คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 6825/2541

แหล่งที่มา : กองผู้ช่วยผู้พิพากษาศาลฎีกา

ย่อสั้น

จำเลยที่ 2 มีเจตนาทุจริตตั้งแต่ในขณะที่ทำสัญญาร่วมดำเนินการกับโจทก์ โดยไม่เปิดเผยความจริงที่โอนสิทธิเรียกร้องตามสัญญาซื้อขายเครื่องส่งโทรทัศน์สีตามสัญญาดังกล่าวซึ่งควรบอกให้แจ้งให้แก่ผู้ทำการแทนโจทก์ทราบ ก็เพื่อให้ผู้ทำการแทนโจทก์หลงเข้าใจผิดว่าจำเลยที่ 1 มีสิทธิรับเงินค่าขายจากผู้ซื้ออันเป็น กรณีปกติของการค้า อันเป็นอุบายของจำเลยที่ 2 ซึ่งเป็นการหลอกลวง และโดยการหลอกลวงดังกล่าวได้ไปซึ่งทรัพย์สินเครื่องส่งโทรทัศน์สีดังกล่าวจากโจทก์ ซึ่งเปลี่ยนสภาพเป็นสิทธิที่จะได้รับชำระเงินจำนวน 13,000,000 บาทเศษอันเป็นความผิดตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 341จำเลยที่ 2 เป็นผู้ลงมือกระทำต้องรับผิดเป็นตัวการตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 83
โจทก์บรรยายฟ้องว่า จำเลยทั้งสองโดยทุจริตแสดงข้อความอันเป็นเท็จและปกปิดข้อความจริงซึ่งควรบอกให้แจ้งแก่โจทก์การที่จำเลยทั้งสองปกปิดมิได้แจ้งให้โจทก์ทราบว่าจำเลยที่ 1 โดยจำเลยที่ 2 ได้ตกลงทำหนังสือสัญญาโอนสิทธิเรียกร้องการรับเงินที่ได้รับจาก ก. ให้แก่บุคคลที่สามก่อนแล้ว จึงทำสัญญาเป็นหุ้นส่วนกับโจทก์ในวันกระทำผิดซึ่งเป็นเวลาในภายหลัง เป็นเหตุได้ไปซึ่งทรัพย์สินของโจทก์คือเครื่องส่งโทรทัศน์และเครื่องส่งวิทยุกระจายเสียงที่โจทก์ซื้อเป็นเงินรวมจำนวน 51,000,000 บาทเศษ ที่โจทก์จะได้ส่วนแบ่งตามสัญญาดังกล่าวพร้อมทั้งระบุสถานที่เกิดเหตุ คำฟ้องของโจทก์จึงครบองค์ประกอบฐานฉ้อโกงตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 341 ถูกต้องตามประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความอาญามาตรา 158(5) และ (6)
จำเลยที่ 1 โดยจำเลยที่ 2 ทำสัญญาร่วมดำเนินการฉบับที่ 1 กับโจทก์ในวันที่ 20 กุมภาพันธ์ 2536 และทำสัญญาร่วมดำเนินการฉบับที่ 2 กับโจทก์ในวันที่ 10 เมษายน 2536โดยมีเจตนาฉ้อโกงมาแต่ต้นอันเป็นเจตนาแยกจากกันและต่างวาระกัน การกระทำจึงเป็นกรณีต่างกรรมต่างวาระกันแยกจากกัน 2 กรณี เป็นความผิด 2 กรรม

ย่อยาว

