แหล่งที่มา : เนติบัณฑิตยสภา
ย่อสั้น
ผู้ร้องกับพี่สาวซื้อที่ดินมีโฉนดจากจำเลย โดยทำหนังสือสัญญาซื้อขายและจดทะเบียนต่อพนักงานเจ้าหน้าที่ซึ่งขณะนั้นบนที่ดินมีบ้านพิพาทของจำเลยปลูกอยู่ ต่อมาเมื่อผู้ร้องกับพี่สาวซื้อบ้านพิพาทจากจำเลย แม้จะทำหนังสือสัญญาซื้อขายกันเอง บ้านพิพาทก็ตกเป็นส่วนควบของที่ดินและเป็นกรรมสิทธิ์ของผู้ร้องกับพี่สาวตามประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์ มาตรา 107 วรรคสอง ตั้งแต่วันทำหนังสือสัญญาซื้อขายบ้านพิพาทแล้ว โดยไม่ต้องไปจดทะเบียนการซื้อขายต่อพนักงานเจ้าหน้าที่ตามมาตรา 456 อีก โจทก์จึงไม่มีสิทธินำเจ้าพนักงานบังคับคดียึดบ้านพิพาท
ย่อยาว
คดีนี้สืบเนื่องจากโจทก์ซึ่งเป็นเจ้าหนี้ตามคำพิพากษานำเจ้าพนักงานบังคับคดียึดบ้าน 1 หลัง เลขที่ 34/6 ว่าเป็นของจำเลยผู้ร้องยื่นคำร้องขัดทรัพย์ว่า บ้านดังกล่าวไม่ใช่ทรัพย์สินของจำเลยแต่เป็นของผู้ร้องและเป็นบ้านเลขที่ 34/10 ไม่ใช่เลขที่ 34/6 ตามที่โจทก์อ้าง ขอให้ศาลสั่งถอนการยึด โจทก์ยื่นคำคัดค้านว่าบ้านที่นำยึดนั้นเป็นบ้านเลขที่ 34/6 ซึ่งเป็นบ้านหลังเดียวกันกับบ้านเลขที่ 34/10 โดยผู้ร้องขอเลขบ้านใหม่ และบ้านดังกล่าวเป็นกรรมสิทธิ์ของจำเลย ขอให้ยกคำร้องขัดทรัพย์ ศาลแรงงานกลางมีคำสั่งให้ยกคำร้องขัดทรัพย์ของผู้ร้อง ผู้ร้องอุทธรณ์ต่อศาลฎีกา
ศาลฎีกาแผนกคดีแรงงานวินิจฉัยว่า “ข้อเท็จจริงได้ความว่าผู้ร้องกับนางสาวรัชนีพร เอื้ออนุกร พี่สาวซื้อที่ดินตามโฉนดเลขที่ 15758 จากจำเลยโดยทำหนังสือสัญญาซื้อขายและจดทะเบียนต่อพนักงานเจ้าหน้าที่ เมื่อวันที่ 18 มีนาคม 2530 ตามเอกสารหมายร.1, ร.2 ซึ่งขณะนั้นบนที่ดินแปลงดังกล่าวมีบ้านพิพาทของจำเลยปลูกอยู่ ต่อมาเมื่อวันที่ 24 มีนาคม 2530 ผู้ร้องกับพี่สาวซื้อบ้านพิพาทจากจำเลยในราคา 15,000 บาท โดยทำหนังสือสัญญาซื้อขายกันเองตามเอกสารหมาย ร.4 และเมื่อวันที่ 8 ตุลาคม 2530 นางสาวรัชนีพรเอื้ออนุกร จดทะเบียนยกที่ดินส่วนของตนตามโฉนดดังกล่าวให้แก่ผู้ร้อง และต่อมาเมื่อวันที่ 22 ธันวาคม 2531 โจทก์นำเจ้าพนักงานบังคับคดียึดบ้านพิพาทโดยอ้างว่าบ้านพิพาทเป็นของจำเลย ผู้ร้องอุทธรณ์ว่า บ้านพิพาทปลูกอยู่บนที่ดินแปลงที่ผู้ร้องกับพี่สาวซื้อจากจำเลย และจำเลยได้ขายบ้านพิพาทให้แก่ผู้ร้องกับพี่สาวแล้วบ้านพิพาทย่อมตกเป็นส่วนควบของที่ดินอันเป็นทรัพย์ประธานตามประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์ มาตรา 107 การซื้อขายบ้านพิพาทระหว่างจำเลยกับผู้ร้องจึงชอบด้วยกฎหมาย ไม่เป็นโมฆะ บ้านพิพาทจึงเป็นกรรมสิทธิ์ของผู้ร้องกับพี่สาว พิเคราะห์แล้วจากข้อเท็จจริงดังกล่าวมาเห็นได้ว่า บ้านพิพาทได้ตกเป็นส่วนควบของที่ดินของผู้ร้องกับพี่สาว จึงตกเป็นกรรมสิทธิ์ของผู้ร้องกับพี่สาวตามประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์ มาตรา 107 วรรคสอง ตั้งแต่วันทำหนังสือสัญญาซื้อขายบ้านพิพาทคือวันที่ 24 มีนาคม 2530 แล้ว โดยไม่จำต้องไปทำการจดทะเบียนต่อพนักงานเจ้าหน้าที่ตามที่บัญญัติไว้ในประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์ มาตรา 456 อีก”
พิพากษากลับ ให้ถอนการยึดบ้านพิพาท