แหล่งที่มา : สำนักงานส่งเสริมงานตุลาการ
ย่อสั้น
จำเลยทั้งสามนั่งเรือไปที่แพดูดดำแร่ ซึ่งอยู่ห่างจากชายฝั่งทะเลประมาณ 1 กิโลเมตร จำเลยที่ 1 ที่ 3 ขึ้นไปบนแพดูดดำแร่ จำเลยที่ 3 ซึ่งแต่งกายและแสดงตนว่าเป็นเจ้าพนักงานตำรวจ มีอาวุธปืนติดตัวมองเห็น ได้บอก ว.ให้ตักแร่ให้ ว. กับพวกกลัว ตักแร่ให้ 1 ถุง น้ำหนัก 20กิโลกรัม ราคาประมาณ 1,200 บาท ไม่ปรากฏว่าจำเลยที่ 3 ได้ใช้กำลังประทุษร้าย หรือขู่เข็ญว่าในทันใดนั้นจะใช้กำลังประทุษร้ายอย่างใด การกระทำของจำเลยไม่เป็นความผิดฐานปล้นทรัพย์ แต่ตามพฤติการณ์ย่อมเห็นได้ว่าจำเลยได้อาศัยการที่จำเลยที่ 3 เป็นเจ้าพนักงานตำรวจ มีอาวุธปืนติดตัวประกอบกับที่เกิดเหตุอยู่ในท้องทะเล ไม่มีผู้ใดจะรู้เห็นหรือช่วยเหลือได้ทันถ้าขัดขืน เป็นการบังคับ ว. กับพวกอยู่ในทีแล้ว ถือได้ว่าเป็นการร่วมกันข่มขืนใจให้ ว. ต้องตักแร่ให้ โดยทำให้กลัวว่าจะเกิดอันตรายต่อชีวิต ร่างกายและเสรีภาพของ ว. กับพวก เป็นความผิดตาม ป.อ. มาตรา 309วรรคสอง แล้ว สำหรับจำเลยที่ 2 มาด้วยกับจำเลยที่ 1 ที่ 3ขณะเกิดเหตุแม้จะนั่งอยู่ในเรือ แต่ก็อยู่ติดกับแพดูดดำแร่เห็นกันชัดเจน แสดงว่าแบ่งหน้าที่กันทำ เมื่อได้แร่แล้วก็กลับไปพร้อมกัน ถือว่าจำเลยที่ 2 ร่วมกระทำผิดกับจำเลยที่ 1 ที่ 3 ด้วย.
เรือพร้อมเครื่องยนต์ ของกลางจำเลยทั้งสามใช้เป็นยานพาหนะไปมาเท่านั้น เป็นเรื่องใช้ยานพาหนะตามปกติไม่ใช่ทรัพย์สินที่ใช้ในการกระทำผิดอันจะพึง ริบตามป.อ. มาตรา 33(1).
ย่อยาว
โจทก์ฟ้องขอให้ลงโทษจำเลยตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 340,340 ตรี, 91 ประกาศของคณะปฏิวัติ ฉบับที่ 11 ลงวันที่ 21 พฤศจิกายน2514 ข้อ 14, 15 พระราชบัญญัติแก้ไขเพิ่มเติมประมวลกฎหมายอาญา(ฉบับที่ 6) พ.ศ. 2526 มาตรา 4 พระราชบัญญัติอาวุธปืนเครื่องกระสุนปืน วัตถุระเบิด ดอกไม้เพลิง และสิ่งเทียมอาวุธปืนพ.ศ. 2490 มาตรา 7, 8 ทวิ, 72, 72 ทวิคำสั่งของคณะปฏิรูปการปกครองแผ่นดิน ฉบับที่ 44 ลงวันที่ 21 ตุลาคม2519 ข้อ 3, 6, 7 และสั่งให้ริบเรือหัวโทงพร้อมเครื่องยนต์ของกลางส่วนอาวุธปืนสั้นพร้อมกระสุนปืนคืนให้แก่เจ้าของ
จำเลยที่ 1 และที่ 2 ให้การปฏิเสธว่าไม่ได้กระทำความผิดตามฟ้องจำเลยที่ 3 ให้การรับว่ามีอาวุธปืนลูกซองสั้นตามฟ้องจริง และพาอาวุธปืนตามฟ้องติดตัวไปบริเวณชายหาดท่ามะเขือซึ่งเป็นที่สาธารณะโดยเปิดเผยไม่มีเหตุอันควร โดยจำเลยที่ 3 ไม่ได้รับอนุญาตและไม่มีเหตุจำเป็นและเร่งด่วนตามสมควรแก่พฤติการณ์ต้องมีติดตัว ส่วนข้อหาปล้นทรัพย์จำเลยที่ 3 ให้การปฏิเสธ
