แหล่งที่มา : เนติบัณฑิตยสภา
ย่อสั้น
จำเลยที่ 3 จำนำตั๋วสัญญาใช้เงินแก่บริษัทเงินทุนหลักทรัพย์ ส. เพื่อเป็นประกันการชำระหนี้ บริษัทเงินทุนหลักทรัพย์ ส. จึงมีฐานะเสมือนเป็นตัวแทนของจำเลยที่ 3 ดังนั้น แม้จำเลยที่ 3 สลักหลังตั๋วสัญญาใช้เงินแต่ก็ต้องถือว่าเป็นการสลักหลังเพื่อจำนำ การที่บริษัทเงินทุนหลักทรัพย์ ส. ผู้รับจำนำสลักหลังโอนตั๋วสัญญาใช้เงินต่อไปจึงมีผลเท่ากับเป็นการสลักหลังของตัวแทนตาม ป.พ.พ. มาตรา 926 วรรคหนึ่ง ผู้รับสลักหลังมีสิทธิเท่ากับผู้รับจำนำ โจทก์ซึ่งเป็นผู้รับสลักหลังมาจากบริษัทเงินทุนหลักทรัพย์ ส. จึงไม่มีสิทธิฟ้องบังคับให้จำเลยที่ 3 รับผิดชำระเงินตามตั๋วสัญญาใช้เงิน คงมีสิทธิเพียงไล่เบี้ยเอาจากจำเลยที่ 1 ผู้ออกตั๋วสัญญาใช้เงินเท่านั้น
ย่อยาว
โจทก์ฟ้องว่า โจทก์เป็นนิติบุคคลประเภทกองทุนสำรองเลี้ยงชีพ เมื่อวันที่ 8 ธันวาคม 2537 จำเลยที่ 1 ออกตั๋วสัญญาใช้เงินเลขที่ 025/2537 สัญญาว่าจะใช้เงิน 2,000,000 บาท ให้แก่จำเลยที่ 3 หรือตามคำสั่ง ในวันที่ 8 ธันวาคม 2540 ณ ภูมิลำเนาของจำเลยที่ 2 โดยมีจำเลยที่ 2 เป็นผู้อาวัล ต่อมาจำเลยที่ 3 ได้สลักหลังโอนตั๋วสัญญาใช้เงินดังกล่าว และมีการสลักหลังโอนต่อมาโดยไม่ขาดสาย ครั้งสุดท้ายบริษัทเงินทุนหลักทรัพย์ สยามซิตี้ ซินดิเคท จำกัด (มหาชน) ได้สลักหลังขายลดให้แก่โจทก์ โจทก์จึงเป็นผู้ทรงโดยชอบ เมื่อตั๋วใช้เงินดังกล่าวถึงกำหนด โจทก์ได้นำไปยื่นให้จำเลยที่ 2 ใช้เงินแต่จำเลยที่ 2 ปฏิเสธ โจทก์จึงทวงถามให้จำเลยทั้งสามชำระหนี้ แต่จำเลยทั้งสามเพิกเฉย ขอให้บังคับจำเลยทั้งสามร่วมกันชำระเงิน 2,098,356.16 บาท พร้อมดอกเบี้ยอัตราร้อยละ 5 ต่อปี ของต้นเงิน 2,000,000 บาท นับถัดจากวันฟ้องจนกว่าจะชำระเสร็จแก่โจทก์
จำเลยที่ 1 ให้การว่า โจทก์ไม่ใช่ผู้ทรงโดยชอบและไม่เคยนำตั๋วสัญญาใช้เงินดังกล่าวไปยื่นเพื่อให้จำเลยที่ 1 ใช้เงิน โจทก์จึงไม่มีอำนาจฟ้อง ขอให้ยกฟ้อง
จำเลยที่ 2 ให้การว่า จำเลยที่ 2 ไม่มีนิติสัมพันธ์ใด ๆ กับจำเลยที่ 1 ที่ 3 และโจทก์ ลายมือชื่อในช่องว่างด้านล่างของข้อความ “ใช้ได้เป็นอาวัล” ในตั๋วสัญญาใช้เงินไม่ใช่ลายมือชื่อของผู้มีอำนาจกระทำการแทน จำเลยที่ 2 ไม่ได้ประทับตราสำคัญของจำเลยที่ 2 เอกสารดังกล่าวเป็นเอกสารปลอม จำเลยที่ 2 จึงไม่ต้องรับผิดต่อโจทก์ ขอให้ยกฟ้อง
จำเลยที่ 3 ให้การว่า จำเลยที่ 3 มิได้สลักหลังโอนตั๋วสัญญาใช้เงินให้แก่บริษัทเงินทุนหลักทรัพย์ สยามซิตี้ ซินดิเคท จำกัด (มหาชน) เป็นเพียงการจำนำตั๋วสัญญาใช้เงินเท่านั้น บริษัทเงินทุนหลักทรัพย์ สยามซิตี้ ซินดิเคท จำกัด (มหาชน) จึงไม่มีสิทธิสลักหลังโอนให้แก่โจทก์ โจทก์ไม่ใช่ผู้ทรงโดยชอบ ไม่มีสิทธิเรียกให้จำเลยที่ 3 ชำระหนี้ ขอให้ยกฟ้อง
ระหว่างพิจารณา โจทก์ขอถอนฟ้องจำเลยที่ 2 ศาลชั้นต้นอนุญาตและมีคำสั่งจำหน่ายคดีเฉพาะจำเลยที่ 2 ออกจากสารบบความ
