คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 13937/2557

แหล่งที่มา : กองผู้ช่วยผู้พิพากษาศาลฎีกา

ย่อสั้น

การวินิจฉัยว่ามีการเลิกจ้างแล้วหรือไม่ต้องพิจารณาถึงการกระทำของนายจ้างประกอบด้วย จะพิจารณาเพียงว่ามีการบอกกล่าวเลิกจ้างด้วยวาจาหรือเป็นหนังสือแล้วหรือไม่ย่อมไม่ได้ แม้ในการประชุม ธ. ประธานกรรมการบริหารบริษัทในกลุ่มแพนจะขอให้โจทก์ลาออกโดยจะให้เวลาโจทก์ปรึกษากับครอบครัวก่อน 3 วัน แต่ในวันดังกล่าว ธ. ขอรถยนต์ประจำตำแหน่งที่โจทก์ใช้อยู่คืน และในช่วงระยะเวลา 3 วันนี้โจทก์ไม่ต้องไปทำงาน การกระทำของ ธ. มีลักษณะไม่ยอมให้โจทก์ทำงานให้จำเลยที่ 1 อีกต่อไป ถือได้ว่าจำเลยที่ 1 เลิกจ้างโจทก์ตั้งแต่วันที่ 21 กันยายน 2545 อันเป็นวันที่เรียกเอารถยนต์ประจำตำแหน่งคืนจากโจทก์ ไม่ใช่เลิกจ้างในวันที่ 1 ตุลาคม 2545 ซึ่งเป็นวันที่คัดชื่อโจทก์ออกจากการเป็นพนักงานของจำเลยที่ 1
เมื่อพิจารณารายงานการสิ้นสุดสมาชิกภาพของกองทุนสำรองเลี้ยงชีพแล้วโจทก์มีสิทธิได้รับเงินสมทบและผลประโยชน์ของเงินสมทบรวม 164,101.10 บาท แม้โจทก์จะมีคำขอให้จำเลยทั้งสามจ่ายเงินดังกล่าวเพียง 162,851.24 บาท แต่เพื่อให้โจทก์ได้รับเงินตามสิทธิของโจทก์และเพื่อความเป็นธรรมแก่คู่ความเห็นสมควรพิพากษาเกินคำขอให้โจทก์
พ.ร.บ.กองทุนสำรองเลี้ยงชีพ พ.ศ.2530 มาตรา 7 บัญญัติว่ากองทุนสำรองเลี้ยงชีพที่ได้จดทะเบียนแล้วเป็นนิติบุคคล และมาตรา 23 บัญญัติว่าเมื่อลูกจ้างสิ้นสมาชิกภาพเพราะเหตุอื่นซึ่งมิใช่กองทุนเลิก ผู้จัดการกองทุนต้องจ่ายเงินจากกองทุนให้ลูกจ้าง กองทุนที่ดำเนินการให้แก่จำเลยที่ 1 คือ จำเลยที่ 2 โดยมีจำเลยที่ 3 เป็นผู้จัดการกองทุนทำหน้าที่บริหารจัดการจ่ายเงินจากจำเลยที่ 2 ให้แก่โจทก์เท่านั้น จำเลยที่ 3 จึงไม่จำต้องรับผิดเป็นการส่วนตัว ส่วนจำเลยที่ 1 เป็นนายจ้าง ไม่มีอำนาจและหน้าที่ในการจัดการกองทุน โจทก์จึงไม่มีอำนาจฟ้องให้จำเลยที่ 1 จ่ายเงินสมทบของนายจ้างแก่โจทก์

ย่อยาว

โจทก์ฟ้องขอให้บังคับจำเลยทั้งสามร่วมกันจ่ายเงินสะสมพร้อมผลประโยชน์ 155,842.82 บาท กับเงินสมทบพร้อมผลประโยชน์ 162,851.24 บาท พร้อมดอกเบี้ยอัตราร้อยละ 7.5 ต่อปี นับแต่วันฟ้องเป็นต้นไปจนกว่าจะชำระเสร็จแก่โจทก์
จำเลยที่ 1 และที่ 2 ให้การขอให้ยกฟ้อง
จำเลยที่ 3 ให้การและแก้ไขคำให้การขอให้ยกฟ้อง
