คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 2558/2532

แหล่งที่มา : สำนักงานส่งเสริมงานตุลาการ

ย่อสั้น

โจทก์เป็นสามีของผู้ตาย ไม่ปรากฏว่ามีพินัยกรรมเป็นอย่างอื่น โจทก์จึงเป็นผู้ได้รับทรัพย์มรดกโดยสิทธิทายาทโดยธรรมของผู้ตายเป็นจำนวนมากที่สุด เป็นผู้มีอำนาจและมีหน้าที่ต้องจัดการทำศพผู้ตายตาม ป.พ.พ.มาตรา 1649 โจทก์จึงมีสิทธิที่จะเรียกร้องให้จำเลยใช้ค่าปลงศพภริยาโจทก์ก็ได้ แม้บิดาโจทก์จะได้ออกเงินให้โจทก์ใช้จ่ายในการทำศพ จำเลยก็จะมายกเป็นข้อปัดป้องความรับผิดของจำเลยหาได้ไม่.
ลูกจ้างประสบอันตรายถึงแก่ความตายเนื่องจากการทำงานและอธิบดีกรมแรงงานมีคำสั่งให้นายจ้างจ่ายค่าทดแทนให้แก่มารดา สามี และบุตร เป็นการจ่ายเงินเพื่อการคุ้มครองแรงงานไม่ใช่ค่าสินไหมทดแทนเพื่อการละเมิด โจทก์ซึ่งเป็นสามีของลูกจ้างผู้ตายยังคงมีสิทธิเรียกร้องค่าสินไหมทดแทนเรื่องละเมิดได้.
ในตอนต้นของคำฟ้องโจทก์มีชื่อโจทก์เพียงผู้เดียว แต่โจทก์เป็นบิดาผู้ใช้อำนาจปกครองและเป็นผู้แทนโดยชอบธรรมของเด็กหญิง จ. และปรากฏในคำฟ้องว่า โจทก์กับนาง ส.ผู้ตายมีบุตรด้วยกันคือ เด็กหญิง จ. ทั้งโจทก์เรียกค่าอุปการะเลี้ยงดูไว้เป็นจำนวนเงินชัดเจน ถือได้ว่าโจทก์ได้ฟ้องคดีในฐานะบิดาผู้แทนโดยชอบธรรมของผู้เยาว์ด้วยแล้ว.

ย่อยาว

โจทก์ฟ้องว่า โจทก์เป็นสามีของนางสุนีย์ กาญจนพบู มีบุตรด้วยกัน 1 คน คือเด็กหญิงจุไรรัตน์ กาญจนพบู จำเลยที่ 1 เป็นบริษัทจำกัดมีวัตถุประสงค์รับส่งคนโดยสารประเภทรถทัวร์ ส่วนจำเลยที่ 2 เป็นเจ้าของรถเอามาวิ่งร่วมในนามจำเลยที่ 1 โดยมีผลประโยชน์ร่วมกันจำเลยที่ 3 เป็นเจ้าของรถบรรทุกทะเบียน น.ฐ.22975 จำเลยที่ 4เป็นลูกจ้างจำเลยที่ 3 ขับรถบรรทุกของจำเลยที่ 3 คันดังกล่าวเมื่อวันที่ 10 พฤษภาคม 2523 รถยนต์ของจำเลยที่ 1 มีนางสุนีย์กาญจนพบู เป็นพนักงานต้อนรับประจำรถ ได้วิ่งส่งผู้โดยสารตามเส้นทางถนนเพชรเกษมถึงกิโลเมตร 69/500 แล้วชนกับรถบรรทุกของจำเลยที่ 3ซึ่งมีจำเลยที่ 4 เป็นผู้ขับโดยความประมาทเลินเล่อของคนขับรถจำเลยที่ 1 จำเลยที่ 2 และจำเลยที่ 3 เป็นเหตุให้นางสุนีย์กาญจนพบู ถึงแก่กรรม โจทก์ได้รับความเสียหายโดยใช้จ่ายปลงศพเป็นเงิน44,040 บาท ค่าขาดไร้อุปการะเลี้ยงดูเด็กหญิงจุไรรัตน์ กาญจนพบูเป็นเงิน 192,000 บาท รวมค่าเสียหายทั้งสิ้นเป็นเงิน 236,040 บาทและดอกเบี้ยอัตราร้อยละเจ็ดครึ่งต่อปี รวมเป็นเงิน 253,740 บาทจึงขอให้จำเลยทั้งสี่ร่วมกันชำระเงินจำนวน 253,740 บาทพร้อมดอกเบี้ยนับถัดจากวันฟ้องจนกว่าชำระเสร็จแก่โจทก์
