แหล่งที่มา : สำนักงานส่งเสริมงานตุลาการ
ย่อสั้น
แม้ข้อความในเอกสารจะใช้ถ้อยคำว่า ‘โอนสิทธิรับเงินสินจ้าง’โดยมิได้ใช้คำว่า ‘โอนสิทธิเรียกร้อง’ ตามชื่อที่กฎหมายบัญญัติไว้โดยตรงก็ตาม แต่เมื่อใจความในเอกสารดังกล่าวทั้งฉบับเป็นเรื่องการโอนสิทธิเรียกร้อง ก็ย่อมต้องฟังว่าเป็นเรื่องการโอนสิทธิเรียกร้อง และแม้หลักฐานการขอเบิกและจ่ายเงินจะระบุชื่อจำเลยร่วมเป็นผู้ขอเบิกและผู้รับก็ตาม ก็ไม่เป็นเหตุให้การโอนสิทธิเรียกร้องซึ่งมีผลสมบูรณ์ตามกฎหมายอยู่แล้วต้องเสียไป
การที่จำเลยร่วมผู้โอนสิทธิเรียกร้องมีหนังสือบอกเลิกการโอนสิทธิเรียกร้องถึงโจทก์ผู้รับโอนสิทธิเรียกร้องและจำเลยซึ่งเป็นลูกหนี้ โดยโจทก์มิได้ตกลงยินยอมด้วยนั้น ย่อมไม่มีผลให้จำเลยหลุดพ้นจากหนี้ตามสิทธิเรียกร้องดังกล่าวที่มีต่อโจทก์.(ที่มา-ส่งเสริม)
ย่อยาว
โจทก์ฟ้องและแก้ไขคำฟ้องว่า จำเลยเป็นนิติบุคคลโดยเป็นรัฐวิสาหกิจในรัฐบาล เมื่อวันที่ 11 กุมภาพันธ์ 2525 จำเลยได้ทำสัญญาว่าจ้างห้างหุ้นส่วนจำกัดสปอร์ตก่อสร้างสระบุรีให้เป็นผู้ก่อสร้างอาคารสถานีทวนสัญญาณพร้อมถนนที่ภูผาลาด อำเภอภูเรือ จังหวัดเลย เป็นเงิน 14,544,000 บาท แบ่งจ่ายเป็น 10 งวดเป็นเงินงวดละ 1,454,000 บาท กำหนดจ่ายตามงวดงานที่แล้วเสร็จและส่งมอบงานเรียบร้อยภายในกำหนดเวลาตามสัญญา เมื่อได้ลงนามในสัญญาแล้ว ห้างดังกล่าวได้ทำหนังสือโอนสิทธิเรียกร้องการรับเงินค่าจ้างตามสัญญาข้างต้นทุกงวดแก่โจทก์ และได้มีหนังสือลงวันที่ 11 กุมภาพันธ์ 2525 แจ้งให้จำเลยทราบแล้ว โจทก์ได้เข้ารับเงินค่าจ้างตามสัญญาจากจำเลยตั้งแต่งวดที่ 3เป็นต้นมาจนถึงงวดที่ 9 ต่อมาวันที่ 24 มิถุนายน 2526 จำเลยได้มีหนังสือแจ้งให้โจทก์ทราบว่าห้างดังกล่าวได้มีหนังสือขอยกเลิกการโอนสิทธิเรียกร้องโดยให้มีผลยกเลิกตั้งแต่วันที่ 13 มิถุนายน 2526 เป็นต้นไป โจทก์มีหนังสือลงวันที่ 30สิงหาคม 2526 คัดค้านว่า ห้างดังกล่าวไม่มีอำนาจขอยกเลิกการโอนสิทธิเรียกร้องและขอรับเงินค่าจ้างที่ค้างชำระ จำเลยได้มีหนังสือลงวันที่ 5 กันยายน 2526 แจ้งว่า