แหล่งที่มา : กองผู้ช่วยผู้พิพากษาศาลฎีกา
ย่อสั้น
โจทก์บรรยายฟ้องว่าจำเลยเป็นเจ้าพนักงานตำรวจได้ตรวจพบว่าผู้เสียหายขับรถจักรยานยนต์โดยไม่มีใบอนุญาต อันเป็นความผิดตามกฎหมาย แต่จำเลยกลับข่มขืนใจให้ผู้เสียหายมอบเงินเพื่อละเว้นการจับกุม อันเป็นการละเว้นการปฏิบัติหน้าที่โดยทุจริต คำบรรยายฟ้องของโจทก์ดังกล่าว เข้าองค์ประกอบความผิดตามประมวลกฎหมายอาญามาตรา 149 ในชั้นพิจารณาศาลชั้นต้นและศาลอุทธรณ์ฟังข้อเท็จจริงยุติแล้วว่า การกระทำของจำเลยมิใช่เป็นการแกล้งจับโดยผู้เสียหายไม่มีความผิดแล้วเรียกรับเงิน การกระทำของจำเลยจึงเป็นความผิดตามมาตรา 149 ดังนี้ ถือว่าข้อเท็จจริงตามฟ้องนั้นโจทก์สืบสมแล้วและการที่จะถือว่าเป็นเรื่องอ้างฐานความผิดหรือบทมาตราผิดหรือไม่ เป็นเรื่องพิจารณาจากฟ้อง คดีนี้ ตามคำขอท้ายฟ้องโจทก์อ้างบทมาตราความผิดตามบทเฉพาะมาตรา 148 แต่เมื่อปรากฏว่าตามคำบรรยายฟ้องและข้อเท็จจริงที่พิจารณาได้ความการกระทำของจำเลยเป็นความผิดตามบทเฉพาะมาตรา 149 จึงถือว่าโจทก์อ้างฐานความผิดหรือบทมาตราผิด ศาลมีอำนาจลงโทษจำเลยตามฐานความผิดที่ถูกต้องได้ตามประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความอาญา มาตรา 192 วรรคห้า ซึ่งเมื่อเป็นความผิดตามบทเฉพาะแล้วก็ไม่ต้องปรับบทมาตรา 157 ที่เป็นบททั่วไปอีก
ย่อยาว
โจทก์ฟ้องว่า จำเลยรับราชการตำรวจตำแหน่งผู้บังคับหมู่ประจำสถานีตำรวจนครบาลหนองจอก ระหว่างปฏิบัติหน้าที่เวรพักหรือเวรหนุนอยู่ที่ตู้ยามหลวงแพ่ง ได้ใช้อำนาจในตำแหน่งและปฏิบัติหน้าที่โดยมิชอบเรียกให้นายประสาน แก้วมหาสุริวงษ์ผู้เสียหาย ซึ่งขับรถจักรยานยนต์คันหมายเลขทะเบียน กรุงเทพมหานคร5 ช-2335 มาตามถนนสุวินทวงศ์ผ่านตู้ยามหลวงแพ่ง เพื่อตรวจค้นและตรวจดูใบอนุญาตขับขี่รถจักรยานยนต์ และตรวจพบว่าผู้เสียหายขับรถจักรยานยนต์โดยไม่ได้รับใบอนุญาตอันเป็นความผิดตามกฎหมายจำเลยจะต้องจับกุมผู้เสียหายส่งพนักงานสอบสวนดำเนินคดี แต่จำเลยกลับละเว้นการจับกุม แล้วข่มขืนใจให้ผู้เสียหายมอบเงิน 120 บาทแก่จำเลย เพื่อที่จะไม่จับกุมผู้เสียหายในความผิดดังกล่าวอันเป็นการละเว้นการปฏิบัติหน้าที่โดยทุจริต ขอให้ลงโทษตามประมวลกฎหมายอาญามาตรา 148, 157 พระราชบัญญัติแก้ไขเพิ่มเติมประมวลกฎหมายอาญาพ.ศ. 2502 มาตรา 4, 13
จำเลยให้การปฏิเสธ
