คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 5453/2531

แหล่งที่มา : สำนักงานส่งเสริมงานตุลาการ

ย่อสั้น

แม้ตามข้อบังคับหรือคำสั่งของจำเลยจะไม่ได้กำหนดตัวผู้มีอำนาจลงโทษตักเตือนลูกจ้างไว้ แต่การออกใบเตือนโจทก์ทั้งสองฉบับก็มีผู้จัดการทั่วไปกับหัวหน้าแผนกอาหารและเครื่องดื่มผู้บังคับบัญชาโดยตรงของโจทก์เป็นผู้ลงชื่อ แล้วเสนอใบเตือนให้กรรมการผู้จัดการบริษัทจำเลยลงชื่อรับทราบเป็นทางปฎิบัติเช่นนี้ตลอดมา เมื่อเกิดเหตุคดีนี้ขึ้นผู้จัดการแผนกบุคคลได้เสนอผู้จัดการทั่วไปให้ปลดโจทก์ออกจากงานผู้จัดการทั่วไปได้มีคำสั่งให้โจทก์ออกจากงาน แล้วสำเนาคำสั่งแจ้งกรรมการผู้จัดการ กรรมการบริหาร กับหัวหน้าแผนกอาหารและเครื่องดื่มทราบทั้งได้ปิดประกาศแจ้งให้พนักงานทั่วไปทราบด้วยพฤติการณ์เช่นนี้ถือได้ว่ากรรมการผู้จัดการบริษัทจำเลยมอบอำนาจโดยปริยายให้ผู้จัดการทั่วไปมีอำนาจออกใบเตือนให้โจทก์ทั้งสองฉบับดังกล่าวแล้ว เมื่อโจทก์กระทำผิดซ้ำในเรื่องเดียวกันกับเรื่องที่เคยถูกเตือนนั้นอีก โดยละทิ้งหน้าที่กลับก่อนเวลาเลิกงาน จำเลยชอบที่จะเลิกจ้างโจทก์ได้โดยไม่ต้องจ่ายค่าชดเชย และไม่ใช่เป็นการเลิกจ้างที่ไม่เป็นธรรม การที่โจทก์ละทิ้งหน้าที่เป็นการกระทำผิดประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์มาตรา 583 จำเลยเลิกจ้างได้โดยไม่ต้องบอกกล่าวล่วงหน้า ใบเตือนเป็นหนังสือของจำเลยผู้เป็นนายจ้างแจ้งให้โจทก์ผู้เป็นลูกจ้างทราบว่า โจทก์ได้กระทำผิดระเบียบข้อบังคับและว่ากล่าวตักเตือนไม่ให้โจทก์กระทำผิดอีก ต้นฉบับใบเตือนจึงอยู่ในความครอบครองของโจทก์ จำเลยย่อมไม่สามารถนำต้นฉบับมาแสดงต่อศาลได้ ทั้งเมื่อจำเลยซึ่งเป็นฝ่ายนำสืบก่อน ส่งสำเนาเอกสารดังกล่าวต่อศาลเพื่อใช้ยันโจทก์ โจทก์ก็ไม่คัดค้านว่าต้นฉบับเอกสารไม่มีหรือเอกสารปลอม หรือสำเนาไม่ถูกต้องตามประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์ มาตรา 125 ศาลแรงงานกลางจึงมีอำนาจรับฟังสำเนาพยานเอกสารแทนต้นฉบับได้ ระเบียบข้อบังคับเกี่ยวกับการทำงานของจำเลยที่กำหนดว่าเมื่อลูกจ้างกระทำการฝ่าฝืนระเบียบข้อบังคับเกี่ยวกับการทำงานจะถูกพิจารณาลงโทษตักเตือนเป็นหนังสือ ตัดค่าจ้าง ลดค่าจ้างพักงาน หรือเลิกจ้างตามควรแก่กรณี ไม่ใช่กำหนดขั้นตอนการลงโทษจำเลยจะลงโทษลูกจ้างสถานใดย่อมเป็นดุลพินิจของจำเลยตามที่สมควร ตามความร้ายแรงแห่งการกระทำผิดของลูกจ้างโดยจำต้องลงโทษลูกจ้างเรียงตามลำดับโทษที่กำหนดไว้ การที่จำเลยลงโทษเลิกจ้างโจทก์เพราะเหตุที่โจทก์ฝ่าฝืนระเบียบข้อบังคับของจำเลยหลายครั้ง จึงไม่ใช่ลงโทษข้ามขั้นตอน