ระหว่างการพิจารณาของศาลแรงงานกลาง โจทก์ได้รับเงินสะสมและผลประโยชน์ของเงินสะสมแล้วจึงสละประเด็นดังกล่าว
ศาลแรงงานกลางพิพากษายกฟ้อง
โจทก์อุทธรณ์ต่อศาลฎีกา
ศาลฎีกาแผนกคดีแรงงานวินิจฉัยว่า ข้อเท็จจริงฟังยุติตามข้อเท็จจริงที่รับฟังได้ในคดีหมายเลขดำที่ 7008/2545 คดีหมายเลขแดงที่ 8403/2546 ของศาลแรงงานกลางและในคดีนี้ว่า จำเลยที่ 1 เป็นบริษัทหนึ่งในบริษัทกลุ่มแพน มีนางธีรนาฎ เป็นประธานกรรมการบริหาร บริษัทในกลุ่มแพนมีประมาณ 60 บริษัท บริษัทในกลุ่มแพนจดทะเบียนเป็นนิติบุคคลต่างหากจากกัน มีกรรมการและกรรมการผู้มีอำนาจกระทำการแทนบริษัทต่างกัน แต่กรรมการในบริษัทหนึ่งอาจเป็นกรรมการในอีกบริษัทหนึ่งในกลุ่ม จำเลยที่ 2 เป็นนิติบุคคลประเภทกองทุนสำรองเลี้ยงชีพ มีข้อบังคับกองทุนโดยมีจำเลยที่ 3 เป็นผู้จัดการกองทุน โจทก์เข้าเป็นลูกจ้างของบริษัทแพนเอเชียฟุตแวร์ จำกัด (มหาชน) และได้ย้ายไปทำงานในบริษัทต่าง ๆ ในกลุ่มแพนอีกหลายบริษัทรวมทั้งบริษัทสหรัตนนคร จำกัด และบริษัทบางกอกรับเบอร์ จำกัด (มหาชน) สุดท้ายทำงานเป็นลูกจ้างของจำเลยที่ 1 ในตำแหน่งกรรมการรองผู้อำนวยการ ได้รับค่าจ้างเดือนละ 80,000 บาท โจทก์เข้าเป็นสมาชิกของจำเลยที่ 2 เมื่อปี 2543 ต่อมาโจทก์เข้าร่วมประชุมกับนางธีรนาฎและนายเผด็จ รองผู้อำนวยการอีกคนหนึ่ง นางธีรนาฎแจ้งโจทก์ว่า ทัศนคติในการทำงานไม่ตรงกัน ไม่สามารถทำงานร่วมกันได้ ให้โจทก์ลาออกจะให้ค่าชดเชยเท่ากับค่าจ้าง 3 เดือน และให้เวลาโจทก์ปรึกษากับครอบครัวก่อน 3 วัน ในวันดังกล่าวนางธีรนาฎขอรถประจำตำแหน่งที่โจทก์ใช้อยู่คืน และในช่วงระยะเวลา 3 วัน ดังกล่าวโจทก์ไม่ต้องไปทำงาน หลังจากครบกำหนดระยะเวลา 3 วัน แล้ว โจทก์ไม่ได้เข้าไปปฏิบัติงานให้จำเลยอีก จำเลยที่ 1 จึงคัดชื่อโจทก์ออกจากการเป็นพนักงานของจำเลยตั้งแต่วันที่ 1 ตุลาคม 2545 เป็นต้นไป ขณะที่โจทก์สิ้นสุดสมาชิกภาพกองทุน โจทก์มีเงินสมทบและผลประโยชน์เงินสมทบรวมเป็นเงิน 164,101.10 บาท แล้ววินิจฉัยว่าโจทก์ละทิ้งหน้าที่เป็นเวลาสามวันทำงานติดต่อกันโดยไม่มีเหตุอันสมควร เป็นการผิดต่อข้อบังคับเกี่ยวกับการทำงานของจำเลยที่ 1 โจทก์จึงไม่มีสิทธิได้รับเงินสมทบและผลประโยชน์ตามฟ้อง