ศาลชั้นต้นพิจารณาแล้ว พิพากษาว่า จำเลยมีความผิดตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 157 จำคุก 1 ปี และปรับ 2,000 บาท จำเลยไม่เคยกระทำความผิดมาก่อน สมควรให้โอกาสจำเลยกลับตนเป็นพลเมืองดีจึงให้รอการลงโทษจำคุกไว้ 2 ปี ตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 56โดยกำหนดเงื่อนไขให้จำเลยมารายงานตัวต่อจ่าศาลทุก 3 เดือนต่อครั้งในระหว่างที่รอการลงโทษไว้ ถ้าไม่ชำระค่าปรับให้จัดการตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 29, 30
โจทก์อุทธรณ์
ศาลอุทธรณ์พิพากษาแก้เป็นว่า จำเลยมีความผิดตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 149 ให้ลงโทษจำคุกจำเลยไว้มีกำหนด 5 ปี
จำเลยฎีกา
ศาลฎีกาวินิจฉัยว่า คดีมีปัญหาข้อกฎหมายมาสู่การวินิจฉัยของศาลฎีกาว่า การที่โจทก์ฟ้องขอให้ลงโทษจำเลยตามประมวลกฎหมายอาญามาตรา 148, 157 แต่การกระทำของจำเลยเป็นความผิดตามมาตรา 149เช่นนี้ ศาลจะพิพากษาลงโทษจำเลยตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 149ได้หรือไม่ พิเคราะห์แล้ว โจทก์บรรยายฟ้องว่า จำเลยเป็นเจ้าพนักงานตำรวจได้ตรวจพบว่า ผู้เสียหายขับรถจักรยานยนต์โดยไม่มีใบอนุญาตอันเป็นความผิดตามกฎหมาย แต่จำเลยกลับข่มขืนใจให้ผู้เสียหายมอบเงินเพื่อละเว้นการจับกุม อันเป็นการละเว้นการปฏิบัติหน้าที่โดยทุจริต คำบรรยายฟ้องของโจทก์ดังกล่าวเข้าองค์ประกอบความผิดตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 149 ในชั้นพิจารณาศาลชั้นต้นและศาลอุทธรณ์ฟังข้อเท็จจริงยุติแล้วว่าการกระทำของจำเลยมิใช่เป็นการแกล้งจับโดยผู้เสียหายไม่มีความผิดแล้วเรียกรับเงิน การกระทำของจำเลยจึงเป็นความผิดตาม มาตรา 149 ดังนี้ ถือว่าข้อเท็จจริงตามฟ้องนั้นโจทก์สืบสมแล้ว และการที่จะถือว่าเป็นเรื่องอ้างฐานความผิดหรือบทมาตราผิดหรือไม่ เป็นเรื่องพิจารณาจากฟ้อง คดีนี้ปรากฏว่าตามคำขอท้ายฟ้องโจทก์อ้างบทมาตราความผิดตามบทเฉพาะมาตรา148 แต่เมื่อปรากฏว่าตามคำบรรยายฟ้องและข้อเท็จจริงที่พิจารณาได้ความ การกระทำของจำเลยเป็นความผิดตามบทเฉพาะมาตรา 149 จึงถือว่าโจทก์อ้างฐานความผิดหรือบทมาตราผิด ศาลมีอำนาจลงโทษจำเลยตามฐานความผิดที่ถูกต้องได้ ตามประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความอาญามาตรา 192 วรรคห้า ซึ่งเมื่อเป็นความผิดตามบทเฉพาะแล้วก็ไม่ต้องปรับบทมาตรา 157 ที่เป็นบททั่วไปอีก ที่ศาลอุทธรณ์พิพากษาปรับบทมาตรา149 ที่ถูกต้องแล้วลงโทษจำเลยมานั้น ศาลฎีกาเห็นพ้องด้วย ฎีกาจำเลยฟังไม่ขึ้น
พิพากษายืน