คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 173/2510

แหล่งที่มา : กองผู้ช่วยผู้พิพากษาศาลฎีกา

ย่อสั้น

เมื่อคดีฟังได้ว่าจำเลยที่ 2 ถูกผู้เสียหายยิง แล้วได้ไปแจ้งความต่อจำเลยที่ 1 ซึ่งเป็นกำนัน การที่จำเลยที่ 2 เรียกร้องเอาเงินจากผู้เสียหายเพื่อตกลงเลิกคดีกัน และจำเลยที่ 1 ก็ได้พูดกับผู้เสียหายเป็นทำนองไกล่เกลี่ยให้เลิกแล้วต่อกันนั้น ดังนี้จำเลยย่อมไม่มีความผิดตามมาตรา 148, 337

ย่อยาว

โจทก์ฟ้องว่า จำเลยที่ 1 เป็นกำนัน ได้บังอาจร่วมกับจำเลยที่ 2 ซึ่งเป็นราษฎรธรรมดา เรียกนายฉ่ำ ปิ่นแก้ว ไปพบที่บ้านจำเลยที่ 1 แล้วจำเลยทั้งสองได้กล่าวหาว่านายฉ่ำใช้อาวุธปืนยิง พยายามฆ่าจำเลยที่ 2 แล้วจำเลยที่ 1 ใช้อำนาจในตำแหน่งร่วมกับจำเลยที่ 2 บังคับให้นายฉ่ำให้หาเงินให้ 4,000 บาท มามอบให้ แล้วจำเลยจะปล่อยตัวไปถ้าไม่ให้เงินก็จะส่งไปดำเนินคดี นายฉ่ำกลัวจึงตกลงให้เงินจำเลยไป 2,700 บาท แล้วจำเลยทั้งสองจึงปล่อยตัวนายฉ่ำไปขอให้ลงโทษจำเลยตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 83, 148, 310, 337

จำเลยทั้งสองให้การปฏิเสธ

ศาลชั้นต้นพิพากษาว่า จำเลยทั้งสองมีความผิดตามมาตรา 148 แต่เฉพาะจำเลยที่ 2 เป็นเพียงผู้สนับสนุนตามมาตรา 86 ลดโทษแล้วคงจำคุกจำเลยที่ 1 สามปีสี่เดือนจำเลยที่ 2 สองปีหนึ่งเดือนยี่สิบวัน

จำเลยอุทธรณ์

ศาลอุทธรณ์วินิจฉัยว่า จำเลยที่ 2 ถูกผู้เสียหายยิง แล้วไปแจ้งความต่อจำเลยที่ 1 การที่จำเลยที่ 2 เรียกร้องเอาเงินจากผู้เสียหายเพื่อตกลงเลิกคดีนั้น เห็นว่าจำเลยที่ 2 ไม่มีความผิด เพราะไม่มีเจตนาทุจริต ตามนัยฎีกาที่ 426/2482 ระหว่างพนักงานอัยการจังหวัดร้อยเอ็ดโจทก์ นายจอม ลาขุนเหล็ก กับพวก จำเลยทั้งจำนวนเงินที่เรียกร้องและที่ตกลงยินยอมให้กัน ก็ไม่เกินสมควรกับที่จำเลยที่ 2ต้องเสี่ยงกับความตายและได้รับบาดเจ็บและจำเลยที่ 1 ไม่ได้มีเจตนาทุจริตที่จะบังคับขู่เข็ญตามฟ้องโจทก์แต่อย่างใดจำเลยที่ 1 ไม่มีความผิดเช่นกัน พิพากษากลับ (ที่ถูกต้องเป็นแก้) คำพิพากษาศาลชั้นต้นให้ยกฟ้องโจทก์

โจทก์ฎีกาขอให้ลงโทษจำเลยทั้งสองตามคำพิพากษาศาลชั้นต้น

ศาลฎีกาวินิจฉัยว่า ตามพยานหลักฐานที่โจทก์นำสืบมานั้น ยังฟังไม่ได้ว่าจำเลยทั้งสองได้สมคบร่วมกันทำการขู่เข็ญขืนใจผู้เสียหายแต่อย่างใด การที่จำเลยที่ 1 ซึ่งเป็นกำนันได้พูดกับผู้เสียหายว่าถ้าไม่ยอมให้เงินแก่จำเลยที่ 2 ก็จะส่งไปอำเภอจะต้องเสียเงินมากกว่านี้นั้น หาใช่คำขู่เข็ญแต่อย่างใดไม่ เพราะจำเลยอาจเห็นว่าถ้าผู้เสียหายตกลงกับจำเลยที่ 2 ไม่ได้ จำเลยที่ 1 ก็ต้องส่งตัวผู้เสียหายไปอำเภอซึ่งจำเลยที่ 1 คิดว่าถ้าเรื่องดำเนินต่อไปผู้เสียหายจะสิ้นเปลืองเงินมาก จึงได้พูดเป็นทำนองไกล่เกลี่ยให้เลิกแล้วต่อกันก็ได้ ส่วนคดีสำหรับตัวจำเลยที่ 2 นั้น ตามพฤติการณ์ที่ได้ความในเวลานั้น ผู้เสียหายก็เข้าใจว่าบาดแผลของจำเลยที่ 2 นั้น คงเนื่องมาจากอาวุธปืนของผู้เสียหาย ในฐานที่จำเลยที่ 2 ถูกยิงมีบาดเจ็บ จำเลยจึงขอให้ผู้เสียหายชดใช้ค่าเสียหาย แล้วจำเลยจะไม่เอาความ เป็นเรื่องระหว่างจำเลยที่ 2 และผู้เสียหายต่อรองกัน แม้จำเลยจะพูดว่า ถ้าไม่ยอมให้เงินแล้ว จำเลยจะขอให้ส่งตัวผู้เสียหายไปอำเภอ ซึ่งตามรูปเรื่องก็เป็นที่เข้าใจกันว่าเพื่อดำเนินคดีต่อไปเท่านั้น หาใช่เรื่องแกล้งกล่าวหาเพื่อจะขู่กรรโชกเอาเงินจากผู้เสียหายแต่อย่างใดที่ศาลอุทธรณ์วินิจฉัยว่าจำเลยที่ 2 ไม่มีเจตนาทุจริตนั้นชอบแล้ว ที่โจทก์ฎีกาว่าจำเลยที่ 1 ได้รับประโยชน์จากจำเลยที่ 2 เป็นเงิน 700 บาท แสดงว่าจำเลยทั้งสองได้มีเจตนาทุจริตร่วมกันขู่เข็ญเอาเงินจากผู้เสียหายนั้น ศาลฎีกาเห็นว่าจำเลยที่ 1 หาได้รับเงินจากจำเลยที่ 2 ดังโจทก์ฎีกาขึ้นมาไม่ กลับปรากฏว่าจำเลยที่ 1 ไม่มีส่วนเกี่ยวข้องในเงินจำนวนนี้แต่อย่างใดเลย

พิพากษายืน

Share