โจทก์ฟ้องขอให้ลงโทษจำเลยทั้งสองตามประมวลกฎหมายอาญามาตรา 341, 83, 91
ศาลชั้นต้นไต่สวนมูลฟ้องแล้ว เห็นว่าคดีมีมูล ให้ประทับฟ้อง
ศาลชั้นต้นพิพากษาว่า จำเลยทั้งสองมีความผิดตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 341, 91 รวม 2 กระทงให้เรียงกระทงลงโทษปรับจำเลยที่ 1 กระทงละ 6,000 บาทรวมเป็นเงิน 12,000 บาท จำคุกจำเลยที่ 2 กระทงละ 2 ปีรวมจำคุก 6 ปี ไม่ชำระค่าปรับให้จัดการตามประมวลกฎหมายอาญามาตรา 29
จำเลยทั้งสองอุทธรณ์
ศาลอุทธรณ์พิพากษายืน
จำเลยทั้งสองฎีกา โดยผู้พิพากษาซึ่งพิจารณาและลงชื่อในคำพิพากษาศาลชั้นต้นอนุญาตให้ฎีกาในปัญหาข้อเท็จจริง
ศาลฎีกาวินิจฉัยว่า ข้อเท็จจริงรับฟังได้เป็นยุติว่าโจทก์และจำเลยที่ 1 ต่างเป็นนิติบุคคลประเภทบริษัทจำกัดจำเลยที่ 2 เป็นกรรมการของจำเลยที่ 1 และมีอำนาจลงนามและประทับตราของจำเลยที่ 1 ทำการแทนจำเลยที่ 1 โจทก์และจำเลยที่ 1 โดยจำเลยที่ 2 ทำสัญญาร่วมดำเนินการรวม 2 ฉบับโดยฉบับที่ 1 จัดเตรียมการประมูลขายเครื่องส่งโทรทัศน์สีระบบ 625 เส้นพร้อมอุปกรณ์จำนวน 1 เครื่อง ฉบับที่ 2จัดเตรียมการประมูลขายเครื่องส่งวิทยุกระจายเสียงระบบ เอฟ เอ็มพร้อมอุปกรณ์รวม 10 เครื่อง โดยประมูลขายต่อกรมประชาสัมพันธ์และจำเลยที่ 1 โดยจำเลยที่ 2 เป็นผู้ประมูลได้ตลอดจนติดตั้งแล้ว จำเลยที่ 1 โดยจำเลยที่ 2 ได้โอนสิทธิเรียกร้องทั้งหมดให้แก่บุคคลที่สาม
มีปัญหาต้องวินิจฉัยตามฎีกาของจำเลยทั้งสองว่า จำเลยทั้งสองเป็นผู้กระทำผิดตามฟ้องหรือไม่ นายอาร์ เดวิด บราเทอร์สหรือมิสเตอร์โรแนลด์ เดวิด บราเทอร์ส ผู้รับมอบอำนาจของโจทก์ผู้หนึ่งเบิกความเป็นพยานโจทก์ว่าโจทก์โดยนายอาร์ เดวิด บราเทอร์สและนายคีธ อี เดอเบลเซอร์หรือมิสเตอร์เค.อี.เดอแบลเซอร์ลงนามแทนโจทก์ในสัญญาร่วมดำเนินการทั้งสองฉบับกับจำเลยที่ 1โดยจำเลยที่ 2 เป็นผู้ลงนามแทน สัญญาดังกล่าวทั้งสองฉบับมีตราทั้งสองฝ่ายประทับอยู่ด้วย สัญญาร่วมดำเนินการทั้งสองฉบับปรากฏตามเอกสารหมาย จ.5 และ จ.44 ตามลำดับ ตามความในบทนำปรากฏว่าเป็นการจัดเตรียมและยื่นประมูลราคา แต่ตามคำนายจรินทร์ ชลานุชพงศ์ พยานโจทก์ผู้อำนวยการสาขาธนาคารไทยพาณิชย์ จำกัด สาขาสุรวงศ์ ปรากฏว่าธนาคารได้รับการติดต่อขอกู้ยืมเงินเพื่อดำเนินการเกี่ยวกับการติดตั้งสถานีโทรทัศน์และวิทยุ ตามหลักฐานที่จำเลยที่ 1 โดยจำเลยที่ 2ทำโครงการขอสินเชื่อตามเอกสารหมาย จ.130 และได้ผ่านหลักฐานไปยังสำนักงานใหญ่เพื่ออนุมัติและได้รับอนุมัติแล้วตามเอกสารหมาย จ.131 โดยขอวงเงินสินเชื่อตามเอกสารหมาย จ.130โครงการอันดับ 3 “โครงการสถานีวิทยุและโทรทัศน์ 11 สถานีทั้งเนื้อหาและวงเงินตรงกับสัญญาร่วมดำเนินการทั้งสองฉบับที่จำเลยที่ 1 โดยจำเลยที่ 2 ทำกับโจทก์ ทั้งตามคำนายจรินทร์ว่าจำเลยที่ 1 โดยจำเลยที่ 2 ได้ทำหนังสือโอนสิทธิเรียกร้องตามเอกสารหมาย จ.43 จริง เป็นการโอนสิทธิที่จะได้รับเงินตามสัญญาซื้อขายเครื่องส่งโทรทัศน์จังหวัดลำปางให้แก่ธนาคารไทยพาณิชย์ จำกัด เพื่อชำระหนี้ตามเอกสารหมาย จ.130ซึ่งตรงกับการประมูลและขายเครื่องส่งโทรทัศน์สีพร้อมอุปกรณ์ที่จำเลยที่ 1 โดยจำเลยที่ 2 กับโจทก์ทำสัญญาร่วมดำเนินการฉบับที่ 1 และตามคำนายจรินทร์ว่าจำเลยที่ 1 โดยจำเลยที่ 2ยังได้โอนสิทธิเรียกร้องตามเอกสารหมาย จ.92 ถึง จ.101ให้แก่ธนาคารไทยพาณิชย์ จำกัด อีกด้วย ซึ่งก็คือโอนสิทธิเรียกร้องที่ได้จากสัญญาขายเครื่องส่งวิทยุกระจายเสียงระบบเอฟเอ็มให้แก่กรมประชาสัมพันธ์ตามสัญญาซื้อขายตามเอกสารหมาย จ.47 ถึง จ.56 ซึ่งตรงกับการประมูลและขายเครื่องส่งวิทยุกระจายเสียงระบบเอฟเอ็มพร้อมอุปกรณ์ที่จำเลยที่ 1 โดยจำเลยที่ 2 กับโจทก์ทำสัญญาร่วมดำเนินการฉบับที่ 2 ด้วย ตามคำนายจรินทร์ว่าจำเลยที่ 1 โดยจำเลยที่ 2ยังทำหนังสือมอบอำนาจให้ธนาคารไทยพาณิชย์ จำกัดเป็นผู้รับเงินทั้งหมดแต่ผู้เดียว และนายจรินทร์ในนามธนาคารไทยพาณิชย์ จำกัด เป็นผู้ทำหนังสือแจ้งการโอนสิทธิเรียกร้องดังกล่าวต่อกรมประชาสัมพันธ์ลูกหนี้แห่งสิทธิแล้ว ดังนั้น จำเลยที่ 1 จึงหมดสิทธิที่จะรับเงินทั้งหมดตามหนังสือโอนสิทธิเรียกร้องขายและติดตั้งเครื่องส่งโทรทัศน์สีระบบ 625 เส้น ที่จำเลยที่ 1 โดยจำเลยที่ 2 โอนไปนั้นโอนเมื่อวันที่ 24 พฤศจิกายน 2535 แต่จำเลยที่ 1 โดยจำเลยที่ 2ทำสัญญาร่วมดำเนินการฉบับที่ 1 กับโจทก์เมื่อวันที่ 20กุมภาพันธ์ 2536 จึงเป็นเวลาภายหลังจากที่จำเลยที่ 1ไม่มีสิทธิรับเงินตามสัญญาซื้อขายและติดตั้งเครื่องส่งโทรทัศน์ดังกล่าวแล้วนาน 