ย่อยาว

โจทก์ฟ้องว่า จำเลยเลิกจ้างโดยโจทก์ไม่มีความผิดและไม่บอกกล่าวล่วงหน้าเป็นการเลิกจ้างไม่เป็นธรรม ขอให้จำเลยจ่ายค่าเสียหาย ค่าชดเชย สินจ้างแทนการบอกกล่าวล่วงหน้า พร้อมเงินเพิ่ม ดอกเบี้ย และออกใบสำคัญการทำงานให้แก่โจทก์
จำเลยให้การว่า การเลิกจ้างโจทก์ไม่เป็นการเลิกจ้างไม่เป็นธรรม จำเลยไม่ต้องจ่ายค่าชดเชยหรือค่าสินจ้างแทนการบอกกล่าวล่วงหน้าและค่าเสียหาย
ศาลแรงงานกลางพิพากษาให้จำเลยจ่ายค่าจ้างค้างชำระเป็นเงิน 3,105 บาท ให้แก่โจทก์ และให้จำเลยออกใบสำคัญการทำงานให้แก่โจทก์ คำขออื่นของโจทก์ให้ยก
โจทก์อุทธรณ์ต่อศาลฎีกา
ศาลแรงงานกลางไม่รับอุทธรณ์ของโจทก์ โดยเห็นว่าเป็นอุทธรณ์ในปัญหาข้อเท็จจริง
โจทก์อุทธรณ์คำสั่งต่อศาลฎีกา
ศาลฎีกาสั่งรับอุทธรณ์ของโจทก์ในปัญหาที่ว่า ใบเตือนของจำเลยตามเอกสารหมาย ล.1, ล.2 เป็นใบเตือนที่ไม่ชอบด้วยกฎหมายหรือไม่ การที่ศาลแรงงานกลางรับฟังใบเตือนเอกสารหมาย ล.1 ล.2ซึ่งเป็นสำเนาเอกสาร เป็นการรับฟังที่ชอบด้วยกฎหมายหรือไม่และจำเลยเลิกจ้างโจทก์โดยฝ่าฝืนต่อระเบียบข้อบังคับเกี่ยวกับการทำงานของจำเลยหรือไม่
ศาลฎีกาแผนกคดีแรงงานวินิจฉัยว่า “ปัญหาตามอุทธรณ์ของโจทก์ในเรื่องใบเตือนของจำเลยตามเอกสารหมาย ล.1, ล.2 ว่าเป็นใบเตือนที่ไม่ชอบด้วยกฎหมายและการที่ศาลแรงงานกลางรับฟังใบเตือนตามเอกสารหมาย ล.1, ล.2 ซึ่งเป็นสำเนาเอกสารที่โจทก์ไม่ได้รับรองความถูกต้อง เป็นการรับฟังที่ไม่ชอบด้วยกฎหมายนั้นพิเคราะห์แล้วเห็นว่า แม้จะไม่ปรากฎว่ามีข้อบังคับหรือคำสั่งของจำเลยกำหนดตัวบุคคลผู้มีอำนาจลงโทษตักเตือนลูกจ้างไว้เป็นลายลักษณ์อักษร แต่ก็ไม่ปรากฎว่าใบเตือนทั้งสองฉบับดังกล่าวมีนายพูนศักดิ์ วิพัฒนกำจร ผู้จัดการทั่วไป และนางสาวสุวภี ศรีบุญเรือง หัวหน้าแผนกอาหารและเครื่องดื่มผู้บังคับบัญชาโดยตรงของโจทก์เป็นผู้ลงชื่อ หลังจากนั้นจึงเสนอใบเตือนให้ร้อยโทวันชัย บูลกุล กรรมการผู้จัดการบริษัทจำเลยลงชื่อรับทราบ เป็นทางปฎิบัติเช่นนี้ตลอดมา และเมื่อเกิดเหตุคดีนี้ขึ้นแล้ว นายสถาพร ชัยฤกษ์ ผู้จัดการแผนกบุคคลได้ทำบันทึกเอกสารหมาย จ.1 เสนอนายพูนศักดิ์ ผู้จัดการทั่วไปให้ปลดโจทก์นายพูนศักดิ์ก็ได้มีคำสั่งให้โจทก์ออกจากงานตั้งแต่วันที่6 พฤศจิกายน 2530 เป็นต้นไป แล้วสำเนาคำสั่งแจ้งกรรมการผู้จัดการ กรรมการบริหารและหัวหน้าแผนกอาหารทราบ ทั้งได้ปิดประกาศแจ้งให้พนักงานทั่วไปทราบด้วย พฤติการณ์เช่นนี้ถือได้ว่าร้อยโทวันชัย กรรมการผู้จัดการบริษัทจำเลยมอบอำนาจโดยปริยายให้นายพูนศักดิ์ผู้จัดการทั่วไปมีอำนาจออกใบเตือนโจทก์ทั้งสองฉบับดังกล่าวแล้ว เมื่อโจทก์กระทำผิดซ้ำในเรื่องเดียวกันกับเรื่องที่เคยถูกเตือนเป็นหนังสือโดยละทิ้งหน้าที่กลับก่อนเวลาเลิกงานอีก