คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 1818/2532

แหล่งที่มา : สำนักงานส่งเสริมงานตุลาการ

ย่อสั้น

โจทก์เป็นเจ้าของเครื่องหมายการค้า “NICCO” ซึ่งจดทะเบียนไว้สำหรับสินค้าจำพวกที่ 13 จำหน่ายแพร่หลายในประเทศไทยมาประมาณ 15 ปีแล้ว การที่จำเลยใช้ เครื่องหมายการค้า”NICCO” จดทะเบียนไว้กับสินค้าจำพวกที่ 18 จึงเป็นการใช้เครื่องหมายการค้าที่เป็นตัวอักษรโรมันคำเดียวกันกับเครื่องหมายการค้าของโจทก์ ต่างกันแต่เพียงว่า ของโจทก์อยู่ภายในวงกลมที่ล้อมรอบด้วยรูปสี่เหลี่ยมผืนผ้าและตัวอักษร “O” เป็นตัวทึบ ส่วนของจำเลยใช้ตัวอักษรโรมันธรรมดา การกระทำของจำเลยเป็นการใช้เครื่องหมายการค้าดังกล่าวเพื่อให้ผู้ซื้อหลงเข้าใจผิดว่าสินค้าของจำเลยเป็นสินค้าของโจทก์โจทก์จึงมีสิทธิในเครื่องหมายการค้าดีกว่าจำเลย และมีสิทธิห้ามจำเลยใช้เครื่องหมายการค้านั้นด้วย.
มาตรา 21 และมาตรา 22 แห่ง พ.ร.บ. เครื่องหมายการค้าพุทธศักราช 2474 เป็นบทบัญญัติสำหรับวิธีดำเนินการรับจดทะเบียนเครื่องหมายการค้า ซึ่งแบ่งออกเป็นขั้น ๆ รวมทั้งขั้นประกาศตามมาตรา 21 และขั้นจดทะเบียนตามมาตรา 22 ซึ่งได้กำหนดเวลาสำหรับการยื่นคำคัดค้านการจดทะเบียนไว้ว่าจะต้องยื่นภายใน 90 วัน นับแต่วันประกาศ เมื่อปรากฏว่าไม่มีการคัดค้าน จึงไม่ต้องด้วยบทบัญญัติมาตรา 22 และไม่ตัดสิทธิเจ้าของเครื่องหมายการค้าที่แท้จริงที่จะดำเนินคดีเกี่ยวกับเครื่องหมายการค้าของตน ดังนั้น เมื่อนายทะเบียนเครื่องหมายการค้ารับจดทะเบียนเครื่องหมายการค้าตามคำขอจดทะเบียนของจำเลยแล้ว ถ้าหากโจทก์เป็นเจ้าของซึ่งมีสิทธิในเครื่องหมายการค้านั้นดีกว่าจำเลย โจทก์ย่อมมีสิทธิขอให้ศาลเพิกถอนคำขอจดทะเบียนกับทะเบียนเครื่องหมายการค้าของจำเลยได้ตามมาตรา 41(1) สิทธิของโจทก์ที่จะนำคดีมาสู่ศาลจึงยังไม่สิ้นไป.

