คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 13145/2558

แหล่งที่มา : กองผู้ช่วยผู้พิพากษาศาลฎีกา

ย่อสั้น

พ.ร.บ.จัดตั้งศาลแรงงานและวิธีพิจารณาคดีแรงงาน พ.ศ.2522 มาตรา 45 วรรคสอง บัญญัติให้ศาลแรงงานเท่านั้นเป็นผู้ซักถามพยานของฝ่ายโจทก์หรือของฝ่ายจำเลย หรือพยานที่ศาลแรงงานเรียกมาเอง โจทก์หรือจำเลยไม่มีสิทธิซักถามเว้นแต่ศาลแรงงานจะอนุญาตเท่านั้น และการถามพยานที่ฝ่ายตนอ้างหรืออีกฝ่ายหนึ่งอ้างให้เป็นซักถามทั้งสิ้น การซักถามพยานที่อีกฝ่ายหนึ่งอ้างจึงไม่เป็นการถามค้านไม่อาจนำ ป.วิ.พ. มาตรา 117 วรรคหนึ่งและวรรคสอง ที่บัญญัติให้ฝ่ายที่อ้างพยานซักถามพยานที่ตนอ้างก่อนแล้วจึงให้คู่ความอีกฝ่ายหนึ่งถามค้านพยานนั้น และเป็นสิทธิของคู่ความทั้งสองฝ่ายที่จะซักถามและถามค้านพยานได้โดยไม่ต้องขออนุญาตจากศาลก่อน และไม่อาจนำ ป.วิ.พ. มาตรา 89 วรรคหนึ่ง (2) ที่บัญญัติให้ถามค้านพยานที่อีกฝ่ายหนึ่งอ้างมาและนำพยานนั้นเข้าสืบก่อนถึงข้อความที่ตนจะนำสืบภายหลังมาใช้บังคับแก่การดำเนินกระบวนพิจารณาเกี่ยวกับการซักถามพยานในศาลแรงงานได้
ตาม พ.ร.บ.คุ้มครองแรงงาน พ.ศ.2541 มาตรา 17 วรรคสอง ประกอบ ป.พ.พ. มาตรา 386 วรรคสอง ลูกจ้างบอกเลิกสัญญาจ้างได้โดยแสดงเจตนาแก่นายจ้างและไม่อาจถอนหรือยกเลิกเจตนานั้นได้หมายถึงกรณีที่ลูกจ้างแสดงเจตนาเลิกสัญญาจ้างเพียงฝ่ายเดียวแล้วลูกจ้างขอถอนหรือยกเลิกเจตนาเลิกสัญญาจ้างเท่านั้น ไม่รวมถึงการตกลงหรือยินยอมพร้อมใจของนายจ้างและลูกจ้างในการถอนหรือยกเลิกการแสดงเจตนาของลูกจ้างที่ขอเลิกสัญญาจ้างด้วย เมื่อศาลแรงงานกลางฟังข้อเท็จจริงว่าโจทก์ผู้เป็นลูกจ้างและจำเลยผู้เป็นนายจ้างตกลงยกเลิกและยินยอมให้โจทก์ถอนการแสดงเจตนาลาออกของโจทก์ จึงทำให้การลาออกของโจทก์ถูกถอนไปแล้ว
การชำระหนี้ตามอำเภอใจตาม ป.พ.พ. มาตรา 407 หมายถึงการชำระหนี้โดยรู้อยู่ว่าตนไม่มีความผูกพันที่ต้องชำระ การที่จำเลยชำระค่าคอมมิสชันให้โจทก์เกินจำนวนที่โจทก์มีสิทธิได้รับโดยผิดหลง ไม่แม่นยำในหลักการ หรือเกิดจากการคำนวณผิด ไม่ใช่การชำระหนี้ตามอำเภอใจ
โจทก์รับเงินค่าคอมมิสชันในเดือนสุดท้ายเท่ากับที่เคยรับ เชื่อได้ว่าโจทก์รับไว้โดยสุจริตโดยเชื่อว่ามีสิทธิรับไว้ได้ โจทก์จึงไม่ต้องเสียดอกเบี้ยนับแต่วันที่ได้รับ แต่เมื่อโจทก์ทราบว่าจะต้องคืนเงินดังกล่าวเมื่อถูกจำเลยฟ้องแย้งแล้ว ถือว่าโจทก์ตกเป็นผู้ผิดนัดนับแต่วันฟ้องแย้ง

ย่อยาว

โจทก์ฟ้องและแก้ไขคำฟ้องขอให้บังคับจำเลยจ่ายสินจ้างแทนการบอกกล่าวล่วงหน้า 1 เดือน 23 วัน เป็นเงิน 441,666 บาท พร้อมดอกเบี้ยและเงินเพิ่มตามกฎหมาย ค่าจ้างค้างจ่าย 404,000 บาท ค่าชดเชย1,500,000 บาท และค่าเสียหายจากการเลิกจ้างที่ไม่เป็นธรรม 1,500,000 บาท พร้อมดอกเบี้ยอัตราร้อยละ 15 ต่อปี นับถัดจากวันฟ้องเป็นต้นไปจนกว่าจะชำระเสร็จแก่โจทก์
จำเลยให้การแก้ไขคำให้การขอให้ยกฟ้องและฟ้องแย้งแก้ไขฟ้องแย้งขอให้บังคับโจทก์ชำระเงินจำนวน 104,417.20 บาท พร้อมดอกเบี้ยอัตราร้อยละ 7.5 ต่อปีของต้นเงิน 99,666 บาท นับถัดจากวันฟ้องแย้งเป็นต้นไปจนกว่าจะชำระเสร็จแก่จำเลย
โจทก์ให้การแก้ฟ้องแย้งและแก้ไขคำให้การแก้ฟ้องแย้งขอให้ยกฟ้องแย้ง
ศาลแรงงานกลางพิพากษาให้จำเลยชำระสินจ้างแทนการบอกกล่าวล่วงหน้า 199,999.92 บาท ค่าเสียหายจากการเลิกจ้างที่ไม่เป็นธรรม 700,000 บาท พร้อมดอกเบี้ยอัตราร้อยละ 7.5 ต่อปี ของต้นเงินแต่ละจำนวน นับถัดจากวันฟ้อง (ฟ้องวันที่ 13 กันยายน 2555) เป็นต้นไปจนกว่าจะชำระเสร็จ และค่าชดเชย 1,500,000 บาท พร้อมดอกเบี้ยอัตราร้อยละ 15 ต่อปี นับถัดจากวันฟ้องเป็นต้นไปจนกว่าจะชำระเสร็จแก่โจทก์ คำขออื่นนอกจากนี้ให้ยกและยกฟ้องแย้งของจำเลย
จำเลยอุทธรณ์ต่อศาลฎีกา
ศาลฎีกาแผนกคดีแรงงานวินิจฉัยว่า ศาลแรงงานกลางฟังข้อเท็จจริงว่า โจทก์เข้าทำงานเป็นลูกจ้างจำเลยตั้งแต่วันที่ 24 พฤษภาคม 2550 ตำแหน่งสุดท้ายเป็น Senior Account Manager (ผู้จัดการบัญชีอาวุโสหรือผู้จัดการอาวุโสฝ่ายบริหารลูกค้า) ได้รับเงินเดือน เดือนละ 120,000 บาท และค่าคอมมิสชันเดือนละ 130,000 บาท รวมเป็นค่าจ้างอัตราสุดท้ายเดือนละ 250,000 บาท กำหนดจ่ายค่าจ้างทุกวันสิ้นเดือน เมื่อวันที่ 30 สิงหาคม 2554 โจทก์มีจดหมายอิเล็กทรอนิกส์ไปยังจำเลยเพื่อขอลาออกจากการเป็นลูกจ้าง และวันที่ 31 สิงหาคม 2554 โจทก์พูดคุยกับนายเทียรี่ ผู้บังคับบัญชาของโจทก์ซึ่งขอให้โจทก์คิดไตร่ตรองให้รอบคอบก่อน เมื่อปรับความเข้าใจกันแล้วโจทก์ไม่ต้องการลาออกอีกต่อไป ทั้งสองฝ่ายตกลงยกเลิกหนังสือลาออกของโจทก์ โดยนายเทียรี่ เสนองานในตำแหน่งผู้จัดการฝ่ายพัฒนาธุรกิจให้โจทก์ เพื่อจูงใจให้โจทก์ทำงานกับจำเลยต่อไป หลังจากวันดังกล่าวโจทก์มาทำงานตามปกติ จำเลยก็จ่ายค่าจ้าง ค่าคอมมิสชันให้โจทก์เช่นเดิมและมีการพูดคุยสอบถามเกี่ยวกับความรับผิดชอบ เงินเดือน และค่าคอมมิสชันในตำแหน่งใหม่ตลอดมา ตามพฤติการณ์เป็นการเพิกถอนหนังสือลาออกของโจทก์โดยปริยาย ต่อมาวันที่ 7 พฤศจิกายน 2554 จำเลยมีจดหมายอิเล็กทรอนิกส์แจ้งยอมรับให้โจทก์พ้นสภาพการเป็นลูกจ้างของจำเลย ให้โจทก์มาทำงานวันสุดท้ายวันที่ 7 ธันวาคม 2554 แล้ววินิจฉัยว่า