กรณีจึงต้องด้วยประกาศกระทรวงมหาดไทยเรื่อง การคุ้มครองแรงงาน ข้อ 47 (3) จำเลยชอบที่จะเลิกจ้างโจทก์ได้โดยไม่ต้องจ่ายค่าชดเชยและไม่ใช่การเลิกจ้างที่ไม่เป็นธรรม จำเลยไม่ต้องจ่ายค่าเสียหายแก่โจทก์สำหรับสินจ้างแทนการบอกกล่าวล่วงหน้านั้น กรณีที่โจทก์กระทำผิดต่อระเบียบข้อบังคับเกี่ยวกับการทำงานของจำเลย โดยละทิ้งหน้าที่การงานเป็นการกระทำผิดตามที่บัญญัติไว้ในประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์มาตรา 583 จำเลยมีสิทธิเลิกจ้างโจทก์โดยไม่บอกกล่าวล่วงหน้าอุทธรณ์ข้อนี้ของโจทก์ฟังไม่ขึ้น ส่วนปัญหาที่ศาลแรงงานกลางรับฟังใบเตือนตามเอกสารหมาย ล.1, ล.2 ซึ่งเป็นสำเนาเอกสารนั้นเห็นว่า ใบเตือนเป็นหนังสือของจำเลยผู้เป็นนายจ้างแจ้งให้โจทก์ผู้เป็นลูกจ้างทราบว่าโจทก์ได้กระทำผิดต่อระเบียบข้อบังคับของจำเลยและว่ากล่าวตักเตือนโจทก์มิให้กระทำผิดอีก ฉะนั้นต้นฉบับใบเตือนจึงอยู่ในความครอบครองของโจทก์ จำเลยย่อมไม่สามารถนำต้นฉบับมาแสดงต่อศาลได้ ทั้งปรากฎว่าเมื่อจำเลยซึ่งเป็นฝ่ายนำสืบก่อนส่งสำเนาเอกสารดังกล่าวต่อศาลเพื่อใช้ยันโจทก์ โจทก์ก็มิได้คัดค้านว่าต้นฉบับเอกสารไม่มีหรือเอกสารปลอมหรือสำเนาไม่ถูกต้อง ตามที่บทบัญญัติไว้ในประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความแพ่ง มาตรา 125 ศาลแรงงานกลางย่อมมีอำนาจรับฟังสำเนาพยานเอกสารแทนต้นฉบับได้ ไม่ใช่เป็นการรับฟังพยานหลักฐานที่ฝ่าฝืนกฎหมาย อุทธรณ์ข้อนี้ของโจทก์ฟังไม่ขึ้นเช่นกัน
สำหรับข้อที่โจทก์อุทธรณ์ว่า การที่จำเลยเลิกจ้างโจทก์เป็นการลงโทษที่ฝ่าฝืนต่อระเบียบข้อบังคับเกี่ยวกับการทำงานของจำเลย ข้อ 16 (ที่ถูกข้อ 9.16) นั้น ศาลฎีกาเห็นว่า ตามระเบียบข้อบังคับเกี่ยวกับการทำงานของจำเลยเอกสารหมาย ล.3หรือ จ.3 ข้อ 9.16 ซึ่งกำหนดว่า “การกระทำใด ๆ อันเป็นการฝ่าฝืนระเบียบข้อบังคับที่กำหนดไว้ ทางโรงแรมจะพิจารณาลงโทษโดยการตักเตือนเป็นหนังสือตัดค่าจ้าง ลดค่าจ้าง ให้พักงานหรือเลิกจ้างตามควรแก่กรณี” นั้น เป็นบทกำหนดประเภทโทษของลูกจ้างซึ่งจะได้รับกรณีที่ฝ่าฝืนต่อระเบียบข้อบังคับของจำเลย ไม่ใช่กำหนดขั้นตอนในการลงโทษลูกจ้างกรณีที่ลูกจ้างกระทำผิดต่อระเบียบข้อบังคับของจำเลย จำเลยจะลงโทษลูกจ้างสถานใดนั้นย่อมเป็นดุลพินิจของจำเลยตามที่เห็นสมควรซึ่งจำเลยต้องพิจารณาถึงความร้ายแรงแห่งการกระทำผิดของลูกจ้าง จำเลยไม่จำต้องลงโทษลูกจ้างเรียงตามลำดับโทษที่กำหนดไว้ การที่จำเลยเลิกจ้างโจทก์เพราะเหตุที่โจทก์ฝ่าฝืนต่อระเบียบข้อบังคับของจำเลยหลายครั้งนั้นจึงไม่ใช่เป็นการลงโทษตามขั้นตอนซึ่งจะถือว่าฝ่าฝืนต่อระเบียบข้อบังคับของจำเลย”
พิพากษายืน

Share