ย่อยาว

โจทก์ฟ้องว่า โจทก์เป็นเจ้าของเครื่องหมายการค้า “NICCO”อ่านว่า “นิกโก้” ซึ่งจดทะเบียนไว้สำหรับสินค้าจำพวกที่ 13 คือของที่ทำด้วยโลหะซึ่งไม่เข้าในจำพวกอื่น เช่น วงกบ ประตู หน้าต่างและบานเกร็ด ต่อมาจำเลยได้จดทะเบียนเครื่องหมายการค้า “NICCO”ซึ่งจำเลยมิได้ใช้มาก่อนสำหรับสินค้าจำพวกที่ 18 ประเภทวงกบหน้าต่างเหล็กสำเร็จรูปทำให้สาธารณชนหลงผิดว่า สินค้าของจำเลยเป็นสินค้าของโจทก์ทำให้โจทก์เสียหาย ขอให้บังคับจำเลยไปจดทะเบียนเพิกถอนคำขอจดทะเบียนเครื่องหมายการค้าของจำเลยเลขที่ 131580 และทะเบียนเครื่องหมายการค้า ทะเบียนเลขที่ 85924 ต่อนายทะเบียนเครื่องหมายการค้า หากจำเลยไม่ปฏิบัติให้ถือเอาคำพิพากษาของศาลเป็นการแสดงเจตนาของจำเลย และให้จำเลยเป็นผู้ชำระค่าใช้จ่ายในการเพิกถอนห้ามจำเลยมิให้ใช้เครื่องหมายการค้า “NICCO” ไม่ว่าสำหรับสินค้าประเภทใด
จำเลยให้การว่า เครื่องหมายการค้าของโจทก์กับของจำเลยจดทะเบียนสำหรับสินค้าต่างจำพวกกัน จำเลยไม่ได้นำเครื่องหมายการค้าของโจทก์ไปแสวงหาประโยชน์โดยทำให้สาธารณชนหลงผิดว่า สินค้าของจำเลยคือสินค้าของโจทก์ แม้โจทก์จะได้จดทะเบียนเครื่องหมายการค้า”NICCO” ก่อนจำเลยก็ตาม แต่เมื่อจำเลยยื่นคำขอจดทะเบียนเครื่องหมายการค้าดังกล่าว โจทก์มิได้คัดค้านต่อนายทะเบียนภายในกำหนด 90 วันนับแต่วันประกาศคำขอจดทะเบียน หรือนำคดีมาสู่ศาลภายในกำหนดเวลาดังกล่าวโจทก์จึงสิ้นสิทธิฟ้องแล้ว ขอให้ยกฟ้อง
ศาลชั้นต้นพิพากษาให้จำเลยไปจดทะเบียนเพิกถอนการจดทะเบียนเครื่องหมายการค้าเลขที่ 131580 ทะเบียนเครื่องหมายการค้าเลขที่85924 ต่อนายทะเบียนหากจำเลยไม่ปฏิบัติ ให้ถือเอาคำพิพากษาแทนการแสดงเจตนาของจำเลย โดยให้จำเลยเป็นผู้เสียค่าใช้จ่ายในการจดทะเบียนเพิกถอน แล้วห้ามจำเลยใช้เครื่องหมายการค้า NICCO ไม่ว่าสำหรับสินค้าใดต่อไป
จำเลยอุทธรณ์
ศาลอุทธรณ์พิพากษายืน
จำเลยฎีกา
ศาลฎีกาวินิจฉัยว่า “คดีมีประเด็นที่จะต้องวินิจฉัยตามฎีกาของจำเลยว่า โจทก์มีสิทธิห้ามจำเลยใช้เครื่องหมายการค้าของจำเลยและมีสิทธิขอให้ศาลเพิกถอนคำขอจดทะเบียนกับทะเบียนเครื่องหมายการค้าของจำเลยหรือไม่ ศาลอุทธรณ์วินิจฉัยนอกฟ้องนอกประเด็นหรือไม่ และโจทก์มีสิทธิฟ้องจำเลยต่อศาลหรือไม่
ที่จำเลยฎีกาว่า จำเลยจดทะเบียนเครื่องหมายการค้าของจำเลยในสินค้าจำพวกที่ 18 อันต่างจำพวกกับสินค้าของโจทก์ ซึ่งเป็นสินค้าจำพวกที่ 13 โจทก์จึงไม่มีสิทธิห้ามจำเลยใช้เครื่องหมายการค้าดังกล่าวได้ และศาลอุทธรณ์วินิจฉัยนอกฟ้องนอกประเด็นขัดต่อประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความแพ่ง มาตรา 142 นั้น เห็นว่า สินค้าของโจทก์ที่ใช้เครื่องหมายการค้า “NICCO” จำหน่ายแพร่หลายในประเทศไทยมาประมาณ 