2 เดือนเศษ จำเลยที่ 2 เป็นผู้ดำเนินการย่อมต้องทราบ และถือว่าจำเลยที่ 1 ทราบถึงการหมดสิทธิที่จะรับเงินตามสัญญาซื้อขายนั้นด้วย แต่จำเลยที่ 1โดยจำเลยที่ 2 ก็ยังทำสัญญาร่วมดำเนินการฉบับที่ 1 กับโจทก์ทั้ง ๆ ที่ไม่มีสิทธิรับเงินและได้ความจากคำนายอาร์ เดวิด บราเทอร์ส ว่า โจทก์ดำเนินการจัดส่งเครื่องส่งโทรทัศน์สีระบบ 625 พร้อมอุปกรณ์ และดำเนินการในส่วนรับผิดชอบของโจทก์ครบถ้วนแล้ว ทั้งจำเลยที่ 1ก็นำไปติดตั้งจนสำเร็จออกอากาศได้แล้ว แต่จำเลยที่ 1ก็ไม่ชำระเงินส่วนของโจทก์มีจำนวน 13,000,000 บาทเศษโดยนำเงินไปเข้าบัญชีตามหมายเลขบัญชีที่ตกลงกัน โจทก์ทวงถามแล้วจำเลยที่ 1 โดยจำเลยที่ 2 เพิกเฉย โจทก์จึงฟ้องเรียกเงินเป็นคดีแพ่งจึงทราบถึงพฤติการณ์ต่าง ๆ และหากโจทก์ทราบในขณะทำสัญญาร่วมดำเนินการฉบับที่ 1 โจทก์ก็จะไม่เข้าทำสัญญาดังกล่าว การที่จำเลยที่ 1 โดยจำเลยที่ 2 ไม่นำเงินส่วนที่โจทก์พึงได้รับตามสัญญาชำระให้แก่โจทก์ ย่อมแสดงว่า จำเลยที่ 1โดยจำเลยที่ 2 มีเจตนาทุจริตตั้งแต่ในขณะที่ทำสัญญาร่วมดำเนินการฉบับที่ 1 กับโจทก์ โดยไม่เปิดเผยความจริงที่โอนสิทธิเรียกร้องตามสัญญาซื้อขายเครื่องส่งโทรทัศน์สีดังกล่าวซึ่งควรบอกให้แจ้งให้แก่ผู้ทำการแทนโจทก์ทราบก็เพื่อให้ผู้ทำการแทนโจทก์หลงเข้าใจผิดว่าจำเลยที่ 1 มีสิทธิรับเงินค่าขายจากผู้ซื้ออันเป็นกรณีปกติของการค้าอันเป็นอุบายของจำเลยที่ 2 ซึ่งเป็นการหลอกลวงและโดยการหลอกลวงดังกล่าวได้ไปซึ่งทรัพย์สินเครื่องส่งโทรทัศน์สีดังกล่าวจากโจทก์ซึ่งเปลี่ยนสภาพเป็นสิทธิที่จะได้รับชำระเงินจำนวน 13,000,000บาทเศษ อันเป็นความผิดตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 341จำเลยที่ 2 เป็นผู้ลงมือกระทำต้องรับผิดเป็นตัวการตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 83 สำหรับกรณีเครื่องวิทยุกระจายเสียงระบบเอฟเอ็มพร้อมอุปกรณ์จำนวน 10 เครื่อง ได้ความว่าจำเลยที่ 1โดยจำเลยที่ 2 โอนสิทธิเรียกร้องการรับชำระเงินจากกรมประชาสัมพันธ์ให้แก่ธนาคารไทยพาณิชย์ จำกัด ในวันที่10 มีนาคม 2536 ในคราวเดียวกัน แต่จำเลยที่ 1 โดยจำเลยที่ 2ทำสัญญาร่วมดำเนินการฉบับที่ 2 กับโจทก์เมื่อวันที่ 10เมษายน 2536 