คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 3936/2558

แหล่งที่มา : กองผู้ช่วยผู้พิพากษาศาลฎีกา

ย่อสั้น

จำเลยที่ 2 ถึงที่ 4 เป็นผู้สนับสนุนการลักทรัพย์ในเวลากลางคืนโดยร่วมกระทำความผิดด้วยกันตั้งแต่สองคนขึ้นไปและโดยใช้ยานพาหนะเพื่อสะดวกแก่การกระทำผิดหรือการพาทรัพย์นั้นไป หรือเพื่อให้พ้นการจับกุม การที่ศาลชั้นต้นพิพากษาให้จำเลยที่ 2 ถึงที่ 4 ต้องระวางโทษหนักขึ้นตาม ป.อ. มาตรา 336 ทวิ นั้นเป็นการ ไม่ชอบ เพราะ ป.อ. มาตรา 336 ทวิ มีวัตถุประสงค์ลงโทษเฉพาะผู้ใช้ยานพาหนะเพื่อสะดวกแก่การกระทำผิดหรือพาทรัพย์นั้นไปเท่านั้น

ย่อยาว

คดีทั้งสามสำนวนนี้ ศาลชั้นต้นพิจารณาและพิพากษารวมกัน โดยให้เรียกโจทก์ทั้งสามสำนวนว่า โจทก์ เรียกจำเลยในสำนวนแรกว่า จำเลยที่ 1 เรียกจำเลยที่ 1 ถึงที่ 3 ในสำนวนที่สองว่า จำเลยที่ 2 ถึงที่ 4 ตามลำดับ และเรียกจำเลยในสำนวนที่สามว่า จำเลยที่ 5
สำนวนแรกและที่สามโจทก์ฟ้องจำเลยที่ 1 และที่ 5 เป็นใจความว่า เมื่อวันที่ 20 ธันวาคม 2552 เวลากลางคืนก่อนเที่ยง จำเลยที่ 1 และที่ 5 กับพวกร่วมกันเอาน้ำมันปาล์มดิบ 11,000 กิโลกรัม ราคากิโลกรัมละ 25.50 บาท รวมราคาทรัพย์ 280,500 บาท ของบริษัทวิจิตรภัณฑ์สวนปาล์ม จำกัด ผู้เสียหาย ไปโดยทุจริต โดยใช้รถบรรทุกสิบล้อชนิดบรรทุกน้ำมัน เป็นยานพาหนะเพื่อสะดวกแก่การกระทำผิด หรือการพาทรัพย์นั้นไป หรือเพื่อให้พ้นการจับกุม เหตุเกิดที่ตำบลทุ่งคา อำเภอเมืองชุมพร จังหวัดชุมพร ขอให้ลงโทษตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 83, 334, 335, 336 ทวิ และให้จำเลยที่ 1 และที่ 5 คืนหรือใช้ราคาเป็นเงิน 250,500 บาทแก่ผู้เสียหาย
สำนวนที่สอง โจทก์ฟ้องจำเลยที่ 2 ถึงที่ 4 ว่า เมื่อวันที่ 20 ธันวาคม 2552 เวลากลางคืนก่อนเที่ยง จำเลยที่ 2 ถึงที่ 4 กับพวกซึ่งเป็นลูกจ้างของบริษัทวิจิตรภัณฑ์สวนปาล์ม จำกัด ผู้เสียหาย ร่วมกันเอาน้ำมันปาล์มดิบ 11,000 กิโลกรัม ราคากิโลกรัมละ 25.50 บาท รวมราคาทรัพย์ 280,500 บาท ของผู้เสียหายที่เป็นนายจ้าง ไปโดยทุจริตโดยใช้รถบรรทุกสิบล้อชนิดบรรทุกน้ำมันเป็นยานพาหนะเพื่อสะดวกแก่การกระทำผิด หรือการพาทรัพย์นั้นไป หรือเพื่อให้พ้นการจับกุม เหตุเกิดที่ตำบลทุ่งคา อำเภอเมืองชุมพร จังหวัดชุมพร ขอให้ลงโทษตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 83, 334, 335, 336 ทวิ และให้จำเลยที่ 2 ถึงที่ 4 คืนหรือใช้ราคาเป็นเงิน 250,500 บาท แก่ผู้เสียหาย
จำเลยทั้งห้าให้การปฏิเสธ
