที่โจทก์ฟ้องขับไล่โดยอ้างว่าจำเลยทั้งสิบสามยังคงอยู่ในที่ดินของโจทก์โดยไม่มีสิทธิ อันเป็นฟ้องในมูลละเมิดโดยอาศัยความเป็นเจ้าของกรรมสิทธิ์ คดีในส่วนของจำเลยที่ 1 และที่ 3 ถึงที่ 13 หาใช่เป็นฟ้องขับไล่โดยอาศัยสิทธิตามสัญญาเช่าดังที่ศาลอุทธรณ์ภาค 1 วินิจฉัยไม่ ดังนั้น ที่จำเลยทั้งสิบสามฎีกาว่า สัญญาเช่าที่ดินจำเลยที่ 1 และที่ 3 ถึงที่ 13 ทำไว้กับโจทก์ไม่มีผลบังคับ เพราะโจทก์ไม่มีอำนาจนำที่ดินออกให้เช่าโดยไม่ได้รับความเห็นชอบจากกรมการศาสนาและอนุมัติจากมหาเถรสมาคม จึงไม่จำต้องวินิจฉัย เพราะมิใช่สาระสำคัญที่จะเปลี่ยนแปลงผลแห่งคดีได้ คงมีปัญหาที่ต้องวินิฉัยเกี่ยวกับอำนาจฟ้องของโจทก์แต่เพียงว่าโจทก์เป็นเจ้าของกรรมสิทธิ์ที่จำเลยทั้งสิบสามปลูกบ้านพักอาศัยหรือไม่ จำเลยทั้งสิบสามฎีกาสรุปความว่า โฉนดที่ดินของโจทก์ออกโดยไม่ถูกต้อง เพราะได้รวมที่ดินวัดโคก และวัดรอซึ่งเป็นวัดร้างอันเป็นศาสนสมบัติที่อยู่ในอำนาจดูแลรักษาของกรมการศาสนาเข้าไว้ด้วย เห็นว่า โจทก์นำสืบถึงความเป็นเจ้าของกรรมสิทธิ์โดยมีโฉนดที่ดินที่ทางราชการออกให้ เมื่อปี 2501 มาแสดงต่อศาลตามสำเนาเอกสารหมาย จ.27 โฉนดที่ดินดังกล่าวเป็นเอกสารมหาชน ซึ่งสันนิษฐานไว้ก่อนว่าเป็นของแท้จริงและถูกต้อง และเป็นหน้าที่ของคู่ความฝ่ายที่ถูกเอกสารนั้นมายันต้องนำสืบความไม่บริสุทธิ์หรือความไม่ถูกต้องแห่งเอกสารตามที่บัญญัติไว้ในประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความแพ่ง มาตรา 127 จำเลยทั้งสิบสามจึงมีหน้าที่ต้องนำสืบให้เห็นถึงความไม่บริสุทธิ์หรือความไม่ถูกต้องของโฉนดที่ดิน ข้อนี้แม้จำเลยทั้งสิบสามจะนำสืบโดยมีสำเนาคำขอรังวัดออกโฉนด (ตกค้าง) และรูปแผนที่จำลอง เอกสารหมาย ล.2 แผ่นที่ 1 และแผ่นที่ 7 มาแสดงว่า ที่ดินที่โจทก์ขอออกโฉนดได้รวมพื้นที่ 3 วัด คือวัดโจทก์ วัดโคกและวัดรอและตามสูจิบัติงานสมโภชหลวงพ่อพระพุทธไตรรัตนนายก (หลวงพ่อโต) ครบ 678 ปี เอกสารหมาย ล.1 ซึ่งโจทก์จัดทำเพื่อแจกผู้ไปร่วมงานระบุว่าที่ดินโจทก์ได้รวมพื้นที่วัดโคก วัดรอ และวัดร้างอื่นอีก 2 วัด คือวัดมณฑป และวัดขอมหรือวัดสวนพลูเข้าไว้ด้วยกันก็ตาม แต่ก็ได้ความตามสูจิบัตรตามเอกสารหมาย ล.1 ประวัติวัดพนัญเชิงวรวิหารหน้าที่ 10 ถึง 13 นั้นเองว่า วัดโจทก์มีประวัติเป็นพระอารามหลวงเก่าแก่ พระเจ้าสายน้ำผึ้งได้สถาปนาขึ้นเป็นพระอาราม ให้นามชื่อว่าวัดพระเจ้าพระนางเชิง ตั้งแต่จุลศักราช 406 ปีมะโรง ฉ ศก (ประมาณ พ.