ศาลชั้นต้นพิพากษาให้จำเลยที่ 1 และที่ 3 ร่วมกันชำระเงิน 2,000,000 บาท พร้อมดอกเบี้ยอัตราร้อยละ 5 ต่อปี นับแต่วันที่ 8 ธันวาคม 2540 จนกว่าจะชำระเสร็จแก่โจทก์ แต่ดอกเบี้ยคำนวณถึงวันฟ้องต้องไม่เกิน 98,356.16 บาท กับให้จำเลยที่ 1 และที่ 3 ร่วมกันใช้ค่าฤชาธรรมเนียมแทนโจทก์ โดยกำหนดค่าทนายความ 20,000 บาท
จำเลยที่ 3 อุทธรณ์
ศาลอุทธรณ์พิพากษายืน ค่าฤชาธรรมเนียมชั้นอุทธรณ์ให้เป็นพับ
จำเลยที่ 3 ฎีกา
ศาลฎีกาวินิจฉัยว่า “ข้อเท็จจริงที่คู่ความมิได้โต้เถียงกันในชั้นฎีการับฟังได้ว่า โจทก์มีฐานะเป็นนิติบุคคลประเภทกองทุนสำรองเลี้ยงชีพ ส่วนบริษัทเงินทุนธนสยาม จำกัด (มหาชน) มีฐานะเป็นนิติบุคคลประเภทบริษัทจำกัด (มหาชน) จำเลยที่ 1 เป็นผู้ออกตั๋วสัญญาใช้เงิน เอกสารหมาย จ.8 ให้แก่จำเลยที่ 3 หรือตามคำสั่ง ต่อมาจำเลยที่ 3 ได้จำนำตั๋วสัญญาใช้เงินดังกล่าวแก่บริษัทเงินทุนหลักทรัพย์ สยามซิตี้ ซินดิเคท จำกัด (มหาชน) เพื่อเป็นประกันการชำระหนี้ และต่อมามีการสลักหลังโอนให้แก่โจทก์ มีปัญหาที่ต้องวินิจฉัยตามฎีกาของจำเลยที่ 3 เป็นประการต่อไปว่า จำเลยที่ 3 ต้องรับผิดชำระเงินตามตั๋วสัญญาใช้เงินหรือไม่ จำเลยที่ 3 ฎีกาในทำนองว่า จำเลยที่ 3 จำนำตั๋วสัญญาใช้เงิน เอกสารหมาย จ.8 เป็นประกันหนี้และได้ลงลายมือชื่อด้านหลังตั๋วสัญญาใช้เงินเพื่อรับเงินมิใช่เป็นการสลักหลังโอนตั๋วสัญญาใช้เงินดังกล่าวแต่อย่างใด บริษัทเงินทุนหลักทรัพย์ สยามซิตี้ ซินดิเคท จำกัด (มหาชน) ผู้รับจำนำจึงไม่มีสิทธิสลักหลังโอนตั๋วสัญญาใช้เงินต่อไป เห็นว่า เมื่อข้อเท็จจริงฟังได้ว่าจำเลยที่ 3 ได้จำนำตั๋วสัญญาใช้เงิน เอกสารหมาย จ.8 แก่บริษัทเงินทุนหลักทรัพย์ สยามซิตี้ ซินดิเคท จำกัด (มหาชน) เพื่อเป็นประกันการชำระหนี้ บริษัทเงินทุนหลักทรัพย์ สยามซิตี้ ซินดิเคท จำกัด (มหาชน) ผู้รับจำนำ จึงมีฐานะเสมือนเป็นตัวแทนของจำเลยที่ 3 ผู้จำนำ ดังนั้น แม้จะได้ความว่าจำเลยที่ 3 สลักหลังตั๋วสัญญาใช้เงินดังกล่าวแต่ก็ต้องถือว่าเป็นการสลักหลังเพื่อจำนำ การที่บริษัทเงินทุนหลักทรัพย์ สยามซิตี้ ซินดิเคท จำกัด (มหาชน) ผู้รับจำนำสลักหลังโอนตั๋วสัญญาใช้เงินต่อไปจึงมีผลเท่ากับเป็นการสลักหลังของตัวแทนตามประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์ มาตรา 926 วรรคหนึ่ง ผู้รับสลักหลังมีสิทธิเท่ากับผู้รับจำนำ โจทก์ซึ่งเป็นผู้รับสลักหลังมาจากบริษัทเงินทุนหลักทรัพย์ สยามซิตี้ ซินดิเคท จำกัด (มหาชน) จึงไม่มีสิทธิฟ้องบังคับให้จำเลยที่ 3 รับผิดชำระเงินตามตั๋วสัญญาใช้เงิน คงมีสิทธิเพียงไล่เบี้ยเอาจากจำเลยที่ 1 ผู้ออกตั๋วสัญญาใช้เงินเท่านั้น ที่ศาลล่างทั้งสองพิพากษาให้จำเลยที่ 3 ร่วมรับผิดกับจำเลยที่ 1 ด้วยนั้นไม่ต้องด้วยความเห็นของศาลฎีกา”
พิพากษาแก้เป็นว่า ให้ยกฟ้องโจทก์สำหรับจำเลยที่ 3 นอกจากที่แก้ให้เป็นไปตามคำพิพากษาศาลอุทธรณ์ ค่าฤชาธรรมเนียมทั้งสามศาลระหว่างโจทก์กับจำเลยที่ 3 ให้เป็นพับ