คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 2860/2531

แหล่งที่มา : กองผู้ช่วยผู้พิพากษาศาลฎีกา

ย่อสั้น

โจทก์ทั้งสองเป็นสามีภรรยากันซื้อที่ดินมาแล้วแบ่งแยกที่ดินออกเป็นแปลงย่อยเนื้อที่เพียงเล็กน้อย มีลักษณะเพื่อที่จะปลูกสร้างตึกแถวและต่อมาหลังจากโจทก์ซื้อที่ดินดังกล่าวแล้วไม่ถึง 3 ปี ได้ขายไปในช่วงระยะเวลาอันสั้นส่อแสดงให้เห็นว่าโจทก์ซื้อที่ดินมาแล้วขายไปในทางการค้าหรือหากำไรเพราะคำว่าการขายโดยมุ่งในทางการค้าหรือหากำไรหมายความว่า หากมีการซื้อที่ดินมาเพื่อจะขายเพื่อเอากำไรก็เรียกว่าเป็นการค้า แม้จะกระทำเพียงครั้งเดียวก็ถือได้ว่าเป็นการขายโดยมุ่งในทางการค้าหรือหากำไรแล้ว
การคำนวณเงินได้สุทธิเพื่อเสียภาษีเงินได้บุคคลธรรมดาและการคำนวณภาษีการค้านั้นมีหลักเกณฑ์ไม่เหมือนกัน ไม่เป็นผลผูกมัดถึงกันอย่างใด การขายอสังหาริมทรัพย์เป็นทางค้าหรือหากำไรจะต้องเสียภาษีการค้า และเมื่อโจทก์ขายที่ดินที่ได้มาโดยมุ่งทางการค้าหรือหากำไรแล้ว ดังนั้น ในการคำนวณภาษีเงินได้บุคคลธรรมดา โจทก์จึงไม่มีสิทธิหักค่าใช้จ่ายเป็นการเหมาได้ร้อยละ 80 ของเงินได้พึงประเมิน.