ศาลชั้นต้นพิพากษาว่า จำเลยที่ 1 และที่ 5 มีความผิดตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 335 (1) (7) วรรคสอง ประกอบมาตรา 336 ทวิ, 83 จำเลยที่ 2 ถึงที่ 4 มีความผิดตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 335 (1) (7) (11) วรรคสอง ประกอบมาตรา 336 ทวิ, 86 จำคุกจำเลยที่ 1 และที่ 5 คนละ 4 ปี 6 เดือน จำคุกจำเลยที่ 2 ถึงที่ 4 คนละ 3 ปี คำให้การในชั้นสอบสวนของจำเลยที่ 2 และที่ 3 เป็นประโยชน์แก่การพิจารณา มีเหตุบรรเทาโทษ ลดโทษให้หนึ่งในสามตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 78 คงจำคุกจำเลยที่ 2 และที่ 3 คนละ 2 ปี ให้จำเลยที่ 1 และที่ 5 ร่วมกันคืนทรัพย์ที่ลักไปหรือใช้ราคาแทนเป็นเงิน 250,500 บาท แก่ผู้เสียหาย คำขอให้จำเลยที่ 2 ถึงที่ 4 คืนทรัพย์หรือใช้ราคาแทนให้ยก เนื่องจากจำเลยที่ 2 ถึงที่ 4 เป็นเพียงผู้สนับสนุนการกระทำความผิด มิได้เอาทรัพย์ไป
จำเลยทั้งห้าอุทธรณ์
ศาลอุทธรณ์ภาค 8 พิพากษากลับ ให้ยกฟ้อง
โจทก์ฎีกา
ศาลฎีกาวินิจฉัยว่ามีปัญหาที่จะวินิจฉัยว่า จำเลยที่ 2 ที่ 3 และที่ 4 เป็นผู้สนับสนุนการลักน้ำมันปาล์มดิบตามคำพิพากษาของศาลชั้นต้นหรือไม่ เห็นว่า คืนเกิดเหตุจำเลยทั้งสามอยู่เวรรักษาความปลอดภัยในช่วงเวลาที่มีการลักทรัพย์ จำเลยที่ 4 เป็นพนักงานรักษาความปลอดภัยอยู่ทางป้อมยามประตูด้านหน้า ซึ่งเป็นประตูที่คนร้ายนำรถบรรทุกเข้าและนำน้ำมันที่ลักแล้วกลับออกไป นายถวัลย์ ตำแหน่งผู้ช่วยจัดการโรงงานมีหน้าที่ดูแลความเรียบร้อยทุกอย่างภายในโรงงานเบิกความว่า โดยปกติหากมีรถเข้าออกบริษัทพนักงานรักษาความปลอดภัยจะต้องบันทึกหมายเลขรถเข้าออก แต่ในคืนเกิดเหตุจำเลยที่ 4 ไม่ได้บันทึกรถผ่านเข้าออกไว้เป็นหลักฐานและการผ่านเข้าออกในเวลากลางคืน จะต้องได้รับอนุญาตจากหัวหน้างาน แต่จำเลยที่ 4 ก็มิได้ปฏิบัติเช่นนั้น เห็นว่าเป็นการผิดวิสัยของผู้มีหน้าที่รักษาความปลอดภัย รถยนต์ที่คนร้ายขับเข้าไปลักน้ำมันก็มิได้เป็นรถยนต์ของผู้เสียหาย ทั้งเวลาประมาณ 3 นาฬิกา มิใช่เวลาที่จะมีการขนถ่ายน้ำมันกันตามปกติ ยังได้ความจากคำเบิกความของนายถวัลย์ว่า คืนเกิดเหตุขณะอยู่ที่ห้องควบคุมการผลิตเห็นจำเลยที่ 2 ขับรถจักรยานยนต์ไปที่ถังเก็บน้ำมันปาล์มดิบ 2 ครั้ง ครั้งแรกเวลาประมาณ 2 นาฬิกา และครั้งต่อมาเวลา 2.30 นาฬิกา จนกระทั่งเวลา 2.45 นาฬิกา เห็นนายพรเทพ จำเลยที่ถูกฟ้องและศาลพิพากษาลงโทษไปแล้วขับรถจักรยานยนต์ไปทางถังเก็บน้ำมันปาล์มดิบ แล้วขับรถจักรยานยนต์ไปทางด้านหน้าของบริษัท ต่อมาอีกประมาณ 10 นาที นายพรเทพ ขับรถจักรยานยนต์ผ่านไปอีก จนกระทั่งเวลา 3.40 นาฬิกา มีรถบรรทุกสิบล้อสีแสดพาดขาวมีแทงก์สามารถบรรจุของเหลวเข้ามา มีชายคนหนึ่งยืนอยู่บริเวณหัวจ่ายน้ำมันน่าจะเป็นนายพรเทพ นายถวัลย์จึงโทรศัพท์หานายอัษฎกร นายเดชาและดาบตำรวจจำนงค์ หลังจากคนร้ายลักน้ำมันแล้วจำเลยที่ 2 เป็นคนขับรถจักรยานยนต์นำหน้า เมื่อนายเดชามาถึงนายถวัลย์และนายเดชาขับรถยนต์ตามไปทางโรงเรียนทุ่งคาวิทยาคาร แต่ไม่พบคนร้ายจึงกลับมาที่บริษัท ดาบตำรวจจำนงค์ได้เรียกจำเลยที่ 2 ถึงที่ 4 มาสอบถามต่อหน้าพยาน จำเลยที่ 2 และที่ 3 ยอมรับว่ามีส่วนร่วมในการกระทำความผิด โดยจำเลยที่ 2 ได้รับเงินส่วนแบ่ง 5,000 บาท ดาบตำรวจจำนงเบิกความยืนยันทำนองเดียวกันว่า เป็นผู้สอบถามจำเลยที่ 2 ถึงที่ 4 จำเลยที่ 2 เล่าว่า ในคืนเกิดเหตุเวลา 22 นาฬิกา และเวลา 24 นาฬิกา นายดำรงค์โทรศัพท์มาหาจำเลยที่ 2 บอกว่าจะเข้ามาลักน้ำมันขอให้อยู่เฉยๆ จะให้ค่าน้ำร้อนน้ำชา 5,000 บาท ส่วนจำเลยที่ 3 เล่าว่า ได้รับการติดต่อจากนายดำรงค์เช่นเดียวกัน สอดคล้องกับที่จำเลยที่ 2 และที่ 3 เคยให้การในชั้นสอบสวนในฐานะพยานและผู้ต้องหา และยังสอดคล้องกับหลักฐานการใช้โทรศัพท์ แม้จะแตกต่างกันบ้างในเรื่องจำนวนครั้งก็เป็นเพียงรายละเอียด เมื่อพิเคราะห์เหตุผลอื่นประกอบ เช่น การลักทรัพย์ในครั้งนี้เป็นการกระทำอย่างอุกอาจ โดยนำรถบรรทุกน้ำมันขนาดใหญ่เข้าไปลักน้ำมันในเวลาวิกาลมาก ทั้งคนร้ายจะต้องใช้กุญแจและเครื่องมือในการตัดซีล และเปิดวาล์วถังน้ำมัน หากพนักงานรักษาความปลอดภัยไม่ให้ความร่วมมือแล้ว การลักทรัพย์ย่อมกระทำได้โดยยาก เพราะจะต้องถูกตรวจสอบจากจำเลยที่ 4 และถ้าจำเลยที่ 4 ตรวจสอบตามระเบียบก็จะพบเห็นถึงความผิดปกติ เพราะมีคนร้ายอื่นที่ไม่ใช่คนของบริษัทรวมอยู่ด้วย นอกจากนี้ตอนคนร้ายนำรถบรรทุกขับออกจากบริษัทเป็นการขับกลับย้อนทางเดิมที่มีจำเลยที่ 4 ควบคุมดูแลอยู่ แสดงว่าคนร้ายมั่นใจว่าจะไม่ถูกตรวจสอบหรือขัดขวาง พยานหลักฐานของโจทก์รับฟังได้โดยปราศจากสงสัยว่าจำเลยที่ 2 ถึงที่ 4 สนับสนุนการลักทรัพย์ดังที่ศาลชั้นต้นวินิจฉัย ฎีกาของโจทก์ฟังขึ้น แต่ที่ศาลชั้นต้นพิพากษาให้จำเลยที่ 2 ถึงที่ 4 ต้องระวางโทษหนักขึ้นตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 336 ทวิ นั้น ศาลฎีกา ไม่เห็นพ้องด้วย เพราะบทบัญญัติดังกล่าวมีวัตถุประสงค์ลงโทษเฉพาะผู้ใช้ยานพาหนะเพื่อสะดวกแก่การกระทำผิดหรือพาทรัพย์นั้นไป คงลงโทษจำเลยที่ 2 ถึงที่ 4 ตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 335 (1) (7) (11) วรรคสอง ประกอบมาตรา 86 เท่านั้น ปัญหาดังกล่าวเป็นปัญหาข้อกฎหมายที่เกี่ยวกับความสงบเรียบร้อย ศาลฎีกายกขึ้นวินิจฉัยได้เองตามประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความอาญา มาตรา 195 วรรคสอง ประกอบมาตรา 225

Share