จำเลยจ่ายเงินค่าจ้างงวดสุดท้ายจำนวน 1,454,000 บาท ให้แก่ห้างดังกล่าวไปแล้วซึ่งเป็นการปฏิบัติมิชอบเพราะการขอยกเลิกเกิดจากการแสดงเจตนาของห้างดังกล่าวฝ่ายเดียว โจทก์ไม่ได้ยินยอมด้วย จำเลยย่อมจะต้องรับผิดจ่ายเงินค่าจ้างงวดสุดท้ายแก่โจทก์อีกโจทก์ทวงถามแล้ว จำเลยเพิกเฉย ขอให้บังคับจำเลยใช้เงินจำนวน 1,454,000 บาท พร้อมดอกเบี้ยอัตราร้อยละเจ็ดครึ่งต่อปีนับแต่วันที่ 21 กันยายน 2526 จนกว่าชำระเสร็จแก่โจทก์
จำเลยให้การและแก้ไขคำให้การว่า การที่ห้างหุ้นส่วนจำกัดสปอร์ตก่อสร้างสระบุรีได้มีหนังสือแจ้งการโอนสิทธิรับเงินสินจ้าง โดยขอโอนให้แก่โจทก์ทุกงวดงานที่ห้างดังกล่าวมีสิทธิรับเงินสินจ้างจากจำเลย จำเลยเชื่อว่าโจทก์เป็นเพียงตัวแทนในการรับเงินเท่านั้น เพราะในสัญญาจ้างเหมา โจทก์เป็นตัวแทนของห้างดังกล่าวในการทำสัญญากับจำเลย ฉะนั้นเมื่อห้างดังกล่าวมีหนังสือแจ้งให้จำเลยขอยกเลิกการโอนสิทธิรับเงินสินจ้างให้จำเลยทราบตามหนังสือลงวันที่ 11 กุมภาพันธ์ 2525 ต่อมาวันที่ 28 มิถุนายน 2526 จำเลยได้มีหนังสือแจ้งให้โจทก์ทราบ โจทก์หาได้โต้แย้งคัดค้านไม่ จนถึงวันที่ 25สิงหาคม 2526 ห้างดังกล่าวได้ส่งมอบงานงวดที่ 10 เรียบร้อยและขอรับเงินสินจ้างไปจากจำเลย จำเลยจึงจ่ายให้ไป จำเลยไม่เคยผิดนัดชำระหนี้ จึงไม่ต้องรับผิด ขอให้ยกฟ้อง
ศาลหมายเรียกห้างหุ้นส่วนจำกัดสปอร์ตก่อสร้างสระบุรีเข้าเป็นจำเลยร่วม
จำเลยร่วมให้การว่า จำเลยร่วมแต่งตั้งโจทก์เป็นตัวแทนในการรับเงินค่าจ้างดังกล่าว ต่อมาจำเลยร่วมได้ขอยกเลิกการเป็นตัวแทนรับเงินให้โจทก์และจำเลยทราบโจทก์ก็มิได้โต้แย้งคัดค้านแต่อย่างใด โจทก์มาคัดค้านภายหลังเมื่อจำเลยจ่ายสินจ้างงวดที่ 10 ให้จำเลยร่วมแล้ว จึงเป็นการใช้สิทธิไม่สุจริตขอให้ยกฟ้อง
ศาลชั้นต้นพิพากษาให้จำเลยใช้เงินแก่โจทก์จำนวน 1,391,860.80บาท พร้อมทั้งดอกเบี้ยในอัตราร้อยละเจ็ดครึ่งต่อปีจากต้นเงินดังกล่าวนับตั้งแต่วันที่ 21 กันยายน 2526 เป็นต้นไปจนกว่าจะชำระเสร็จแก่โจทก์ และให้จำเลยใช้ค่าฤชาธรรมเนียมแทนโจทก์โดยกำหนดค่าทนายโจทก์ 10,000 บาท คำขออื่นของคู่ความนอกจากนี้ให้ยก