15 ปีแล้ว เครื่องหมายการค้าของโจทก์ซึ่งใช้คำว่า”NICCO” ไม่มีคำแปล การที่จำเลยใช้เครื่องหมายการค้าว่า “NICCO”ซึ่งไม่มีคำแปลเช่นเดียวกัน จึงเป็นการใช้เครื่องหมายการค้าที่เป็นอักษรโรมันคำเดียวกันกับเครื่องหมายการค้าของโจทก์ ต่างกันแต่เพียงว่าของโจทก์อยู่ภายในวงกลมที่ล้อมรอบด้วยรูปสี่เหลี่ยมผืนผ้า และตัวอักษร “O” เป็นตัวทึบ ส่วนของจำเลยใช้ตัวอักษรโรมันธรรมดา และเมื่อออกสำเนียงชื่อก็คล้ายคลึงกันคือของโจทก์ออกสำเนียงว่า”นิกโก้” ส่วนของจำเลยออกสำเนียงว่า “นิคโค้” การกระทำของจำเลยเป็นการใช้เครื่องหมายการค้าพิพาทเพื่อให้ผู้ซื้อหลงเข้าใจผิดว่าสินค้าของจำเลยเป็นสินค้าของโจทก์ โจทก์จึงมีสิทธิในเครื่องหมายการค้าพิพาทดีกว่าจำเลย และมีสิทธิห้ามจำเลยใช้เครื่องหมายการค้าพิพาทได้ด้วย นอกจากนี้ ที่ศาลอุทธรณ์วินิจฉัยว่าเครื่องหมายการค้าของจำเลยมีลักษณะเหมือนหรือคล้ายกันกับเครื่องหมายการค้าของโจทก์อันอาจทำให้ประชาชนหลงผิด และทำให้โจทก์เสียหายได้นั้น เห็นว่าโจทก์ได้บรรยายไว้ในฟ้องแล้วเช่นนั้น และอยู่ในประเด็นข้อพิพาทข้อ 2 ซึ่งศาลชั้นต้นกำหนดไว้ว่า โจทก์ฟ้องขอให้เพิกถอนการจดทะเบียนและห้ามมิให้ใช้เครื่องหมายการค้าที่กล่าวในฟ้องได้หรือไม่ ดังนั้นคำพิพากษาศาลอุทธรณ์ไม่ขัดต่อประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความแพ่งมาตรา 142 แต่ประการใด
ส่วนำีกาของจำเลยอีกข้อหนึ่งที่ว่า โจทก์ไม่ปฏิบัติตามขั้นตอนของมาตรา 21 และ 22 แห่งพระราชบัญญัติเครื่องหมายการค้า พ.ศ. 2474สิทธิของโจทก์ที่จะนำคดีมาสู่ศาลหรือฟ้องจำเลยต่อศาลเกี่ยวกับเครื่องหมายการค้าพิพาทจึงสิ้นไปนั้น เห็นว่าตามมาตรา 21 และ 22เป็นบทบัญญัติสำหรับวิธีดำเนินการรับจดทะเบียนเครื่องหมายการค้าซึ่งแบ่งออกเป็นขั้น ๆ รวมทั้งขั้นประกาศตามมาตรา 21 และขั้นจดทะเบียนตามมาตรา 22 ซึ่งได้กำหนดเวลาสำหรับการยื่นคำคัดค้านการจดทะเบียนไว้ว่าจะต้องยื่นภายในเก้าสิบวันนับแต่วันประกาศ ส่วนกรณีนี้ไม่มีการคัดค้าน จึงไม่ต้องด้วยบทบัญญัติมาตรา 22 และหาตัดสิทธิเจ้าของเครื่องหมายการค้าที่แท้จริงที่จะดำเนินคดีเกี่ยวกับเครื่องหมายการค้าของตนไม่ ดังนั้น เมื่อนายทะเบียนเครื่องหมายการค้ารับจดทะเบียนเครื่องหมายการค้าตามคำขอจดทะเบียนของจำเลยแล้วถ้าหากโจทก์เป็นเจ้าของซึ่งมีสิทธิในเครื่องหมายการค้านั้นดีกว่าจำเลย โจทก์ย่อมมีสิทธิฟ้องขอให้ศาลเพิกถอนคำขอจดทะเบียนกับทะเบียนเครื่องหมายการค้าของจำเลยได้ตามมาตรา 41(1) แห่งพระราชบัญญัติเครื่องหมายการค้า พ.ศ. 2474 สิทธิของโจทก์ที่จะนำคดีมาสู่ศาลคือฟ้องจำเลยต่อศาลเกี่ยวกับเครื่องหมายการค้ารายพิพาทจึงยังไม่สิ้นไป…”
พิพากษายืน

Share