คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 2227/2521

แหล่งที่มา : เนติบัณฑิตยสภา

ย่อสั้น

ผิดสัญญารับเหมาสร้างอาคาร ผู้ว่าจ้างปรับผู้รับจ้างมติคณะรัฐมนตรีไม่ใช่กฎหมายที่ศาลจะบังคับส่วนราชการผู้ว่าจ้างให้งดการปรับได้

ย่อยาว

จำเลยผิดสัญญารับจ้างเหมาปลูกสร้างอาคาร ผู้ร้องซึ่งเป็นผู้ว่าจ้างเรียกค่าเสียหายแก่เบี้ยปรับตามสัญญา ศาลชั้นต้นและศาลอุทธรณ์พิพากษาให้ผู้ร้องได้รับชำระหนี้ 3,139,000 บาท จำเลยฎีกา

ศาลฎีกาวินิจฉัยข้อกฎหมายว่า “ข้อเท็จจริงรับฟังได้ว่าจำเลยเข้าทำสัญญารับจ้างก่อสร้างอาคารเรียนจากมหาวิทยาลัยเกษตรศาสตร์ผู้ร้องในวงเงิน 4,577,200 บาท ตามเอกสารหมาย จ.1 จำเลยได้ทำการก่อสร้างตามสัญญาแล้ว 4 งวด คงเหลืองานอีก 2 งวดจำเลยทิ้งงานไปผู้ร้องมีหนังสือเตือนจำเลย ๆ ก็ไม่ทำและขอเพิ่มวงเงินค่าก่อสร้าง ผู้ร้องไม่ยินยอมผลที่สุดจำเลยขอเลิกสัญญาตามเอกสารหมาย จ.9 และ ล.3

ปัญหาชั้นฎีกาที่ต้องวินิจฉัยมีว่า จำเลยลูกหนี้ต้องรับผิดต่อผู้ร้องหรือไม่ ข้อที่จำเลยอ้างว่าได้รับความคุ้มครองตามมติของคณะรัฐมนตรีที่ สร.0203/ว.66 ลงวันที่ 28 มิถุนายน 2517 พิเคราะห์มติของคณะรัฐมนตรีตามเอกสารหมาย ล.4 เห็นว่ามติของคณะรัฐมนตรีดังกล่าวเป็นเรื่องสั่งการในนโยบายทั่ว ๆ ไป ไม่ใช่กฎหมาย เพียงให้อำนาจหน่วยงานของรัฐที่เป็นคู่สัญญามีสิทธิจะลดหย่อยผ่อนปรนการปฏิบัติตามสัญญากับคู่กรณีได้เท่านั้น ไม่ได้บังคับว่าเมื่อเลิกสัญญาแล้วต้องไม่ปรับ เพียงให้อยู่ในดุลพินิจของหน่วยงานของรัฐว่า สมควรจะงดเว้นการปรับหรือไม่ จำเลยซึ่งเป็นบุคคลภายนอกจะยกขึ้นอ้างหรือให้ศาลบังคับให้มหาวิทยาลัยเกษตรศาสตร์ปฏิบัติตามมติของคณะรัฐมนตรีไม่ได้ เพราะเป็นเรื่องนอกเหนือจากสัญญาที่ทำกันไว้ เมื่อมหาวิทยาลัยเกษตรศาสตร์ถือว่าสัญญาระหว่างจำเลยกับมหาวิทยาลัยเกษตรศาสตร์เลิกกันไปแล้ว ตั้งแต่วันที่ 10 มิถุนายน 2517ก่อนคณะรัฐมนตรีจะมีมติดังกล่าว ทั้งจำเลยก็ทำบันทึกขอเลิกสัญญาไว้เป็นหลักฐานยินดีรับผิดชอบในกรณีขอบอกเลิกสัญญาทุกประการ ตามเอกสารหมาย จ.9 และ ล.3 แล้ว แม้จำเลยจะต่อสู้ว่าสัญญาเลิกเมื่อวันที่2 กรกฎาคม 2517 คือวันที่มหาวิทยาลัยของรัฐได้อนุมัติให้เลิกสัญญาตามเอกสารหมาย ล.10 ก็ตาม ศาลก็ไม่มีอำนาจที่จะบังคับให้มหาวิทยาลัยเกษตรศาสตร์คู่สัญญากับจำเลยปฏิบัติตามมติของคณะรัฐมนตรีได้”

พิพากษายืน

Share