ศาลชั้นต้นพิพากษาว่า จำเลยที่ 3 มีความผิดตามประมวลกฎหมายอาญามาตรา 309 วรรคสอง พระราชบัญญัติอาวุธปืน เครื่องกระสุนปืนวัตถุระเบิด ดอกไม้เพลิง และสิ่งเทียมอาวุธปืน พ.ศ. 2490 มาตรา7, 8 ทวิ, 72, 72 ทวิ การกระทำของจำเลยที่ 3 เป็นความผิดหลายกรรมเรียงกระทงลงโทษตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 91 ความผิดตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 309 วรรคสอง จำคุก 1 ปี ความผิดตามพระราชบัญญัติอาวุธปืน เครื่องกระสุนปืน วัตถุระเบิด ดอกไม้เพลิงและสิ่งเทียมอาวุธปืน พ.ศ. 2490 มาตรา 7, 72 วรรคสาม จำคุก 6 เดือนความผิดตามพระราชบัญญัติอาวุธปืน เครื่องกระสุนปืน วัตถุระเบิดดอกไม้เพลิง และสิ่งเทียมอาวุธปืน พ.ศ. 2490 มาตรา 8 ทวิ, 72 ทวิ(ที่ถูกเป็นมาตรา 8 ทวิ วรรคหนึ่ง วรรคสอง, 72 ทวิ วรรคสอง)จำคุก 6 เดือน รวมโทษจำคุกตามพระราชบัญญัติอาวุธปืนเครื่องกระสุนปืน วัตถุระเบิด ดอกไม้เพลิง และสิ่งเทียมอาวุธปืนพ.ศ. 2490 มาตรา 7, 8 ทวิ, 72, 72 ทวิ จำคุก 1 ปี จำเลยที่ 3รับสารภาพในข้อหานี้มีเหตุบรรเทาโทษ ลดโทษให้ตามประมวลกฎหมายอาญามาตรา 78 กึ่งหนึ่ง คงจำคุก 6 เดือน รวมจำคุกจำเลยที่ 3 มีกำหนด1 ปี 6 เดือน จำเลยที่ 1 มีความผิดตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา309 วรรคสอง จำคุก 1 ปี จำเลยที่ 2 มีความผิดตามประมวลกฎหมายอาญามาตรา 309 วรรคสอง, 86 จำคุก 8 เดือน เรือหัวโทงพร้อมเครื่องยนต์ของกลางและอาวุธปืนสั้นพร้อมกระสุนปืนคืนให้แก่เจ้าของ คำขออื่นให้ยก
โจทก์อุทธรณ์
ศาลอุทธรณ์พิพากษาแก้เป็นว่า จำเลยทั้งสามกระทำผิดตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 340 วรรคสอง, 340 ตรี ให้จำคุกมีกำหนดคนละ18 ปี คำรับชั้นจับกุมและทางนำสืบของจำเลยทั้งสามเป็นประโยชน์แก่การพิจารณา ปรานีลดโทษให้หนึ่งในสามตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 78คงลงโทษจำเลยทั้งสามคนละ 12 ปี สำหรับจำเลยที่ 3 เมื่อรวมกับโทษตามพระราชบัญญัติอาวุธปืน เครื่องกระสุนปืน วัตถุระเบิด ดอกไม้เพลิงและสิ่งเทียมอาวุธปืน พ.ศ. 2490 ตามคำพิพากษาศาลชั้นต้นแล้วเป็นโทษจำคุก 12 ปี 6 เดือน นอกจากที่แก้ให้เป็นไปตามคำพิพากษาศาลชั้นต้น
โจทก์และจำเลยทั้งสามฎีกา
ศาลฎีกาวินิจฉัยว่า “…พิเคราะห์แล้ว ข้อเท็จจริงฟังได้ว่าจำเลยที่ 3 เป็นเจ้าพนักงานตำรวจประจำจังหวัดพัทลุง ตามวันเวลาเกิดเหตุจำเลยทั้งสามนั่งเรือหัวโทงไปที่แพดูดดำแร่อดิสัย ซึ่งอยู่ห่างจากชายฝั่งทะเลประมาณ 1 กิโลเมตร จำเลยที่ 1 ที่ 3 ขึ้นไปบนแพดูดดำแร่ จำเลยที่ 2 นั่งอยู่ในเรือ แล้วจำเลยที่ 1 ที่ 3นำแร่จากแพดังกล่าว 1 ถุง หนัก 20 กิโลกรัม ราคาประมาณ 1,200 บาทมาส่งให้จำเลยที่ 2 ต่อมาจำเลยทั้งสามนำเรือดังกล่าวเข้าชายฝั่งก็ถูกเจ้าพนักงานตำรวจจับพร้อมกับยึดแร่ 1 ถุง เรือหัวโทงพร้อมเครื่องยนต์และอาวุธปืนสั้น 1 กระบอก เป็นของกลาง
