คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 2407/2559

แหล่งที่มา : กองผู้ช่วยผู้พิพากษาศาลฎีกา

ย่อสั้น

ข้อเท็จจริงยุติตามคำร้องและคำคัดค้านว่าการนัดหยุดงานกระทำไปโดยไม่มีการยื่นข้อเรียกร้องต่อผู้ร้องซึ่งเป็นนายจ้างของผู้คัดค้านที่ 2 ที่ 3 และที่ 4 จึงไม่ใช่กรณีพนักงานซึ่งเป็นลูกจ้างแจ้งข้อเรียกร้องเป็นหนังสือให้มีการกำหนดข้อตกลงเกี่ยวกับสภาพการจ้างหรือการแก้ไขเพิ่มเติมข้อตกลงเกี่ยวกับสภาพการจ้างต่อผู้ร้องตาม พ.ร.บ.แรงงานสัมพันธ์ พ.ศ.2518 มาตรา 13 วรรคหนึ่ง เมื่อยังไม่มีการแจ้งข้อเรียกร้องต่อผู้ร้องจึงต้องห้ามมิให้พนักงานนัดหยุดงานตามมาตรา 34 วรรคหนึ่ง (1) การนัดหยุดงานที่ฝ่าฝืนมาตรา 34 มีโทษตามมาตรา 139 เมื่อการนัดหยุดงานต้องห้ามตามมาตรา 34 วรรคหนึ่ง (1) และมีโทษตามมาตรา 139 การที่ผู้คัดค้านที่ 2 ที่ 3 และที่ 5 ชักชวนให้พนักงานนัดหยุดงาน หรือช่วยเหลือ ชักชวนหรือสนับสนุนให้สมาชิกสหภาพแรงงานนัดหยุดงานจึงไม่ได้รับการยกเว้นไม่ต้องถูกกล่าวหาหรือฟ้องร้องทางอาญาหรือทางแพ่งตามมาตรา 99 (2) อีกทั้งศาลแรงงานภาค 8 ฟังข้อเท็จจริงว่าผู้คัดค้านที่ 2 ที่ 3 และที่ 5 ซึ่งเป็นกรรมการลูกจ้างไม่เข้าทำงาน ออกไปชุมนุมด้วย และมีพฤติการณ์แสดงให้เห็นว่ามีการชักชวนพนักงานให้ออกไปชุมนุมประท้วงโดยการปิดถนนและนำรถยนต์ไปจอดขวางถนนภายในโรงแรมซึ่งเป็นถนนสาธารณะจนถูกเจ้าพนักงานตำรวจจับกุมดำเนินคดีข้อหาร่วมกันมั่วสุมตั้งแต่ 10 คน ขึ้นไปกระทำการให้เกิดความวุ่นวายขึ้นในบ้านเมืองและผู้คัดค้านที่ 2 ที่ 3 และที่ 5 ให้การรับสารภาพ อันเป็นการกระทำความผิดตามประมวลกฎหมายอาญา ลักษณะ 5 ความผิดเกี่ยวกับความสงบสุขของประชาชน มาตรา 215 วรรคแรก จึงเป็นกรณีมีเหตุผลอันสมควรอนุญาตให้ผู้ร้องเลิกจ้างผู้คัดค้านที่ 2 ที่ 3 และที่ 5 ได้ตาม พ.ร.บ.แรงงานสัมพันธ์ พ.ศ.2518 มาตรา 52

ย่อยาว

เดิมคดีทั้งสี่สำนวนนี้ศาลแรงงานภาค 8 สั่งให้รวมพิจารณาเป็นคดีเดียวกันกับคดีหมายเลขดำที่ 62/2552, 66/2552, 95/2552, 97/2552, 98/2552, 100/2552, 101/2552, 102/2552, 103/2552 และ 104/2552 โดยให้เรียกผู้ร้องทั้งสิบสี่สำนวนว่า ผู้ร้อง เรียกผู้คัดค้านในสำนวนคดีดังกล่าวว่า ผู้คัดค้านที่ 1 ที่ 4 ที่ 6 ถึงที่ 8 และที่ 10 ถึงที่ 14 แต่ผู้ร้องขอถอนคำร้องสำหรับผู้คัดค้านที่ 1 ที่ 4 ที่ 6 ถึงที่ 8 และที่ 10 ถึงที่ 14 ศาลแรงงานภาค 8 อนุญาต คงมีคดีที่ศาลแรงงานภาค 8 พิจารณาพิพากษาเฉพาะของผู้คัดค้านที่ 2 ที่ 3 ที่ 5 และที่ 9 รวม 4 สำนวน