ศ.1587) เป็นต้นมา โดยเฉพาะวัดขอมหรือวัดสวนพลูซึ่งกล่าวไว้เป็นลำดับสุดท้าย ตามสูจิบัติดังกล่าวก็ระบุว่าได้รับประกาศรวมเข้ากับวัดโจทก์เมื่อปี 2488 ส่วนวัดรอและวัดมณฑปรวมทั้งวัดโคกซึ่งเป็นวัดที่จำเลยทั้งสิบสามให้การต่อสู้ว่าปลูกบ้านพักอาศัยอยู่ในที่ดินของวัดนั้น กลับไม่ปรากฏตามสูจิบัตรว่าได้รวมเข้ากับวัดโจทก์ตั้งแต่ปีใด ซึ่งอาจจะเป็นเพราะได้รวมเข้ากับวัดโจทก์มาก่อนนานแล้วจนไม่สามารถสืบพบประวัติเป็นได้ ประวัติการรวมวัดตามที่ได้ระบุไว้ในสูจิบัตรดังกล่าว จำเลยทั้งสิบสามมิได้นำสืบหักล้างว่าไม่ถูกต้องหรือคลาดเคลื่อนอย่างไร ทั้งไม่ปรากฏจากทางนำสืบของจำเลยทั้งสิบสามว่า เจ้าพนักงานฝ่ายพระราชอาณาจักรเคยเข้าปกครองรักษาวัดโคกตามหลักเกณฑ์ที่กำหนดไว้ในพระราชบัญญัติลักษณะปกครองคณะสงฆ์ รัตนโกสินทร์ศก 121 มาตรา 8 นอกจากนี้ยังได้ความจากนายสมชายพยานโจทก์ซึ่งเป็นหัวหน้าสำนักงานวัฒนธรรมจังหวัดพระนครศรีอยุธยาว่า ไม่ปรากฏชื่อวัดโคกอยู่ในทะเบียนวัดร้างของจังหวัด จึงมีเหตุน่าเชื่อว่า วัดโคกเป็นวัดร้างที่รวมเข้ากับวัดโจทก์ก่อนที่จะมีพระราชบัญญัติลักษณะปกครองคณะสงฆ์ รัตนโกสินทร์ศก 121 ออกมาใช้บังคับ การรวมวัดโคกเข้ากับวัดโจทก์จึงไม่อาจถือได้ว่าเป็นการรวมวัดที่ไม่ชอบหรือขัดต่อกฎหมายที่ดิน วัดโคกที่รวมเข้ากับวัดโจทก์จึงย่อมเป็นศาสนสมบัติของโจทก์มิใช่ศาสนสมบัติกลาง ซึ่งเป็นอำนาจหน้าที่ของกรมการศาสนาที่จะดูแลรักษาและจัดการ โจทก์ชอบที่จะขอออกโฉนดครอบคลุมที่ดินทั้งหมดอันเป็นศาสนสมบัติของตนได้ ส่วนที่จำเลยทั้งสิบสามมีนายชาญพิบูณย์ นิติกรของสำนักงานพระพุทธศาสนาแห่งชาติ มาเบิกความเป็นพยานว่า พยานตรวจไม่พบว่ามีมติของมหาเถรสมาคมที่ให้รวมวัดโคกเข้ากับวัดโจทก์นั้น เห็นว่า มหาเถรสมาคมเป็นสถาบันที่เพิ่งบัญญัติให้มีขึ้นตามพระราชบัญญัติคณะสงฆ์ พ.ศ.2505 คำเบิกความของพยานจำเลยปากนี้จึงไม่อาจบ่งชี้ว่าวัดโคกมิได้รวมเข้ากับวัดโจทก์ นายกรีพล พยานจำเลย ซึ่งเป็นเจ้าหน้าที่ของสำนักงานที่ดินจังหวัดพระนครศรีอยุธยาก็เบิกความว่า การถือครองที่ดินตามโฉนดที่ดินที่ทางราชการออกให้แก่โจทก์ถือว่าถูกต้องตามกฎหมาย ส่วนพยานจำเลยปากอื่นไม่อยู่ในฐานะที่จะยืนยันความไม่ถูกต้องของการออกโฉนดที่ดินดังกล่าวได้ พยานหลักฐานที่จำเลยทั้งสิบสามนำสืบมาจึงยังไม่พอหักล้างพยานหลักฐานของโจทก์ซึ่งนำสืบด้วยเอกสารมหาชน ข้อเท็จจริงรับฟังได้ว่า โจทก์เป็นเจ้าของกรรมสิทธิ์ที่ดินที่จำเลยทั้งสิบสามปลูกบ้านพักอาศัย ทั้งการฟ้องคดีเพื่อขับไล่ผู้ที่อยู่ในที่ดินของวัดโดยละเมิดก็หาได้อยู่ในบังคับที่จะต้องได้รับความเห็นชอบจากกรมการศาสนาหรือได้รับอนุมัติจากมหาเถรสมาคมตามกฎกระทรวงฉบับที่ 2 (พ.