จำเลยที่ 1 ให้การว่า จำเลยที่ 1 ไม่ได้เป็นเจ้าของหรือผู้ครอบครองรถยนต์โดยสารตามฟ้องและไม่ได้เป็นนายจ้างคนขับรถดังกล่าวสาเหตุที่รถชนกันเพราะความประมาทเลินเล่อของคนขับรถบรรทุกสิบล้อฝ่ายเดียว ค่าปลงศพไม่เกิน 10,000 บาท และหากจำเลยที่ 1 ต้องรับผิดค่าขาดไร้อุปการะเด็กหญิงจุไรรัตน์ กาญจนพบู ก็ไม่เกิน10,000 บาท โจทก์ไม่มีอำนาจฟ้องเพราะจำเลยที่ 1 ได้จ่ายค่าทดแทนตามกฎหมายแรงงานให้โจทก์และเด็กหญิงจุไรรัตน์ กาญจนพบู เดือนละ1,500 บาทเป็นเวลา 5 ปี นับแต่วันเกิดเหตุ พร้อมทั้งจ่ายค่าทำศพนางสุนีย์ กาญจนพบู เป็นเงิน 5,000 บาทแล้ว ฟ้องโจทก์เคลือบคลุมเพราะไม่บรรยายลักษณะประมาทอย่างไร ขอให้ยกฟ้อง
จำเลยที่ 2 ที่ 3 และที่ 4 ขาดนัดยื่นคำให้การ และขาดนัดพิจารณา
ศาลชั้นต้นพิพากษาให้จำเลยทั้งสี่ร่วมกันใช้ค่าเสียหายจำนวน181,700 บาท พร้อมดอกเบี้ยอัตราร้อยละเจ็ดครึ่งต่อปีในต้นเงิน37,700 บาท นับแต่วันฟ้องและต้นเงิน 144,000 บาท นับแต่วันมีคำพิพากษาจนกว่าชำระเสร็จแก่โจทก์
จำเลยที่ 1 อุทธรณ์
ศาลอุทธรณ์วินิจฉัยว่าฟ้องโจทก์เคลือบคลุม พิพากษากลับให้ยกฟ้อง
โจทก์ฎีกา
ศาลฎีกาวินิจฉัยว่า “พิเคราะห์แล้ว คดีมีประเด็นแรกในชั้นฎีกาว่า ฟ้องของโจทก์เคลือบคลุมหรือไม่ โจทก์บรรยายฟ้องมีข้อความว่าเมื่อวันที่ 10 พฤษภาคม 2523 รถยนต์โดยสารของจำเลยที่ 1 ซึ่งมีนางสุนีย์ กาญจนพบู เป็นพนักงานต้อนรับ วิ่งจากกรุงเทพมหานครไปทางจังหวัดภาคใต้ ระหว่างกิโลเมตร 69/500 ถนนเพชรเกษม ได้ชนกับรถยนต์บรรทุกสิบล้อ ซึ่งวิ่งสวนทางมาจากภาคใต้โฉมหน้ามากรุงเทพมหานครโดยแรง จำเลยที่ 4 เป็นคนขับรถยนต์บรรทุกสิบล้อด้วยความประมาทเลินเล่อของคนขับรถยนต์โดยสาร และคนขับรถยนต์บรรทุกสิบล้อ เป็นเหตุให้รถยนต์โดยสารและรถยนต์บรรทุกสิบล้อเฉี่ยวชนกันกลางถนน รถทั้งสองคันเสียหายเนื่องจากตกถนนหลังเฉี่ยวชนกันแล้ว เสียหลักชนต้นไม้ข้างทาง เป็นเหตุให้นางสุนีย์ กาญจนพบู ภรรยาโจทก์ถึงแก่กรรม ขอให้จำเลยชดใช้ค่าเสียหาย เห็นว่า คำฟ้องของโจทก์ได้กล่าวถึงสภาพแห่งข้อหา คือ กล่าวว่าจำเลยได้กระทำละเมิดเป็นเหตุให้ภริยาของโจทก์ถึงแก่ความตาย ขอให้บังคับคือให้ใช้ค่าเสียหาย ขออ้างที่อาศัยเป็นหลักแห่งข้อหา คือคนขับรถทั้งสองฝ่ายประมาทเลินเล่อขับรถเฉี่ยวชนกันกลางถนน คำฟ้องของโจทก์จึงชอบด้วยประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความแพ่ง มาตรา 172 แล้ว ตามนัยคำพิพากษาฎีกาที่ 1204/2517 ระหว่างบริษัท ร.ส.พ.ประกันภัย จำกัดโจทก์ ห้างหุ้นส่วนจำกัดวีระวนิช กับพวก จำเลย ฎีกาข้อนี้ของโจทก์ฟังขึ้น