มีปัญหาวินิจฉัยตามอุทธรณ์ของโจทก์ประการแรกว่า จำเลยที่ 1 เลิกจ้างโจทก์ตั้งแต่วันที่ 21 กันยายน 2545 แล้วหรือไม่ พระราชบัญญัติคุ้มครองแรงงาน พ.ศ.2541 มาตรา 118 วรรคสอง บัญญัติว่า “การเลิกจ้างตามมาตรานี้หมายความว่า การกระทำใดที่นายจ้างไม่ให้ลูกจ้างทำงานต่อไปและไม่จ่ายค่าจ้างให้ ไม่ว่าจะเป็นเพราะเหตุสิ้นสุดสัญญาจ้างหรือเหตุอื่นใด และหมายความรวมถึงกรณีที่ลูกจ้างไม่ได้ทำงานและไม่ได้รับค่าจ้างเพราะเหตุที่นายจ้างไม่สามารถดำเนินกิจการต่อไป” ดังนั้น การที่จะวินิจฉัยว่ามีการเลิกจ้างแล้วหรือไม่ จึงต้องพิจารณาถึงการกระทำของนายจ้างประกอบด้วย จะพิจารณาเพียงว่ามีการบอกกล่าวเลิกจ้างด้วยวาจาหรือเลิกจ้างเป็นหนังสือแล้วหรือไม่ ย่อมไม่ได้ คดีนี้แม้ในการประชุมกันนางธีรนาฎจะขอให้โจทก์ลาออกโดยจะให้ค่าชดเชยเท่ากับค่าจ้าง 3 เดือน และให้เวลาโจทก์ปรึกษากับครอบครัวก่อน 3 วัน ซึ่งแสดงให้เห็นว่าในการประชุมนั้นนางธีรนาฎยังให้โอกาสโจทก์ตัดสินใจเสียก่อนว่าจะยอมลาออกตามความประสงค์ของนางธีรนาฎหรือไม่ ก่อนที่นางธีรนาฎจะมีคำสั่งอย่างหนึ่งอย่างใดต่อไป แต่ข้อเท็จจริงหาได้มีเพียงเท่านี้ไม่ กลับปรากฏว่าในวันดังกล่าวนางธีรนาฎขอรถยนต์ประจำตำแหน่งที่โจทก์ใช้อยู่คืน โดยในช่วงระยะเวลา 3 วันนี้โจทก์ไม่ต้องไปทำงาน ซึ่งหากนางธีรนาฎยังให้โอกาสโจทก์ตัดสินใจก่อนดังที่แจ้งแก่โจทก์ในที่ประชุมก็ไม่มีเหตุผลใดที่จะต้องเรียกเอารถประจำตำแหน่งคืนเสียตั้งแต่วันนั้นและไม่มีเหตุผลใดที่จะให้โจทก์หยุดงาน การกระทำของนางธีรนาฎมีลักษณะไม่ยอมให้โจทก์ทำงานให้จำเลยอีกต่อไป มิใช่เป็นการให้โอกาสโจทก์ดังที่กล่าวในที่ประชุม พฤติการณ์ของนางธีรนาฎถือได้ว่าจำเลยที่ 1 เลิกจ้างโจทก์ตั้งแต่วันที่ 21 กันยายน 2545 อันเป็นวันที่เรียกเอารถประจำตำแหน่งคืนจากโจทก์แล้ว ไม่ใช่เพิ่งเลิกจ้างโจทก์ในวันที่ 1 ตุลาคม 2545 ซึ่งเป็นวันที่จำเลยที่ 1 คัดชื่อโจทก์ออกจากการเป็นพนักงานของจำเลยไม่ ที่ศาลแรงงานกลางวินิจฉัยว่า จำเลยที่ 1 มิได้เลิกจ้างโจทก์ตั้งแต่วันที่ 21 กันยายน 2545 ศาลฎีกาไม่เห็นพ้องด้วย อุทธรณ์ของโจทก์ฟังขึ้น