เอกสารดังกล่าวเป็นการบอกเลิกจ้างโจทก์ซึ่งมีผลให้สัญญาจ้างสิ้นสุดลงวันที่ 7 ธันวาคม 2554 และเป็นการเลิกจ้างเนื่องจากนายไมเคิล กรรมการบริษัทจำเลยไม่พอใจโจทก์จึงเป็นการเลิกจ้างโดยโจทก์ไม่มีความผิด ทั้งไม่มีเหตุอันสมควรที่จะเลิกจ้าง เป็นการเลิกจ้างที่ไม่เป็นธรรมแก่โจทก์ จำเลยจึงต้องจ่ายค่าชดเชย สินจ้างแทนการบอกกล่าวล่วงหน้า ค่าเสียหายจากการเลิกจ้างที่ไม่เป็นธรรมพร้อมดอกเบี้ยแก่โจทก์ สินจ้างแทนการบอกกล่าวล่วงหน้า และค่าเสียหายจากการเลิกจ้างที่ไม่เป็นธรรมไม่ใช่เงินตามมาตรา 9 แห่งพระราชบัญญัติคุ้มครองแรงงาน พ.ศ.2541 โจทก์จึงมีสิทธิได้รับดอกเบี้ยจากต้นเงินดังกล่าวในอัตราร้อยละ 7.5 ต่อปี แต่ไม่มีสิทธิได้รับเงินเพิ่ม ส่วนค่าคอมมิสชันนั้นจำเลยจ่ายเกินแก่โจทก์ไป 99,666 บาท แต่เป็นการจ่ายเงินโดยอำเภอใจจึงไม่มีสิทธิเรียกคืน
มีปัญหาต้องวินิจฉัยตามอุทธรณ์ของจำเลยว่า ที่ศาลแรงงานกลางยอมรับฟังเอกสาร โดยโจทก์ไม่นำเอกสารมาถามค้านพยานของจำเลยเพื่อให้อธิบายก่อนนั้นชอบด้วยกฎหมายหรือไม่ เห็นว่า แม้ประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความแพ่ง มาตรา 89 กำหนดให้คู่ความฝ่ายที่มีหน้าที่นำสืบภายหลังต้องถามค้านพยานฝ่ายที่มีหน้าที่นำสืบก่อนถึงข้อความที่ตนจะนำสืบภายหลังเพื่อหักล้างคำพยานของฝ่ายที่นำสืบก่อนในข้อความทั้งหลายที่พยานฝ่ายที่นำสืบก่อนเป็นผู้รู้เห็น หรือเพื่อพิสูจน์ข้อความอย่างใดอย่างหนึ่งเกี่ยวด้วยการกระทำซึ่งพยานฝ่ายที่นำสืบก่อนได้กระทำนั้นและพระราชบัญญัติจัดตั้งศาลแรงงานและวิธีพิจารณาคดีแรงงาน พ.ศ.2522 มาตรา 31 จะได้กำหนดให้นำบทบัญญัติแห่งประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความแพ่งมาใช้บังคับแก่การดำเนินกระบวนพิจารณาในศาลแรงงานด้วยก็ตาม แต่ให้นำมาใช้เท่าที่ไม่ขัดหรือแย้งกับบทบัญญัติแห่งพระราชบัญญัติดังกล่าวเท่านั้น ซึ่งในการสืบพยานคดีแรงงาน พระราชบัญญัติจัดตั้งศาลแรงงานและวิธีพิจารณาคดีแรงงาน พ.ศ.2522 มาตรา 45 วรรคสอง บัญญัติไว้ว่า ในการสืบพยานไม่ว่าจะเป็นพยานที่คู่ความฝ่ายใดอ้างหรือที่ศาลแรงงานเรียกมาเองให้ศาลแรงงานเป็นผู้ซักถามพยาน ตัวความหรือทนายความจะซักถามพยานได้ต่อเมื่อได้รับอนุญาตจากศาลแรงงาน ตามบทบัญญัติดังกล่าวกำหนดให้ศาลแรงงานเท่านั้นเป็นผู้ซักถามพยานของฝ่ายโจทก์หรือของฝ่ายจำเลย หรือที่ศาลแรงงานเรียกมาเอง ฝ่ายโจทก์หรือจำเลยไม่มีสิทธิซักถาม เว้นแต่ศาลแรงงานจะอนุญาตเท่านั้นซึ่งหากศาลแรงงานไม่อนุญาตแล้ว ฝ่ายโจทก์หรือจำเลยจะซักถามพยานที่ตนอ้างมาหรือพยานที่อีกฝ่ายหนึ่งอ้างมาไม่ได้ ทั้งการถามพยานฝ่ายที่ตนอ้างหรือพยานที่อีกฝ่ายหนึ่งอ้างนั้น มาตรา 45 วรรคสอง กำหนดให้เป็นซักถามทั้งสิ้น การซักถามพยานที่อีกฝ่ายหนึ่งอ้างจึงไม่เป็นการถามค้านดังจำเลยอ้าง การสืบพยานดังกล่าวแตกต่างจากการสืบพยานในคดีแพ่งทั่วไปที่ประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความแพ่ง มาตรา 117 กำหนดให้ฝ่ายที่อ้างพยานต้องซักถามพยานที่ตนอ้างก่อนแล้วจึงให้คู่ความอีกฝ่ายถามค้านพยานนั้นได้ และเป็นสิทธิของคู่ความทั้งสองฝ่ายที่จะซักถามและถามค้านตามลำดับได้โดยไม่ต้องขออนุญาตจากศาลก่อน การสืบพยานในคดีแพ่งทั่วไปในส่วนที่เกี่ยวกับการซักถามพยานจึงขัดหรือแย้งกับการสืบพยานในคดีแรงงาน ไม่อาจนำบทบัญญัติตามประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความแพ่ง มาตรา 89 และมาตรา 117 ในส่วนที่เกี่ยวข้องกับการซักถามพยานมาใช้บังคับแก่การดำเนินกระบวนพิจารณาในศาลแรงงานได้ คู่ความที่ได้รับอนุญาตจากศาลแรงงานให้ซักถามพยานที่อีกฝ่ายหนึ่งอ้างมาและนำพยานนั้นเข้าสืบก่อน ก็หาจำต้องซักถามพยานไว้ก่อนถึงข้อความที่ตนจะนำสืบภายหลังดังจำเลยอ้างไม่ ที่ศาลแรงงานกลางรับฟังคำเบิกความของโจทก์ รวมทั้งเอกสาร เป็นส่วนหนึ่งของพยานหลักฐานในสำนวนคดี จึงเป็นการดำเนินกระบวนพิจารณาที่ชอบแล้ว คำพิพากษาศาลฎีกาที่จำเลยอ้างข้อเท็จจริงไม่ตรงกับคดีนี้ อุทธรณ์ของจำเลยข้อนี้ฟังไม่ขึ้น
มีปัญหาต้องวินิจฉัยตามอุทธรณ์ของจำเลยต่อไป โดยจำเลยอุทธรณ์ว่า ตามกฎหมายการลาออกผูกพันโจทก์ตลอดไปโดยไม่อาจเพิกถอนหรือยกเลิกการแสดงเจตนาดังกล่าวได้และเมื่อยังตกลงตำแหน่งใหม่ไม่แล้วเสร็จอันเป็นการเปลี่ยนสาระสำคัญแห่งหนี้ การที่โจทก์ยังคงทำงานให้จำเลยต่อมาก็เป็นไปตามสัญญาจ้างเดิม ไม่มีผลเป็นการยกเลิกการลาออกโดยปริยายนั้น เห็นว่า จริงอยู่แม้ตามประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์ มาตรา 386 ประกอบพระราชบัญญัติคุ้มครองแรงงาน พ.ศ.2541 มาตรา 17 ลูกจ้างอาจบอกเลิกสัญญาจ้างได้โดยแสดงเจตนาแก่นายจ้าง และเมื่อแสดงเจตนาดังกล่าวแล้วไม่อาจถอนหรือยกเลิกเจตนานั้นได้ก็ตาม แต่กรณีดังกล่าวหมายถึงลูกจ้างแสดงเจตนาเพียงฝ่ายเดียวขอถอนหรือยกเลิกการแสดงเจตนาเลิกสัญญาจ้างเท่านั้น ไม่รวมถึงการตกลงหรือยินยอมพร้อมใจของฝ่ายนายจ้างและลูกจ้างเพื่อยกเลิกหรือถอนการแสดงเจตนาของลูกจ้างที่ขอเลิกสัญญาจ้างแต่อย่างใด ดังนี้ เมื่อศาลแรงงานกลางฟังข้อเท็จจริงว่า โจทก์ขอลาออกในวันที่ 30 สิงหาคม 2554 โดยให้มีผลใน 30 วันข้างหน้า ต่อมาจำเลยและโจทก์ปรับความเข้าใจกันได้แล้ว