ส่วนประเด็นต่อไป จำเลยที่ 1 ได้ยื่นคำแก้ฎีกาไว้เป็นประเด็นว่า เหตุที่รถยนต์ชนกันเป็นความประมาทเลินเล่อของคนขับรถยนต์โดยสารของจำเลยที่ 1 หรือของจำเลยที่ 4 ซึ่งเป็นคนขับรถยนต์บรรทุกสิบล้อของจำเลยที่ 3 และจำเลยที่ 1 ต้องร่วมรับผิดกับจำเลยอื่นหรือไม่ศาลอุทธรณ์ยังไม่ได้วินิจฉัย แต่ศาลฎีกาเห็นสมควรวินิจฉัยไปเลยปัญหานี้ได้ความตามแผนที่เกิดเหตุและรายงานการสอบสวนของพันตำรวจตรีชั้น กาญจนี ว่า เชื่อว่าตามวันเวลาเกิดเหตุ คนขับรถยนต์บรรทุกสิบล้อและคนขับรถยนต์โดยสาร ต่างขับรถด้วยความประมาทเป็นเหตุให้รถเฉี่ยวชนกันกลางถนน มีคนได้รับบาดเจ็บและตาย เห็นควรสั่งฟ้องคนขับรถทั้งสอง คนขับรถยนต์โดยสารถึงแก่ความตาย คนขับรถยนต์บรรทุกสิบล้อหลบหนี ฝ่ายจำเลยที่ 1 อ้างว่า นายภราดร รัตนกุลกับร้อยตรีกนก ทองเผือก ผู้โดยสารในรถยนต์โดยสารของจำเลยที่ 1เห็นรถยนต์บรรทุกสิบล้อแซงรถเก๋งล้ำมาในทางเดินรถของรถยนต์โดยสารรถยนต์โดยสารได้หลบลงไหล่ทางแล้ว แต่ไม่พ้นจึงเฉี่ยวกัน เห็นว่าพยานในที่เกิดเหตุที่พันตำรวจตรีชั้นสอบสวนไว้มีถึง 23 คน พยานที่ให้การว่ารถยนต์โดยสารล้ำเข้าไปในทางเดินรถของรถยนต์บรรทุกสิบล้อมี 3 คน ที่ให้การว่ารถยนต์บรรทุกสิบล้อล้ำเข้าไปในทางเดินรถของรถยนต์โดยสารมี 1 คน คือร้อยตรีกนก ทองเผือก อีก 19 คน ไม่ทราบว่ารถคันไหนล้ำเข้าไปในทางเดินรถของอีกคันหนึ่งหรือไม่ แต่พยานส่วนมากยืนยันว่ารถทั้งสองคันวิ่งเร็ว ชนกันบริเวณกลางถนน รถยนต์บรรทุกสิบล้อเปิดไฟสูง (สปอทไลท์) ก่อนจะชนกัน จากคำพยานบุคคลที่กล่าวแล้ว จึงฟังไม่ได้แน่นอนว่า รถคันใดล้ำเส้นทางเดินรถของอีกฝ่ายหนึ่งแต่ตามแผนที่เกิดเหตุ จุดชนซึ่งเศษชิ้นส่วนของรถตกอยู่อยู่กลางถนนจึงเชื่อได้ว่า รถทั้งสองคันเฉี่ยวชนกันกลางถนน และตามแผนที่เกิดเหตุปรากฏว่า รถยนต์โดยสารวิ่งไปอีก 96 เมตร ไปชนต้นไม้แล้วหยุด รถยนต์บรรทุกสิบล้อวิ่งไปอีก 93 เมตร จากถนนแล้วจึงหยุดแสดงว่ารถทั้งสองคันได้ขับมาด้วยความเร็วสูงในบริเวณที่เป็นทางโค้งเป็นการประมาทเลินเล่อของคนขับรถทั้งสองคัน และเมื่อได้กระทำในทางการที่จ้าง จำเลยที่ 1 ที่ 2 และจำเลยที่ 3 ซึ่งเป็นนายจ้างจึงต้องร่วมรับผิดต่อการละเมิดของคนขับรถโดยสารที่ตายไปและจำเลยที่ 4 ด้วย
ประเด็นเรื่องค่าสินไหมทดแทน คือ ค่าปลงศพและค่าฌาปนกิจศพจำเลยที่ 1 ได้ยื่นคำแก้ฎีกาไว้เป็นประเด็นว่า นายทวี กาญจนพบูบิดาโจทก์เป็นผู้ออกค่าใช้จ่ายโจทก์จึงไม่มีสิทธิได้รับเงินในส่วนนี้ พิเคราะห์แล้วข้อเท็จจริงตามที่รับกันมีว่า โจทก์เป็นสามีของนางสุนีย์ ไม่ปรากฏว่านางสุนีย์มีพินัยกรรมเป็นอย่างอื่น โจทก์จึงเป็นผู้ได้รับทรัพย์มรดกโดยสิทธิโดยธรรมของนางสุนีย์เป็นจำนวนมากที่สุด