ผู้ร้องรวมสี่สำนวนยื่นคำร้องขออนุญาตให้ผู้ร้องเลิกจ้างผู้คัดค้านที่ 2 ที่ 3 ที่ 5 และที่ 9 ได้ทันที โดยไม่ต้องบอกกล่าวล่วงหน้าและไม่ต้องจ่ายค่าชดเชยและเงินอื่น ๆ
ผู้คัดค้านที่ 2 ที่ 3 ที่ 5 และที่ 9 ยื่นคำคัดค้านขอให้ยกคำร้อง
ศาลแรงงานภาค 8 มีคำสั่งอนุญาตให้ผู้ร้องเลิกจ้างนายมานิตย์ผู้คัดค้านที่ 2 นายอลงกรณ์ ผู้คัดค้านที่ 3 นายมงคล ผู้คัดค้านที่ 5 และนายอดุลย์ ผู้คัดค้านที่ 9 ส่วนคำขออื่นนอกจากนี้ให้ยก
ผู้คัดค้านที่ 2 ที่ 3 และที่ 5 อุทธรณ์ต่อศาลฎีกา
ศาลฎีกาแผนกคดีแรงงานวินิจฉัยว่า ศาลแรงงานภาค 8 ฟังข้อเท็จจริงว่า ผู้ร้องประกอบธุรกิจโรงแรมและเป็นบริษัทในเครือของบริษัทลากูน่ารีสอร์ทแอนด์โฮเท็ล จำกัด (มหาชน) ซึ่งมีบริษัทในเครือรวม 8 บริษัท ลูกจ้างของบริษัททั้ง 8 บริษัท ต่างจัดตั้งสหภาพแรงงานและจัดทำข้อตกลงเกี่ยวกับสภาพการจ้างกับนายจ้าง ผู้คัดค้านที่ 2 ที่ 3 และที่ 5 เป็นลูกจ้างของผู้ร้องและเป็นกรรมการลูกจ้าง ผู้ร้องประกาศแจ้งพนักงานว่าจะจ่ายเงินโบนัสให้พนักงาน 2 สัปดาห์ และไม่มีการปรับขึ้นเงินเดือน ทำให้พนักงานส่วนหนึ่งไม่พอใจสหภาพแรงงานทั้ง 8 สหภาพขอให้จ่ายเงินโบนัส 1 เดือน และปรับขึ้นเงินเดือนร้อยละ 4 ของเงินเดือนปัจจุบัน แต่ฝ่ายนายจ้างไม่สามารถดำเนินการตามข้อเรียกร้องได้ ระหว่างวันที่ 5 ถึงวันที่ 7 กุมภาพันธ์ 2552 คณะกรรมการลูกจ้างและพนักงานบางคนของผู้ร้องและพนักงานของโรงแรมอื่นในเครือประมาณ 250 คน ชุมนุมประท้วงโดยปิดถนนและนำรถยนต์มาจอดขวางถนนภายในโรงแรมเครือลากูน่าภูเก็ตซึ่งเป็นถนนสาธารณะอันเป็นการก่อให้เกิดความวุ่นวายและไม่ได้รับอนุญาตจากเจ้าพนักงาน เจ้าพนักงานตำรวจจึงจับกุมตัวผู้คัดค้านที่ 2 ที่ 3 และที่ 5 กับพวกรวม 36 คน ไปดำเนินคดี ผู้คัดค้านที่ 2 ที่ 3 และที่ 5 กับพวกให้การรับสารภาพ ศาลจังหวัดภูเก็ตพิพากษาลงโทษจำคุกคนละ 15 วัน และปรับคนละ 500 บาท โทษจำคุกให้รอการลงโทษไว้มีกำหนด 2 ปี แล้ววินิจฉัยว่า การประท้วงหยุดงานของผู้คัดค้านที่ 2 ที่ 3 และที่ 5 กับพวกไม่ได้แจ้งข้อเรียกร้องเป็นหนังสือให้ผู้ร้องทราบ ขัดต่อพระราชบัญญัติแรงงานสัมพันธ์ พ.