แหล่งที่มา : สำนักงานส่งเสริมงานตุลาการ
ย่อสั้น
ฟ้องเดิมโจทก์เรียกหนี้เงินกู้ตามสัญญายืม ส่วนฟ้องแย้งของจำเลยเรียกเงินค่าป่วยการที่จำเลยจ่ายให้โจทก์ตามสัญญาต่างตอบแทนคืน ดังนี้ เป็นคนละเรื่องคนละประเด็นไม่เกี่ยวพันกับมูลหนี้เดิมตามฟ้องโจทก์ ศาลไม่รับฟ้องแย้ง.(ที่มา-ส่งเสริม)
ย่อยาว
โจทก์ฟ้องว่า เมื่อวันที่ 22 พฤศจิกายน 2525 จำเลยที่ 1 กู้เงินโจทก์จำนวน 18,000 บาท ให้คิดดอกเบี้ยตามกฎหมาย กำหนดชำระคืนภายในวันที่ 22 พฤศจิกายน 2526 จำเลยที่ 1 กู้เงินโจทก์เพื่อนำไปใช้จ่ายในครัวเรือน จำเลยที่ 2 ซึ่งเป็นสามีต้องร่วมรับผิดด้วย สัญญาครบกำหนดแล้ว จำเลยทั้งสองไม่ยอมชำระต้นเงินและดอกเบี้ยให้โจทก์ ขอให้บังคับจำเลยทั้งสองชำระต้นเงิน 18,000บาท พร้อมดอกเบี้ย
จำเลยทั้งสองให้การและฟ้องแย้งว่า จำเลยทั้งสองไม่เคยกู้เงินจำนวนดังกล่าวจากโจทก์ แต่เมื่อต้นปี 2524 โจทก์ได้บอกจำเลยว่า โจทก์สามารถติดต่อส่งคนไปทำงานต่างประเทศได้ โดยคิดค่าบริการคนละ 25,000 บาท หากไม่สำเร็จจะคืนเงินให้ ต่อมาจำเลยที่ 2 ได้มอบเงินจำนวน 25,000 บาทแก่โจทก์ไป จำเลยที่ 2 รอไปทำงานจนถึงปลายปี 2524 โจทก์ให้จำเลยที่ 2 เตรียมตัวเดินทางจำเลยที่ 1 จึงกู้เงินจากนางลำพอง สุวรรณเปี่ยม พี่สาวของโจทก์จำนวน 8,000 บาท สำหรับติดตัวไปทำงาน นางลำพองให้จำเลยที่ 1ลงลายมือชื่อในแบบพิมพ์สัญญากู้โดยมิได้กรอกข้อความ แต่โจทก์หาได้จัดการให้จำเลยที่ 2 ไปทำงานต่างประเทศไม่ ปลายปี 2525จำเลยที่ 2 จึงทวงถามให้โจทก์คืนเงินและให้หักเงิน 8,000บาท ที่จำเลยที่ 1 กู้มาจากนางลำพองได้ แต่โจทก์ไม่ยอมคืนให้ กลับนำสัญญากู้มากรอกข้อความฟ้องจำเลยทั้งสอง จำเลยทั้งสองจึงฟ้องแย้งขอให้โจทก์ชำระเงิน 17,000 บาท พร้อมดอกเบี้ย
ศาลชั้นต้นสั่งรับคำให้การของจำเลยทั้งสอง ส่วนฟ้องแย้งไม่เกี่ยวกับฟ้องเดิมสั่งไม่รับฟ้องแย้ง คืนค่าขึ้นศาลให้จำเลยทั้งสอง
จำเลยทั้งสองอุทธรณ์คำสั่ง
ศาลอุทธรณ์พิพากษายืน
จำเลยทั้งสองฎีกา
ศาลฎีกาวินิจฉัยว่า ‘คดีนี้โจทก์ฟ้องเพื่อขอบังคับให้จำเลยทั้งสองชำระหนี้จำนวน 18,000 บาท พร้อมดอกเบี้ยปรากฏตามหลักฐานหนังสือสัญญากู้เอกสารท้ายฟ้อง จำเลยให้การปฏิเสธว่าไม่เคยกู้เงินจากโจทก์ แต่กู้จากนางลำพอง สุวรรณเปี่ยมพี่สาวของโจทก์ และกู้กันเป็นจำนวนเงินเพียง 8,000 บาทเท่านั้น ประเด็นแห่งคดีนี้จึงมีว่า จำเลยเป็นหนี้โจทก์จริงตามจำนวนเงินที่ถูกฟ้องหรือไม่ การที่จำเลยฟ้องแย้งเรียกเงินจำนวน 25,000 บาทคืนจากโจทก์ โดยอ้างว่าโจทก์ผิดสัญญาไม่อาจจัดการให้จำเลยได้ไปทำงานในต่างประเทศ เงินค่าป่วยการจำนวนดังกล่าวที่โจทก์เรียกจากจำเลยไปนั้น จึงสมควรคืนให้จำเลย พร้อมนี้จำเลยก็ขอหักหนี้จำนวน 8,000 บาทที่จำเลยอ้างว่ากู้มาจากนางลำพองพี่สาวโจทก์ออกจากจำนวน 25,000 บาท และยังคงเหลือเงินที่โจทก์จะต้องคืนให้จำเลยอีก 17,000 บาท จึงฟ้องแย้งขอเรียกเงินจำนวนดังกล่าวคืนจากโจทก์ ปัญหามีว่าการที่จำเลยฟ้องแย้งมาเช่นนี้จะเกี่ยวข้องกับฟ้องเดิมอันควรที่ศาลจะรับไว้พิจารณาได้หรือไม่
พิเคราะห์แล้ว เห็นว่า มูลหนี้ตามฟ้องเดิมเป็นเรื่องที่โจทก์เรียกหนี้เงินกู้ตามสัญญายืม ส่วนฟ้องแย้งของจำเลยเป็นเรื่องกล่าวอ้างว่า โจทก์ไม่อาจปฏิบัติตามเงื่อนไขในสัญญาต่างตอบแทนที่จะส่งจำเลยไปทำงานในต่างประเทศได้ จึงขอเรียกเงินค่าป่วยการที่จำเลยได้ชำระให้โจทก์ไปก่อนแล้วคืน ดังนี้ข้อเท็จจริงและหลักฐานที่จะนำสืบจึงเห็นได้ชัดว่าเป็นคนละเรื่องคนละประเด็น หาได้มีความเกี่ยวพันกับมูลหนี้เดิมตามฟ้องของโจทก์แต่ประการใดไม่ หากความจริงเป็นดังที่จำเลยว่าก็ชอบที่จำเลยจะนำคดีไปฟ้องเป็นอีกกรณีหนึ่งต่างหาก มิใช่มากล่าวอ้างแล้วตั้งเป็นข้อเรียกร้องรวมมาในคดีนี้…………………………..’
พิพากษายืน.