เป็นผู้มีอำนาจและมีหน้าที่ต้องจัดการทำศพนางสุนีย์ตามประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์ มาตรา 1649 โจทก์จึงมีสิทธิที่จะเรียกร้องให้จำเลยใช้ค่าปลงศพภริยาโจทก์ได้ แม้นายทวีบิดาโจทก์จะได้ออกเงินให้โจทก์ใช้จ่ายในการทำศพก็ตาม จำเลยก็จะยกมาเป็นข้อปัดป้องความรับผิดของจำเลยหาได้ไม่ ส่วนที่จำเลยยื่นคำแก้ฎีกาว่า จำเลยได้จ่ายเงินให้โจทก์ไปตามคำสั่งของกรมแรงงานที่ 23/2524ไปบางส่วนแล้วจึงไม่ต้องรับผิดนั้น พิเคราะห์เอกสารหมาย จ.6 คือคำสั่งอุทธรณ์เงินทดแทนที่ 23/2524 แล้ว มีข้อความว่าอธิบดีกรมแรงงานพิจารณาแล้ว เห็นว่า นางสุนีย์เป็นลูกจ้างที่ประสบอันตรายเนื่องจากการทำงาน จึงให้บริษัท (จำเลยที่ 1) จ่ายค่าทดแทนแก่นางเลี่ยม พรหมวิสัย (มารดา) สิบตำรวจเอกธีรศักดิ์กาญจนพบู (สามี) และเด็กหญิงจุไรรัตน์ กาญจนพบู (บุตร) เป็นเงินเดือน ๆ ละ 1,500 บาท มีกำหนด 10 ปี และค่าทำศพ 5,000 บาทแล้วเห็นว่าคำสั่งดังกล่าวเป็นการจ่ายเงินเพื่อการคุ้มครองแรงงาน ไม่ใช่ค่าสินไหมทดแทนเพื่อการละเมิด โจทก์จึงยังคงมีสิทธิเรียกร้องค่าสินไหมทดแทนเรื่องละเมิดอยู่ ส่วนที่โจทก์เสนอค่าปลงศพ และค่าใช้จ่ายอื่น ๆ มาตามเอกสารหมาย ล.14, จ.15 นั้น ศาลชั้นต้นได้ตัดรายการที่ไม่จำเป็นเช่นรายการที่ 7 ค่าพิพาทเป็นเงิน 3,500บาท และลดรายการต่าง ๆ รวม ๆ กันไป คงเหลือตามเอกสารหมาย จ.14เพียง 20,000 บาท ศาลฎีกาเห็นว่าเป็นการเหมาะสมแก่ฐานานุรูปแล้ว
สำหรับค่าอุปการะเลี้ยงดูที่จำเลยที่ 1 อ้างว่า โจทก์ไม่ได้บรรยายว่าฟ้องแทนเด็กหญิงจุไรรัตน์ จึงไม่มีสิทธิฟ้องเรียกเงินส่วนนี้นั้น เห็นว่า โจทก์เป็นบิดาผู้ใช้อำนาจปกครองและเป็นผู้แทนโดยชอบธรรมของเด็กหญิงจุไรรัตน์ซึ่งเป็นบุตร ตามคำฟ้องของโจทก์ได้บรรยายชัดเจนว่า โจทก์กับนางสุนีย์ผู้ตายมีบุตรด้วยกัน คือเด็กหญิงจุไรรัตน์ ทั้งโจทก์ได้เรียกร้องค่าอุปการะเลี้ยงดูไว้เป็นจำนวนเงินชัดเจน ถือได้ว่าโจทก์ได้ฟ้องคดีนี้ในฐานะผู้แทนโดยชอบธรรมของบุตรผู้เยาว์ด้วย จึงมีสิทธิเรียกเงินส่วนนี้ ส่วนค่าอุปการะเลี้ยงดูควรจะเป็นเดือนละเท่าไรนั้น โจทก์นำสืบฟังได้ว่า นางสุนีย์มีรายได้ประมาณเดือนละ 3,000 บาท จำเลยที่ 1 เป็นผู้ประกอบการเดินรถประจำทาง ดังนั้น ที่ศาลชั้นต้นคิดค่าอุปการะเลี้ยงดูให้เด็กหญิงจุไรรัตน์เดือนละ 800 บาท โดยคิดรวมทั้งปีเป็นเงินปีละ9,600 บาท มีกำหนด 15 ปี เป็นเงิน 144,000 บาท จึงเหมาะสมแล้วเมื่อรวมกับค่าปลงศพและค่าใช้จ่ายอันจำเป็นอื่น ๆ อีกจำนวน37,700 บาท รวมเป็นเงิน 181,700 บาท ฎีกาโจทก์ฟังขึ้น”
พิพากษากลับ ให้บังคับคดีตามคำพิพากษาศาลชั้นต้น

Share