มีปัญหาตามที่จำเลยฎีกาว่า จำเลยทั้งสามได้ร่วมกันกระทำผิดฐานปล้นทรัพย์หรือไม่ คดีนี้ประจักษ์พยานโจทก์มีนายหลอ สมใจเพียงปากเดียวเบิกความว่า จำเลยที่ 3 ขึ้นไปบนแพไปพูดกับนายวิชัยสหมอใจ ว่าตักแร่ใส่ถุงให้หน่อย โดยจำเลยที่ 3 ถืออาวุธปืนสั้นชี้ไปมา ไม่ได้พูดจาข่มขู่ พันตำรวจโทโกวิท สุทธิบุตร พยานโจทก์อีกปากหนึ่งเบิกความว่า ได้ให้เจ้าพนักงานตำรวจไปตามเจ้าของแพ เมื่อนายหลอ นายวิชัย ซึ่งเป็นผู้ควบคุมแพมาถึงได้แจ้งว่า จำเลยที่ 3ใช้อาวุธปืนลูกซองสั้นที่พกไปโดยเปิดเสื้อว่าจำเลยที่ 1 ที่ 3ได้อาศัยการที่จำเลยที่ 3 เป็นเจ้าพนักงานตำรวจมีอาวุธปืนติดตัวประกอบกับที่เกิดเหตุอยู่ในท้องทะเลไม่มีผู้ใดจะรู้เห็นหรือช่วยเหลือได้ถ้าขัดขืน เป็นการบังคับนายวิชัยกับพวกอยู่ในทีแล้ว ถือได้ว่าเป็นการร่วมกันข่มขืนใจให้นายวิชัยต้องตักแร่ให้โดยทำให้กลัวว่าจะเกิดอันตรายต่อชีวิต ร่างกาย และเสรีภาพของนายวิชัยกับพวก การกระทำของจำเลยทั้งสองจึงเป็นความผิดตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 309 วรรคสองแล้ว คงมีปัญหาที่ต้องพิจารณาต่อไปว่าจำเลยที่ 2 ได้ร่วมกระทำผิดกับจำเลยที่ 1 ที่ 3 หรือเป็นเพียงผู้สนับสนุน เห็นว่า จำเลยทั้งสามนั่งเรือมาด้วยกันขณะเกิดเหตุแม้จำเลยที่ 2 จะนั่งอยู่ในเรือ แต่ก็อยู่ติดกับแพดูดดำแร่เห็นกันชัดเจน แสดงให้เห็นว่าเป็นการแบ่งหน้าที่กันทำเมื่อได้แร่มาแล้วก็กลับไปพร้อมกัน ข้อเท็จจริงฟังได้ว่า จำเลยที่ 2 ร่วมกระทำผิดกับจำเลยที่ 1 ที่ 3
มีปัญหาต่อไปตามที่โจทก์ฎีกาว่าเรือหัวโทงพร้อมเครื่องยนต์ของกลางเป็นทรัพย์ที่ใช้ในการกระทำผิดต้องริบนั้น เห็นว่าเรือดังกล่าวจำเลยทั้งสามใช้เป็นยานพาหนะไปมาเท่านั้น การกระทำผิดเกิดขึ้นที่บนแพไม่เกี่ยวกับเรือและเครื่องยนต์ การที่จำเลยได้แร่มาแล้วบรรทุกเรือไปก็เป็นเรื่องใช้ยานพาหนะตามปกติ จึงไม่ใช่ทรัพย์สินที่ใช้ในการกระทำผิดอันจะพึงริบตามประมวลกฎหมายอาญามาตรา 33(1)…”
พิพากษาแก้เป็นว่า ข้อหาตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 340วรรคสอง, 340 ตรี ให้ยกฟ้อง สำหรับจำเลยที่ 1 ที่ 3 ให้บังคับคดีไปตามคำพิพากษาศาลชั้นต้น จำเลยที่ 2 มีความผิดตามประมวลกฎหมายอาญามาตรา 309 วรรคสอง, 83 ให้จำคุก 1 ปี นอกจากที่แก้ให้เป็นไปตามคำพิพากษาศาลอุทธรณ์