และทั้งสองฝ่ายตกลงยกเลิกและยินยอมให้ถอนการแสดงเจตนาลาออกของโจทก์ กรณีจึงทำให้การลาออกของโจทก์ถูกถอนไปแล้ว กรณีเช่นนี้หาขัดต่อบทบัญญัติของกฎหมายดังกล่าวแต่อย่างใดไม่ ส่วนในเวลาต่อมาโจทก์กับจำเลยจะตกลงตำแหน่งใหม่ของโจทก์หรือทำสัญญาจ้างกันใหม่สำเร็จลุล่วงไปหรือไม่ ก็หาทำให้การลาออกที่ถูกถอนไปแล้วกลับมาเป็นการแสดงเจตนาที่สมบูรณ์ดังเดิมไม่ อุทธรณ์ของจำเลยข้อนี้ฟังไม่ขึ้น
มีปัญหาที่ต้องวินิจฉัยตามอุทธรณ์ของจำเลยในประการสุดท้ายว่า โจทก์ต้องคืนเงินค่าคอมมิสชันตามฟ้องแย้งแก่จำเลยหรือไม่ โดยจำเลยอุทธรณ์ว่า ในเดือนธันวาคม 2554 โจทก์ทำงานให้จำเลยเพียง 7 วัน จึงมีสิทธิได้รับค่าคอมมิสชันตามส่วนเป็นเงินเพียง 30,334 บาท แต่จำเลยจ่ายให้ 130,000 บาท เป็นการจ่ายเกินไป 99,666 บาท ซึ่งเป็นกรณีจ่ายให้โดยผิดหลงหรือคำนวณผิดพลาด มิใช่การจ่ายโดยอำเภอใจที่จะเรียกคืนไม่ได้ตามประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์ มาตรา 407 ตามที่ศาลแรงงานกลางวินิจฉัยโจทก์จึงต้องคืนเงินที่รับเกินไปแก่จำเลยนั้น เห็นว่า การจ่ายหรือชำระหนี้ตามอำเภอใจตามบทบัญญัติดังกล่าวนั้น หมายถึง การชำระหนี้โดยรู้อยู่ว่าตนไม่มีความผูกพันที่จะต้องชำระเช่นทราบว่าไม่มีหนี้สินต่อกัน หรือชำระหนี้ที่เกิดจากนิติกรรมที่ตกเป็นโมฆะ ชำระหนี้ที่ขาดอายุความ หรือชำระหนี้ที่ฝ่าฝืนกฎหมายหรือศีลธรรมอันดี เป็นต้น แต่กรณีของจำเลยเป็นการชำระเงินให้โจทก์โดยผิดหลง ไม่แม่นยำในหลักการ หรือเกิดจากการคิดคำนวณผิดมิใช่การชำระหนี้โดยอำเภอใจดังที่ศาลแรงงานกลางวินิจฉัย ดังนี้จำเลยจึงสามารถเรียกเงินที่ชำระหรือจ่ายให้โจทก์เกินไปจำนวน 99,666 บาท คืนจากโจทก์ แต่ที่จำเลยเรียกดอกเบี้ยร้อยละเจ็ดครึ่งต่อปีของเงินดังกล่าวนับแต่วันที่โจทก์รับเงินไปนั้น เห็นว่า โจทก์เคยรับเงินค่าคอมมิสชันเดือนละ 130,000 บาท ทุกเดือน การที่โจทก์รับเงินในเดือนสุดท้ายเท่ากับที่เคยรับ เชื่อได้ว่าโจทก์รับไว้โดยสุจริตโดยเชื่อว่ามีสิทธิรับไว้ได้ โจทก์จึงไม่ต้องเสียดอกเบี้ยนับแต่วันดังกล่าว แต่เมื่อโจทก์ทราบว่าจะต้องคืนเงินดังกล่าวเมื่อถูกจำเลยฟ้องแย้งแล้วไม่คืนให้ย่อมถือว่าโจทก์ตกเป็นผู้ผิดนัดนับแต่วันฟ้องแย้ง (วันที่ 25 ตุลาคม 2555) โจทก์ต้องคืนเงินนั้นพร้อมดอกเบี้ยแก่จำเลยนับแต่วันดังกล่าว อุทธรณ์ของจำเลยข้อนี้ฟังขึ้นบางส่วน
พิพากษาแก้เป็นว่า ให้โจทก์ชำระเงินจำนวน 99,666 บาท พร้อมดอกเบี้ยร้อยละเจ็ดครึ่งต่อปีนับแต่วันที่ 25 ตุลาคม 2555 จนกว่าจะชำระเสร็จแก่จำเลย นอกจากที่แก้ให้เป็นไปตามคำพิพากษาของศาลแรงงานกลาง

Share