จำเลยอุทธรณ์
ศาลอุทธรณ์พิพากษายืน ให้จำเลยใช้ค่าทนายความชั้นอุทธรณ์ 5,000บาท แทนโจทก์
จำเลยฎีกา
ศาลฎีกาวินิจฉัยว่า ‘ทางพิจารณาโจทก์จำเลยนำสืบข้อเท็จจริงคงฟังได้ในเบื้องต้นว่า เมื่อปลายปี 2524 นายวิโรจน์หุ้นส่วนผู้จัดการของจำเลยร่วมได้ไปพบโจทก์ ขอให้โจทก์เป็นผู้ลงทุนเกี่ยวกับงานก่อสร้างคดีนี้ในวงเงิน 2 ล้านบาท โดยเสนอให้ค่าตอบแทนอัตราร้อยละ 10 ของค่าจ้างตามสัญญา ปรากฏตามเอกสารหมาย จ. 6 ต่อมาวันที่ 11 กุมภาพันธ์ 2525 จำเลยร่วมมอบให้โจทก์เป็นผู้ลงนามแทนในสัญญาจ้างเหมาระหว่างจำเลยกับจำเลยร่วมปรากฏตามเอกสารหมาย จ. 2 ในวันเดียวกันนั้น จำเลยร่วมได้ทำหนังสือโอนสิทธิการรับเงินสินจ้างตามสัญญาให้แก่โจทก์ตามเอกสารหมาย จ.ล. 2 จำเลยร่วมได้มีหนังสือแจ้งการโอนสิทธิการรับเงินดังกล่าวไปให้จำเลยทราบปรากฏตามเอกสารหมายจ.ล. 1 โดยแนบสำเนาเอกสารหมาย จ.ล. 2 ไปด้วย ต่อมาปลายเดือนมิถุนายน 2525 จำเลยได้มีหนังสือตอบรับการโอนดังกล่าวไปยังโจทก์ ตามเอกสารหมาย จ. 3 ซึ่งขณะนั้นจำเลยร่วมทำงานแล้วเสร็จไป 2 งวด และค่างานทั้ง 2 งวดนี้ จำเลยร่วมได้ทำหนังสือมอบอำนาจให้โจทก์เป็นผู้รับเงินแทน ต่อจากนั้นโจทก์เป็นผู้รับเงินค่าก่อสร้างเรื่อยมาตั้งแต่งวดที่ 3 จนถึงงวดที่ 9หลังจากโจทก์รับเงินงวดที่ 9 แล้ว จำเลยร่วมได้มีหนังสือแจ้งไปยังจำเลยขอยกเลิกการรับเงินของโจทก์ ปรากฏตามเอกสารหมาย ล. 1 จำเลยจึงได้มีหนังสือแจ้งการขอยกเลิกการโอนสิทธิในการรับเงินให้โจทก์ทราบ ต่อมาจำเลยได้ชำระเงินค่าก่อสร้างงวดที่ 10 ให้แก่จำเลยร่วม โดยหักภาษีเงินได้และภาษีการค้า ณที่จ่าย ปรากฏตามเอกสารหมาย ล. 8 (แผ่นที่ 6) และ ล. 9 วันที่ 30สิงหาคม 2526 โจทก์มีหนังสือคัดค้านการยกเลิกการโอนสิทธิการรับเงินและขอรับเงินค้างชำระปรากฏตามเอกสารหมาย จ. 1