ศ.2518 มาตรา 34 (1) การที่ผู้คัดค้านที่ 2 ที่ 3 และที่ 5 บันทึกลงเวลาเข้าทำงานแต่กลับไปอยู่ในที่ชุมนุมถือว่าทำผิดข้อบังคับข้อที่ 23 ละทิ้งหน้าที่โดยไม่มีเหตุผลอันควรและข้อที่ 30 ออกจากสถานที่ทำงานโดยไม่ได้รับอนุญาตและฝ่าฝืนคำสั่ง ผู้คัดค้านที่ 2 ที่ 3 และที่ 5 ทราบประกาศของผู้ร้องซึ่งเป็นนายจ้างที่แจ้งว่าการออกมาเรียกร้องมิได้เป็นไปตามขั้นตอนแห่งพระราชบัญญัติแรงงานสัมพันธ์ พ.ศ.2518 แต่ผู้คัดค้านที่ 2 ที่ 3 และที่ 5 ฝ่าฝืนคำสั่งดังกล่าวถือว่าเป็นการไม่เชื่อฟังคำสั่งผู้บังคับบัญชา พฤติการณ์และการกระทำของผู้คัดค้านที่ 2 ที่ 3 และที่ 5 แสดงให้เห็นว่า มีการชักชวนพนักงานให้ออกมาชุมนุมประท้วงจนถูกดำเนินคดีข้อหาร่วมกันมั่วสุมกันตั้งแต่สิบคนขึ้นไป กระทำการให้เกิดความวุ่นวายขึ้นในบ้านเมือง ผู้คัดค้านที่ 2 ที่ 3 และที่ 5 ให้การรับสารภาพและการกระทำของผู้คัดค้านที่ 2 ที่ 3 และที่ 5 ยังผิดข้อบังคับข้อ 24 คือ จับกลุ่มส่งเสียงรบกวนความสงบสุขหรือศีลธรรมอันดีของพนักงาน กับผิดข้อบังคับข้อ 18 คือ กระทำความผิดอาญา ซึ่งความผิดที่ผู้ร้องสามารถเลิกจ้างได้ตามข้อบังคับและยังเข้าองค์ประกอบความผิดตามพระราชบัญญัติคุ้มครองแรงงาน พ.ศ.2541 มาตรา 119 (1) (2) (4) สมควรอนุญาตให้เลิกจ้างผู้คัดค้านที่ 2 ที่ 3 และที่ 5
ที่ผู้คัดค้านที่ 2 ที่ 3 และที่ 5 อุทธรณ์ว่า ผู้ร้องไม่มีเหตุเลิกจ้างผู้คัดค้านที่ 2 ที่ 3 และที่ 5 เนื่องจากผู้ร้องประกาศเปลี่ยนแปลงการจ่ายเงินโบนัสและไม่ปรับขึ้นเงินเดือนพนักงานซึ่งเป็นการกระทำผิดข้อตกลงเกี่ยวกับสภาพการจ้าง การนัดหยุดงานเป็นการทวงถามสิทธิให้ผู้ร้องปฏิบัติตามข้อตกลงเกี่ยวกับสภาพการจ้าง ไม่ใช่เป็นการยื่นข้อเรียกร้อง แม้ผู้ร้องจะได้รับความเสียหายก็ไม่เป็นละเมิดหรือผิดสัญญาและไม่เป็นการฝ่าฝืนมาตรา 34 แห่งพระราชบัญญัติแรงงานสัมพันธ์ พ.ศ.2518 และผู้คัดค้านที่ 2 ที่ 3 และที่ 5 ได้รับยกเว้นไม่ต้องถูกกล่าวหาหรือฟ้องร้องทางอาญาหรือทางแพ่งในการชักชวนให้พนักงานนัดหยุดงาน หรือช่วยเหลือ ชักชวนหรือสนับสนุนให้สมาชิกสหภาพแรงงานนัดหยุดงานตามมาตรา 99 นั้น เห็นว่า คำร้องของผู้ร้องระบุว่า การหยุดงานของผู้คัดค้านที่ 2 ที่ 3 และที่ 5 กับสหภาพแรงงานโรงแรมในเครือลากูน่าภูเก็ตทั้ง 8 สหภาพ พนักงานของผู้ร้องและพนักงานของโรงแรมอื่นประมาณ 250 คน ไม่มีการยื่นข้อเรียกร้องและไม่มีข้อพิพาทแรงงาน ผู้คัดค้านที่ 2 ที่ 3 และที่ 5 ระบุในคำคัดค้านว่า