มีปัญหาที่ต้องวินิจฉัยตามอุทธรณ์โจทก์ประการสุดท้ายว่า จำเลยทั้งสามต้องร่วมกันจ่ายเงินสมทบและผลประโยชน์ของเงินสมทบแก่โจทก์หรือไม่ เพียงใด เห็นว่า เมื่อจำเลยที่ 1 เลิกจ้างโจทก์ตั้งแต่วันที่ 21 กันยายน 2545 โจทก์จึงไม่ได้ขาดงานหรือละทิ้งหน้าที่ไปในวันที่ 26 ถึงวันที่ 30 กันยายน 2545 โจทก์จึงไม่ได้กระทำผิดข้อบังคับเกี่ยวกับการทำงานของจำเลยที่ 1 อันเป็นเหตุที่จำเลยที่ 2 จะไม่จ่ายเงินสมทบและผลประโยชน์ของเงินสมทบ ตามข้อบังคับกองทุนสำรองเลี้ยงชีพกลุ่มแพนซึ่งจดทะเบียนแล้ว ข้อ 6.02 ง แต่เป็นกรณีที่จำเลยที่ 1 เลิกจ้างโจทก์ อันเป็นการสิ้นสุดสมาชิกภาพเพราะเหตุอื่นใดตามข้อบังคับข้อ 4.04.1 ค ดังนั้นจำเลยที่ 2 จึงต้องจ่ายเงินสมทบและผลประโยชน์ของเงินสมทบแก่โจทก์ตามข้อ 6.02 เมื่อพิจารณารายงานการสิ้นสุดสมาชิกภาพของสมาชิกของกองทุนสำรองเลี้ยงชีพแล้ว เงินสมทบมีจำนวนทั้งสิ้น 116,610 บาท และผลประโยชน์ของเงินสมทบ 47,491.10 บาท จึงรวมเป็นเงินที่โจทก์จะได้รับรวม 164,101.10 บาท แม้โจทก์จะมีคำขอให้จำเลยทั้งสามจ่ายเงินดังกล่าวเพียง 162,851.24 บาท แต่เพื่อให้โจทก์ได้รับเงินสมทบและผลประโยชน์ตามสิทธิของโจทก์และเพื่อความเป็นธรรมแก่คู่ความเห็นสมควรพิพากษาเกินคำขอ ให้โจทก์ได้รับเงินสมทบและผลประโยชน์รวม 164,101.10 บาท ตามพระราชบัญญัติจัดตั้งศาลแรงงานและวิธีพิจารณาคดีแรงงาน พ.ศ.2522 มาตรา 52 การที่โจทก์เรียกให้จำเลยที่ 1 และที่ 3 จ่ายเงินสมทบและผลประโยชน์ของเงินสมทบตามพระราชบัญญัติกองทุนสำรองเลี้ยงชีพ พ.ศ.2530 นั้น ตามมาตรา 7 กำหนดให้กองทุนสำรองเลี้ยงชีพที่ได้จดทะเบียนแล้วให้เป็นนิติบุคคลและมาตรา 23 กำหนดให้เมื่อลูกจ้างสิ้นสมาชิกภาพเพราะเหตุอื่นซึ่งมิใช่กองทุนเลิก ผู้จัดการกองทุนต้องจ่ายเงินจากกองทุนให้ลูกจ้าง กองทุนสำรองเลี้ยงชีพที่ดำเนินการให้แก่จำเลยที่ 1 คือ จำเลยที่ 2 โดยมีจำเลยที่ 3 ในฐานะผู้จัดการกองทุนทำหน้าที่บริหารจัดการจ่ายเงินจากจำเลยที่ 2 ให้แก่โจทก์เท่านั้น จำเลยที่ 3 จึงไม่จำต้องรับผิดเป็นการส่วนตัว เมื่อจำเลยที่ 1 เป็นนายจ้างไม่มีอำนาจและหน้าที่ในการจัดการกองทุนสำรองเลี้ยงชีพ โจทก์จึงไม่มีอำนาจฟ้องให้จำเลยที่ 1 จ่ายเงินสมทบของนายจ้างแก่โจทก์
พิพากษาแก้เป็นว่า ให้จำเลยที่ 2 และที่ 3 ร่วมกันจ่ายเงินสมทบและผลประโยชน์ของเงินสมทบเป็นเงิน 164,101.10 บาท พร้อมดอกเบี้ยในอัตราร้อยละ 7.5 ต่อปี นับแต่วันฟ้อง (วันที่ 12 มิถุนายน 2546) เป็นต้นไปจนกว่าจะชำระเสร็จแก่โจทก์ โดยจำเลยที่ 3 ไม่ต้องรับผิดเป็นการส่วนตัว นอกจากที่แก้ให้เป็นไปตามคำพิพากษาศาลแรงงานกลาง

Share