ศ.2511) ออกตามความในพระราชบัญญัติคณะสงฆ์ พ.ศ.2505 ดังที่จำเลยทั้งสิบสามฎีกาไม่ โจทก์มีอำนาจฟ้องขับไล่จำเลยทั้งสิบสามและเรียกค่าเสียหาย
ปัญหาต่อไปตามฎีกาของจำเลยทั้งสิบสามมีว่า โจทก์ได้รับความเสียหายหรือไม่ จำเลยทั้งสิบสามฎีกาว่า โจทก์จะต้องนำสืบให้เห็นว่าโจทก์ได้รับความเสียหายอย่างไร จำนวนเท่าใด ศาลจึงจะกำหนดค่าเสียหายให้แก่โจทก์ได้โดยชอบ เห็นว่า โจทก์นำสืบไว้แล้วว่าประสงค์จะนำที่ดินบริเวณที่จำเลยทั้งสิบสามปลูกบ้านพักอาศัยไปจัดสร้างโรงเรียนพระปริยัติธรรม ขยายโรงเรียนวัดพนัญเชิง และสร้างเขื่อนด้านที่ติดกับแม่น้ำเจ้าพระยา การที่จำเลยทั้งสิบสามยังคงอยู่ในที่ดินของโจทก์ย่อมเป็นการขัดขวางและทำให้การดำเนินการตามความประสงค์ของโจทก์ต้องล่าช้าออกไป ซึ่งเห็นได้อยู่ในตัวแล้วว่าโจทก์ได้รับความเสียหาย ทั้งโจทก์ยังนำสืบอ้างว่าอาจนำที่ดินไปให้ผู้อื่นเช่าได้เดือนละ 3,000 บาท ถึง 5,000 บาท ต่อราย ศาลจึงชอบที่จะกำหนดค่าเสียหายให้แก่โจทก์โดยพิจารณาถึงข้ออ้างของโจทก์ดังกล่าวได้ ที่ศาลล่างทั้งสองพิพากษาต้องกันมาให้ขับไล่จำเลยทั้งสิบสามและให้ชดใช้ค่าเสียหายแก่โจทก์ จึงชอบแล้ว ฎีกาของจำเลยทั้งสิบสามทุกข้อฟังไม่ขึ้น
อนึ่ง จำเลยทั้งสิบสามต่างคนต่างเป็นจำเลยในแต่ละสำนวนที่ถูกโจทก์ฟ้องเท่านั้น มิได้เป็นจำเลยในสำนวนอื่นที่ได้รวมพิจารณาเข้าด้วยกัน การที่ศาลชั้นต้นพิพากษาใหจำเลยทั้งสิบสามร่วมกันใช้ค่าฤชาธรรมเนียมแทนโจทก์โดยมิได้สั่งแยกเป็นรายสำนวน จึงไม่ถูกต้อง ปัญหานี้เป็นข้อกฎหมายอันเกี่ยวด้วยความสงบเรียบร้อยของประชาชน แม้ไม่มีคู่ความฝ่ายใดยกขึ้นอ้างในฎีกา ศาลฎีกาก็มีอำนาจยกขึ้นวินิจฉัยและแก้ไขให้ถูกต้องได้ตามประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความแพ่ง มาตรา 142 (5)”
พิพากษาแก้เป็นว่า ให้จำเลยทั้งสิบสามสำนวนแต่ละคนใช้ค่าฤชาธรรมเนียมในศาลชั้นต้นแทนโจทก์เป็นรายสำนวน โดยกำหนดค่าทนายความสำนวนละ 1 ใน 13 ของเงิน 3,000 บาท ซึ่งศาลชั้นต้นกำหนดให้เป็นค่าทนายความรวมทุกสำนวน นอกจากที่แก้ให้เป็นไปตามคำพิพากษาศาลอุทธรณ์ภาค 1 และให้จำเลยทั้งสิบสามสำนวนแต่ละคนใช้ค่าทนายความชั้นฎีกาแทนโจทก์สำนวนละ 1,500 บาท

Share