การหยุดงานในช่วงเวลานั้นไม่มีข้อพิพาทแรงงานกับผู้ร้อง สหภาพแรงงานโรงแรมในเครือลากูน่าภูเก็ตทั้ง 8 สหภาพ ยื่นหนังสือขอปรึกษาหารือต่อกรรมการผู้จัดการใหญ่บริษัทลากูน่ารีสอร์ทแอนด์โฮเท็ล จำกัด (มหาชน) ซึ่งเป็นบริษัทแม่ ข้อเท็จจริงจึงยุติว่า การหยุดงานในวันที่ 5 ถึงวันที่ 7 กุมภาพันธ์ 2552 กระทำโดยไม่มีการยื่นข้อเรียกร้องต่อผู้ร้องซึ่งเป็นนายจ้างของผู้คัดค้านที่ 2 ที่ 3 และที่ 5 จึงไม่ใช่กรณีพนักงานซึ่งเป็นลูกจ้างแจ้งข้อเรียกร้องเป็นหนังสือให้มีการกำหนด ข้อตกลงเกี่ยวกับสภาพการจ้างหรือการแก้ไขเพิ่มเติมข้อตกลงเกี่ยวกับสภาพการจ้างต่อผู้ร้องตามพระราชบัญญัติแรงงานสัมพันธ์ พ.ศ.2518 มาตรา 13 วรรคหนึ่ง เมื่อยังไม่มีการแจ้งข้อเรียกร้องต่อผู้ร้อง จึงต้องห้ามมิให้พนักงานนัดหยุดงานตาม มาตรา 34 วรรคหนึ่ง (1) การนัดหยุดงานฝ่าฝืนมาตรา 34 ต้องระวางโทษจำคุกไม่เกินหกเดือน หรือปรับไม่เกินหนึ่งหมื่นบาท หรือทั้งจำทั้งปรับตามมาตรา 139 เมื่อการนัดหยุดงานนั้นต้องห้ามมิให้กระทำตามมาตรา 34 วรรคหนึ่ง (1) และมีโทษตามมาตรา 139 การที่ผู้คัดค้านที่ 2 ที่ 3 และที่ 5 ชักชวนให้พนักงานนัดหยุดงาน หรือช่วยเหลือ ชักชวนหรือสนับสนุนให้สมาชิกสหภาพแรงงานนัดหยุดงานจึงไม่ได้รับการยกเว้นไม่ต้องถูกกล่าวหาหรือฟ้องร้องทางอาญาหรือทางแพ่งตามมาตรา 99 วรรคหนึ่ง (2) อีกทั้งศาลแรงงานภาค 8 ฟังข้อเท็จจริงว่าระหว่างมีการเจรจาสหภาพแรงงานทั้ง 8 สหภาพ แจกจ่ายใบปลิวให้พนักงานออกไปร่วมชุมนุม ผู้คัดค้านที่ 2 ที่ 3 และที่ 5 ซึ่งเป็นกรรมการลูกจ้างไม่เข้าทำงาน ออกไปร่วมชุมนุมด้วยและมีพฤติการณ์แสดงให้เห็นว่า มีการชักชวนพนักงานให้ออกไปชุมนุมประท้วงโดยการปิดถนนและนำรถยนต์ไปจอดขวางถนนภายในโรงแรมที่ประชาชนใช้ร่วมกันซึ่งเป็นถนนสาธารณะจนถูกเจ้าพนักงานตำรวจจับกุมดำเนินคดีข้อหาร่วมกันมั่วสุมกันตั้งแต่สิบคนขึ้นไปกระทำการให้เกิดความวุ่นวายขึ้นในบ้านเมือง ซึ่งผู้คัดค้านที่ 2 ที่ 3 และที่ 5 ให้การรับสารภาพ การกระทำของผู้คัดค้านที่ 2 ที่ 3 และที่ 5 เป็นความผิดตามประมวลกฎหมายอาญา ลักษณะ 5 ความผิดเกี่ยวกับความสงบสุขของประชาชน มาตรา 215 วรรคแรก จึงเป็นกรณีมีเหตุผลอันสมควรอนุญาตให้ผู้ร้องเลิกจ้างผู้คัดค้านที่ 2 ที่ 3 และที่ 5 ตามพระราชบัญญัติแรงงานสัมพันธ์ พ.ศ.2518 มาตรา 52 อุทธรณ์ของผู้คัดค้านที่ 2 ที่ 3 และที่ 5 ฟังไม่ขึ้น
พิพากษายืน

Share