ซึ่งโจทก์จะได้รับเงินในส่วนของโจทก์ตามสัญญาร่วมดำเนินการฉบับที่ 2 จำนวน 38,000,000 บาทเศษ แต่ขณะที่จำเลยที่ 1 โดยจำเลยที่ 2 ทำสัญญาดังกล่าวกับโจทก์ จำเลยที่ 1ไม่มีสิทธิที่จะรับเงินค่าขายจากกรมประชาสัมพันธ์อยู่แล้วก่อนจำเลยที่ 1 และที่ 2 จึงเป็นผู้กระทำผิดโดยนัยเดียวกันส่วนพยานหลักฐานของจำเลยทั้งสองไม่มีเหตุผลหักล้างพยานหลักฐานของโจทก์
ที่จำเลยทั้งสองฎีกาว่า ฟ้องของโจทก์ไม่ครบองค์ประกอบความผิดฐานฉ้อโกงก็ไม่เป็นความจริง เพราะโจทก์บรรยายฟ้องว่าจำเลยทั้งสองโดยสุจริตแสดงข้อความอันเป็นเท็จและปกปิดข้อความจริงซึ่งควรบอกให้แจ้งแก่โจทก์ การปกปิดมิได้แจ้งให้โจทก์ทราบว่า จำเลยที่ 1 โดยจำเลยที่ 2 ได้ตกลงทำหนังสือสัญญาโอนสิทธิเรียกร้องการรับเงินที่ได้รับจากกรมประชาสัมพันธ์ให้แก่บุคคลที่สามก่อนแล้วจึงทำสัญญาเป็นหุ้นส่วนกับโจทก์ในวันกระทำผิดซึ่งเป็นเวลาในภายหลัง เป็นเหตุได้ไปซึ่งทรัพย์สินของโจทก์คือเครื่องส่งโทรทัศน์และเครื่องส่งวิทยุกระจายเสียงที่โจทก์ซื้อเป็นเงินรวมจำนวน 51,000,000 บาทเศษ ที่โจทก์จะได้ส่วนแบ่งตามสัญญาดังกล่าว พร้อมทั้งระบุสถานที่เกิดเหตุคำฟ้องของโจทก์จึงครบองค์ประกอบฐานฉ้อโกงตามประมวลกฎหมายอาญามาตรา 341 ถูกต้องตามประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความอาญามาตรา 158(5) และ (6)
ที่จำเลยทั้งสองฎีกาว่า การกระทำเป็นความผิดกรรมเดียวก็ไม่เป็นความจริง เพราะจำเลยที่ 1 โดยจำเลยที่ 2 ทำสัญญาร่วมดำเนินการฉบับที่ 1 กับโจทก์ในวันที่ 20 กุมภาพันธ์ 2536และทำสัญญาร่วมดำเนินการฉบับที่ 2 กับโจทก์ในวันที่ 10 เมษายน2536 โดยมีเจตนาฉ้อโกงมาแต่ต้นอันเป็นเจตนาแยกจากกันและต่างวาระกัน การกระทำจึงเป็นกรณีต่างกรรมต่างวาระกันแยกจากกัน 2 กรณี เป็นความผิด 2 กรรม
อนึ่ง เกี่ยวกับค่าปรับนั้นที่ศาลชั้นต้นและศาลอุทธรณ์นำประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 29 ปรับแก่กรณี แต่จำเลยที่ 1เป็นนิติบุคคลซึ่งโดยสภาพไม่อาจกักขังแทนค่าปรับได้ จึงสมควรระบุให้ชัดเจนยิ่งขึ้นว่า หากจำเลยที่ 1 ไม่ชำระค่าปรับไม่บังคับโดยการกักขังแทนค่าปรับ
พิพากษายืน แต่เฉพาะจำเลยที่ 1 หากไม่ชำระค่าปรับไม่บังคับโดยกักขังแทนค่าปรับ

Share