พิเคราะห์แล้ว ปัญหาที่ต้องวินิจฉัยตามฎีกาจำเลยมีว่าหนังสือโอนสิทธิรับเงินตามเอกสารหมาย จ.ล. 2 เป็นหนังสือที่จำเลยร่วมได้โอนสิทธิเรียกร้องที่มีต่อจำเลยให้แก่โจทก์หรือไม่ เห็นว่าข้อความในหนังสือตามเอกสารหมาย จ.ล. 2 แม้จะไม่ได้ใช้ถ้อยคำโดยตรงว่า ‘โอนสิทธิเรียกร้อง’ ตามชื่อที่กฎหมายบัญญัติไว้ โดยใช้ถ้อยคำว่า ‘โอนสิทธิรับเงินสินจ้าง’แทน แต่เมื่อได้พิเคราะห์ใจความในเอกสารดังกล่าวทั้งฉบับประกอบแล้ว เห็นว่า เป็นเรื่องการโอนสิทธิเรียกร้อง ทั้งในวันเดียวกันกับที่ทำเอกสารหมาย จ.ล. 2 จำเลยร่วมยังได้มีหนังสือตามเอกสารหมาย จ.ล. 1 บอกกล่าวการโอนไปยังจำเลย และจำเลยได้มีหนังสือตามเอกสารหมาย จ. 3 แจ้งยืนยันรับทราบการโอนสิทธิรับเงินสินจ้างไปยังจำเลยร่วมอีกด้วย อันเป็นการแสดงว่าจำเลยทราบและยินยอมในการโอนสิทธิรับเงินสินจ้างที่จำเลยนำสืบว่า เป็นเพียงการตั้งโจทก์เป็นตัวแทนในการรับเงินนั้นฟังไม่ขึ้น แม้หลักฐานการขอเบิกและจ่ายเงินจะระบุชื่อจำเลยร่วมเป็นผู้ขอเบิกและผู้รับก็ตาม ก็ไม่เป็นเหตุให้การโอนสิทธิเรียกร้องซึ่งมีผลสมบูรณ์ตามกฎหมายต้องเสียไป จึงฟังได้ว่าจำเลยร่วมได้โอนสิทธิเรียกร้องตามฟ้องแก่โจทก์และได้บอกกล่าวการโอนสิทธิเรียกร้องไปยังจำเลยและจำเลยยังได้ยินยอมในการโอนสิทธิเรียกร้องนี้ด้วย ฉะนั้นจำเลยจึงต้องมีหน้าที่ชำระหนี้แก่โจทก์ผู้รับโอนสิทธิเรียกร้องโดยตรง การที่จำเลยร่วมมีหนังสือไปยังจำเลยและโจทก์เพื่อขอยกเลิกการโอนสิทธิรับเงินสินจ้าง โดยโจทก์ไม่ได้ตกลงยินยอมด้วย ย่อมไม่มีผลที่จะนำมาใช้ยันแก่โจทก์ได้ จำเลยจึงยังมีหน้าที่ต้องชำระค่าจ้างงวดสุดท้ายคืองวดที่ 10 แก่โจทก์ การที่จำเลยจ่ายเงินค่าจ้างงวดสุดท้ายให้แก่จำเลยร่วมไปไม่เป็นผลให้จำเลยหลุดพ้นจากหนี้ที่มีต่อโจทก์ไปได้ ส่วนฎีกาจำเลยที่เกี่ยวกับจำเลยร่วม นั้นพิเคราะห์แล้วเห็นว่าไม่เกี่ยวกับสิทธิไล่เบี้ยอันสืบเนื่องจากคดีนี้ หากจำเลยเห็นว่า จำเลยมีสิทธิเรียกร้องต่อจำเลยร่วมประการใด ชอบที่จำเลยจะไปว่ากล่าวเอากับจำเลยร่วมเป็นอีกส่วนหนึ่งต่างหาก ที่ศาลล่างทั้งสองพิพากษาให้จำเลยชำระหนี้แก่โจทก์นั้น ศาลฎีกาเห็นพ้องด้วยฎีกาจำเลยฟังไม่ขึ้น’
พิพากษายืน ให้จำเลยใช้ค่าทนายความในชั้นฎีกาแทนโจทก์5,000 บาท