ย่อยาว

โจทก์ทั้งสองฟ้องว่าจำเลยที่ 2 ได้มีแบบหนังสือแจ้งภาษีเงินได้ (ภ.ง.ด.11) 2 ฉบับ แจ้งให้โจทก์ที่ 1 เสียภาษีเงินได้บุคคลธรรมดาในปี 2522 เพิ่มขึ้น เนื่องจากโจทก์ทั้งสองได้ขายที่ดิน รวมทั้งเงินเพิ่มเป็นเงินทั้งสิ้น 528,440.76 บาท โจทก์ที่ 1 อุทธรณ์ จำเลยที่ 3 ที่ 4 และที่ 5 ได้มีคำวินิจฉัยอุทธรณ์เห็นชอบด้วยกับการประเมินของจำเลยที่ 2 แต่ลดภาษีและเงินเพิ่มที่เรียกเก็บลงคงเรียกเก็บจากโจทก์ทั้งสองรวมเป็นเงิน 469,933.58 บาท การประเมินและการวินิจฉัยอุทธรณ์ของจำเลยที่ว่าเป็นเงินได้จากการขายที่ดินที่ได้มาโดยมุ่งในทางการค้าหรือหากำไรและไม่ให้หักค่าใช้จ่ายเป็นการเหมาร้อยละ 80 นั้น เป็นการไม่ชอบ ขอให้ศาลพิพากษาเพิกถอนการประเมินและคำวินิจฉัยอุทธรณ์ของจำเลยดังกล่าวและให้ยกเว้นเบี้ยปรับเงินเพิ่ม
จำเลยทั้งห้าให้การต่อสู้หลายประการและว่า การที่เจ้าพนักงานประเมินเรียกเก็บภาษีจากโจทก์โดยถือว่าโจทก์มีเงินได้จากการขายที่ดินที่ได้มา โดยมุ่งในทางการค้าหากำไร และหักค่าใช้จ่ายให้ตามที่จ่ายจริงเป็นการชอบแล้ว ขอให้ยกฟ้อง
ศาลภาษีอากรกลางพิพากษายกฟ้อง
โจทก์ทั้งสองอุทธรณ์ต่อศาลฎีกา
ศาลฎีกาแผนกคดีภาษีอากรวินิจฉัยว่า ปัญหาวินิจฉัยมีว่าการที่โจทก์ที่ 2 ขายที่ดินไปจำนวน 12 แปลง คือโฉนดเลขที่ 7643 และ 136624 ถึง 136634 เป็นการขายที่ดินที่ได้มาโดยมุ่งในทางค้าหรือหากำไรหรือไม่ ข้อเท็จจริงได้ความว่าโจทก์ทั้งสองซื้อที่ดินพิพาทดังกล่าวมาในปี 2519 ขณะนั้นโจทก์ทั้งสองเป็นสามีภรรยากัน และโจทก์ที่ 1 มีที่ดินอยู่ก่อนตั้งแต่ปี 2515 คือที่ดินโฉนดเลขที่ 41117 ส่วนโจทก์ที่ 2 ก็มีที่ดินอยู่ก่อนตั้งแต่ปี 2506 คือที่ดิน โฉนดเลขที่ 61164 ดังนั้นที่โจทก์ทั้งสองอ้างว่าซื้อที่ดินพิพาททั้งหมดมาเพื่อจะปลูกบ้านเป็นที่อยู่อาศัยจึงไม่มีเหตุผลเพียงพอ ทั้งโจทก์ทั้งสองก็มิได้ปลูกบ้านในที่ดินพิพาทแต่อย่างใด ในขณะที่โจทก์ที่ 2 ถือกรรมสิทธิ์ที่ดินพิพาทนั้น โจทก์ที่ 2 ได้ยกบริเวณด้านหน้าเนื้อที่ประมาณ 7 ตารางวาให้ทำเป็นถนน และแบ่งแยกที่ดินพิพาทออกเป็นแปลงย่อยเนื้อที่เพียงเล็กน้อย มีลักษณะเพื่อที่จะปลูกสร้างตึกแถว และต่อมาหลังจากโจทก์ซื้อที่ดินพิพาทได้ไม่ถึง 3 ปีกล่าวคือ โจทก์ซื้อมาเมื่อวันที่ 25 พฤษภาคม 2519 แล้ว ได้ขายไปเมื่อวันที่ 15 มีนาคม 2522 เป็นช่วงระยะเวลาอันสั้น ส่อแสดงให้เห็นว่าโจทก์ซื้อที่ดินพิพาทมาแล้วขายไปในทางการค้าหรือหากำไร ข้อที่โจทก์ทั้งสองอุทธรณ์ว่าโจทก์ทั้งสองไม่เคยประกอบอาชีพค้าขายที่ดินย่อมถือไม่ได้ว่ากระทำเป็นทางการค้าเพราะคำว่า ‘ทางการค้า’ ย่อมหมายถึงประกอบกิจการขายที่ดินเป็นปกติธุระเพื่อหากำไรหรือผลประโยชน์นั้น เห็นว่าโจทก์เข้าใจความหมายคลาดเคลื่อนไป คำว่าการขายโดยมุ่งในทางการค้าหรือหากำไร หาได้หมายความดังที่โจทก์อ้างไม่กล่าวคือหากมีการซื้อที่ดินมาเพื่อจะขายเพื่อเอากำไรซึ่งเรียกว่าการค้าแล้ว แม้จะกระทำเพียงครั้งเดียวก็ถือได้ว่าเป็นการขายโดยมุ่งในทางการค้าหรือหากำไรแล้ว และข้อที่โจทก์ทั้งสองอุทธรณ์ว่า จำเลยที่ 3 ที่ 4 ที่ 5 ยอมปลดภาษีการค้าให้โจทก์ที่ 2 เนื่องจากโจทก์ที่ 2 ขายที่ดินพิพาทไปด้วยความจำเป็น มิได้มุ่งในทางการค้าหรือหากำไรดังนั้น ในการประเมินภาษีเงินได้บุคคลธรรมดาก็ต้องฟังเป็นอย่างเดียวกันด้วย มิฉะนั้นจะเป็นการฟังที่ขัดแย้งกันนั้นเห็นว่าการคำนวณเงินได้สุทธิเพื่อเสียภาษีเงินได้บุคคลธรรมดาและการคำนวณภาษีการค้านั้นมีหลักเกณฑ์วินิจฉัยเฉพาะของแต่ละประเภทไม่เหมือนกันตามที่กฎหมายบัญญัติไว้ไม่เป็นผลผูกมัดถึงกันอย่างใด สำหรับเรื่องภาษีการค้านั้นตามบัญชีอัตราภาษีการค้า ท้ายลักษณะ 2 หมวด 4 แห่งประมวลรัษฎากร ประเภทการค้า 11 กำหนดว่า การขายอสังหาริมทรัพย์เป็นทางค้าหรือหากำไร จึงอยู่ในข่ายจะต้องเสียภาษีการค้าและตามเหตุผลแห่งการวินิจฉัยของจำเลยที่ 3 ที่ 4 ที่ 5 ปรากฏตามรายงานการประชุมเอกสารหมาย ล.12 มีว่า ‘เพราะผู้อุทธรณ์ขายยกแปลงไปในสภาพเดิมให้แก่ผู้ซื้อเพียงคนเดียว กรณีมีเหตุอันควรฟังได้ว่า ผู้อุทธรณ์ขายทรัพย์สินไปโดยมิได้มุ่งค้าหากำไร จึงไม่เข้าข่ายเป็นการค้าอสังหาริมทรัพย์…..’ ซึ่งจะเห็นได้ว่ามีเหตุผลหลายข้อวินิจฉัยประกอบกันแล้วจึงลงความเห็นว่าไม่เข้าข่ายเป็นการค้าอสังหาริมทรัพย์…..’ เป็นผลทำให้โจทก์ที่ 2 ได้รับการปลดภาษีการค้า ซึ่งนับว่าเป็นคุณแก่โจทก์อยู่แล้ว โจทก์จะเอาผลส่วนนี้ซึ่งเป็นการวินิจฉัยคนละเรื่อง และเหตุผลต่างกันไปยันเอากับการวินิจฉัยในการประเมินภาษีเงินได้บุคคลธรรมดาด้วยหาได้ไม่ ศาลฎีกาแผนกคดีภาษีอากรได้พิเคราะห์โดยตระหนักแล้วเห็นว่า โจทก์ขายที่ดินพิพาทที่ได้มาโดยมุ่งทางการค้าหรือหากำไร ดังนั้นในการคำนวณภาษีเงินได้บุคคลธรรมดา โจทก์จึงไม่มีสิทธิหักค่าใช้จ่ายเป็นการเหมาได้ร้อยละ 80 ดังที่เจ้าพนักงานประเมินทำการประเมินนั้นชอบแล้ว
พิพากษายืน.

Share